วัดจำปา (กรุงเทพมหานคร)
วัดจำปา | |
---|---|
![]() | |
![]() | |
ที่ตั้ง | เลขที่ 27 ซอยพุทธมณฑล สาย 1 ซอย 22 ถนนพุทธมณฑล สาย 1 แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | หลวงพ่อโชคดี |
![]() |
วัดจำปา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร บริเวณใกล้วัดมีตลาดน้ำวัดจำปาและมีชุมชนวัดจำปาหรือชุมชนเกาะศาลเจ้า ชุมชนเก่าแก่ซึ่งเคยขุดพบกระเบื้องเคลือบสีเขียวที่กรมศิลปากรนำไปวิเคราะห์แล้วพบว่าตรงกับเนื้อหาในกำสรวลสมุทร[1]
ประวัติ
[แก้]วัดจำปาตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2365 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2370 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง แต่วัดน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีอุโบสถหลังเก่าเป็นทรงวิลันดาที่นิยมสร้างกันสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังเห็นได้จากหน้าบันอุโบสถที่ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบ[3] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสวนในคลองบางระมาดซึ่งเคยเป็นที่ของหลวงให้กับวัดจำปาในปี พ.ศ. 2391 โดยสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบูรณะได้เดินทางมาร่วมงานฉลองวัดจำปาด้วยตนเอง ท่านยังเป็นธุระในการขอพระราชทานที่ดินเพิ่มเติมอีก 5 ไร่ ซึ่งเดิมมีอยู่ประมาณ 7 ไร่
อาคารเสนาสนะ
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/16/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B2_%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%99_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3_%286%29.jpg/220px-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B2_%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%99_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3_%286%29.jpg)
อุโบสถ วิหาร และระเบียงคดได้รับการประดับตกแต่งด้วยถ้วยชามและตุ๊กตากระเบื้องเคลือบตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าบันอุโบสถมีกระเบื้องอย่างฝรั่ง เป็นชามล้างหน้าลายดอกไม้ขนาดใหญ่และประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นระบายสีถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ มุขด้านตะวันออกของอุโบสถเป็นภาพปูนปั้นระบายสีตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ มุขด้านตะวันตกเป็นภาพปูนปั้นระบายสีตอนนางวิสาขาถวายผ้าอาบน้ำ ภายในอุโบสถมีฐานชุกชีมีราชวัตรโลหะหล่อตั้งล้อมฐานพระประธานทำจากโลหะหล่อจากประเทศอังกฤษ ลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่ง ประดับตราแผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้สันนิษฐานว่าได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยดังกล่าว อุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า หลวงพ่อโชคดี และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน[4]
ระเบียงคดมีหน้าบันจั่วประดับลายปูนปั้นระบายสีเป็นเรื่องพุทธประวัติ วิหารคดเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมกอทิก เจดีย์ย่อมุมก่ออิฐ 2 องค์ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็กตั้งอยู่กลางน้ำ ภายในบรรจุอัฐิหลวงปู่โต๊ะ เจดีย์พระอธิการเผือกเป็นเจดีย์ทรงกลม ศาลาการเปรียญก่อสร้างด้วยไม้ นอกจากนั้นในวัดยังมีบ่อน้ำมนต์ที่มีเจดีย์อยู่ในบ่อบรรจุอัฐิของหลวงปู่มหาโต๊ะ พระพุทธลอยน้ำ และห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร[5]
ประเพณี
[แก้]วัดจำปายังมีการจัดประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะหรือแห่ดาวดึงส์เป็นประจำทุกปี โดยสืบทอดประเพณีนี้มานานกว่า 100 ปี[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""ชุมชนวัดจำปา" พิพิธภัณฑ์อายุ 500 ปีที่ยังมีลมหายใจ".
- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-15.
- ↑ กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย (16 ตุลาคม 2559). "เกาะศาลเจ้า ชุมชนลับย่านตลิ่งชัน". โพสต์ทูเดย์.
- ↑ ระพีพัฒน์ เกษโกศล. "การจัดการท่องเที่ยววิถีถิ่น ชุมชนเกาะศาลเจ้าและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "วัดจำปา (ตลาดน้ำ) พุทธมณฑลสาย 1 แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร". ทัวร์วัดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-17. สืบค้นเมื่อ 2020-10-15.
- ↑ "ตลิ่งชันร่วมพิธีตักบาตรเทโวโรหณะ (แห่ดาวดึงส์) และพิธีห่มผ้าพระพุทธมหาโชคดี วัดจำปา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-16. สืบค้นเมื่อ 2020-10-15.