ยุคมูโรมาจิ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น |
---|
ยุคมูโรมาจิ (ญี่ปุ่น: 室町時代; โรมาจิ: Muromachi-jidai) ตรงกับ ค.ศ. 1336–1568 ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 14 อาชิกางะ โยชิมิตสึ ได้ปราบปรามชนชั้นปกครองลงอย่างราบคาบ และตั้งรัฐบาลโชกุนขึ้นอีกครั้งที่ เคียวโตะ ซึ่งรัฐบาลโชกุนนี้ได้ปกครองญี่ปุ่นต่อมาเป็นเวลานานถึงสองศตวรรษเศษอันเป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมของชนชั้นนักรบก็ได้กลืนวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองลงอย่างราบคาบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลโชกุนของตระกูลอาชิกางะ เกิดจากการรวมตัวของขุนศึกสำคัญ ๆ ตามหัวเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จึงเป็นธรรมดาที่การรวบอำนาจให้รัฐบาลมีเสถียรภาพนั้นเป็นไปได้อย่างลำบาก ดังนั้นในครึ่งหลังศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ขุนศึกตามหัวเมืองต่าง ๆ จึงเริ่มทำสงครามแย่งชิงอำนาจกัน จนทั้งประเทศญี่ปุ่นตกเข้าสู่ยุคสงคราม ภายในยุคนี้เป็นยุคที่ชนชั้นนักรบมีอำนาจเหนือเกษตรกรและมีกรรมสิทธิเหนือที่ดินจึงเป็นการปกครองระบบศักดินาโดยสมบูรณ์ ด้านเศรษฐกิจก็เจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากทำการค้ากับจีนสมัยหมิงด้านวัฒนธรรม ลัทธิเซนเป็นส่วนเพิ่มเติมให้กับวัฒนธรรมของชนชั้นปกครองและชนชั้นนักรบ ซึ่งเห็นรูปแบบได้จากตำหนักทอง (Kinkaku) ในปลายศตวรรษที่ 14 อันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมคิตายามะ (Kitayama) และตำหนักเงิน (Ginkaku) ในปลายศตวรรษที่ 15 อันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมฮิงะชิยะมะ (Higashiyama) การละคร อย่างเช่น โน เคียวเง็น และการต่อเพลง ก็เริ่มแพร่หลายสู่ประชาชนภายนอก ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น อย่างเช่น พิธีชงชา การจัดดอกไม้ ก็เริ่มมีรากฐานมาจากยุคนี้ และในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 พวกฝรั่ง เช่น ชาติโปรตุเกส และสเปนก็ได้นำอาวุธปืนยาวและศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ที่ญี่ปุ่น
ประวัติศาสตร์
[แก้]สมัยราชวงศ์เหนือใต้
