รอยเขียวช้ำหลังตาย
ส่วนหนึ่งของรายการเรื่อง |
นิติเวชศาสตร์ |
---|
รอยเขียวช้ำหลังตาย[1] หรือ รอยจ้ำโลหิตตกสู่ที่ต่ำ (อังกฤษ: postmortem lividity, livor mortis, hypostasis หรือ suggillation) เป็นรอยซึ่งเกิด ณ ร่างกายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย โดยเป็นการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง เมื่อหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต เม็ดเลือดแดงภายในร่างกายจะค่อย ๆ ตกลงไปทางด้านล่างทางเส้นเลือด และเกิดการสะสมที่เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้ปรากฏเป็นสีแดงคล้ำที่ผิวหนังทางด้านล่าง ซึ่งมักจะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงถึงสองชั่วโมงหลังจากตาย
ในรายของผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจวายระยะสุดท้าย และมีอาการหัวใจหยุดเต้นเป็นครั้งคราวนั้น อาจจะพบว่าเริ่มมีรอยเขียวช้ำหลังตายตั้งแต่ก่อนตายก็ได้ ส่วนของร่างกายที่ด้านล่างถ้ากดอยู่บนส่วนที่แข็ง จะมีสีซีดเนื่องจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังส่วนนั้นถูกกดทับ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถตกไปสะสมอยู่ได้ และในทำนองเดียวกันแนวรัดของเสื้อผ้าหรือแม้กระทั่งรอยย่นและรอยยับของผ้าปูที่นอน ก็อาจเกิดการกดทับผิวหนังทำให้เกิดแนวสีซีดตามรอยย่น ซึ่งในกรณีนี้อาจจะช่วยชี้ชัดได้ว่าผู้ตายนั้นเสียชีวิตบนเตียงมานานแล้ว
ระยะเวลาการเกิด
[แก้]ระยะเวลาการเกิดรอยเขียวช้ำหลังตาย ในรายที่ผู้ตายตายจากการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (อังกฤษ: Carbon Monoxide) เข้าไป สีของเม็ดเลือดแดงที่ตกตามแรงโน้มถ่วงอาจจะมีสีชมพูสดแทนที่จะเป็นสีแดงคล้ำ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (อังกฤษ: Carboxy Haemoglobin) จำนวนมาก สีชมพูลักษณะนี้อาจพบในศพที่ตายจากสารพิษจำพวกไซยาไนด์ หรือการที่ศพอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นจัดเช่นในห้องเย็นหรือตู้แช่ ซึ่งเกิดจากการมีออกซีฮีโมโกลบิน (อังกฤษ: Oxy Haemoglobin) จำนวนมากด้วยเช่นกัน
ระยะเวลาช่วงแรก
[แก้]การตกของเม็ดเลือดตามแรงโน้มถ่วงหลังตาย จะเกิดเต็มที่เมื่อระยะเวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ภายหลังจากการตาย และจะเริ่มอยู่ตัว (อังกฤษ: Fixed) คือเมื่อมีการเคลื่อนย้ายศพหรือกลับท่าของศพจากเดิม เม็ดเลือดแดงที่ปรากฏตามผิวหนังก็จะไม่เคลื่อนหรือไหลไปอยู่ในที่ใหม่เช่น ในกรณีที่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ตรวจสภาพศพนอนตายอยู่ในห้องนอนในท่านอนหงาย รอยเขียวช้ำหลังตายจะตกลงไปอยู่ที่บริเวณทางด้านแผ่นหลังและท้องแขน
ถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายยังไม่อยู่ตัว คือเกิดมาแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วศพถูกกลับให้ไปอยู่ในท่านอนคว่ำ รอยเขียวช้ำหลังตาย จะไหลย้อนกลับไปอยู่ในทิศทางด้านหน้าเพราะด้านหน้ากลายเป็นด้านล่าง ซึ่งถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายอยู่ตัวแล้ว จะไม่สามารถไหลกลับไปได้อีก เนื่องจากการอยู่ตัวของเม็ดเลือดแดงเกิดเพราะเม็ดเลือดแดงแตกสลายตัว สีของฮีโมโกลบิน (อังกฤษ: Hemoglobin) จะซึมออกไปจากเส้นเลือดแล้ว จึงไม่สามารถไหลได้อีกต่อไป[2]
ระยะเวลาช่วงสุดท้าย
[แก้]ในรายที่มีการเสียเลือดออกไปนอกร่างกายเป็นจำนวนมากจากบาดแผล รอยเขียวช้ำหลังตายอาจพบได้น้อยมากหรือแทบไม่เหลือร่องรอยให้ค้นพบ การอยู่ตัวของรอยเขียวช้ำหลังตายอาจจะเกิดเร็วกว่าระยะเวลาปกติคือประมาณ 8-12 ชั่วโมง และในบางราย รอยเขียวช้ำหลังตายอาจจะเกิดได้ช้ามาก ประมาณ 24-36 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการเน่าสลายตัวของศพด้วย การประเมินเวลาตายโดยใช้รอยเขียวช้ำหลังตาย จึงเป็นเพียงการประมาณเวลาของการตายเท่านั้น
การตรวจสภาพศพ
[แก้]การตรวจรอยเขียวช้ำหลังตาย แพทย์นิติเวชสามารถตรวจได้โดยการใช้นิ้วมือกดลงไปที่ตำแหน่งของรอยเขียวช้ำหลังตาย ถ้าผิวหนังบริเวณที่กดนิ้วลงไปไม่มีการอยู่ตัวของรอยเขียวช้ำหลังตาย ผิวหนังบริเวณส่วนนั้นก็จะซีดขาวไปชั่วครู่ และเมื่อปล่อยมือจากศพ สีของรอยเขียวช้ำหลังตายก็จะปรากฏกลับมา ถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายอยู่ตัวแล้ว ผิวหนังบริเวณส่วนนั้นจะไม่ปรากฏการซีด แต่ถ้าออกแรงกดมาก ๆ ก็อาจจะมีสีจางลงเล็กน้อยบริเวณขอบนิ้วที่กดลงไป[3]
การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงหลังตายย่อมเกิดในอวัยวะภายในด้วยเช่นในปอด ตับ ไต ฯลฯ สีของอวัยวะที่ปรากฏรอยเขียวช้ำหลังตาย จะแลดูคล้ำและคั่งเลือดมากกว่าทางด้านบน โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนในปอด ปอดด้านหลังมักจะคั่งไปด้วยเลือดมากกว่าปอดทางด้านหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นพยาธิสภาพของปอด
ผลของการตกของเม็ดเลือดแดง
[แก้]ผลของการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง อาจจะดูคล้ายพยาธิสภาพได้เช่น สีของผิวหนังที่คล้ำลงอาจจะมองคล้ายแผลฟกช้ำ แต่สามารถแยกกันได้โดยการใช้มีดกรีดไปบนผิวหนังที่มีความสงสัย ถ้าผิวหนังบริเวณที่กรีดมีดลงไปเป็นฟกช้ำ จะเห็นมีเลือดแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อชัดเจนกว่าในการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง บางครั้งเลือดที่ไปคั่งอยู่บริเวณนั้นมาก ๆ อาจทำให้เกิดแรงดัน และอาจจะทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณนั้นแตก ทำให้เกิดเป็นจุดเลือดออก ซึ่งมักจะพบเมื่อเกิดการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงนาน ๆ เช่นเกิดรอยเขียวช้ำหลังตายมาเป็นระยะเวลาประมาณ 18-24 ชั่วโมง และเริ่มที่จะสลายตัวจากการเน่า จุดเลือดออกเหล่านี้เรียกว่า จุดทาร์ดู (อังกฤษ: Tardieu Spot) และถ้าพบศพหลังการเกิดทาร์ดูนาน ๆ จะทำให้การแยกยากว่าเป็นจุดเลือดออกที่เกิดก่อนหรือหลังตาย[4]
จุดทาร์ดู
