ข้ามไปเนื้อหา

สมณะโพธิรักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รัก รักพงษ์)
สมณะโพธิรักษ์

(รัก รักพงษ์ )
ส่วนบุคคล
เกิด5 มิถุนายน พ.ศ. 2477
มรณภาพ11 เมษายน พ.ศ. 2567
ตำแหน่งชั้นสูง
อุปสมบท7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513

สมณะโพธิรักษ์ (รัก รักพงษ์) เป็นนักบวชผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณของสำนักสันติอโศก

ประวัติ

สมณะโพธิรักษ์ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ เกิดวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ

ในวัยเด็กอาศัยอยู่กับมารดาที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังได้เข้ามาศึกษาชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น รัก รักพงษ์

ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นผู้จัดรายการ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก, การศึกษา และวิชาการ นอกจากงานทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังทำงานเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียน นักแต่งเพลง[1] และเด็กส่งหนังสือพิมพ์

ต่อมาได้หันมาศึกษา พุทธศาสนาและได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกายวัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า โพธิรกฺขิโต มีพระราชวรคุณ (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์

2 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ ได้เข้ารับการแปรญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เนื่องจากมีพระคณะมหานิกายเข้ามาร่วมศึกษา และปฏิบัติตามพระโพธิรักษ์ แต่พระราชวรคุณ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ต้องการ ให้พระฝ่ายมหานิกายเข้ามาศึกษาด้วย

25 เมษายน พ.ศ. 2516 พระโพธิรักษ์ได้คืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุต ถือไว้แต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย อย่างเดียว

6 สิงหาคม พ.ศ. 2518 พระโพธิรักษ์และคณะ ได้ประกาศ นานาสังวาส กับมหาเถรสมาคม (ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม) และได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านอกรีต จากการปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระโพธิรักษ์และคณะ ได้แก่ ฉันอาหารมังสวิรัติ, ฉันอาหารวันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ฯ

ในภายหลัง พระโพธิรักษ์ และคณะ ได้รับการพิพากษาว่าเป็น ผู้แพ้ ไม่สามารถ เรียกขานตนเองว่า พระ ได้ จึงเรียกตนเองว่า สมณะ แทน และยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม

สมณะโพธิรักษ์มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลา 06.40.10 น. ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี[2] สิริอายุ 89 ปี 10 เดือน 6 วัน

คดีความ

เนื่องจากทางมหาเถรสมาคมเห็นว่าพระโพธิรักประพฤติผิดพระธรรมวินัยหลายประการ คณะสงฆ์จึงเสนอเรื่องต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 มหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นสามคณะ คือ คณะทำงานด้านธรรมวินัย คณะทำงานด้านกฎหมาย คณะทำงานด้านมวลชน เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง คณะทำงานด้านพระธรรมวินัยมีความเห็นว่า พระโพธิรักล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ส่วนคณะทำงานด้านกฎหมายมีความเห็นว่า รักษ์ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้ตั้งคณะการกสงฆ์เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อมหาเถรสมาคม คณะการกสงฆ์ได้ประชุมกันโดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เป็นประธาน คณะการกสงฆ์ได้มีมติสี่ประการ คือ (1) ให้มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โดยสั่งให้พระโพธิรักสละสมณเพศ (2) บริวารของพระโพธิรักซึ่งเข้าบวชโดยไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าต้องการจะบวชให้ถูกต้อง ก็ให้มารายงานตัวต่อสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัดผู้เป็นการกสงฆ์ขึ้นไป (3) ให้ประกาศนียกรรมแก่พุทธบริษัทให้ทราบข้อเท็จจริงโดยทั่วกัน และ (4) ให้กรมการศาสนาแจ้งแก่ภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักรให้ทราบข้อเท็จจริงและมิให้คบหาสมาคมรักษ์และบริวาร

