ข้ามไปเนื้อหา

ลอร์ดชานเซลเลอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลอร์ดชานเซลเลอร์
Lord Chancellor
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
ชะบานา มะฮ์มูด
ตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2024[1]
กระทรวงยุติธรรม
การเรียกขานเดอะไรต์ออนะระเบิล
(ภายในสหราชอาณาจักรและประเทศเครือจักรภพ)
สมาชิกของคณะรัฐมนตรี, สภาองคมนตรี
ผู้แต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน
(ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี)
ตำแหน่งก่อนหน้า
สถาปนา
คนแรกลอร์ดโคเพอร์ที่ 1
ในฐานะประธานศาลสูงสุดแห่งบริเตนใหญ่
เงินตอบแทน159,038 ปอนด์ต่อปี (ค.ศ. 2022)[2]
(รวมเงินตอบแทนจำนวน 86,584 ปอนด์ที่ได้ในฐานะสมาชิกรัฐสภาด้วย)[3]
เว็บไซต์เว็บไซต์ทางการ

ลอร์ดชานเซลเลอร์[a] หรือชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า ลอร์ดไฮชานเซลเลอร์แห่งบริเตนใหญ่ เป็นหนึ่งในเจ้าพนักงานระดับสูงแห่งรัฐที่มีความอาวุโสสูงสุดในประเทศสกอตแลนด์และประเทศอังกฤษภายในสหราชอาณาจักร[b][c] ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้าที่จะมีการตราพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 ซึ่งรวมอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ทั้งราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ต่างมีตำแหน่งลอร์ดชานเซลเลอร์เป็นของตนเอง ไอร์แลนด์ก็เคยมีตำแหน่งลอร์ดชานเซลเลอร์เช่นกัน จนกระทั่งยกเลิกในปี 1922

ลอร์ดชานเซลเลอร์มีศักดิ์สูงยิ่งกว่านายกรัฐมนตรี บุคคลที่มิใช่เชื้อพระวงศ์ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าลอร์ดชานเซลเลอร์มีเพียงผู้นำคริสตจักรอังกฤษอย่างอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี กล่าวคือลอร์ดชานเซลเลอร์จะเป็นบุคคลแรกที่เดินตามหลังอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี และเป็นผู้ถวายเอกสารให้แก่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงอ่านในพิธีการสำคัญ

สมัยกลาง

[แก้]

ในสมัยกลาง ก่อนที่อังกฤษจะมีระบบคณะรัฐมนตรีลอร์ดชานเซลเลอร์เป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ส่วนมากเป็นพระสงฆ์ มีน้อยมากที่เป็นฆราวาส ตำแหน่งนี้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานที่เรียกว่า chancery (สำนักอาลักษณ์)[5] ทั้งยังเป็นผู้เก็บรักษามหาลัญจกรแผ่นดิน เป็นอธิการโบสถ์หลวง และเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ทั้งเรื่องฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมราชสำนัก และต่อมามีบทบาทเป็นประธานสภาขุนนาง

ด้วยเหตุที่ลอร์ดชานเซลเลอร์มีสิทธิ์เข้าประชุมราชสำนัก จึงมีบทบาทในการนำคำอุทธรณ์จากศาลสถิตยุติธรรมในคดีที่เห็นว่าได้รับผลไม่เป็นธรรมจากกฎหมาย ขึ้นถวายต่อองค์กษัตริย์ (เปลี่ยนเป็นต่อรัฐสภาหลังมีมหากฎบัตร)[6]

หน้าที่และอำนาจ

[แก้]
ลอร์ดชานเซลเลอร์ในชุดพิธีการ ในกระเป๋าผ้าคือมหาลัญจกรแผ่นดิน

ปัจจุบันลอร์ดชานเซลเลอร์เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีและสภาองคมนตรี มีความรับผิดชอบตรวจตราการทำงานและความเป็นอิสระขององค์กรศาล เป็นผู้เก็บรักษามหาลัญจกรแผ่นดิน เป็นผู้กำกับดูแลกิจการเรือนจำและสถานคุมประพฤติในอังกฤษและเวลส์ และเป็นผู้เสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาในอังกฤษ เวลส์ และทั่วสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ผู้พิพากษาศาลสูงสุด, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และประธานแผนกคดีในศาลสูง จะได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของลอร์ดชานเซลเลอร์ซึ่งรับคำปรึกษาจากคณะกรรมการแต่งตั้งตุลาการ[7]