[แก้]พระจักรพรรดิโก-ไดโงะ หลังจากที่ทรงล้มล้างรัฐบาลโชกุนคามากูระแล้ว ได้ทรงรื้อฟื้นระบอบการปกครองอันมีองค์พระจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางขึ้นมาใหม่ เรียกว่า การฟื้นฟูปีเค็มมุ (Kemmu Restoration) สร้างความไม่พอใจให้แก่ชนชั้นซามูไรซึ่งยังคงต้องการให้มีการปกครองของระบอบโชกุน ค.ศ. 1336 อาชิกางะ ทากาอูจิ (ญี่ปุ่น: 足利 尊氏; โรมาจิ: Ashikaga Takauji ) มีชัยชนะเหนือทัพของพระจักรพรรดิโก-ไดโงะ ซึ่งนำโดย คูซูโนกิ มาซาชิเงะ (ญี่ปุ่น: 楠木正成; โรมาจิ: Kusunoki Masashige) ในยุทธการที่มินาโตงาวะ (ญี่ปุ่น: 湊川の戦い; โรมาจิ: Minatogawa-no-tatakai) อาชิกางะ ทากาอูจิ เข้ายึดนครเคียวโตะได้สำเร็จ ตั้งพระจักรพรรดิโคเมียวขึ้นเป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่ ส่วนพระจักรพรรดิโก-ไดโงะเสด็จหลบหนีไปยังเมืองโยชิโนะ (ญี่ปุ่น: 吉野; โรมาจิ: Yoshino จังหวัดนะระในปัจจุบัน) และทรงจัดตั้งราชสำนักใหม่ขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ประเทศญี่ปุ่นจึงมีพระจักรพรรดิสองพระองค์ในเวลาเดียวกัน องค์ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองเกียวโต เรียกว่า พระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ และองค์ที่ประทับอยู่ที่เมืองโยชิโนะ เรียกว่า พระราชวงศ์ฝ่ายใต้ เป็นจุดเริ่มต้นของ สมัยราชวงศ์เหนือใต้ หรือ "นัมโบกูโช" (ญี่ปุ่น: 南北朝; โรมาจิ: Nanboku-chō) อาชิกางะ ทากาอูจิ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเซวาเง็งจิ (ญี่ปุ่น: 清和源氏; โรมาจิ: Seiwa Genji ) หรือ ตระกูลมินาโมโตะ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เซอิไทโชงุง (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍; โรมาจิ: Seii Taishōgun ) เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะและสมัยมูโรมาจิ ซึ่งรัฐบาลโชกุนถวายการสนับสนุนแด่พระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ
โชกุนอาชิกางะ ทากาอูจิ และน้องชายคือ อาชิกางะ ทาดาโยชิ (ญี่ปุ่น: 足利 直義; โรมาจิ: Ashikaga Tadayoshi) ปกครองประเทศญี่ปุ่นร่วมกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้อง เนื่องจากโชกุนทากาอุจิ ให้การสนับสนุนแก่ โค โนะ โมโรนาโอะ (ญี่ปุ่น: 高師直; โรมาจิ: Kō no Moronao) ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของทาดาโยชิ ในค.ศ. 1349 ทาดาโยชิถูกอัปเปหิออกจากรัฐบาลโชกุน และแปรพักตร์ไปเข้ากับพระราชวงศ์ฝ่ายใต้ เกิดเป็น สงครามปีคันโน (ญี่ปุ่น: 観応の擾乱; โรมาจิ: Kannō no shōran) ทาดาโยชิยกทัพของพระราชวงศ์ฝ่ายใต้เข้าโจมตีเมืองเกียวโต สองพี่น้องเจรจาทำสัญญาสงบศึก ทาดาโยชิเดินทางไปจัดตั้งรัฐบาลของตนเองที่เมืองคามากูระ แต่กลับถูกทาดาอูจิพี่ชายวางยาพิษสังหารในที่สุด