มติของการกสงฆ์ดังกล่าว มหาเถรสมาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบ แต่สำหรับมติประการแรกได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า มหาเถรสมาคมใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้ ต่อมาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) ในฐานะประธานมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งให้รักษ์สละสมณเพศภายในเจ็ดวัน

ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2532 นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนาได้นำคำสั่งไปให้พระโพธิรักทราบที่ชุมชนสันติอโศก พระโพธิรักไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำสั่ง รองอธิบดีกรมการศาสนาจึงร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว กรมตำรวจแต่งตั้ง พล.ต.ต. วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน และนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ได้สั่งให้จับกุมพระโพธิรักและพวกทั้งหมด รวม 105 คน ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2532 พนักงานสอบสวนจับกุม แจ้งข้อหา และสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยจำนวน 80 คดี ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-79 มีความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 (ไม่ใช่ภิกษุสงฆ์ บังอาจแต่งกายอย่างภิกษุสงฆ์ เพื่อล่อลวงให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นภิกษุสงฆ์) และให้จำคุกคนละ 3 เดือน ส่วนจำเลยที่ 80 คือ รักษ์ สนับสนุนให้จำเลยที่คนอื่น ๆ กระทำผิดดังกล่าวจำนวน 33 กระทง พิพากษาลงโทษจำคุกเรียงกระทง กระทงละ 2 เดือน รวมเป็นจำคุก 66 เดือน ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยบางคน โทษจำเลยที่ 80 จึงลดลงเป็นจำคุก 54 เดือน และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ว่า

"จำเลยที่ 80 ได้บวชเป็นพระภิกษุในฝ่ายธรรมยุตนิกาย...และ...ได้สวดญัตติเข้าเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย แสดงว่า จำเลยที่ 80 ได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และกฎมหาเถรสมาคมมาก่อน และในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 80 ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ไม่ปรากฏว่า จำเลยทุกคนถูกกลั่นแกล้งจากใครอย่างไรและถึงขนาดไม่อาจปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า...ไม่ปรากฏบทบัญญัติมาตราใดให้สิทธิพระภิกษุสงฆ์ไทยประกาศแยกตนให้มีผลประดุจสังฆเภทไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้ การประกาศของจำเลยที่ 80 กับพวกดังกล่าวจึงไม่ทำให้จำเลยที่ 80 กับพวกพ้นจากการปกครองของมหาเถรสมาคมและไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 การที่ภิกษุสงฆ์นักบวชไม่อนุวัตปฏิบัติตามกฎหมายกลับมีผลเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นดังเช่นที่ปรากฏในคดีนี้"

การเมือง

สมณะโพธิรักษ์ได้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อต้านรัฐบาลทั้งในปี พ.ศ. 2549[3] และพ.ศ. 2551 รวมถึงการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี พ.ศ. 2556 และพ.ศ. 2557 ด้วย[4] โดยเฉพาะการชุมนุมของ กปปส.นั้น สมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินีตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)[5] โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2555 ก็ได้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)[6]

อ้างอิง

  1. ".. ความลับของฟ้า / บทเพลงของครูรัก รักพงษ์..+*". mblog. December 18, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-11. สืบค้นเมื่อ 2016-08-21.
  2. "ลูกศิษย์เศร้า 'สมณะโพธิรักษ์' ผู้นำจิตวิญญาณสำนักสันติอโศก มรณภาพแล้ว". 2024-04-11.
  3. "จำลอง นำทัพสันติอโศกหนุนการชุมนุม 26 ก.พ." ประชาไท. February 20, 2006.
  4. "กปปส.สีลมฟังธรรมเทศนาของสมณะเพาะพุทธ". สนุกดอตคอม. February 14, 2014.
  5. "โค่นระบอบทุศีล เพื่อปฏิรูปประเทศไทย". สันติอโศก.
  6. "นาทีต่อนาที ม็อบหนุน"เสธ.อ้าย"บุกรื้อแนวกั้นแยกมัฆวานฯ ตร.ใช้แก๊สน้ำตาสกัด". มติชน. November 24, 2012.