ข้ามไปเนื้อหา

แฮร์มัน เกอริง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แฮร์มันน์ เกอริง)
แฮร์มัน เกอริง
Hermann Göring
ประธานไรชส์ทาค
ดำรงตำแหน่ง
30 สิงหาคม ค.ศ. 1932 – 23 เมษายน ค.ศ. 1945
ประธานาธิบดี
หัวหน้ารัฐบาล
ก่อนหน้าPaul Löbe
ถัดไปไม่มี; ตำแหน่งถูกยุบเลิก
มุขมนตรีเสรีรัฐปรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
10 เมษายน ค.ศ. 1933[1] – 23 เมษายน ค.ศ. 1945
ผู้ว่าการ
ก่อนหน้าฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน
ถัดไปไม่มี; ปรัสเซียถูกยุบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี
ดำรงตำแหน่ง
26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937 – 15 มกราคม ค.ศ. 1938
หัวหน้ารัฐบาลอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้าฮยัลมาร์ ชัคท์
ถัดไปวัลเทอร์ ฟุงค์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเดินอากาศเยอรมนี
ดำรงตำแหน่ง
27 เมษายน ค.ศ. 1933 – 23 เมษายน ค.ศ. 1945
ประธานาธิบดี
หัวหน้ารัฐบาลอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปโรแบร์ท ริทเทอร์ ฟอน ไกรม์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป่าไม้เยอรมนี
ดำรงตำแหน่ง
กรกฎาคม ค.ศ. 1934 – 23 เมษายน ค.ศ. 1945
ประธานาธิบดี
หัวหน้ารัฐบาลอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปไม่มี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
แฮร์มัน วิลเฮ็ล์ม เกอริง

12 มกราคม ค.ศ. 1893(1893-01-12)[2]
โรเซินไฮม์ ราชอาณาจักรบาวาเรีย
 เยอรมนี
เสียชีวิต15 ตุลาคม ค.ศ. 1946(1946-10-15) (53 ปี)[3]
เนือร์นแบร์ค, เยอรมนี
สาเหตุการเสียชีวิตฆ่าตัวตายด้วยยาพิษไซยาไนด์
พรรคการเมือง
คู่สมรส
บุตรเอ็ดดา เกอริง
อาชีพ
  • นักบิน
  • นักการเมือง
รัฐบาลฮิตเลอร์
รางวัล
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้
สังกัด
ประจำการ
  • 1912–1918
  • 1923–1945
ยศ
บังคับบัญชาลุฟท์วัฟเฟอ (1935–45)
ผ่านศึก
  • สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
  • สงครามโลกครั้งที่สอง

แฮร์มัน วิลเฮ็ล์ม เกอริง (เยอรมัน: Hermann Wilhelm Göring) เป็นผู้นำทางทหารของไรช์ที่สามที่ตำแหน่งจอมพลไรช์ และยังเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (พรรคนาซี) เขามีบทบาทสำคัญในการขยายระบบเผด็จการของพรรคนาซีให้ครอบคลุมทั่วเยอรมนี รวมทั้งสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารของเยอรมนีโดยเฉพาะกองทัพอากาศให้มีความแข็งแกร่ง ภายหลังนาซีล่มสลาย เขาถูกตัดสินประหารชีวิตในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ค แต่เขาก็จบชีวิตตนเองด้วยการกลืนไซยาไนด์ก่อนหน้าการประหารชีวิตไม่กี่ชั่วโมง และก่อนกลืนไซยาไนด์เขาได้ตระโกนว่า "ไฮล์ ฮิตเลอร์"

ชีวิตช่วงเยาว์วัย

[แก้]
เกอริงในวัย 14 ปี

เกอริงเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 1893 ที่เมืองโรเซินไฮม์ ราชอาณาจักรบาวาเรีย จักรวรรดิเยอรมัน เป็นบุตรคนที่ 2 ของภรรยาคนที่ 2 ของไฮม์ริช เกอริง ซึ่งเป็นกงสุลใหญ่เยอรมันประจำเกาะเฮติ ขณะเป็นเด็กเขาไม่ได้อยู่กับบิดาแต่ได้รับเลี้ยงดูในปราสาทเล็กๆ ชื่อเฟลเดนชไตน์ (Veldenstein) ของ ริทเทอร์ ฟอน เอเพนชไตน์ แฮร์มัน ชาวยิว ซึ่งเป็นชู้รักของมารดาและเป็นพ่อทูนหัวของเขา ต่อมาในปี 1896 ขณะอายุ 3 ปี บิดาปลดเกษียณ ครอบครัวเกอริงจึงอยู่ร่วมกันอีกครั้งในเยอรมนี