ในอดีตลอร์ดชานเซลเลอร์เคยเป็นประธานที่ประชุมสภาขุนนาง เป็นประธานฝ่ายตุลาการแห่งอังกฤษและเวลส์ และศาลแผนกชานเซอรีในระบบศาลสูง อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2005 ได้โอนบทบาทหน้าที่เหล่านี้ให้แก่ตำแหน่ง ประธานสภาขุนนาง อธิบดีศาลสูง และประธานศาลสูง ตามลำดับแล้ว ไม่เท่านั้น กฎหมายดังกล่าวยังตัดอำนาจของลอร์ดชานเซลเลอร์ ซึ่งเดิมเคยมีสิทธิ์เลือกให้เนติบัณฑิตคนใดเป็นทนายความส่วนพระองค์ (King's Counsel) กฎหมายใหม่กำหนดให้ลอร์ดชานเซลเลอร์มีบทบาทเป็นเพียงผู้ดูแลกระบวนการคัดเลือกรายชื่อเนติบัณฑิตโดยองค์กรอิสระ และให้คำชี้แนะต่อพระมหากษัตริย์ในการเลือกแต่งตั้งทนายความส่วนพระองค์[8]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. (อังกฤษ: Lord Chancellor คำเต็มว่า Lord High Chancellor of Great Britain) สำนักงานราชบัณฑิตยสภาบัญญัติคำแปลว่า ประธานศาลสูงสุด[4]
  2. ตามจารีตประเพณีของอังกฤษลอร์ดชานเซลเลอร์มีศักดิ์เป็นรองจากเสวกใหญ่ (Lord High Steward) แต่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลงตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ลอร์ดชานเซลเลอร์กลายเป็นตำแหน่งพลเรือนที่มีศักดิ์สูงสุดในทางปฏิบัติของอังกฤษ อยู่เหนือนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรี เป็นต้น
  3. ตามจารีตประเพณีของสกอตแลนด์ลอร์ดชานเซลเลอร์มีศักดิ์เป็นรองจากมหาเสวกแห่งสกอตแลนด์ (Great Steward) ซึ่งตำแหน่งมหาเสวกเป็นของรัชทายาทลำดับหนึ่ง ปัจจุบันคือเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ ในกรณีนี้ลอร์ดชานเซลเลอร์ก็ยังคงเป็นตำแหน่งพลเรือนที่มีศักดิ์สูงสุดของสกอตแลนด์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Cross, Michael (5 กรกฎาคม 2024). "Shabana Mahmood appointed lord chancellor and justice secretary in Starmer cabinet". Law Gazette. The Law Society. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2024.
  2. "Salaries of Members of His Majesty's Government – Financial Year 2022–23" (PDF). 15 December 2022.
  3. "Pay and expenses for MPs". parliament.uk. สืบค้นเมื่อ 15 December 2022.
  4. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. "ศัพท์บัญญัติ ๔๐ สาขาวิชา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา". สืบค้นเมื่อ 19 June 2023.
  5. Corèdon, Christopher; Williams, Ann (2007). A Dictionary of Medieval Terms and Phrases. D.S. Brewer. p. 66. ISBN 978-1-84384-138-8.
  6. Joseph, Parkes (1828). A History of the Court of Chancery. London: Longman, Rees, Orme, Brown, and Green. pp. 29–30.
  7. "Courts and Legal Services Act 1990". The National Archives. สืบค้นเมื่อ July 18, 2023.
  8. "Constitutional reform: the future of Queen's Counsel" (PDF). The Lord Chancellor, Department for Constitutional Affairs. p. 9. สืบค้นเมื่อ 30 January 2009.