ข้ามไปเนื้อหา

ยุทธการที่วุร์สเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามสามอาณาจักร
ส่วนหนึ่งของ สงครามกลางเมืองสกอตแลนด์ และ
สงครามกลางเมืองอังกฤษ

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ในยุทธการที่วุร์สเตอร์
วันที่3 กันยายน ค.ศ. 1651
สถานที่
ผล ฝ่ายรัฐสภาอังกฤษชนะ
คู่สงคราม
ฝ่ายรัฐสภา ฝ่ายนิยมกษัตริย์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ พระเจ้าชาลส์ที่ 2
กำลัง
31,000 น้อยกว่า 16,000
ความสูญเสีย
200 คน 3,000 คนเสียชีวิต, กว่า 10,000 ถูกจับเป็นนักโทษ

ยุทธการที่วุร์สเตอร์ (อังกฤษ: Battle of Worcester) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1651 ที่วุร์สเตอร์ในอังกฤษและเป็นยุทธการสุดท้ายของสงครามกลางเมืองอังกฤษ ที่ฝ่ายรัฐสภาที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายนิยมกษัตริย์ (Royalist) ที่นำโดยพระเจ้าชาลส์ที่ 2 โดยทั่วไปเป็นกองกำลังสกอตแลนด์ กองกำลังเพียง 16,000 คนของกองกำลังฝ่ายนิยมกษัตริย์ไม่สามารถต่อสู้กับกองกำลังที่มีจำนวนเหนือกว่ามาก 28,000 คนของ "กองทัพตัวแบบใหม่" (New Model Army) ของครอมเวลล์ได้จนในที่สุดก็จำต้องพ่ายแพ้

การรุกรานอังกฤษ

[แก้]

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรสกอตแลนด์ในการพยายามชิงราชบัลลังก์ที่เสียไปหลังจากที่พระราชบิดาพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ถูกปลงพระชนม์คืน แม่ทัพของสกอตแลนด์ เซอร์เดวิด เลสลี (David Leslie, Lord Newark) สนับสนุนแผนการที่ดึงครอมเวลล์เข้ามาต่อสู้ในสกอตแลนด์ที่มีกองหนุนที่หนาแน่นกว่า แต่พระเจ้าชาลส์มีพระราชประสงค์ที่จะทำสงครามในอังกฤษ ทรงคาดคะเนว่าขณะที่ครอมเวลล์นำกองทัพตัวแบบใหม่ขึ้นมาเหนือแม่น้ำฟอร์ท (River Forth) ก็จะเป็นโอกาสให้กองกำลังหลักของกองทัพฝ่ายกษัตริย์ของสกอตแลนด์ที่อยู่ใต้แม่น้ำฟอร์ธฉวยโอกาสเลี่ยงกองทัพตัวแบบใหม่และชิงเดินทัพลงไปลอนดอนโดยไม่มีผู้ขัดขวาง พระเจ้าชาลส์มิได้ทรงเพียงแต่จะระดมผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์แต่ยังทรงระดมกลุ่มเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) อังกฤษเพื่อสนับสนุนพระองค์ด้วย นอกจากนั้นก็ทรงคาดว่าการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มคัฟเวอร์นันเตอร์ (Covenanters) ของกลุ่มเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) และการลงพระนามใน "Solemn League and Covenant" จะเป็นการชักชวนให้กลุ่มเพรสไบทีเรียนอังกฤษหันมาสนับสนุนพระองค์ด้วย

ในระยะแรกของสงครามกองทัพฝ่ายกษัตริย์อยู่ในสภาพที่ดี และภายในอาทิตย์เดียวก็สามารถเดินทัพได้เป็นระยะทางถึง 150 ไมล์เมื่อเทียบกับการรณรงค์ที่ไม่ประสบความสำเร็จของเจมส์ แฮมมิลตัน ดยุคแห่งแฮมมิลตันที่ 1 (James Hamilton, 1st Duke of Hamilton) ในปี ค.ศ. 1648 ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม กองทหารก็ตั้งค่ายพักบริเวณระหว่างเพนริทกับเคนดัล

