ลูกทุ่งเอฟเอ็ม
สถานีวิทยุ "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." | |
---|---|
พื้นที่กระจายเสียง | กรุงเทพมหานครและปริมณฑล |
ความถี่ | FM 90.0 MHz FM 95.0 MHz FM 103.0 MHz FM 94.5 MHz (2552) |
สัญลักษณ์ | ต้นฉบับสถานีลูกทุ่งตัวจริง |
แบบรายการ | |
ภาษา | ไทย |
รูปแบบ | เพลงไทยลูกทุ่ง สมัยเก่าและสมัยใหม่ |
การเป็นเจ้าของ | |
เจ้าของ | บริษัท ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. จำกัด (บริษัท ทราฟฟิก คอร์เนอร์ จำกัด บริษัท เอ็น บีซี แอ็ด จำกัด (แมกซิม่า) (ต่อมาร่วมบริหารงานกับ บริษัท คลิก-วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด) บริษัท คนลูกทุ่ง จำกัด) |
ประวัติ | |
เริ่มกระจายเสียง | 2540- 2548, |
ยุติกระจายเสียง | 2552 |
ลิงก์ | |
เว็บไซต์ | http://lukthungfm945.com |
ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (อังกฤษ: Lukthung F.M.) เป็นรายการวิทยุ เอฟ.เอ็ม. รายแรกของไทยที่เปิดเพลงลูกทุ่งตลอด 24 ชม. ดำเนินการผลิตโดย "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." โดยเริ่มกระจายเสียงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2540[1] ทางสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เอฟเอ็ม 90.0 เมกะเฮิร์ตซ์
ประวัติ
[แก้]ผู้ร่วมก่อตั้ง "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ได้แก่ คุณวิทยา ศุภพรโอภาส อดีตนักจัดรายการเพลงสากลและไทยสากลชื่อดัง ร่วมกับ ไพวงษ์ เตชะณรงค์ นักธุรกิจชื่อดัง (บิดาของสงกรานต์ เตชะณรงค์) และ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย แห่งบริษัท ทราฟฟิกคอร์เนอร์ จำกัด (ผู้รับสัมปทาน) โดยจัดเปิดเพลงไทยลูกทุ่งที่กำลังได้รับความนิยม เพลงในอดีต ของทุกศิลปิน ทุกค่ายเพลง มีการพูดคุย เสนอข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน [2]
ความรุ่งเรือง
[แก้]"ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอันดับ 1 หลังการกระจายเสียงเพียงไม่กี่เดือน โดยขึ้นนำหน้ารายการจากสถานีอื่นในระบบเอฟเอ็มด้วยกันซึ่งเปิดแต่เพลงสตริง [3] จนวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ได้ย้ายไปกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส.ม.ท. เอฟเอ็ม 95.0 เมกะเฮิร์ตซ์ [4] ซึ่งการย้ายในช่วงนี้ได้เวลาการจัดที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม สัญญาเช่านานกว่าเดิม และเริ่มมีการกระจายเสียงไปทั่วประเทศด้วย นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางเว็บไซต์ แมกกาซีน รายการวาไรตี้โชว์ "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ทีวี 9" มีการจัดมหกรรมคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเดือนสิงหาคม และการมอบ "รางวัลมาลัยทอง" ให้กับคนทำงานในวงการเพลงลูกทุ่งโดยมีการประกาศผลในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี
ราวปี พ.ศ. 2544-พ.ศ. 2545 ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ยังได้นำอดีตนางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง "เพชรา เชาวราษฎร์" มาเผยเสียงโดยร่วมจัดรายการวิทยุเป็นประจำ และมีการจัดคอนเสิร์ตครบรอบ 10 ปี รำลึก "พุ่มพวง ดวงจันทร์" โดยเชิญนักร้องเพลงลูกทุ่งและดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมร้องเพลงบนเวทีเดียวกัน อีกทั้งยังได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ร่วมกับสหมงคลฟิล์ม โดยรวมเอานักร้องและคนลูกทุ่งกว่า 168 ชีวิตมาร่วมแสดง จนประสบผลสำเร็จไม่แพ้งานอื่นๆ ที่ทำมา[5]
การเปลี่ยนแปลง
[แก้]รายการ "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ดำเนินเรื่อยมาจนถึงเดือน เมษายน พ.ศ. 2547 ได้ย้ายคลื่นอีกครั้ง เนื่องจากทาง อสมท จะจัดรายการเพลงลูกทุ่งด้วยตนเอง (คลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 ของ อสมท.) โดยย้ายกลับไปกระจายเสียงทางเอฟเอ็ม 90.0 และ 103.0 เมกะเฮิร์ตซ์ ตามลำดับ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก มีการเปลี่ยนเจ้าของผู้รับสัมปทาน แต่ทีมผู้จัดรายการยังคงเป็นชุดเดิม และได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชนอยู่ช่วงหนึ่ง และปิดสถานีไป
การกลับมา