พระราชวงศ์ฝ่ายใต้ ซึ่งมีผู้นำทางทหารคือ คูซูโนกิ มาซาโนริ (ญี่ปุ่น: 楠木正儀; โรมาจิ: Kusunoki Masanori) ยกทัพเข้าบุกยึดเมืองเกียวโตได้สำเร็จในค.ศ. 1353 ค.ศ. 1355 และ ค.ศ. 1362 แต่ฝ่ายรัฐบาลโชกุนสามารถยึดนครเกียวโตกลับมาได้ทุกครั้ง ในค.ศ. 1358 โชกุนทากาอุจิถึงแก่อสัญกรรม อาชิกางะ โยชิอากิระ (ญี่ปุ่น: 足利 義詮; โรมาจิ: Ashikaga Yoshiakira) บุตรชายขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนสืบต่อแทน ในค.ศ. 1362 โชกุนโยชิอากิระจัดตั้งตำแหน่งคังเร (ญี่ปุ่น: 管領; โรมาจิ: Kanrei) หรือผู้สำเร็จราชการแทนโชกุน โดยผู้ดำรงตำแหน่งคังเรมาจากสามตระกูลได้แต่ โฮโซกาวะ (ญี่ปุ่น: 細川; โรมาจิ: Hosokawa) ฮาตาเกยามะ (ญี่ปุ่น: 畠山; โรมาจิ: Hatakeyama) และชิบะ (ญี่ปุ่น: 志波; โรมาจิ: Shiba) ค.ศ. 1365 เจ้าชายคาเนโยชิ (ญี่ปุ่น: 懐良親王; โรมาจิ: Kaneyoshi shinnō) ซ็่งเป็นพระโอรสของพระจักรพรรดิโก-ไดโงะ สร้างกองกำลังต่อต้านรัฐบาลโชกุนและเข้ายึดครองเกาะคีวชู ในค.ศ. 1368 โชกุนโยชิอากิระล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรมอย่างกระทันหัน ทำให้อาชิกางะ โยชิมิตสึ (ญี่ปุ่น: 足利 義満; โรมาจิ: Ashikaga Yoshimitsu) บุตรชายของโยชิอากิระซึ่งมีอายุเพียงเก้าปี ต้องขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นโชกุนคนต่อมา
เนื่องจากโชกุนโยชิมิตสึยังอายุน้อย อำนาจปกครองจึงอยู่คังเรโฮโซกาวะ โยริยูกิ (ญี่ปุ่น: 細川 頼之; โรมาจิ: Hosokawa Yoriyuki) ค.ศ. 1370 คังเรโยริยูกิส่งอิมางาวะ ซาดาโยะ (ญี่ปุ่น: 今川 貞世; โรมาจิ: Imagawa Sadayo) นำทัพของรัฐบาลโชกุนฯไปปราบเจ้าชายคาเนโยชิที่เกาะคีวชูได้สำเร็จ ในค.ศ. 1378 คฤหาสน์แห่งใหม่ของโชกุนโยชิมิตสึสร้างขึ้นแล้วเสร็จ เรียกว่า ฮานะ โนะ โงโชะ (ญี่ปุ่น: 花の御所; โรมาจิ: Hana no Gosho) หรือ มูโรมาจิ โดโนะ (ญี่ปุ่น: 室町殿; โรมาจิ: Muromachi dono) ซึ่งจะกลายเป็นที่พำนักของโชกุนตระกูลอาชิกางะไปจนตลอดสมัยมูโรมาจิ ในค.ศ. 1379 คังเรโยริยูกิถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ทำให้โชกุนโยชิมิตสึมีโอกาสขึ้นมามีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ในค.ศ. 1392 โชกุนโยชิมิตสึจัดให้มีการเจรจาข้อตกลงระหว่างราชวงศ์ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยพระราชวงศ์ฝ่ายใต้ยินยอมมอบเครื่องราชกกุฎภัณฑ์สามอย่าง (Three Sacred Treasures) อันเป็นสัญลักษณ์ของราชสมบัติญี่ปุ่น ให้แก่พระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าพระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโตนั้นเป็นพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นแต่เพียงพระองค์เดียว เป็นการยุติสมัยราชวงศ์เหนือใต้