แต่ฝ่ายนิยมกษัตริย์ก็ต้องประหลาดใจ เมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ และองคมนตรีของเจ้าผู้พิทักษ์ (English Council of State) ที่เวสต์มินสเตอร์ คาดการณ์ล่วงหน้าถึงแผนการของฝ่ายสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ได้ ฝ่ายครอมเวลล์จึงระดมกองทหารเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม โดยมีนายพลชาลส์ ฟลีตวุด (Charles Fleetwood) รวบรวมกองกำลังในบริเวณมิดแลนด์ที่แบนบรี (Banbury) โดยมีกองทหารที่ได้รับการฝึกในลอนดอนเข้าร่วมด้วยถึง 14,000 คน ผู้ใดที่สงสัยว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์ก็ได้รับการเฝ้าดูและอาวุธของเจ้าของที่ดินท้องถิ่นก็ถูกรวบรวมไปไว้ในที่มั่นต่าง ๆ ครอมเวลล์ได้รับชัยชนะต่อสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมและนำกองทัพกลับมาลีธภายในวันที่ 5 สิงหาคม หลังจากนั้นครอมเวลล์ก็ส่งนายพลจอห์น แลมเบิร์ต พร้อมกับกองทหารม้าไปรังควานผู้รุกราน ส่วนนายพลทอมัส แฮร์ริสัน (Thomas Harrison) ก็ขึ้นไปนิวคาสเซิลไปเลือกกองทหารสมทบกับกองทหารประจำการ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พระเจ้าชาลส์ตั้งค่ายอยู่ที่เคนดัล แลมเบิร์ตโจมตีกองหลังขณะที่แฮร์ริสันเดินทัพอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะไปขวางทัพที่เมอร์ซีย์ (Mersey) ทอมัส แฟร์แฟ็กซ์ (Thomas Fairfax) รวบรวมกำลังพลที่ยอร์กเชอร์, แลงคาสเชอร์, เชชเชอร์ และสแตฟฟอร์ดเชอร์ และนำไปวอร์ริงตัน (Warrington) ไปสมทบกับแฮร์ริสันที่เดินทางไปถึงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ไม่ไกลจากกองหน้าของพระเจ้าชาลส์เพียงไม่กี่ชั่วโมง แลมเบิร์ตก็อ้อมทางด้านซ้ายของกองทัพของพระเจ้าชาลส์ไปสมทบกับแฮร์ริสัน ฝ่ายอังกฤษถอยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม และเลี่ยงการเข้าร่วมต่อสู้อย่างประจันหน้าบนทางไปลอนดอน

ยุทธการที่วุร์สเตอร์

[แก้]
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์

ขณะเดียวกันครอมเวลล์ก็ทิ้งจอร์จ มองค์ ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลที่ 1 กับกองกำลังที่มีสมรรถภาพด้อยที่สุดไว้ต่อสู้ต่อไปในสกอตแลนด์ ส่วนครอมเวลล์เดินทางไปถึงแม่น้ำไทน์ (river Tyne) ภายในเจ็ดวันซึ่งเป็นระยะทางราว 20 ไมล์ต่อวันในสภาวะอากาศที่ร้อนเต็มที่ของเดือนสิงหาคม กองทหารเข้าเฟอร์รีบริดจ์ (Ferrybridge) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ขณะที่แลมเบิร์ต, แฮร์ริสันและกองกำลังจากตะวันตกเฉียงเหนือไปถึงคองเกิลตัน (Congleton) และดูเหมือนว่ายุทธการใหญ่จะเกิดขึ้นในบริเวณระหว่างลิชฟีลด์กับคอเวนทรี ในวันที่หรือหลังจากวันที่25 สิงหาคม โดยมีทั้งครอมเวลล์, แลมเบิร์ต, แฮร์ริสัน และฟลีตวุดเข้าร่วม แต่การคาดการณ์ก็ต้องมีอันเปลี่ยนแปลงเพราะการเคลื่อนย้ายของกองทัพฝ่ายตรงข้าม หลังจากออกจากวอร์ริงตันแล้วพระเจ้าชาลส์ทรงเปลี่ยนแผนการที่จะเดินทัพตรงไปลอนดอนเป็นการเดินทางไปทางหุบเขาเซเวิร์น (Severn) แทนที่ ซึ่งที่เป็นบริเวณที่พระราชบิดาทรงได้รับการสนับสนุนในสงครามครั้งแรกและเป็นศูนย์กลางของขบวนการของผู้สนับสนุนฝ่ายกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1648 เซอร์เอดเวิร์ด แมสซีย์ (Edward Massey) ผู้เดิมเป็นข้าหลวงฝ่ายรัฐสภาของกลอสเตอร์หันมาเข้าข้างพระเจ้าชาลส์ นอกจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเพรสไบทีเรียนด้วยกันในการลุกขึ้นจับอาวุธต่อต้านฝ่ายรัฐสภา คุณภาพของทหารฝ่ายนิยมกษัตริย์ในบริเวณเวลส์มีความแข็งแกร่งพอที่ให้พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ใช้เป็นกองกำลังสนับสนุนพระองค์ได้