การศึกษา

[แก้]

เขาเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยการทหารในเมืองคาลส์รูเออ และเข้ารับราชการในปี 1912 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เขามียศเป็นร้อยโทในอาลซัส-ลอแรน ก่อนที่จะย้ายไปสังกัดกองทัพอากาศ เขาเป็นนักบินที่มีความสามารถและได้รับเหรียญปัวร์เลอแมริท และกางเขนเหล็กชั้น 1

เกอริง, พระยาพหลพลพยุหเสนา และฮิเดะกิ โทโจ ต่างรู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่สถาบันนายร้อยส่วนกลาง (Hauptkadettenanstalt) ในกรุงเบอร์ลิน โดยกลุ่มของเกอริง, กลุ่มของพระยาพหลฯ และกลุ่มของโทโจ มักประลองดาบกันเสมอ[4] เกอริงเป็นคนตัวใหญ่ชอบเล่นแรง จนครั้งหนึ่งเขาถูกน.น.ร.น้อม (พลตรีพระศักดาพลรักษ์) ชกจนฟันหัก

สมัยสาธารณรัฐไวมาร์

[แก้]

ในช่วงความวุ่นวายภายหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนี เขารู้สึกขัดเคืองใจต่อการที่นายทหารถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายจากพลเรือน เขาจึงไปทำงานเป็นนักบินพานิชย์ในเดนมาร์กและสวีเดน ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ของสายการบินสวีเดน และมีโอกาสได้พบกับบารอนเนสคาริน ฟอน โรเชิน (Baroness Carin von Rosen) สตรีผู้สูงศักดิ์ชาวสวีเดนซึ่งหย่าขาดจากสามี เขาได้แต่งงานกับบารอนเนสคารินที่นครมิวนิกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1922 ในปีเดียวกัน เขาได้ร่วมกับพรรคนาซี และเนื่องจากมีชื่อเสียงในฐานะวีรบุรุษในสงคราม ฮิตเลอร์จึงมอบหมายให้เขาบังคับบัญชาหน่วยชตวร์มอัพไทลุง (SA) ซึ่งเป็นกองกำลังของพรรคนาซี

ในเดือนพฤศจิกายน 1923 พวกนาซีได้ก่อเหตุกบฏโรงเบียร์ ซึ่งฮิตเลอร์พยายามยึดอำนาจทั้งที่ยังไม่พร้อม การกบฏจึงล้มเหลว เขาจึงได้รับบาดเจ็บและถูกทางการสั่งจับ แต่เขาและภรรยาหนีไปออสเตรีย เขาต้องใช้มอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากบาดแผล เป็นผลให้เขากลายเป็นคนติดมอร์ฟีนอย่างรุนแรง จนต้องเข้ารับการบำบัดในช่วง 1925 – 1926 ที่โรงพยาบาลจิตเวชในสวีเดน ในช่วงนี้เขาไม่มีการติดต่อที่ใกล้ชิดกับฮิตเลอร์

เมื่อได้รับอภัยโทษใน 1926 เขาได้เดินทางกลับเยอรมนีใน 1927 ฮิตเลอร์เสนอให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไรชส์ทาค (Reichstag) ในเขตที่พรรคนาซีมีฐานเสียงมั่นคง ทำให้เขาเป็น 1 ในสมาชิกไรชส์ทาคจำนวน 12 คนสังกัดพรรคนาซี เขาได้กระชับความสัมพันธ์กับนักอุตสาหกรรมและนักการเมืองอื่น ๆ

ใน 1930 เขาได้รับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง และเป็นผู้นำในสภาล่าง ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 1932 เมื่อพรรคนาซีชนะการเลือกตั้งถึง 230 ที่นั่ง เขาได้รับเลือกเป็นประธานไรชส์ทาค ความตั้งใจของเขาคือล้มล้างระบบประชาธิปไตย เขาใช้เล่ห์เหลี่ยมและตำแหน่งหน้าที่เอาชนะนายกรัฐมนตรี ควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ และฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน พร้อมทั้งโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค เชิญฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1933

สมัยนาซีเยอรมนี

[แก้]