[แก้]แต่ข้อสังเกตที่แน่นอนคือทาร์ดูจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงเท่านั้น เช่นในกรณีของการแขวนคอตาย การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงจะเกิดขึ้นที่บริเวณขาทั้งสองข้าง จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและอาจเกิดทาร์ดูที่ขาซึ่งพบได้บ่อยกว่ากรณีอื่น ๆ ถ้าศพที่แขวนคอตาย ไม่พบรอยเขียวช้ำหลังตายที่บริเวณขาทั้งสองข้าง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเกิดคดีฆาตกรรมขึ้น หรือในกรณีที่พบศพนอนคว่ำหน้า ทาร์ดูจะเกิดเฉพาะบริเวณหน้าท้องด้านหน้าของศพ มองดูคล้ายกับลายหินอ่อน ถ้ารอยเขียวช้ำหลังตายเกิดเต็มที่ ลายหินอ่อนที่ปรากฏบริเวณหน้าท้องจะคงอยู่และไม่มีการเคลื่อนที่เมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางของศพในการอำพรางคดีฆาตกรรม
ในรายที่ศพเริ่มเน่า การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงของหนังศีรษะบริเวณท้ายทอย อาจจะมองคล้ายแผลฟกช้ำได้ ซึ่งบางครั้งต้องอาศัยหลักเกณฑ์อื่นเข้ามาช่วยในการวินิฉัยเช่น บริเวณนั้นไม่มีผิวถลอกหรือไม่มีฉีกขาดร่วมด้วย แต่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรต้องพึงนึกไว้เสมอด้วยว่า บางครั้งหนังศีรษะเมื่อถูกกระแทกจนเกิดช้ำ ก็อาจจะไม่มีถลอกหรือฉีกขาดบ่อย ๆ และในทำนองเดียวกัน สมองบริเวณส่วนท้ายทอยก็อาจเห็นคล้ายเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นในด้วย หรือถ้าศพเกิดจมน้ำตายและบังเอิญติดอยู่ในท่าหัวอยู่ต่ำแล้วศพเริ่มเน่า หนังศีรษะอาจจะมีลักษณะคล้ายถูกของแข็งรอบศีรษะได้
ดังนั้นเมื่อศพเริ่มเน่า การตรวจบาดแผลต้องคำนึงถึงสภาพของการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงไว้เสมอ และเมื่อศพเริ่มเน่าจนมีก๊าซจากลำไส้ไหลไปตามเส้นเลือดแล้ว หรือเมื่อผู้ตายตายเกินระยะเวลาประมาณ 36-48 ชั่วโมง การสังเกตท่าทางของศพโดยอาศัยการตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงจะเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป เพราะสีของผิวหนังในช่วงเวลานี้จะเปลี่ยนแปลงไปมาก การแห้งของตาขาวทำให้เกิดสีคล้ำขึ้นในตาขาว เกิดจากการแห้ง (อังกฤษ: Tache Noire) เพราะตาปิดไม่สนิทหลังตายไม่ใช่พยาธิสภาพ รอยเขียวช้ำหลังตายจะเริ่มเกิดเมื่อระยะเวลาประมาณ 0.5 – 2 ชั่วโมง และเกิดเต็มที่ในระยะเวลาประมาณ 8 – 12 ชั่วโมง รวมทั้งอาจมีสีอื่นแทรกด้วยในระยะเวลาประมาณ 36 ชั่วโมง
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ปรับปรุงเมื่อ 6 ส.ค. 2544
- ↑ การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วง, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 26
- ↑ การตรวจสภาพศพ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 27
- ↑ Livor Mortis การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย, นิติเวชศาสตร์, พันตำรวจเอกนายแพทย์ พรชัย สุธีรคุณ, สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