สมัยแห่งความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและการติดต่อกับต่างชาติ
[แก้]ในค.ศ. 1394 โชกุนโยชิมิตสึสละตำแหน่งโชกุนให้แก่อาชิกางะ โยชิโมจิ ผู้เป็นบุตรชาย โยชิมิตสึดำรงตำแหน่งเป็น โอโงโชะ (ญี่ปุ่น: 大御所; โรมาจิ: Ōgosho) หรืออดีตโชกุนแทน พร้อมทั้งบรรพชาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซน แม้ว่าจะสละตำแหน่งโชกุนให้แก่บุตรชายแล้ว แต่อำนาจการปกครองยังคงอยู่ที่โอโงโชะโยชิมิตสึ ในค.ศ. 1401 โอโงโชะโยชิมิตสึแต่งคณะทูตเดินทางไปยังนครปักกิ่งเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนราชวงศ์หมิง ปีต่อมาค.ศ. 1402 จักรพรรดิเจี้ยนเหวินทรงแต่งตั้งให้โยชิมิตสึดำรงตำแหน่งเป็น "กษัตริย์แห่งญี่ปุ่น" (ญี่ปุ่น: 日本国王; โรมาจิ: Nihon-koku-ō ) ในการติดต่อสัมพันธ์กับราชสำนักจีน เป็นการเริ่มต้นนำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ระบอบบรรณาการจิ้มก้อง สมัยของโชกุนโยชิมิตสึเป็นสมัยแห่งความรุ่งเรืองทางด้านศิลปะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในสมัยมูโรมาจิ เรียกว่า สมัยวัฒนธรรมคิตายามะ (ญี่ปุ่น: 北山文化; โรมาจิ: Kitayama-bunka) ตามชื่อเขาคิตายามะ อันเป็นที่ตั้งของ คฤหาสน์คิงกากุ (ญี่ปุ่น: 金閣; โรมาจิ: Kinkaku) หรือ คฤหาสน์ศาลาทอง หรือปัจจุบันคือวัดคิงกากุ อันเป็นที่พำนักในช่วงบั้นปลายชีวิตของโอโงโชะโยชิมิตสึ การติดต่อทางการทูตกับจีนทำให้รัฐบาลโชกุนฯเปิดรับวัฒนธรรมจีน อันได้แก่ พุทธศาสนานิกายเซน พิธีชงชา ศิลปะการจัดสวน เป็นต้น โยชิมิตสึอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเซ็น โอโงโชะโยชิมิตสึถึงแก่อสัญกรรมเมื่อค.ศ. 1408 โชกุนโยชิโมจิได้รับการอำนาจเต็มในการปกครอง โชกุนโยชิโมจิดำเนินนโยบายตรงข้ามกับบิดาในความสัมพันธ์กับประเทศจีน โดยการตัดสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์หมิงในค.ศ. 1411
ในสมัยมูโรมาจิชาวญี่ปุ่นล่องเรือออกทะเลเข้าปล้นสะดมเมืองท่าต่างๆของจีนและเกาหลีสร้างความเสียหายอย่างมาก เรียกว่า โจรสลัดญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 倭寇; โรมาจิ: Wakō) ในค.ศ. 1398 พระเจ้าแทโจแห่งโชซ็อนทรงส่งราชทูตพัคทงชี (Pak Tong-chi) เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่น เพื่อประสานความร่วมมือในการปราบปรามโจรสลัดญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบผล ในค.