ข้ามไปเนื้อหา

อาคารแบบวิลันดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุโบสถเก่าวัดชมภูเวก

อาคารแบบวิลันดา หมายถึง สถาปัตยกรรมไทยก่ออิฐถือปูนใช้ผนังรับน้ำหนักหลังคาและหน้าบันก่ออิฐถือปูนตกแต่งด้วยปูนปั้น ซึ่งแตกต่างจากสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่หน้าบันประดับหน้าไม้ด้วยเครื่องไม้ บางแห่งเป็นลายพันธุ์พฤกษา ประดับประดาให้สวยด้วยเครื่องถ้วยเคลือบลาย อุโบสถบางแห่งมีจุดเด่นที่มีจั่นหับ หรือมีเฉลียงที่ทำหลังคาเป็นเพิงกันแดดกันฝนคลุมไว้ที่ด้านหน้า[1]

อาคารแบบวิลันดาพัฒนาการมาจากอาคารที่ชาวฮอลันดาเข้ามาสร้างไว้ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเมื่อชาวตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นจึงมีการสร้างอาคารแบบตะวันตกที่แตกต่างกันไป และมีขนาดแตกต่างกันไป อุโบสถแบบวิลันดาและโบสถ์คาทอลิกขนาดเล็กในประเทศไทย ต่างได้พัฒนามาจากอาคารแบบวิลันดาในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่า อุโบสถแบบวิลันดาได้รับอิทธิพลโดยตรงจากโบสถ์คาทอลิกขนาดเล็ก

ประวัติ

[แก้]

อิทธิพลในช่วงแรก

[แก้]
บ้านวิชาเยนทร์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ชาวตะวันตกเผยแพร่คริสต์ศาสนาได้โดยเสรี ทำให้มีการตั้งชุมชนชาวคริสต์ทั้งภายในและภายนอกกรุงศรีอยุธยา รวมถึงกรุงเทพมหานคร พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีสร้างอาคารที่พักด้วยอิฐ[2] จึงมีการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยของชาวตะวันตกของด้วยอิฐ ยกตัวอย่างเช่น โบราณสถานวัดเตว็ด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้จะมีชื่อว่าเป็นวัด แต่แท้จริงแล้วเป็นตำหนักของเจ้านายที่สร้างขึ้นเพื่อแปรพระราชฐานจากวังในเขตเมืองมาปลีกวิเวกหรือบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องจากอาคารนี้อยูใกล้วัดต่าง ๆ ในบริเวณนั้น[3] รวมถึงบ้านวิชาเยนทร์ ตึกโคโรซานและตึกปิจูในวัดเสาธงทอง

วัดเตว็ดและบ้านวิชาเยนทร์ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งร่วมสมัยกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตึกโคโรซานและตึกปิจู ไม่ปรากฏลวดลาย เด่นชัดว่าเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของฝรั่งเศส แต่มีรูปแบบที่เด่นชัดว่ามิใช่สถาปัตยกรรมไทยประเพณี แม้ว่าช่องหน้าต่างของตึกปิจูเป็นซุ้มปลายแหลมคล้ายกับศิลปะเปอร์เซีย อย่างไรก็ตามอาคารในศิลปะเปอร์เซียไม่ปรากฏการสร้างหลังคาหน้าจั่วแต่นิยมหลังคาตัดและบางครั้งประดับยอดโดม ในขณะที่การสร้างอาคารที่มีหน้าบันก่ออิฐถือปูนจรดอกไก่นิยมในศิลปะตะวันตก[4] แต่ลักษณะร่วมของอาคารดังกล่าวคือ เป็นอาคาร 2 ชั้นและใช้ผนังที่หนาขึ้นเพื่อช่วยรับน้ำหนัก นอกจากนี้หน้าบันของอาคารเหล่านี้เป็นการก่ออิฐถือปูนและประดับหน้าบันด้วยปูนปั้น ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าอาคารที่ใช้ผนังรับน้ำ โครงสร้างหลังคาที่มีหน้าบันก่ออิฐถือปูนจรดอกไก่ เป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก

ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ไม่มีการสร้างอาคารแบบตะวันตกอีกและมีการปรับอาคารแบบไทยเพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยและเพิ่มการประดับตกแต่ง เช่น ตำหนักพุฒโฆษาจารย์ ที่มีการพัฒนาด้านเทคนิค กล่าวคือ มีการใช้ผนังเพื่อรับน้ำหนักหลังคา หน้าบันก่ออิฐถือปูนจรดอกไก่ อาคารสองชั้น มีซุ้มหน้าต่างปลายแหลมรูปกลีบบัว ภายนอกเน้นความเรียบง่าย

อย่างไรก็ดีภายหลังสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความสัมพันธ์ระหว่างชาวคริสต์กับราชสำนักเสื่อมทรามลง ชุมชนชาวคริสต์หลายแห่งถูกห้ามและต่อมาอาคารต่าง ๆ ในชุมชนถูกทำลายลงภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 ดังนั้นโบสถ์ของชาวคริสต์ในพระนครศรีอยุธยาจึงไม่ปรากฏถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่าอาคารทั้งสองนำรูปแบบอาคารแบบวิลันดามาประยุกต์สร้างเป็นศาสนสถาน หรือมีการนำรูปแบบอาคารแบบวิลันดามาสร้างโบสถ์ศาสนาคริสต์คาทอลิกในชุมชนขนาดเล็กนอกกรุงศรีอยุธยาขึ้นก่อน และต่อมาชุมชนชาวพุทธขนาดเล็กอาจจะนำรูปแบบของอาคารแบบวิลันดาที่ดัดแปลงโบสถ์คาทอลิกขนาดเล็กนี้มาเป็นต้นแบบสร้างอุโบสถขนาดเล็กที่เรียกว่า อุโบสถแบบวิลันดา[5]