เมื่อพรรคนาซีเถลิงอำนาจ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นทั้งมุขมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของปรัสเซีย เป็นผู้นำอันดับสองของพรรคนาซี และคาดหมายว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากฮิตเลอร์ เขาทำงานหนักเพื่อผลักดันให้บทกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Acts) ผ่านการพิจารณาของไรชส์ทาค เขามุ่งสร้างเสริมอำนาจเผด็จการด้วยทำให้ปรัสเซียเป็นรัฐนาซีจัดตั้งตำรวจลับหรือเกสตาโพ และให้สร้างค่ายกักกันสำหรับคุมขังศัตรู นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2476 เขายังได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบิน ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่และเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศ หน้าที่ของเขาคือสร้างเสริมกำลังทางอากาศซึ่งเป็นการขัดต่อสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เขาได้สร้างเครื่องบินและฝึกนักบินอย่างลับ ๆ

บทบาทในกองทัพอากาศ

[แก้]

ในปี 1938 เขาได้รับยศจอมพล และก่อนบุกโปแลนด์เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาเศรษฐกิจสงคราม และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเป็นผู้อำนวยการนโยบายเศรษฐกิจสงครามของประเทศ

กองทัพอากาศภายใต้การบังคับบัญชาของเขาก็ทำสงครามสายฟ้าแลบ ซึ่งสามารถทำลายการต่อต้านของโปแลนด์ และขยายการโจมตีไปยังประเทศต่างๆในยุโรป หลังจากชัยชนะในยุทธการที่ฝรั่งเศส ใน 1940 ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งให้เขาเป็นจอมพลไรช์ เป็นผู้มีอิทธิพลลำดับสองในทางทหาร

ในช่วงท้ายของสงครามโลก เมื่อสถานการณ์ของฝ่ายเยอรมันอยู่ในขั้นวิกฤติ ในเดือนเมษายน 1945 เกอริงซึ่งอยู่ในออสเตรียพยายามรวบอำนาจขึ้นเป็นผู้นำเยอรมัน เพราะเขาเชื่อว่าฮิตเลอร์ถูกปิดล้อมอยู่ที่กรุงเบอร์ลินและหมดหนทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เขาเสนอให้มีการเจรจาสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตร แต่เมื่อข่าวล่วงรู้ถึงฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ออกคำสั่งจับเขาในฐานะผู้ทรยศ ขี้ขลาดและยอมแพ้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 เขาก็ยอมจำนนต่อกองทัพที่ 7 ของสหรัฐในอีกสองวันต่อมา

การจบชีวิต

[แก้]
เกอริง (แถวหน้าซ้ายสุด) ในระหว่างการไต่สวนของศาลพิเศษ

ในการไต่สวนคดีอาชญากรสงครามของศาลอาชญากรรมสงครามแห่งเนือร์นแบร์ค เขาได้รับการบำบัดการติดยาเสพติดและสามารถโต้แย้งข้อกล่าวหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนพัวพันใดๆ กับการกระทำที่เหี้ยมโหดของระบอบนาซี โดยอ้างว่าเป็นงานลับของฮิมม์เลอร์ อย่างไรก็ตามเขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิตในวันที่ 15 ตุลาคม 1946 แต่เขาก็กินยาพิษตายในห้องขังไม่กี่ชั่วโมงก่อนกำหนดการประหาร เกอริงถึงแก่กรรมขณะอายุ 53 ปี

เกียรติยศ

[แก้]

อิสริยาภรณ์เยอรมัน

[แก้]

ยศทหาร

[แก้]
  • มีนาคม 1912 : นักเรียนทำการนายร้อย (Fähnrich)
  • มกราคม 1914 : ร้อยตรี (Leutnant)
  • สิงหาคม 1917 : ร้อยโท (Oberleutnant)
  • มิถุนายน 1920 : ร้อยเอก (Hauptman)
  • สิงหาคม 1933 : พลเอกทหารราบ กิตติมศักดิ์ (General der Infanterie)
  • มีนาคม 1935 : พลเอกทหารนักบิน กิตติมศักดิ์ (General der Flieger)
  • เมษายน 1936 : พลเอกอาวุโส (Generaloberst)
  • กุมภาพันธ์ 1938 : จอมพล (Generalfeldmarschall)
  • กรกฎาคม 1940 : จอมพลไรช์ (Reichsmarschall)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Manvell 2011, p. 110.
  2. Manvell 2011, p. 21.
  3. Kershaw 2008, p. 964.
  4. เพื่อนเกลอ[ลิงก์เสีย] กันยายน 2548
  • ชาคริต ชุ่มวัฒนะ สารานุกรมประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม G-H

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แฮร์มัน เกอริง