ข้ามไปเนื้อหา

รูด็อล์ฟ เฮ็ส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รูดอล์ฟ เฮสส์)
รูด็อล์ฟ เฮ็ส
รองฟือเรอร์
Stellvertreter des Führers
ดำรงตำแหน่ง
21 เมษายน 1933 – 12 พฤษภาคม 1941
ฟือแรร์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปมาร์ทีน บอร์มัน (หัวหน้าสำนักงานใหญ่พรรคนาซี)
ไรช์สไลเทอร์
ดำรงตำแหน่ง
1933–1941
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
รูด็อล์ฟ วัลเทอร์ ริชชาร์ท เฮ็ส

26 เมษายน ค.ศ. 1894(1894-04-26)
อเล็กซานเดรีย อียิปต์ จักรวรรดิออตโตมัน
เสียชีวิต17 สิงหาคม ค.ศ. 1987(1987-08-17) (93 ปี)
ซพันเดา เบอร์ลินตะวันตก ประเทศเยอรมนีตะวันตก
เชื้อชาติเยอรมัน
พรรคการเมืองพรรคแรงงานชาติสังคมนิยมเยอรมัน (NSDAP) (1920–1941)
คู่สมรสIlse Pröhl
(22 มิถุนายน 1900 – 7 กันยายน 1995)
สมรส 20 ธันวาคม 1927
บุตรวอล์ฟ รือดีเกอร์ เฮ็ส
(18 พฤศจิกายน 1937 – 14 ตุลาคม 2001)
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมิวนิก
ลายมือชื่อ

รูด็อล์ฟ วัลเทอร์ ริชชาร์ท เฮ็ส (เยอรมัน: Rudolf Walter Richard Heß; 26 เมษายน 1894 – 17 สิงหาคม 1987) เป็นนักการเมืองคนสำคัญในนาซีเยอรมนี ได้รับแต่งตั้งเป็นรองฟือเรอร์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในปี 1933 เขาดำรงตำแหน่งจนปี 1941 เมื่อเขาบินเดี่ยวไปประเทศสกอตแลนด์เพื่อพยายามเจรจาสันติภาพกับสหราชอาณาจักรระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกจับเป็นนักโทษและสุดท้ายถูกพิพากษาลงโทษฐานอาชญากรรมต่อสันติภาพ รับโทษจำคุกตลอดชีวิต

เฮ็สสมัครเข้าเป็นทหารในกรมทหารปืนใหญ่สนามบาวาเรียที่ 7 เป็นทหารราบเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติ เขาได้รับบาดเจ็บหลายครั้งระหว่างสงคราม และได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์กางเขนเหล็ก ชั้นสองในปี 1915 ไม่นานก่อนสงครามยุติ เฮ็สขึ้นทะเบียนเพื่อฝึกเป็นนักบิน แต่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทนี้ เขาออกจากกองทัพในเดือนธันวาคม 1918 ด้วยยศร้อยโทสำรอง (Leutnant der Reserve)

ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1919 เฮ็สสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยมิวนิก ที่ซึ่งเขาศึกษาวิชาภูมิรัฐศาสตร์กับคาร์ล เฮาโชแฟร์ ผู้สนับสนุนมโนทัศน์เลเบนซเราม์ ("ที่อยู่อาศัย") ซึ่งต่อมากลายเป็นเสาหลักของอุดมการณ์พรรคนาซี เฮ็สเข้าร่วมพรรคนาซีเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1920 และร่วมกับฮิตเลอร์ก่อกบฏโรงเบียร์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 1923 อันเป็นความพยายามของนาซีที่ล้มเหลวเพื่อยึดรัฐบาลบาวาเรีย ระหว่างรับโทษจำคุกจากความพยายามรัฐประหารนี้ เฮ็สช่วยฮิตเลอร์เขียนงานของเขา ไมน์คัมพฟ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นรากฐานแนวนโยบายของพรรคนาซี

เมื่อนาซียึดอำนาจในปี 1933 เฮ็สได้รับแต่งตั้งเป็นรองฟือเรอร์ของพรรคนาซีและได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของฮิตเลอร์ เขาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดอันดับสามในประเทศเยอรมนี รองแต่เพียงฮิตเลอร์และแฮร์มันน์ เกอริง นอกเหนือจากการปรากฏตัวแทนฮิตเลอร์ในการปราศรัยและชุมนุม เฮ็สลงนามผ่านกฎหมายหลายฉบับซึ่งรวมกฎหมายเนือร์นแบร์กปี 1935 ซึ่งถอดสิทธิของชาวยิวในประเทศเยอรมนีนำไปสู่ฮอโลคอสต์

เฮ็สยังสนใจการบิน โดยเรียนบินอากาศยานที่ซับซ้อนขึ้นซึ่งมาพัฒนาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1941 เขาบินเดี่ยวไปประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเขาหวังจัดการเจรจาสันติภาพกับดุ๊กแฮมิลตัน ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นคนสำคัญในฝ่ายค้านของรัฐบาลอังกฤษ เฮ็สถูกจับกุมทันทีที่มาถึงและถูกอังกฤษควบคุมตัวจนสิ้นสงคราม (หลังจากฮิตเลอร์ได้ทราบการกระทำของเฮ็สทำให้เขาโกรธมากและทำการปลดเขาออกจากรองฟือเรอร์และได้แต่งตั้งมาร์ติน บอรมันแทน) เมื่อเขากลับประเทศเยอรมนีเพื่อรับการไต่สวนในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์กอาชญากรสงครามคนสำคัญในปี 1946 ตลอดการไต่สวน เขาอ้างว่าป่วยเป็นภาวะเสียความจำ แต่ภายหลังรับว่าเป็นอุบาย เฮ็สถูกพิพากษาลงโทษฐานอาชญากรรมต่อสันติภาพและคบคิดกับผู้นำเยอรมันอื่นเพื่อก่ออาชญากรรมและถูกย้ายไปเรือนจำซแพนเดาในปี 1947 ซึ่งเขารับโทษจำคุกตลอดชีวิต ความพยายามซ้ำ ๆ ของสมาชิกครอบครัวและนักการเมืองคนสำคัญเพื่อให้ปล่อยตัวเขาถูกสหภาพโซเวียตขัดขวาง ขณะยังถูกควบคุมตัวในซแพนเดา เขาเสียชีวิตโดยดูเหมือนฆ่าตัวตายในปี 1987 เมื่ออายุ 93 ปี หลังเสียชีวิต เรือนจำถูกทำลายเพื่อมิให้กลายเป็นที่บูชาของนีโอนาซี

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]