การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ
ส่วนหนึ่งของรายการเรื่อง |
นิติเวชศาสตร์ |
---|
การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ (อังกฤษ: Stomach Content) เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังการตายตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะอาหารที่ยังคงหลงเหลืออยู่ภายในร่างกาย สามารถใช้ในการบอกระยะเวลาการตาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมื้ออาหารที่ผู้ตายรับประทานได้ ถึงแม้ว่าระยะเวลาของอาหารที่ผ่านกระเพาะอาหาร จะมีความแตกต่างกันในแต่ละคนและมีความแตกต่างกันในอาหารแต่ละชนิดด้วย ซึ่งอาหารบางประเภทย่อยง่าย บางประเภทย่อยยากเช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัดหรือพิซซ่า เป็นต้น
ระยะเวลาการย่อย
[แก้]ตามปกติของร่างกายมนุษย์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปอาหารจะลงไปอยู่ในกระเพาะ และได้รับการย่อยจากน้ำย่อยที่เป็นกรดจากผนังของกระเพาะซึ่งจะออกมาคลุกเคล้า และหลังจากนั้นกระเพาะอาหารจะส่งผ่านอาหารผ่านกระเพาะไปยังลำไส้เพื่อทำหน้าที่ย่อยอาหารต่อไป ซึ่งจากการศึกษาทางด้านนิติเวชศาสตร์ของแพทย์นิติเวชพบว่า ระยะเวลาของอาหารที่ผ่านกระเพาะทำให้ใช้ปริมาณอาหารที่หลงเหลืออยู่ในกระเพาะ ในการช่วยประมวลหาระยะเวลาการตายที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหารที่รับประทานได้
เมื่อตายหรือหัวใจหยุดเต้นอาหารที่รับประทานเข้าไปภายในร่างกายที่มีส่วนประกอบเป็นน้ำ จะผ่านกระเพาะอาหารครึ่งหนึ่งเท่านั้นในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 นาที อาหารจำนวนน้อยที่มีส่วนประกอบเป็นแป้งและน้ำเช่นก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม เมื่อรับประทานเข้าไปอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการผ่านกระเพาะอาหารและเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการย่อย
แต่ถ้าเป็นอาหารมื้อใหญ่คือรับประทานอาหารจำนวนมาก หลากหลายชนิดเช่นการรับประทานอาหารในงานเลี้ยงสังสรรค์เช่น ข้าวผัด ต้มยำ ขาหมู ฯลฯ อาหารเหล่านั้นอาจจะผ่านกระเพาะอาหารภายในระยะเวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง หรือในบางรายอาหารจำนวนมากที่รับประทานเข้าไป อาจจะใช้ระยะเวลานานประมาณ 6 ชั่วโมงกว่าอาหารจะผ่านกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ระยะเวลาการย่อยอาหารขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่ละบุคคล[1]
การตรวจสอบปริมาณอาหาร
[แก้]การตรวจสอบปริมาณอาหารที่หลงเหลืออยู่ในกระเพาะอาหาร อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยบ่งบอกระยะเวลาตายของผู้ตายได้ แพทย์นิติเวชและพนักงานสอบสวนสามารถใช้ปริมาณของอาหารในกระเพาะอาหารมาคำนวณหาระยะเวลาการตายได้ ตัวอย่างเช่นผู้ตายเป็นหญิงสาว ลักษณะรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาว อายุประมาณ 35 ปี หายออกจากที่ทำงานไปตอนหลังจากรับประทานอาหารเที่ยงในวันที่ 1 พร้อมกับเพื่อน ๆ ต่อมาได้มีโทรศัพท์จากคนร้ายมาเรียกค่าไถ่พร้อมกับแจ้งว่าได้กักขังตัวหญิงสาวไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งในตอนบ่ายของวันที่ 2 หลังจากหญิงสาวหายตัวไป
ภายหลังจากญาติของหญิงสาวได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ได้จ่ายเงินเป็นค่าไถ่ตามที่คนร้ายเรียกร้อง ต่อมามีผู้พบศพหญิงสาวถูกฆาตกรรมทิ้งไว้ริมถนนในเขตชานเมืองในเช้าวันที่ 4 เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องหาทางตรวจสอบเพื่อทราบว่าผู้ตายนั้นถูกฆาตกรรมในคืนวันที่ 1 หรือคืนวันที่ 2 หลังจากหายตัวไป เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าการไม่จ่ายค่าไถ่ตามที่คนร้ายเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าตรวจดูจากสภาพภายนอกของการเปลี่ยนแปลงของศพ เมื่อวันที่ 4 ศพของหญิงสาวจะมีสภาพก้ำกึ่งอยู่ในระหว่างตายมาแล้ว 2 กับ 3 วัน
แต่ภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพพบว่า ในกระเพาะอาหารของหญิงสาวมีเพียงก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ผักคะน้าและเศษเนื้ออีกหลายชิ้น รวมปริมาณของเศษอาหารประมาณครึ่งกระเพาะ และได้รับแจ้งจากเพื่อนของผู้ตายที่รับประทานอาหารเที่ยงด้วยกันว่า ผู้ตายรับประทานอาหารมื้อเที่ยงคือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่เนื้อไป 2 ชาม ดังนั้นจากการตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ จึงสันนิษฐานได้ว่าผู้ตายถูกฆาตกรรมตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากหายตัวออกจากที่ทำงาน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้และให้การรับสารภาพว่า ได้ฆ่าผู้ตายตั้งแต่ตอนจับตัวไปแล้วเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้จับตัว ซึ่งก็คือในบ่ายวันที่ 1 หลังจากกลับจากรับประทานอาหารเที่ยงกับเพื่อน ๆ นั่นเอง
ดังนั้นการตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะอาหาร ถ้าไม่พบอาหารในกระเพาะอาหาร ผู้ตายจะรับประทานอาหารมาแล้วประมาณ 3-6 ชั่วโมง ถ้าพบปริมาณของอาหารเพียงครึ่งกระเพาะ แสดงว่าผู้ตายรับประทานอาหารมาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมงเศษ แต่ถ้าพบปริมาณอาหารเต็มกระเพาะ แสดงว่าผู้ตายรับประทานอาหารมาไม่เกินครึ่งชั่วโมงก่อนตาย[2]
ดูเพิ่ม
[แก้]- การเปลี่ยนแปลงหลังการตาย
- รอยเขียวช้ำหลังตาย
- สภาพแข็งทื่อหลังตาย
- การลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตาย
- การเน่าสลายตัว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ระยะเวลาการย่อย, การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 34
- ↑ การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 35