พัฒนาการ

[แก้]
โบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญหลังเก่า
อุโบสถเก่าหลังเก่า วัดสิงห์

เมื่อชุมชนชาวตะวันตกขยายตัวและชุมชนไทยในบริเวณรอบ ๆ กรุงศรีอยุธยาเติบโตขึ้น จึงสันนิษฐานว่าอาจจะมีการสร้างอาคารแบบวิลันดาโดยทั่วไป เทคนิคการก่อสร้างทำให้สถาปัตยกรรมไทยประเพณีมีพัฒนาการ จากหน้าบันเครื่องไม้เป็นการก่ออิฐถือปูนประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้น การใช้ผนังรับน้ำหนัก ทำให้พื้นที่ใช้สอยในอาคารมีมากขึ้น สามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการ จนได้รับความนิยมมากขึ้น จนนำไปสู่การสร้างที่หลากหลาย ตั้งแต่อุโบสถ วิหารขนาดเล็ก ตำหนักเจ้านาย บ้านพัก ห้องเก็บสินค้า อาคารเหล่านี้สร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี

ส่วนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยาพบตัวอย่างอุโบสถสมัยอยุธยาที่ได้รับอิทธิพลจากอาคารแบบวิลันดา ได้แก่ อุโบสถหลังเก่าวัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี อาคารอีกแหล่งที่สันนิษฐานวาสร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยา คือ โบสถ์คอนเซ็ปชัญหลังเก่า ซึ่งเป็นโบสถ์คาทอลิคขนาดเล็ก ตั้งอยูที่วัดคอนเซ็ปชัญ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ศิลปะจีนได้เข้ามามีอิทธิพลต่องานช่างจนก่อเกิดรูปแบบที่เรียกว่า พระราชนิยม โดยมีวัดราชโอรสเป็นต้นแบบ หน้าบันเป็นเครื่องก่อเป็นแผงทับ ไม่มีคูหาหน้าบันหรือไขราหน้าจั่ว โดยหน้าบันลักษณะเช่นนี้มีชื่อเรียกแบบเฉพาะว่า กระเท่เซ ในพื้นหน้าบันนิยมปั้นปูนเป็นลวดลายดอกบ๋วย หรือดอกพุดตานใบเทศ ประดับกระเบื้องสี เป็นลวดลายเครือเถาหรือประดับตุ๊กตาประกอบเขามอ ส่วนกรอบหน้าบันไม่ติดช่อฟ้ารวย นาคสะดุ้ง และหางหงส์ แต่ปั้นรูปเป็นรวยหน้ากระดาน คล้ายปั้นลมหางปลา ลักษณะอาคารสมัยนี้พัฒนาการต่อเนื่องมาจากพระอุโบสถแบบวิลันดา[6]

ลักษณะ

[แก้]

สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ใช้เทคนิคผนังรับน้ำหนักของส่วนหลังคาของอาคาร ปรากฏในอุโบสถและวิหารในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร มีหน้าบันก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ประดับด้วยลายปูนปั้นและบางครั้งมีการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ส่วนอุโบสถขนาดเล็ก มีทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญ คงได้รับอิทธิพลจากโบสถ์ในคริสตศาสนาจะให้ความสำคัญกับทางเข้าด้านหน้า (ส่วนผนังด้านหลังของโบสถ์คริสต์จะประดิษฐานรูปเคารพและเป็นมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์) กันสาดยื่นออกมาเหนือทางเข้า กรอบหน้าบันมัก ประดับด้วยใบระกา เรียกอาคารที่มีหน้าบันแบบนี้วา วิลันดา หรือ แบบ ฮอลันดา

อาคารที่มีหน้าบันแบบวิลันดา น. ณ ปากน้ำ สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเรียกอุโบสถหลังเก่าของวัดราชาธิวาสซึ่งมีลักษณะอาคารแบบทรงตึกไม่มีไขราหน้าจั่ว[7] รวมถึงทรงเรียกอาคารที่ได้รับอิทธิพลแบบตะวันตกในช่วงอยุธยาตอนปลายโดยทัวไปมิได้ชี้เฉพาะแต่อาคารที่สร้างโดยชาวฮอลันดา

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สะพานหก มรดกวิลันดา". มิวเซียมไทยแลนด์.
  2. วิภาวัลย์ แสงลิ้มสุวรรณ, โบสถ์คาทอลิคภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึง พุทธศักราช 2475 (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542), 10.
  3. สันติ เล็กสุขุม, พัฒนาการของลายไทย : กระหนกกับเอกลักษณ์ไทย, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2553), 320.
  4. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช, สถาปัตยกรรมประเภทอาคารสมัยพระนารายณ์ (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555), 36.
  5. วิษณุ สมบุญปีติ. "อาคารแบบวิลันดา : อิทธิพลของโบสถ์คาทอลิกสมัยอยุธยาตอนปลาย" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  6. ติ๊ก แสนบุญ. "หน้าบันปูนปั้นแบบ "วิลันดา" ถึง "กระเท่เซ" สายสัมพันธ์ของวัฒนธรรมทางงานช่างไทย-เทศ". ศิลปวัฒนธรรม.
  7. ติ๊ก แสนบุญ [นามแฝง], "หน้าบันปูนปั้นแบบ "วิลันดา" ถึง "กระเท่เซ" สายสัมพันธ์ของวัฒนธรรมงานช่างไทย-เทศ," ศิลปวัฒนธรรม 27, 321 (กรกฎาคม 2549), 60.