[แก้]ในปี พ.ศ. 2552 วิทยา ศุภพรโอภาส ได้นำลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. กลับมาบนหน้าปัดวิทยุหลักอีกครั้งพร้อมกับสโลแกน "ต้นฉบับสถานีวิทยุลูกทุ่งตัวจริง" โดยมีบริษัท เอ็น บีซี แอ็ด จำกัด (แมกซิม่า) เป็นผู้รับสัมปทาน เริ่มกระจายเสียงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ทางสถานีวิทยุ จส. เอฟเอ็ม 94.5 เมกะเฮิร์ตซ์ อีกทั้งยังกระจายเสียงทั่วประเทศผ่านเครือข่าย Network โดยทีมนักจัดรายการชุดนี้มีทั้งคนเก่าเช่น เจนภพ จบกระบวนวรรณ, หมู ตะวัน , ตุ๋ย มหาชัย , วดี ,เสริมเวช ช่วงยรรยง และคนใหม่อีกหลายท่าน รวมทั้งดาราดังอย่าง ติ๊ก กลิ่นสี มาร่วมจัดด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการจัดรายการคอนเสิร์ต "ลูกทุ่ง ททบ.5" ถ่ายทอดสดทุกเย็นวันอาทิตย์ ทาง ททบ.5 และ Thai TV Global Network ผลปรากฏว่าการจัดรายการวิทยุในช่วงนี้ได้รับความนิยมจากผู้ฟังระดับหนึ่ง แต่กลับล้มเหลวทางด้านธุรกิจการขายโฆษณา เพราะเป็นเรื่องของแบรนด์ที่ไม่สอดรับกับกระแสความนิยมของผู้ฟังเพลง ประกอบกับรูปแบบของดนตรีลูกทุ่งตามท้องตลาดเปลี่ยนไป ต่อมาทางบริษัทผู้รับสัมปทานจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการใหม่แทบทั้งหมด ทำให้ ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ยุติลงในที่สุด พร้อมกับการลาออกของทีมผู้บริหารและนักจัดรายการที่ร่วมกันมาแต่แรกเริ่ม
ลูกทุ่งอินเตอร์
[แก้]เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ลูกทุ่งเอฟเอ็ม 94.5 ได้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น "เอฟเอ็ม 94.5 ลูกทุ่งอินเตอร์" โดยมีบริษัท คลิก-วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด ร่วมบริหารงานด้วย โดยวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นคลื่นเพลงลูกทุ่งระบบ Format Station อย่างแท้จริงเป็นแห่งแรก โดยทุกเพลงที่เปิดจะผ่านระบบการสำรวจความนิยมมาก่อนแล้วว่า เป็นเพลงที่ถูกใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถการันตีและพิสูจน์ได้จริง[6] ส่วนทีมนักจัดรายการได้มีการปรับเปลี่ยนใหม่หมด โดยมี ดี.เจ.จากลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม.บางคน และดี.เจ.หน้าใหม่ที่มีชื่อเสียงด้านอื่นๆ อาทิ อ.วันชัย สอนศิริ, อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช, สาลินี ปันยารชุน, ทัศน์สรวง วรกุล, ครูเทียม ชิงช้าสวรรค์, อู๊ด เป็นต่อ, ปุ๊ย ตีสิบ ฯลฯ มาร่วมจัดด้วย
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ทำให้เกิดความแคลงใจของคนลูกทุ่งด้วยกัน เนื่องจากมีเจ้าของตัวจริงใช้อยู่แล้ว คือ ตุ่น อินเตอร์(บุตรชายของ ส.ลือเนตร) ซึ่งเคยใช้ชื่อในการทำนิตยสาร รายการโทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชนในนาม "ลูกทุ่งอินเตอร์" โดยตุ่นเตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของรายการ "เอฟเอ็ม 94.5 ลูกทุ่งอินเตอร์" ข้อหาใช้ชื่อโดยไม่ถูกต้อง ส่วนจะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่อีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารคลื่นเอฟเอ็ม 94.5 เพื่อหาทางออก[7] ปัจจุบันคลื่นเอฟเอ็ม 94.5 ลูกทุ่งอินเตอร์ ยุติกระจายเสียงแล้ว
คนลูกทุ่ง
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (มิถุนายน 2024) |
นักจัดรายการวิทยุลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.
[แก้]
พ.ศ. 2552
|
พ.ศ. 2540 - 2548
|
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540
- ↑ หนังสือครบรอบ 1 ปี ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2541)
- ↑ จากการสำรวจของ VMR โดยทำการสำรวจความนิยมของผู้ฟังในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2541
- ↑ http://www.pantown.com/group.php?display=content&id ประวัติลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.
- ↑ http://www.bcmthailand.com/bt/content.php?data=401635_Event%2520Marketing[ลิงก์เสีย] มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม.รับกระแสลูกทุ่งฟีเวอร์
- ↑ ""คลิคฯ"ร่วมทุน"แม็กซิม่า"พันธมิตรใหม่ ผุด"คลื่น94.5"ลูกทุ่งอินเตอร์-ชี้ภาวะวิทยุไทยราบรื่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-01-06.
- ↑ เจ้าของ "ลูกทุ่งอินเตอร์" โผล่ จวกยับคลิกฯ มักง่ายขโมยชื่อ[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-13. สืบค้นเมื่อ 2009-11-24.
- ↑ โฆษณาของคลื่นฯในนิตยสาร เมื่อครั้งออกอากาศทาง FM 90 mhz[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-08-16. สืบค้นเมื่อ 2002-08-16.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- http://lukthungfm945.com/index.html เก็บถาวร 2010-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.siamdara.com/column/00006581.html เก็บถาวร 2009-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน