ข้ามไปเนื้อหา

ลำดับเหตุการณ์การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2565 (กรกฎาคม 2563)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ประเทศไทยมีการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[1]อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพมหานคร ผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free Youth) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ การยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ประท้วงระบุเหตุผลว่า รัฐบาลได้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดทั่วของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย และการปล่อยละเลยให้บุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่กักตัว 14 วัน จึงเป็นเหตุผู้ประท้วงไม่ไว้วางใจในการทำงานของรัฐบาล, การหยุดคุกคามประชาชน เนื่องจากมีการอ้างความมั่นคงเพื่อปิดปากประชาชน และยัดข้อหาให้ผู้ชุมนุม และ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นการสืบทอดอำนาจระบอบเผด็จการ ผู้ประท้วงกำหนดระยะเวลาให้รัฐบาลตอบสนองภายใน 2 สัปดาห์ มิฉะนั้นผู้ประท้วงจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป[2] สาเหตุการประท้วงเกิดจากเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ชุมนุมมองว่า มีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อห้ามการชุมนุมทางการเมือง[3][4] โดยการชุมนุมเริ่มต้นในเวลา 17:00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,500 คน มีประกาศจะปักหลักค้างคืนจนถึงเวลา 08:00 แต่ในช่วงเวลา 00:00 กลุ่มผู้ประท้วงประกาศยุติการชุมนุม เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย[5] ส่วน ศ.พิเศษ​ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการประวัติศาสตร์ เตือนผู้ชุมนุมอย่าชุมนุมค้างคืน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา[6]

การประท้วงที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม

วันที่ 19 กรกฎาคม เกิดการประท้วงขึ้นอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอุบลราชธานี[7]

วันที่ 22 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรม "อิสานสิบ่ทน" ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพิ่มขึ้นมา แฮชแท็ก #อีสานสิบ่ทน พุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทยอย่างรวดเร็ว[8]

วันเดียวกัน กลุ่ม "มศว คนรุ่นเปลี่ยน" จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อ "ชมสวน" หมายความถึง สวนที่กรุงเทพมหานครนำต้นไม้กระถางมาวางโดยรอบบริเวณ ซึ่งมีการยกออกไปในภายหลัง[9]

จากนั้นการประท้วงได้ลามไปทั่วประเทศ มีการจัดระเบียบการเดินขบวนในกว่า 20 จังหวัดในวันที่ 23 กรกฎาคม[10] บางมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสั่งห้ามบุคลากรและนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมและห้ามจัดการชุมนุมในพื้นที่โดยอ้างเหตุความกังวลเรื่องโควิด-19 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกและกลุ่มนิยมรัฐบาลชี้ว่าการกระทำบางอย่างของนักศึกษาอาจเข้าข่ายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย วันที่ 24 กรกฎาคม ที่จัตุรัสท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดการนั่งยึดพื้นที่โดยกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจาก 4 มหาวิทยาลัยในจังหวัด นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่ง[11] วันที่ 27 และ 29 กรกฎาคม คนไทยที่กรุงลอนดอน ในสหราชอาณาจักร และนครนิวยอร์กในสหรัฐ ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย[12]

วันที่ 25 กรกฎาคม กลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT) ชื่อ เสรีเทย เดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องกฎหมายสมรสเพศเดียวกันนอกเหนือจากข้อเรียกร้องสามข้อของเยาวชนปลดแอก[13] วันที่ 26 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยใช้ตัวการ์ตูนแฮมทาโร่ ตอนแรกเป็นการเคลื่อนไหวออนไลน์ทางทวิตเตอร์ จนกระทั่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน[9] วันที่ 29 กรกฎาคม มีการชุมนุมเกิดขึ้นหลายที่ทั่วประเทศ เช่น ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มีการชุมนุมของประชาชนราว 1,000 คน ก่อนหน้านี้ แกนนำ 4 คนถูกตั้งข้อหาซึ่งนัดเข้ามอบตัวในวันที่ 30 กรกฎาคม, ที่จังหวัดน่าน มีผู้ชุมนุมราว 100 คน ใช้แฮชแท็ก #คิดว่าน่านจะทนหรอ #น่านกระซิบลุง, ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ชุมนุม 200 คน ใช้สโลแกนว่า "นครสวรรค์จะไม่ทน เราจะสู้ จนกว่าตะได้ประชาธิปไตยคืนมา", ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการชุมนุมของกลุ่ม "สุพรรณจะไม่ทน" จำนวน 150 คน และที่จังหวัดนนทบุรี ผู้ชุมนุมร่วมร้องเพลงแฮมทาโร่[14]

