ข้ามไปเนื้อหา

วัดนาโคก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดนาโคก
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ถนนพระรามที่ 2 ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อสัมฤทธิ์
เจ้าอาวาสพระครูสาครพิพัฒนโสภณ
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดนาโคก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านนาโคก ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

ประวัติ

[แก้]

วัดนาโคกไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2420 แต่เดิมกุฏิสงฆ์มุงด้วยใบจาก ในสมัยพระครูสาครธรรมคุณเป็นเจ้าอาวาสในช่วง พ.ศ. 2492–2539 ได้มีการก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ เช่น ศาลาการเปรียญ ศาลาอเนกประสงค์[1] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ด้านการศึกษา วัดเปิดสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเมื่อ พ.ศ. 2528

อาคารเสนาสนะ

[แก้]

พระอุโบสถสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2460 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานอุโบสถ และพระพุทธรูปยืนสัมฤทธิ์ปางห้ามสมุทร ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ทางวัดจะมีงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์

ศาลาการเปรียญกว้าง 12 เมตร ยาว 38 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 หอสวดมนต์กว้าง 3.50 เมตร ยาว 8.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2541 เป็นอาคารไม้ทรงไทย กุฏิสงฆ์จำนวน 7 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 7 หลัง วิหารกว้าง 3.50 เมตร ยาว 8.50 เมตร เป็นอาคารไม้ทรงไทย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 7.09 เมตร ยาว 21.14 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นอาคารไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ศาลาบำเพ็ญกุศลจำนวน 3 หลัง[2]

วัดยังมีเรือขุดโบราณซึ่งชาวบ้านนาโคกได้ทำนาเกลือแล้วขุดพบ กรมศิลปากรได้มาดูแลขึ้นไว้เป็นของราชการ และมอบให้ทางวัดนาโคกดูแล[3]

หลวงพ่อสัมฤทธิ์

[แก้]

ประวัติของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ กล่าวกันว่าในสมัยกรุงธนบุรี มีชายสองคนได้นำเกลือจากนาโคกขึ้นขายที่ทางเหนือและซื้อข้าวกลับมาขายที่นาโคก ระหว่างทางล่องเรือกลับได้จอดเรือแวะพักที่พระนครศรีอยุธยา ได้เดินลึกเข้าไปก็พบวัดร้างแห่งหนึ่งซึ่งมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์อยู่สององค์ ขนาดไม่ใหญ่นัก องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย อีกองค์เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ทรงเทริดสมัยอยุธยา พอจะเดินกลับปรากฏไม่สามารถหาทางกลับได้ ยังวนเวียนอยู่ในวัดร้างแห่งนั้น ทั้งสองคนจึงปรึกษากันว่าอาจจะเป็นเพราะพระพุทธรูปทั้งสององค์ก็เป็นได้ จึงเดินไปกราบที่พระพุทธรูปแล้วก็คิดว่าถ้าหากนำพระพุทธรูปทั้งสององค์กลับมาด้วยอาจจะกลับเรือได้ ทั้งสองจึงอุ้มพระพุทธรูปทั้งสองกลับมายังเรือได้ และได้นำพระพุทธรูปทั้งสององค์มาประดิษฐานที่วัดนาโคก โดยท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้นำพระพุทธรูปทั้งสององค์ไปประดิษฐานที่หอไตร จนเวลาผ่านไปหลายปี ก็ลืมไปว่ามีพระพุทธรูปสององค์อยู่ที่หอไตร

จนวันหนึ่ง หมู่บ้านนาโคกได้มีการแก้บนศาลเจ้าแห่งหนึ่ง มีการจัดมหรสพทั้งลิเกและละครครั้งใหญ่กว่าทุกครั้ง ทำให้สถานที่ไม่เพียงพอ เจ้าภาพจึงได้ไปขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่จัดในวัดนาโคก ได้เกิดปาฏิหาริย์คือ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรซึ่งประดิษฐานบนหอไตรได้เสด็จลงมาอยู่ข้างล่างโดยมิได้มีใครนำลงมา อีกทั้งคณะลิเกและคณะละครต่างก็เกิดอาการจุกเสียดจนไม่สามารถแสดงได้ ชาวบ้านจึงได้บอกให้นำธูปเทียนมาบูชากล่าวขอขมาลาโทษเสีย จากนั้นคณะลิเกและละครต่างก็หายจุกเสียดเป็นอัศจรรย์ จากนั้นมาชาวบ้านก็ต่างกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นที่โจษขานกันต่อมาในความศักดิ์สิทธิ์[4]

รายนามเจ้าอาวาส

[แก้]
  • พระผ่อง
  • พระเจียก
  • พระกิ๊ด
  • พระเสงี่ยม
  • พระครูสาครธรรมคุณ
  • พระครูสาครพิพัฒนโสภณ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วัดนาโคก". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
  2. "วัดนาโคก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "ซากเรือโบราณ / วัดนาโคก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "หลวงพ่อสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรของวัดนาโคก". ข่าวสด. 13 พฤษภาคม 2559.