วรัญชัย โชคชนะ
วรัญชัย โชคชนะ | |
---|---|
วรัญชัยในปี 2565 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | เอกภาพ (2527–2541) ชาติพัฒนา (2541–2547) ความหวังใหม่ (2547) ประชาธิปัตย์ (2547) ประชาชนไทย (2547–2548) ไทยรักไทย (2549–2550) รักเมืองไทย (2550–2566) เพื่อชาติ (2566–ปัจจุบัน) |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (2549–2550) |
ศิษย์เก่า | คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฎพระนคร (ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร) |
วรัญชัย โชคชนะ (เกิด 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2495) เป็นนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย เขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว 7 ครั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้รับเลือกตั้ง
ประวัติ
[แก้]นายวรัญชัย เกิดวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ที่ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรของ นายทวีชัย และนางเพ็ญ โชคชนะ สำเร็จการศึกษา โรงเรียนอุบลวิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี, โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี, โรงเรียนวัดบวรนิเวศ และ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฎพระนคร (ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร) ในปี พ.ศ. 2542
ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ นางพาณี โชคชนะ มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน
การทำงาน
[แก้]วรัญชัย เริ่มรับราชการเป็นข้าราชการครู ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2519 และลาออกในปี พ.ศ. 2529 เพื่อสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2531 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง วรัญชัยบอกเล่าว่า ได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญต่าง ๆ เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออก และการเคลื่อนไหวให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่วรัญชัยบอกเล่าว่าถูกรุมทำร้ายที่หน้าบ้าน จนได้รับบาดเจ็บสาหัส
การเมือง
[แก้]วรัญชัยเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงเคยลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้การลงสมัครทั้งหมด วรัญชัยจะไม่เคยได้รับเลือกตั้งเลยสักครั้งเดียว
วรัญชัยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2529 และ 2531 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง[1]
ในการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกในปี พ.ศ. 2533[2] วรัญชัยคว้าคะแนนเสียงมาได้ 13,143 คะแนน[3] หลังจากนั้นเขาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเรื่อยมา แต่ไม่เคยได้คะแนนเสียงเท่ากับเมื่อปี 2533 อีก
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 นายวรัญชัยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และลำดับเดียวของ พรรคกสิกรไทย[4] แต่ยังคงไม่ได้รับเลือกตั้ง จึงลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2544
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 วรัญชัยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มพรรคเล็ก 16 พรรค ในฐานะตัวแทนพรรคแผ่นดินไทย เพื่อหารือกรณีอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น
โดยวรัญชัย เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรค ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ (28 มีนาคม พ.ศ. 2547-15 กันยายน 2547) พรรคประชาธิปัตย์ (16 กันยายน พ.ศ. 2547–22 ธันวาคม พ.ศ. 2547) พรรคประชาชนไทย (27 กันยายน พ.ศ. 2547–27 ตุลาคม พ.ศ. 2548) พรรคไทยรักไทย (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549–27 กรกฎาคม พ.ศ. 2549)
ต่อมาพรรคแผ่นดินไทยที่วรัญชัยเคยเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม ถูกยุบพรรคพร้อมกับ พรรคไทยรักไทย ในคดียุบพรรค ที่มีคำวินิจฉัยว่า พรรคไทยรักไทย จ้างพรรคเล็กคือ พรรคแผ่นดินไทย ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2550 ที่สนามหลวง วรัญชัยก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุม และยังมีบทบาทขึ้นปราศรัยในระยะแรก ของการชุมนุมต่อต้าน คมช. ก่อนหน้าการจัดตั้ง กลุ่มนปก. อีกด้วย
ในต้นปี พ.ศ. 2556 วรัญชัย กลับมาลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง โดยได้เบอร์ 2 ซึ่งครั้งนี้ นายวรัญชัยประกาศว่าหากยังไม่ได้รับเลือกตั้งอีก จะขอยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด
เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557 ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล นายวรัญชัย โชคชนะ ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับ 70 องค์กร ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ เพื่อหาทางออกให้กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน โดยได้แสดงความเห็นแนะนำ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า "ให้สลายม็อบตอน 04.00 น. หรือ 05.00 น. อย่ายอมให้ประชาชนจับเป็นตัวประกัน และย้ำทิ้งท้ายว่าต้องเดินหน้าเลือกตั้งให้ได้"[5]
ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 นายวรัญชัย ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการตามหมายจับในปี พ.ศ. 2559[6] ซึ่งนายวรัญชัยได้บุกรุกสถานที่ราชการในปี พ.ศ. 2557 และตำรวจออกหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และยุยงปลุกปั่นในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561
ในปี 2565 เขาได้ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[7] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนน 1,128 คะแนนเสียง[8]
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 เขาได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อชาติ ในเขตเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร แต่มิได้รับการเลือกตั้ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร". posttoday.com. 2013-02-01.
- ↑ Ltd.Thailand, VOICE TV (2022-03-07). "กทม. ในฝันของ 'วรัญชัย โชคชนะ' ตำนานผู้สมัครผู้ว่าฯ 6 สมัย". VoiceTV.
- ↑ "ผุดล่าชื่อขอ 'สื่อ-ผู้จัดเวที' เชิญ 'วรัญชัย โชคชนะ' ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ กทม". prachatai.com.
- ↑ "รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคกสิกรไทย". ryt9.com.
- ↑ วงประชุม 70 องค์กร หนุนเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ. พร้อมเสนอให้สลายการชุมนุม จาก sanook
- ↑ "รวบ'วรัญชัย โชคชนะ'ตามหมายจับค้างเก่าปี59". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-22. สืบค้นเมื่อ 2017-09-22.
- ↑ บุกเดี่ยวหาเสียง สไตล์ “วรัญชัย” ลงพื้นที่กับมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ถือโทรโข่งขอคะแนน
- ↑ matichon (2022-05-23). "กกต.กทม.สรุปผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ 'ชัชชาติ' คว้าชัย ด้วยคะแนนสูงสุด 1,386,215". มติชนออนไลน์.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2495
- บุคคลจากอำเภอวาปีปทุม
- ครูชาวไทย
- ข้าราชการกรุงเทพมหานคร
- นักการเมืองไทย
- พรรคสหประชาธิปไตย
- พรรคพลังใหม่
- พรรคเอกภาพ
- พรรคความหวังใหม่
- นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
- นักการเมืองพรรคไทยรักไทย
- พรรคเพื่อแผ่นดิน
- พรรคเพื่อชาติ
- นักเคลื่อนไหวชาวไทย
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
- แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
- บุคคลจากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
- บุคคลจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร