ข้ามไปเนื้อหา

รักเทิดทูน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพคริสทาน ฟ็อน ฮัมเลอ นักขับลำชาวเยอรมันที่ลอบขึ้นไปหาหญิงคนรักโดยใช้กระเช้าชักรอก วาดขึ้นเมื่อราว ค.ศ. 1305
ภาพเขียน ขอจงโชคดีมีชัย! โดยเอดมันด์ เลตัน (ค.ศ. 1900) สะท้อนมุมมองสมัยวิกตอเรียตอนปลาย โดยแสดงภาพหญิงสูงศักดิ์ผูกผ้าเป็นเครื่องรางให้แก่อัศวินที่กำลังจะออกรบ

รักเทิดทูน[1] (ฝรั่งเศส: amour courtois) คือแนวคิดทางวรรณกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในยุโรปสมัยกลาง สะท้อนถึงความรักในลักษณะสูงส่ง ซื่อสัตย์ และเปี่ยมไปด้วยอุดมคติของอัศวิน แก่นเรื่องแนวรักเทิดทูนมีต้นกำเนิดมาจากบทกวีประเภทคีตกานท์ในภาษาอุตซิตา บุคคลสำคัญผู้ขับเคลื่อนแก่นเรื่องนี้คือเหล่าตรูบาดู กวีจากชนชั้นสูงในฝรั่งเศสตอนใต้ซึ่งในสมัยนั้นได้รับการยกย่องมากกว่านักขับลำที่เป็นสามัญชน

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

ที่มาของสำนวน amour courtois ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่กัสตง ปาริส นักนิรุกติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้นำสำนวนดังกล่าวมาใช้ในศาสตรนิพนธ์ที่เผยแพร่ใน ค.ศ. 1883 จนกลายเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการ[2] อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยของเหล่าตรูบาดู พวกเขานิยมเรียกความรักในลักษณะนี้ว่า fin'amor ซึ่งแปลว่า "รักอันประเสริฐ" ในภาษาอุตซิตา

ประวัติ

[แก้]

แม้ว่าร่องรอยของรักเทิดทูนจะสามารถสืบสาวไปถึงกวีนิพนธ์อาหรับ (อิบน์ ดาวูด, อิบน์ ฮัซม์)[3] วรรณกรรมของกลุ่มแคทาร์[4] หรือบทประพันธ์ทางศาสนา แต่จุดกำเนิดที่แท้จริงของแก่นเรื่องนี้กลับอยู่ในราชสำนักของเจ้าและขุนนางชั้นสูงจากอากีแตน พรอว็องส์ ช็องปาญ บูร์กอญ และซิซิลีภายใต้การปกครองชาวนอร์มันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11[5] รักเทิดทูนเริ่มเฟื่องฟูในคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากหญิงผู้ทรงอิทธิพล เช่น อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน (หลานสาวของกีโยมที่ 9 แห่งอากีแตน ซึ่งอาจเป็นตรูบาดูคนแรกที่ขับขานเป็นภาษาอุตซิตา หลังจากกลับจากสงครามครูเสด) หรือมารีแห่งฝรั่งเศส เคาน์เตสแห่งช็องปาญ (ผู้อุปถัมภ์กวีเครเตียง เดอ ทรัว ซึ่งเป็นผู้แต่ง ลานเซอล็อตหรืออัศวินแห่งเกวียน)

รักเทิดทูนได้รับความนิยมเรื่อยมาจนถึงศตวรรษท้าย ๆ ของสมัยกลาง โดยแพร่หลายไปยังราชอาณาจักรคริสต์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตก (เช่น กิลแย็มแห่งบาร์กาดา ตรูบาดูชาวกาตาลา, มาร์ติง โกดัช นักขับลำชาวกาลิเซีย, ก็อทฟรีท ฟ็อน ชตราสบวร์ค มินเนอเซ็งเงอร์ชาวเยอรมัน, ขบวนการดอลเชสติลโนโวจากยุคสมัยของดันเต หรือแม้กระทั่งนักเขียนชาวอังกฤษอย่างเจฟฟรีย์ ชอเซอร์, จอห์น กาวเวอร์ และทอมัส แมเลอรี) โดยผสมผสานเข้ากับขบวนการก่อนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยารวมทั้งแก่นเรื่องและประเภทวรรณกรรมอื่น ๆ (โดยเฉพาะนิยายเกี่ยวกับอัศวิน)

ลักษณะ

[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงที่เขารักอย่างเทิดทูนนั้นเปรียบเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างข้ากับเจ้าในระบบฟิวดัล[6] เมื่อชายหลงใหลความงามของหญิงผู้นั้น เขาจะยกย่องและปฏิบัติตามความปรารถนาของเธอทุกประการ วรรณกรรมสมัยกลางเต็มไปด้วยตัวอย่างของอัศวินที่ออกผจญภัยและประกอบภารกิจหรือวีรกรรมต่าง ๆ เพื่อหญิงสูงศักดิ์ที่ตนเองรัก นอกจากนี้รักเทิดทูนส่วนมากจะเป็นความรักที่เกิดขึ้นอย่างลับ ๆ ในหมู่ชนชั้นสูง[7] และไม่ใช่ความรักที่ผ่านการรับศีลสมรสอย่างถูกต้องตามประเพณี หากแต่เป็นรักต้องห้ามหรือการผิดประเวณี[7][8] อย่างไรก็ตาม การผิดประเวณีในแก่นเรื่องนี้ถือว่าเป็นสิ่งสวยงามเพราะเกิดจากความรักที่แท้จริงอันจะหาไม่ได้ในคู่แต่งงาน[1] เนื่องจากการแต่งงานในสมัยกลางมักมาจากการคลุมถุงชนเพื่อผลประโยชน์ต่าง ๆ

เดิมทีรักเทิดทูนเป็นเพียงแก่นเรื่องที่ได้รับการคิดค้นขึ้นเพื่อความบันเทิงของชนชั้นสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดเกี่ยวกับความรักเหล่านี้ได้แพร่ไปสู่วัฒนธรรมประชานิยมและดึงดูดผู้รู้หนังสือในวงกว้างขึ้น ในสมัยกลางตอนกลาง "กลยุทธ์แห่งรัก" รูปแบบหนึ่งได้ก่อตัวขึ้นจากแนวคิดเหล่านี้และกลายเป็นรูปแบบการปฏิบัติทางสังคมในชีวิตจริง การ "รักอย่างสูงส่ง" ถือเป็นแนวปฏิบัติที่สร้างคุณค่าและช่วยยกระดับตนเอง[9][10] โดยพื้นฐานแล้ว รักเทิดทูนเป็นประสบการณ์ที่ผสมผสานระหว่างความปรารถนาทางเพศกับการบรรลุความเป็นเลิศทางจิตวิญญาณ "เป็นรักนอกกฎหมายแต่ยกระดับศีลธรรม เร่าร้อนแต่มีวินัย น่าอดสูแต่เชิดชูคุณค่า เป็นมนุษย์แต่ก็เหนือมนุษย์ในเวลาเดียวกัน"[11]

บุคคลสำคัญ

[แก้]

ผู้ปลูกฝังแก่นเรื่องแนวรักเทิดทูนที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่ มาร์กาบรือ, เบร์นัต เด เบ็นตาดูร์น, กิเราต์ เด บูร์เน็ลย์ และเปย์เร บิดัล บุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้นก็มีส่วนร่วมกับขบวนการนี้ด้วย เช่น พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน, พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ, กีโยมที่ 9 แห่งอากีแตน, ไรม์เบาต์แห่งออร็องฌ์, รูแบร์ตแห่งโอแวร์ญ มุขนายกแห่งแกลร์มง เป็นต้น

การวิเคราะห์

[แก้]

การตีความและอิทธิพลของรักเทิดทูนยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ศูนย์กลางของทฤษฎีรักเทิดทูนมักจำกัดขอบเขตอยู่ที่มุมมองอันสมบูรณ์แบบและลี้ลับของความรัก แต่ฌอร์ฌ ดูว์บี[12] ตั้งข้อสังเกตว่ารักเทิดทูนอาจไม่ได้เป็นการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงเสมอไป หากแต่เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการอบรมหล่อหลอมชายวัยหนุ่มผ่านการควบคุมแรงกระตุ้นและความรู้สึกของพวกเขา ในทำนองเดียวกับการฝึกฝนร่างกายผ่านการฝึกทหารและการประลองแข่งขัน การยกย่องนางในอุดมคติไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความสุขทางเพศกับหญิงที่มีฐานะด้อยกว่า ดังที่ปรากฏในเพลงเกี้ยวสาวเลี้ยงแกะในฝรั่งเศสและเพลงเกี้ยวสาวชาวเขาในสเปน สถานะทางสังคมของอัศวินและหญิงที่เขารักในแก่นเรื่องแนวรักเทิดทูนยังถูกใช้เป็นเครื่องมือแยกแยะพวกเขาออกจากสามัญชนและชนชั้นกระฎุมพี ต่อให้ชนชั้นกระฎุมพีมีเงินทองมาประชันขันแข่งเพียงใด ก็ไม่อาจเทียบชั้นทางวัฒนธรรมกับชนชั้นสูงได้[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา (แก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561, หน้า 137.
  2. Roger Boase (1986). "Courtly Love," in Dictionary of the Middle Ages, Vol. 3, pp. 667–668.
  3. Rachel Ariélien, «Ibn Hazm et l'amour courtois», Revue de l'Occident musulman et de la Méditerranée, 1985, vol. 40, p. 75-89.
  4. Henri-Irénée Marrou, Les troubadours, París, Seuil, 1971.
  5. Ousby, I., บ.ก. (1995). "Courtly Love". The Cambridge Guide to Literature in English. p. 213.
  6. "Courtly love". Middle Ages.com. 16 May 2007. สืบค้นเมื่อ 18 January 2010.
  7. 7.0 7.1 "Courtly love from". condor.depaul.edu. สืบค้นเมื่อ 18 January 2010.
  8. Debora Schwartz. "Courtly love at". Cla.calpoly.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 January 2010. สืบค้นเมื่อ 18 January 2010.
  9. Stevens, John (1979). Music & Poetry in the Early Tudor Court. New York: Cambridge University Press. ISBN 0-521-29417-7.
  10. Newman, F. X., บ.ก. (1968). The Meaning of Courtly Love. Albany: State University of New York. ISBN 0-87395-038-0.
  11. Newman, Francis X., บ.ก. (1968). The Meaning of Courtly Love. vii. ISBN 0-87395-038-0.
  12. El caballero, la mujer y el cura: El matrimonio en la Francia feudal, Penguin, 2013
  13. Laure Verdon, Le Moyen Âge, Paris, Le Cavalier Bleu éditions, 2003, coll. « Idées reçues », p. 96, 128 p. (ISBN 2-84670-089-3)., pgs. 97-99.