ข้ามไปเนื้อหา

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)
พระครูวิเวกพุทธกิจ

(เสาร์ กนฺตสีโล)
พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล)
ชื่ออื่นหลวงปู่เสาร์, พระอาจารย์เสาร์
ส่วนบุคคล
เกิด2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 (82 ปี)
มรณภาพ3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดเลียบ อุบลราชธานี
อุปสมบทพ.ศ. 2422
พรรษา62
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดเลียบ (จ.อุบลราชธานี)

พระครูวิเวกพุทธกิจ นามเดิม เสาร์ ฉายา กนฺตสีโล (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485) เป็นพระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย อาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ชาติภูมิและการอุปสมบท

[แก้]

พระครูวิเวกพุทธกิจ มีนามเดิมว่าเสาร์ เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายทาและนางโม่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน หลวงปู่เสาร์ได้เข้าไปพำนักรับใช้เป็นศิษย์วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเรียกว่า วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือวัดใต้เทิง) ตั้งแต่อายุ 12 ปี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ. 2417 ขณะมีอายุได้ 15 ปี ที่วัดใต้ สังกัดคณะมหานิกาย ขณะที่อยู่วัดใต้นั้นท่านได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย และหนังสือไทย ตามธรรมเนียมการศึกษาในยุคนั้น

เมื่อถึงคราวที่อายุครบบวช ในปี พ.ศ. 2422 หลวงปู่เสาร์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะมหานิกายที่วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใต้ 10 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 หลวงปู่เสาร์ได้ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี และเกิดความเลื่อมใส จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์และกระทำญัตติกรรมใหม่ในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ พระอุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์[1]

การปฏิบัติสมณธรรม

[แก้]
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และคณะพระภิกษุสามเณร ณ วัดป่าข่าโคม จ.อุบลราชธานี

ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางสมถะวิปัสสนา มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามารยาทเรียบร้อย สุขุม พูดน้อย และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตรหนักแน่นในพระธรรมวินัย ชอบวิเวกและไม่ติดถิ่นที่อยู่ ต้องเดินธุดงค์ไปหาวิเวกเจริญสมณธรรมตามชายป่าดงพงเขาในที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว

ปีพุทธศักราช 2434-2436 หลวงปู่เสาร์ ได้ธุดงค์ผ่านหมู่บ้านคำบง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เทศนาสั่งสอนพระอาจารย์มั่นสมัยยังเป็นฆราวาสจนเกิดศรัทธาเลื่อมใสติดตามออกบวช และจุดนี้เป็นความยิ่งใหญ่ของวงศ์พระกรรมฐานตราบจนถึงปัจจุบัน วงศ์พระกรรมฐานจึงขนานนามพระอาจารย์เสาร์ว่า “พระปรมาจารย์กรรมฐาน”

ปีพุทธศักราช 2459 - 2464 ท่านพำนักจำพรรษาที่ถ้ำจำปา ภูผากูด ตำบลหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร และได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นด้วย วันหนึ่ง หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ในที่สงัดองค์เดียวท่านพิจารณาถึงอริยสัจ ได้รู้ได้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ในวันนี้ท่านก็ได้ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด จวนจะถึงกาลปวารณาออกพรรษา ท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ จึงได้บอกกับท่านพระอาจารย์มั่นว่า “เราได้เลิกการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว” ท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินดังนั้นก็เกิดปีติเป็นอย่างมากและได้ทราบทางวาระจิตว่า “หลวงปู่เสาร์พบวิมุตติธรรมแน่แล้วในอัตภาพนี้”

มรณภาพ

[แก้]

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) มรณภาพในอิริยาบถนั่งกราบพระประธานครั้งที่ 3 ในพระอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากร จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ประเทศไทย ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว) เมื่อวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62 คณะศิษย์ได้เชิญศพของท่านกลับมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และได้ทำการฌาปนกิจในวันที่ 15 - 16 เมษายน พ.ศ. 2486

ศิษย์องค์สำคัญ

[แก้]
  1. หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
  2. พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)
  3. พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)
  4. พระครูญาณโสภิต พระอาจารย์มี ญาณมุนี วัดป่าสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
  5. พระอาจารย์สีเทา บ้านแวง จังหวัดยโสธร
  6. พระอาจารย์พรม บ้านโคกก่อง จังหวัดยโสธร
  7. พระอาจารย์บุญมาก ฐิตปญฺโญ วัดอำมาตย์ แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว
  8. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน
  9. พระอาจารย์กินรี จนฺทิโย วัดป่ากันตสีลาวาส จังหวัดนครพนม
  10. พระอาจารย์ทองรัตน์ กนฺตสีโล วัดป่าบ้านคุม จังหวัดอุบลราชธานี
  11. พระครูภาวนานุศาสตร์ พระอาจารย์อสาย จารุวณฺโณ วัดป่าหนองยาว จังหวัดอุบลราชธานี
  12. พระอาจารย์พรม กุดน้ำเขียว อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
  13. พระอาจารย์ทา วัดถ้ำซับมืด อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
  14. พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก วัดป่ากลางสนาม จังหวัดมุกดาหาร
  15. พระอาจารย์ปุ่น ฉนฺทโก วัดป่าฉันทาราม บ้านคำแดง จังหวัดยโสธร
  16. พระอาจารย์กิ ธมมุตตโม วัดป่าสนามชัย จังหวัดอุบลราชธานี
  17. พระอาจารย์พร สจฺจวโร วัดบ้านแก่งยาง อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
  18. พระครูปัญญาวิสุทธิ์ พระอาจารย์บัวพา ปญฺญาภาโส วัดป่าพระสถิตย์ จังหวัดหนองคาย
  19. พระเทพสังวรญาณ (พวง สุขินฺทฺริโย) วัดศรีธรรมาราม จังหวัดยโสธร
  20. พระอาจารย์กองแก้ว ธนปญฺโญ วัดป่าเทพบุรมย์ บ้านแก่งยาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
  21. พระอาจารย์อวน ปคฺคุโณ วัดจันทิยาวาส บ้านนามะเขือ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]