พระเจ้าชาลส์ที่ 2

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 เสด็จมาถึงวุร์สเตอร์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม และทรงพักอยู่ที่นั่นห้าวันเพื่อเตรียมตัวและรวบรวมกำลังเพิ่มขึ้น แต่การพำนักอยู่ที่วุร์สเตอร์คงจะมิได้ทำให้ผลของยุทธการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับการเดินทัพโดยตรงไปลอนดอน

ขณะที่เดินทัพลงใต้ทางฝ่ายครอมเวลล์ก็ส่งนายพันโรเบิร์ต ลิลเบิร์น (Robert Lilburne) ไปปราบปรามฝ่ายนิยมกษัตริย์ที่แลงคาสเชอร์ภายใต้การนำของเจมส์ สแตนลีย์ เอิร์ลที่ 7 แห่งดาร์บี (James Stanley, 7th Earl of Derby) ลิลเบิร์นก็ผลักดันให้กองทหารแลงคาสเชอร์เดินทางไปสมทบกับกองทัพฝ่ายกษัตริย์กองหลักที่ยุทธการวิกันเลน (Battle of Wigan Lane) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม แต่เหตุการณ์นี้เพียงแต่ทำให้ครอมเวลล์ย้ายบริเวณการเดินทัพไปทางตะวันตกเฉียงใต้ไปยังอีฟชัม (Evesham) เช้าวันที่ 28 สิงหาคม แลมเบิร์ตจู่โจมกองที่เดินทางที่เซเวิร์นที่อัปตัน-อะพอน-เซเวิร์น (Upton-upon-Severn) 6 ไมล์จากวุร์สเตอร์ที่เป็นผลให้แมสซีย์บาดเจ็บสาหัส ขณะเดียวกันฟลีตวุดก็ติดตามแลมเบิร์ตลงมา กองทัพพระเจ้าชาลส์ขณะนั้นเหลือเพียง 16,000 คนซึ่งเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของกองกำลังฝ่ายครอมเวลล์

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ครอมเวลล์ถ่วงเวลาในการเริ่มยุทธการเพื่อสร้างสะพานพอนทูนสองสะพาน สะพานหนึ่งข้ามแม่น้ำเซเวิร์น (pontoon bridge) อีกสะพานหนึ่งข้ามแม่น้ำทีมใกล้ปากน้ำ การถ่วงเวลาทำให้ยุทธการล่าไปถึงวันที่ 3 กันยายน หนึ่งปีหลังพอดีจากวันที่ได้รับชัยชนะในยุทธการดันบาร์ของครอมเวลล์[1]

การยุทธการ

[แก้]

ครอมเวลล์วางแผนการยุทธการอย่างแน่นหนา ลิลเบิร์นจากแลงคาสเตอร์และนายพลเมอร์เซอร์กับกองทหารม้าวุร์สเตอร์เชอร์มีหน้าที่ยึดสะพานบิวด์ลีย์ (Bewdley Bridge) 20 ไมล์เหนือวุร์สเตอร์และเป็นแนวที่ข้าศึกจะถอยมา[2] ฝ่ายฟลีตวุดก็พยายามเดินทัพไปข้ามแม่น้ำทีมเพื่อไปโจมตีเซนต์จอห์นทางด้านตะวันตกของตัวเมืองวุร์สเตอร์ ขณะที่แลมเบิร์ตนำกองทัพทางตะวันออกเดินหน้าไปล้อมเมืองวุร์สเตอร์ ส่วนครอมเวลล์จะเป็นผู้นำการโจมตีทางด้านใต้ของกำแพงเมือง

