ข้ามไปเนื้อหา

ปัสตูแรล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปัสตูแรล (ฝรั่งเศส: pastourelle), ปัสตอแรล (ฝรั่งเศส: pastorelle), ปัสโตเรลลา (อิตาลี: pastorella) หรือ ปัสโตริตา (สเปน: pastorita;[1] แปลว่า สาวเลี้ยงแกะ) เป็นบทร้อยกรองเล่าเรื่องขนาดสั้นตามแบบฉบับของภาษาฝรั่งเศสเก่าในสมัยกลาง ปัสตูแรลในยุคเริ่มแรกเล่าถึงอัศวินหนุ่มเจ้าบทเจ้ากลอนที่มาพบสาวเลี้ยงแกะแล้วเกี้ยวพาราสีโดยหวังจะมีความสัมพันธ์ทางเพศ สาวเลี้ยงแกะอาจแพ้หรือชนะคารมอัศวินแต่ในขณะเดียวกันก็มักจะแสดงท่าทีเอียงอาย ในตอนท้ายทั้งสองอาจมีความสัมพันธ์ทางเพศไม่ว่าจะเกิดจากการยินยอมหรือการข่มขืน[2][3] หรืออัศวินอาจถูกปฏิเสธโดยที่สาวเลี้ยงแกะเรียกหนุ่มเลี้ยงแกะคนรักให้มาช่วย ก่อนที่เรื่องจะลงเอยด้วยการจากลาหรือการเผ่นหนีของอัศวิน ในยุคหลังเนื้อเรื่องของปัสตูแรลเอนเอียงไปทางชีวิตท้องทุ่ง หนุ่มสาวเลี้ยงแกะกลายเป็นตัวละครหลักและบางครั้งอาจมีการทะเลาะกันเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ปัสตูแรลมีต้นกำเนิดจากบทกวีของกลุ่มตรูบาดูในคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกวีมาร์กาบรือ (หนึ่งในผู้แต่งปัสตูแรลา)

ในท้ายที่สุด แบบแผนของปัสตูแรลได้ผสมผสานกับแบบแผนบทร้อยกรองของกลุ่มนักบวชและปัญญาชนพเนจรโกเลียร์ดจนกลายเป็นบทกวีแนวเสียดสี โดยมีเนื้อหาหันเหออกจากเรื่องราวของสาวเลี้ยงแกะแบบเดิมไปสู่การเหน็บแนมพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลของศาสนจักร อย่างไรก็ตาม ปัสตูแรลยังส่งอิทธิพลต่อบทกวีแนวเซร์รานิยาในวรรณกรรมสเปนสมัยกลาง และยังคงมีการแต่งเป็นภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และภาษาเวลส์อยู่บ้างในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตัวอย่างปัสตูแรลสั้น ๆ ในภาษาสกอตคือ รอบินกับแมกิน บทละคร เกมของรอแบ็งกับมารียง ของอาด็อง เดอ ลา อาล เป็นบทละครที่ดัดแปลงมาจากบทร้อยกรองปัสตูแรล และแม้กระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปัสตูแรลยังได้รับการกล่าวถึงในมหากาพย์ เดอะแฟรีควีน เล่ม 6 ของเอดมันด์ สเปนเซอร์ ชุดลำนำนิทานพื้นบ้านที่ฟรานซิส เจมส์ ไชลด์ รวบรวมไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ให้ตัวอย่างปัสตูแรลไว้ในเรื่อง อัศวินผู้โง่งัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. Dobbins, Frank (2001). "Pastourelle". ใน Sadie, Stanley; Tyrrell, John (บ.ก.). The New Grove Dictionary of Music and Musicians (2nd ed.). London: Macmillan Publishers. ISBN 978-1-56159-239-5.
  2. Gravdal, Kathryn (1991). Ravishing Maidens: Writing Rape in Medieval French Literature and Law. Philadelphia: University of Pennsylvania Press. p. 104.
  3. Martin, Jonathan Seelye (2020). "Chapter 6: Rape, the Pastourelle, and the Female Voice in CB 185". ใน Franklinos, Tristan E.; Hope, Henry (บ.ก.). Revisiting the Codex Buranus: Contents, Contexts, Compositions. Studies in Medieval and Renaissance Music. Woodbridge: The Boydell Press. p. 149-170.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Paden, William D. "Pastourelle" in Alex Preminger and T. V. F. Brogan, eds., The New Princeton Encyclopedia of Poetry and Poetics. Princeton: Princeton UP, 1993. p. 888.