ศ. 1419 พระเจ้าแทจงทรงส่งทัพเรืองเกาหลีนำโดยแม่ทัพ ลีจงมู (Yi Jong-mu) เข้ารุกรานเกาะสึชิมะ เรียกว่า การรุกรานปีโอเอ (ญี่ปุ่น: 応永の外寇; โรมาจิ: Ōei no gaikō) แม่ทัพลีจงมูนำทัพเรือเกาหลีเข้ารุกรานและปล้มสะดมเกาะสึชิมะ จากนั้นรัฐบาลโชกุนฯและราชสำนักโชซ็อนจึงเจรจาสงบศึก โดยผ่านทาง โซ ซาดาโมริ (ญี่ปุ่น: 宗貞盛; โรมาจิ: Sō Sadamori) เจ้าครองเกาะสึชิมะ ในค.ศ. 1443 สนธิสัญญาคากิตสึ (ญี่ปุ่น: 嘉吉条約; โรมาจิ: Kakitsu-jōyaku เกาหลีเรียก สนธิสัญญาปีคเยแฮ Gyehae Treaty) ราชสำนักโชซ็อนมอบอำนาจให้ตระกูลโซ เจ้าครองเกาะสึชิมะ เป็นผู้ประสานงานในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นมีหน้าที่ปราบปรามโจรสลัดญี่ปุ่น
ค.ศ. 1423 โชกุนโยชิโมจิสละตำแหน่งให้แก่บุตรชายของตนคือ อะชิกะงะ โยะชิกะซุ (ญี่ปุ่น: 足利 義量; โรมาจิ: Ashikaga Yoshikazu) ขึ้นเป็นโชกุนคนต่อมา ส่วนอดีตโชกุนโยะชิโมะชิดำรงตำแหน่งเป็นโอโงะโชะเฉกเช่นเดียวกับบิดา แต่ทว่าโชกุนโยะชิกะซุดำรงตำแหน่งโชกุนได้เพียงสองปีก็ถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1425 และโอโงะโชะโยะชิโมะชิถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1428 น้องชายของโอโงะโชะโยะชิโมะชิคือ อะชิกะงะ โยะชิโนะริ (ญี่ปุ่น: 足利 義教; โรมาจิ: Ashikaga Yoshinori) จึงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นโชกุนคนต่อมาในค.ศ. 1429 โชกุนโยะชิโนะริฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนราชวงศ์หมิงในปีค.ศ. 1433 และจัดตั้งโทเซ็ง-บุเงียว (ญี่ปุ่น: 唐船奉行; โรมาจิ: Tōsen-bugyō) ขึ้นในค.ศ. 1434เพื่อดูแลเรื่องงานการทูตกับจีน
นับตั้งแต่ค.ศ. 1349 ปฐมโชกุนอะชิกะงะ ทะกะอุจิ ได้แต่งตั้งให้บุตรชายของตนคือ อะชิกะงะ โมะโตะอุจิ (ญี่ปุ่น: 足利基氏; โรมาจิ: Ashikaga Motouji) ดำรงตำแหน่งเป็น คันโตคังเร (ญี่ปุ่น: 関東管領; โรมาจิ: Kantō kanrei) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนในภูมิภาคตะวันออกของญี่ปุ่น คันโตคังเรพำนักอยู่ที่เมืองคะมะกุระและมีอำนาจเหนือซะมุไรในภูมิภาคคันโตและภาคตะวันออกทั้งมวล ด้วยอำนาจอันมหาศาลของคันโตคังเร ทำให้คันโตคังเรกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลโชกุนที่เมืองเกียวโต ในเวลาต่อมาตำแหน่งคันโตคังเรได้รับการขนานนามว่า คันโตคุโบ (ญี่ปุ่น: 関東公方; โรมาจิ: Kantō kubō) แปลว่า โชกุนแห่งภูมิภาคคันโต ซึ่งคันโตคุโบมีผู้ช่วยเป็นผู้สำเร็จราชการอีกทอดหนึ่ง เรียกว่า ชิซึจิ ซึ่งเป็นตำแหน่งของตระกูลอุเอะซุงิ (ญี่ปุ่น: 上杉; โรมาจิ: Uesugi) ในค.