การโจมตีเริ่มโดยฝ่ายรัฐสภาเมื่อเช้าวันที่ 3 กันยายน ฟลีตวุดบุกมาทางสะพานพอนทูนมาต่อสู้กับฝ่ายนิยมกษัตริย์ภายใต้การนำของนายพลมอนต์โกเมอรี การพยายามข้ามสะพานโพวิคครั้งแรกนายพลริชาร์ด ดีนไม่สำเร็จเพราะการต่อต้านที่แข็งขันของฝ่ายนิยมกษัตริย์ที่นำโดยนายพลคีธ ทางตะวันออกของเซเวิร์นฝ่ายนิยมกษัตริย์เสียเปรียบเพราะมีกำลังน้อยกว่าโดยถูกโจมตีโดยกองทัพตัวแบบใหม่โดยการนำของครอมเวลล์และทางตะวันตกโดยฟลีตวุดที่ตีวงยาวสี่ไมล์ไปทางวุร์สเตอร์[3]

ฝ่ายนิยมกษัตริย์ต่อต้านอย่างเหนียวแน่นในบริเวณโพวิคเมดโดว์ส การต่อต้านทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเซเวิร์นทางเหนือของแม่น้ำทีมของฝ่ายนิยมกษัตริย์ทำให้เป็นปัญหาหนักต่อฝ่ายรัฐสภา ครอมเวลล์จึงนำกองหนุนมาจากทางด้านตะวันออกของวุร์สเตอร์ข้ามสะพานพอนทูนที่แม่น้ำเซเวิร์นมาช่วยฟลีตวุด

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงมองจากหอคอยของมหาวิหารวุร์สเตอร์ เห็นช่องที่จะโจมตีทางแนวตะวันออกของฝ่ายรัฐสภาที่เปิดอยู่ เมื่อผู้ต่อต้านทางด้านตะวันตกของตัวเมืองถอยเข้ามาในเมืองอย่างเป็นระเบียบแม้ว่าคีธจะถูกจับและนายพลมอนต์โกเมอรีจะได้รับบาดเจ็บ แต่พระเจ้าชาลส์ก็มีพระราชโองการให้กองทหารสองกองเข้าโจมตีฝ่ายรัฐสภาทางด้านตะวันออกของเมือง ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือทางประตูเซนต์มาร์ตินกองทหารนำโดยวิลเลียม แฮมมิลตัน ดยุคแห่งแฮมมิลตันที่ 2 (William Hamilton, 2nd Duke of Hamilton) โจมตีแนวรัฐสภาที่เพอร์รีวูด ทางตะวันออกเฉียงใต้ทางประตูซิดบรีกองทหารนำโดยพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เปิดการโจมตีที่เรดฮิลล์ กองทหารม้าของฝ่ายกษัตริย์นำโดยเดวิด เลสลีย์ที่รวมตัวกันอยู่ที่พิทชครอฟต์เมดโดว์ทางด้านเหนือของเมืองไม่ได้รับคำสั่งให้ช่วย เลสลีย์จึงตัดสินใจไม่เข้าช่วย เมื่อเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่แนวตะวันออกที่ต้องถอยข้ามกลับที่สะพานพอนทูนที่เซเวิร์นครอมเวลล์จึงส่งกองหนุนสามกองเข้าช่วย[4][5]

แม้ว่าจะถูกผลักกลับ แต่ฝ่ายรัฐสภาที่นำโดยแลมเบิร์ตมีจำนวนมากและมีความชำนาญในการต่อสู้ หลังจากการสู้รบเกิดขึ้นได้ชั่วโมงหนึ่งที่เริ่มด้วยการเสียเปรียบของฝ่ายรัฐสภา แต่สถานะการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อฝ่ายรัฐสภาได้รับการสนับสนุนจากกองหนุนสามกองของครอมเวลล์ที่ส่งมา ทำให้สามารถตีโต้ฝ่ายกษัตริย์ให้ถอยกลับเข้าไปในเมืองได้[5] การถอยของฝ่ายกษัตริย์กลายเป็นการต่อสู้ตัวต่อตัวของทั้งสองฝ่ายที่ร่นเข้าไปในเมือง ฝ่ายกษัตริย์ยิ่งเสียเปรียบหนักขึ้นเมื่อทหารเอสเซ็กซ์บุกเข้ายึดเนินฟอร์ทรอยัลได้ และใช้ปืนของฝ่ายกษัตริย์เองยิงเข้าไปในเมืองวุร์สเตอร์[6][7]