วันที่ 30 กรกฎาคม มีการจัดการประท้วงโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้แฮชแท็ก #สามพระจอมจะยอมได้ไง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตกรุงเทพมหานคร[15] วันเดียวกัน มีการชุมนุมของกลุ่มอาชีวะ 2 กลุ่ม ได้แก่ "กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ" ที่แสดงจุดยืน "พิทักษ์" สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกล่าวหาว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก "ท้าทาย ต่อต้าน หรือกระทั่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์" มีจำนวนประมาณ 110 คน จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกกลุ่มหนึ่งคือ "อาชีวะเพื่อประชาชน" และกลุ่ม "ฟันเฟืองประชาธิปไตย" ที่แสดงจุดยืนเข้ากับผู้ชุมนุม[16]

รายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ระบุว่า จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรมแล้ว 75 ครั้งใน 44 จังหวัด ในจำนวนนี้ 5 กิจกรรมไม่สามารถจัดได้เพราะมีการคุกคามและปิดกั้นของทางการ[17]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Anti-government rallies spreading across Thailand". Coconut Thailand (ภาษาอังกฤษ). 2020-07-20. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  2. "'เยาวชนปลดแอก' เปิดแถลงการณ์ข้อเรียกร้องฉบับเต็ม". Bangkok Biz News. 2020-07-18. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  3. "Thai protesters call for government to resign". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 18 July 2020. สืบค้นเมื่อ 20 July 2020.
  4. ""เยาวชนปลดแอก" ยุติการชุมนุมก่อนเที่ยงคืน อ้างความปลอดภัย สรุปบรรยากาศจากเริ่มจนจบ". BBC Thai. 18 July 2020. สืบค้นเมื่อ 20 July 2020.
  5. “ม็อบปลดแอก” ยุติชุมนุมหวั่นมือที่ 3 ลั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้น เผยแพร่: 19 ก.ค. 2563 05:19 โดย: ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  6. “ชาญวิทย์” เตือนม็อบ “เยาวชนปลดแอก” อย่าค้างคืน หวั่นซ้ำรอย “6 ตุลา”
  7. "Chiang Mai, Ubon rally against Prayut, government". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). 20 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  8. #อีสานสิบ่ทน พุ่งติดเทรนด์อันดับ 1 แห่ขบวนหมอลำ ม่วนหลายก่อนปราศรัย
  9. 9.0 9.1 "ม็อบดิจิตัล: ความป๊อปในโลกออนไลน์ ที่ผลักดันให้การชุมนุมเข้าถึงคนมากขึ้น". Workpoint Today]. 25 July 2020. สืบค้นเมื่อ 26 July 2020.
  10. "ประท้วงดาวกระจายลามกว่า 20 จังหวัด เปิดไทม์ไลน์จุดเริ่มจาก 'เยาวชนปลดแอก'". The Bangkok Insight. 23 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-25.
  11. "4 มหาวิทยาลัยในโคราช นักเรียน ประชาชน แสดงพลังทวงคืนประชาธิปไตย". Thairath. 2020-07-24. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
  12. ชาวไทยในต่างประเทศ ร่วมแสดงพลังเรียกร้องประชาธิปไตย "ขับไล่เผด็จการ"
  13. ""กลุ่มเสรีเทยพลัส" จัดกิจกรรมม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล". MGR Online. 25 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-26.
  14. แฟลชม็อบคึกคัก หลายจังหวัดทั่วไทย ฮือต้าน รบ. ทวงคืนประชาธิปไตย
  15. #สามพระจอมจะยอมได้ไง อาชีวะไล่เผด็จการ ส่งไม้เวียนจัดแฟลชม็อบ ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเยาวชนปลดแอก
  16. อาชีวะช่วยชาติ: นศ. อาชีวะ 2 กลุ่มประกาศปกป้องสถาบัน กับ พิทักษ์ประชาชน
  17. "2 อาทิตย์หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก: เสนอหยุดคุกคาม กลับถูกคุกคามกว้างขวาง". ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS). 31 July 2020. สืบค้นเมื่อ 14 August 2020.