ศ. 1416 คันโตคุโบอะชิกะงะ โมะชิอุจิ (ญี่ปุ่น: 足利持氏; โรมาจิ: Ashikaga Mochiuji) เกิดความขัดแย้งกับชิซึจิอุเอะซุงิ เซ็งชู (ญี่ปุ่น: 上杉 禅秀; โรมาจิ: Uesugi Zenshū) อุเอะซุงิ เซ็งชู จึงก่อการกบฎยกทัพเข้ายึดเมืองคะมะกุระ ทำให้คันโตคุโบโมะชิอุจิต้องหลบหนีออกจากเมืองคะมะกุระ ในค.ศ. 1417 โชกุนโยะชิโมะชิส่งทัพของรัฐบาลโชกุนฯเข้ายึดเมืองคะมะกุระคืนจากอุเอะซุงิเซ็งชูได้สำเร็จ และช่วยเหลือให้คันโตคุโบโมะชิอุจิกลับเข้าเมืองตามเดิม แต่ทว่าในค.ศ. 1438 คันโตคุโบโมะชิอุจิต้องการตำแหน่งโชกุนที่เมืองเกียวโต จึงก่อการกบฎต่อโชกุนโยะชิโนะริ เรียกว่า สงครามปีเอเกียว (ญี่ปุ่น: 永享の乱; โรมาจิ: Eikyō no ran) โชกุนโยชิโนะริส่งทัพเข้ายึดเมืองคะมะกุระได้สำเร็จ โมะชิอุจิทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต ทำให้ตำแหน่งคันโตคุโบว่างลงและภูมิภาคตะวันออกของญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลอุเอะซุงิ
ในค.ศ. 1441 โชกุนโยะชิโนะริถูกลอบสังหารโดยเจ้าครองแคว้นชื่อว่า อะกะมะซึ มิซึซุเกะ (ญี่ปุ่น: 赤松 満祐; โรมาจิ: Akamatsu Mitsusuke) อะชิกะงะ โยะชิกะซึ (ญี่ปุ่น: 足利 義勝; โรมาจิ: Ashikaga Yoshikatsu) ผู้เป็นบุตรชายขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนต่อมาได้เพียงสองปีก็ถึงแก่อสัญกรรมในปีค.ศ. 1443 อะชิกะงะ โยะชิมะซะ (ญี่ปุ่น: 足利 義政; โรมาจิ: Ashikaga Yoshimasa) บุตรชายอีกคนของโชกุนโยะชิโนะริจึงขึ้นเป็นโชกุน หลังจากที่โชกุนโยะชิมะซะสละตำแหน่งโชกุน กลายเป็นโอโงะโชะในปีค.ศ. 1473 โอโงะโชะโยะชิมะซะสร้างคฤหาสน์ศาลาเงิน (ญี่ปุ่น: 銀閣; โรมาจิ: Ginkaku) ขึ้นในค.ศ. 1482 บนเขาฮิงะชิยะมะทางตะวันออกของนครเกียวโต เพื่อเป็นที่พำนึกในบั้นปลายชีวิตให้แก่ตนเองเฉกเช่นเดียวกับโอโงะโชะโยชิมิตสึซึ่งได้สร้างคฤหาสน์ศาลาทอง สมัยของโชกุนโยะชิมะซะเป็นสมัยแห่งความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมอีกสมัยหนึ่ง เรียกว่า สมัยวัฒนธรรมฮิงะชิยะมะ (ญี่ปุ่น: 東山文化; โรมาจิ: Higashiyama-bunka) ชนชั้นซะมุไรยังคงรับวัฒนธรรมจากจีนราชวงศ์หมิงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาศิลปะด้านการจัดสวน การจัดดอกไม้ ละครโนะ และจิตรกรรมหมึก
สงครามปีโอนิงและยุคเซ็งโงะกุ
