ข้ามไปเนื้อหา

วัดคงคาราม (จังหวัดราชบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดคงคาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดคงคาราม, วัดกลาง, เภี้ยโต้
ที่ตั้งตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดคงคาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

วัดคงคารามเดิมชื่อว่า วัดกลาง ส่วนภาษามอญจะเรียกว่า เภี้ยโต้ แปลว่าวัดกลาง จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2320 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2330[1] ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดคงคารามเจริญขึ้นถึงขั้นสูงสุดกล่าวกันว่าพระครูรามัญญาธิบดีรูปหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก แต่หลักฐานเอกสารที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2394 ยังคงเรียกวัดนี้ว่า "วัดกลาง" เจ้าจอมมารดากลิ่น ในรัชกาลที่ 4 ได้รับเป็นผู้อุปถัมภ์วัด ได้ทูลเกล้าถวายวัดกลางให้เป็นพระอารามหลวงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดคงคาราม"

พระอุโบสถมีเจดีย์ทรงรามัญ 7 องค์ รายรอบ เป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง 7 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 17.25 เมตร ประตูทุกบานเป็นงานจำหลักไม้ฝีมือประณีต ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำ[2] ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังงานศิลปะของชาวมอญ สีของภาพเป็นสีธรรมชาติ ที่สกัดจากเปลือกไม้ และดอกไม้ในสมัยนั้น เขียนถึงเรื่องราว อาทิ ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ภาพอดีตของพระพุทธเจ้าที่ประทับบนบัลลังก์ และทศชาติชาดก บางภาพเป็นภาพโบราณสมัยอยุธยา และบางภาพเป็นภาพที่ปฏิสังขรณ์จากช่างในช่วงรัชกาลที่ 4 นอกจากนั้นยังมีเรือนไทยกุฏิ 9 ห้อง ที่สร้างในสมัยกรุงธนบุรี มีการสลักบานหน้าต่างงดงาม ปัจจุบันเรือนไทยกุฏิ 9 ห้อง ได้ถูกจัดตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม รวบรวมศิลปะของมีค่าของชาวมอญมาตั้งแต่โบราณ[3] และมีเสาหงส์ (หงส์สำริด) สัญลักษณ์ของวัดมอญ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "กุฏิสงฆ์วัดคงคาราม ราชบุรี งามเลิศ". โพสต์ทูเดย์.
  2. "ยลจิตรกรรมล้ำค่า ที่วัดคงคาราม". วารสารวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.
  3. "วัดคงคาราม". ข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-31.