เมื่อพลบค่ำวุร์สเตอร์ก็ถูกโจมตีพร้อมกันทั้งสามด้าน ต่างฝ่ายต่างก็ต่อสู้กันอย่างกล้าหาญ ฝ่ายกษัตริย์สองสามพันคนที่พยายามหลบหนีตอนกลางคืนถูกจับได้โดยลิลเบิร์นและเมอร์เซอร์หรือโดยทหารที่อยู่ระหว่างยอร์กเชอร์และแลงคาสเตอร์ แม้แต่ชาวบ้านก็ช่วยจับผู้หลบหนี ภายหลังจากการเสียเมืองทั้งนายทหารและลูกแถวต่างก็ประหลาดใจในสถานะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันจนมิได้พยายามต่อต้านอีก[6][8]

ผลของสงคราม

[แก้]

หลังจากการพ่ายแพ้ที่วุร์สเตอร์แล้วพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็เสด็จหนี ในระหว่างเสด็จหนีก็ทรงต้องทรงเผชิญภัยหลายอย่างรวมทั้งการซ่อนพระองค์ในโพรงต้นโอ้ค ทหารฝ่ายพระองค์ 3,000 คนเสียชีวิตระหว่างยุทธการและอีก 10,000 ถูกจับที่วุร์สเตอร์หรือหลังจากนั้น เจมส์ แสตนลีย์ เอิร์ลแห่งดาร์บีย์ที่ 7 ถูกประหารชีวิต ทหารอังกฤษที่ถูกจับถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารในกองทัพตัวแบบใหม่และถูกส่งไปประจำการในไอร์แลนด์ ส่วนทหารสกอตแลนด์อีก 8,000 คนที่ถูกจับถูกเนรเทศไปนิวอิงแลนด์, เบอร์มิวดา และเวสต์อินดีส ไปทำงานให้กับเจ้าของที่ดินที่นั่นในฐานะกรรมกรหนี้ (Indentured labour) ฝ่ายรัฐสภาเสียชีวิตไปเพียงจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับฝ่ายกษัตริย์[9]

หลังจากยุทธการแล้วครอมเวลล์ก็กลับไปเอลส์บรี (Aylesbury) ในบักกิงแฮมเชอร์ ที่เป็นที่มั่นหนึ่งของฝ่านรัฐสภาและไม่ไกลจากที่ตั้งของลูกพี่ลูกน้องของครอมเวลล์จอห์น แฮมพ์เด็น (John Hampden) ผู้เป็นวีรบุรุษของสงครามกลางเมืองผู้เสียชีวิตไปแล้ว ครอมเวลล์พักอยู่ที่คิงสเฮดอินน์เมื่อได้รับคำขอบคุณจากรัฐสภาในชัยชนะที่ได้รับต่อฝ่ายนิยมกษัตริย์

กองทัพตัวแบบใหม่ฝ่ายรัฐสภาถูกปลดระวางและส่งกลับบ้านเพียงอาทิตย์เดียวหลังจากสงครามสงบ ครอมเวลล์ผู้ถูกเย้ยหยันความคิดในการก่อตั้งกองทัพตัวแบบใหม่ทหารหกเดือนก่อนหน้านั้น เขียนจดหมายไปถึงรัฐสภาสรรเสริญความสามารถและกล่าวแนะนำว่ารัฐสภาควรจะซาบซึ้งในคุณค่าของทหารกลุ่มนี้

ก่อนสงครามพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงจ้างช่างตัดเสื้อให้เย็บเครื่องแบบให้กองทหารแต่ไม่ทรงสามารถจ่ายค่าจ้างจำนวน £453.3s ได้ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 เจ้าฟ้าชายชาลส์ ทรงชำระหนี้ที่สร้างไว้เมื่อ 357 ปีมาแล้วให้

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1786 จอห์น ควินซี แอดัมส์ และทอมัส เจฟเฟอร์สัน เดินทางไปดูฟอร์ตรอยัลฮิลล์ที่เกิดของยุทธการที่วุร์สเตอร์ เดวิด แมกคัลเลอบันทึกในหนังสือชีวประวัติของ "จอห์น แอดัมส์" ว่าเมื่อจอห์น แอดัมส์ไปถึงฟอร์ตรอยัลฮิลล์ก็เกิดความสะเทือนใจแต่รู้สึกผิดหวังที่ผู้คนในท้องถิ่นขาดความรู้เรื่องที่มาของยุทธการจนให้การบรรยายสดแก่ประชาชนที่มาชุมนุมว่า :

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]