[แก้]เนื่องจากโชกุนโยะชิมะซะไม่มีบุตรชาย จึงมอบหมายให้น้องชายของตนคืออะชิกะงะ โยะชิมิ (ญี่ปุ่น: 足利 義視; โรมาจิ: Ashikaga Yoshimi) เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุนในค.ศ. 1464 โดยที่อะชิกะงะ โยะชิมิ ได้รับการสนับสนุนจากคังเรโฮะโซะกะวะ คะซึโมะโตะ (ญี่ปุ่น: 細川 勝元; โรมาจิ: Hosokawa Katsumoto) แต่ทว่า มิไดโดะโกะโระฮิโนะ โทะมิโกะ (ญี่ปุ่น: 日野 富子; โรมาจิ: Hino Tomiko) ได้ให้กำเนิดบุตรชายแก่โชกุนโยะชิมะซะอย่างไม่คาดฝันในค.ศ. 1465 ชื่อว่า อะชิกะงะ โยะชิฮิซะ (ญี่ปุ่น: 足利 義尚; โรมาจิ: Ashikaga Yoshihisa) ทำให้เกิดประเด็นปัญหาการสืบทอดตำแหน่งโชกุน โดยที่ยะมะนะ โซเซ็ง (ญี่ปุ่น: 山名 宗全; โรมาจิ: Yamana Sōzen) พ่อตาและคู่แข่งทางการเมืองของคังเรคะซึโมะโตะได้ใช้โอกาสนี้ให้การสนับสนุนแก่โยะชิฮิซะที่ยังเยาว์วัย จากประเด็นปัญหาการสืบทอดตำแหน่งโชกุนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างซะมุไร ทั้งคังเรคะซึโมะโตะและยะมะนะโซเซ็งต่างซ่องสุมกำลังของตน โดยที่โฮะโวะกะวะตั้งมั่นอยู๋ทางตะวันออกของนครเกียวโต ในขณะที่ยะมะนะตั้งอยู่ทางตะวันตก เรียกว่า สงครามปีโอนิง (ญี่ปุ่น: 応仁の乱; โรมาจิ: Ōnin no Ran) ซึ่งปะทุขึ้นในค.ศ. 1467 เมื่อทัพของทั้งสองฝ่ายเข้าห้ำหั่นกันกลางเมืองเกียวโต สร้างความเสียหายให้แก่วัดวาอารามและศาลเจ้าทั้งหลายในเมืองเกียวโต ในค.ศ. 1473 ทั้งโฮะโซะกะวะ คะซึโมะโตะ และยะมะนะ โซเซ็ง ต่างล้มป่วยเสียชีวิต แม้กระนั้นสงครามยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากโออุชิ มะซะฮิโระ (ญี่ปุ่น: 大内 政弘; โรมาจิ: Ōuchi Masahiro) ยังคงให้การสนับสนุนแก่โยะชิมิ ในปีเดียวกันโชกุนโยะชิมะซะได้ยกตำแหน่งโชกุนให้แก่บุตรชายของตนคือ อะชิกะงะ โยะชิฮิซะ หลังจากสู้รบยาวนานสิบปี ทำให้ทั้งสองฝ่ายเหนื่อยล้า และโออุชิ มะซะฮิโระเดินทางออกจากเมืองเกียวโตไปในที่สุดเมื่อค.ศ. 1477 ผลของสงครามปีโอนิง ซึ่งเป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานสิบปี ทำให้เมืองเกียวโตถูกทำลายลงไปมาก ท่ามกลางสงครามโชกุนโยะชิมะซะกลับอาศัยอยู่แต่ในความหรูหราของคฤหาสน์ศาลาเงิน และเนื่องจากรัฐบาลโชกุนฯไม่มีอำนาจที่การยุติข้อพิพาธระหว่างซะมุไรในเหตุการณ์นี้ทำให้ในทางปฏิบัติรัฐบาลโชกุนฯสูญสิ้นอำนาจในการปกครองประเทศ และอำนาจถูกกระจายไปยังส่วนภูมิภาคแว่นแคว้นต่างๆ เจ้าครองแคว้นทั้งหลายต่างตั้งตนขึ้นเป็นอิสระ มีอำนาจเต็มในการปกครองแคว้นของตนแม้ว่าจะขึ้นกับรัฐบาลโชกุนแต่เพียงในนาม เรียกว่า ยุคเซ็งโงะกุ (ญี่ปุ่น: 戦国時代; โรมาจิ: Sengoku-jidai)
แม้ว่าจะสูญสิ้นอำนาจในการปกครองประเทศ แต่ภายในรัฐบาลโชกุนฯยังคงมีการแก่งแย่งอำนาจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสงครามปีโอนิง รัฐบาลโชกุนฯตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคังเรและตระกูลโฮะโซะกะวะ หลังจากที่โฮะโซะกะวะ คะซึโมะโตะ เสียชีวิต โฮะโซะกะวะ มะซะโมะโตะ (ญี่ปุ่น: 細川 政元; โรมาจิ: Hosokawa Masamoto) บุตรชายของคะซึโมะโตะ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นคังเรและสืบทอดอำนาจต่อจากบิดา โชกุนโยะชิฮิซะถึงแก่อสัญกรรมในค.ศ. 1487 โดยปราศจากทายาท โอโงะโชะโยะชิมะซะจึงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโยะชิมิผู้เป็นน้องชาย และให้บุตรชายของโยะชิมิคือ อะชิกะงะ โยะชิตะเนะ (ญี่ปุ่น: 足利 義稙; โรมาจิ: Ashikaga Yoshitane) เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งโชกุน โอโงะโชะโยะชิมะซะถึงแก่อสัญกรรมเมื่อค.ศ. 1490 โยะชิตะเนะจึงขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนต่อมา แต่ทว่าโชกุนโยะชิตะเนะเกิดความขัดแย้งกับคังเรโฮะโซะกะวะ มะซะโมะโตะ จนนำไปสู่การที่โชกุนโยะชิตะเนะถูกคังเรบีบบังคับให้ออกจากตำแหน่งและหลบหนีไปยังแคว้นซุโอ (จังหวัดยะมะงุชิในปัจจุบัน) ในค.ศ. 1501 คังเรมะซะโมะโตะจึงยกให้อะชิกะงะ โยะชิซุมิ (ญี่ปุ่น: 足利 義澄; โรมาจิ: Ashikaga Yoshizumi) ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนแทนเป็นหุ่นเชิดของตน เนื่องจากคังเรมะซะโมะโตะมีศัตรูทางการเมืองจำนวนมาก ทำให้คังเรมะซะโมะโตะถูกลอบสังหารในค.ศ. 1508 อดีตโชกุนโยะชิตะเนะจึงเดินทางเข้าเมืองเกียวโตดำรงตำแหน่งเป็นโชกุนอีกครั้ง ภายใต้ความคุ้มครองของโออุชิ โยะชิโอะกิ (ญี่ปุ่น: 大内 義興; โรมาจิ: Ōuchi Yoshioki) เจ้าครองแคว้นซุโอ และโฮะโซะกะวะ ทะกะกุนิ (ญี่ปุ่น: 細川 高国; โรมาจิ: Hosokawa Takakuni) เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งโชกุนอีกครั้ง โยะชิตะเนะพบว่าตนเองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคังเรคนใหม่คือ โฮะโซะกะวะ ทะกะกุนิ โชกุนโยะชิตะเนะจึงหลบหนีออกจากเมืองเกียวโตอีกครั้งในค.ศ. 1521 คังเรทะกะกุนิยกให้อะชิกะงะ โยะชิฮะรุ (ญี่ปุ่น: 足利 義晴; โรมาจิ: Ashikaga Yoshiharu) ขึ้นเป็นโชกุนแทน ในค.ศ. 1527 โฮะโซะกะวะ ฮะรุโมะโตะ (ญี่ปุ่น: 細川 晴元; โรมาจิ: Hosokawa Harumoto) ยกทัพเข้ายึดรัฐบาลโชกุนฯ ทำให้ทะกะกุนิต้องหลบหนีออกจากเกียวโต คังเรฮะรุโมะโตะส่งกองทัพไปสังหารอดีตคังเรทะกะกุนิในค.ศ. 1531 และปลดโชกุนโยะชิฮะรุออกจากตำแหน่ง ตั้งอะชิกะงะ โยะชิเตะรุ (ญี่ปุ่น: 足利 義輝; โรมาจิ: Ashikaga Yoshiteru) ขึ้นเป็นโชกุนแทน
ท่ามกลางความสับสนทางการเมืองของญี่ปุ่นในยุคเซ็งโงะกุ ชาวโปรตุเกสได้เดินเรือมาถึงยังประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในค.ศ. 1543 โดยขึ้นฝั่งที่เกาะทะเนะงะชิมะ (ญี่ปุ่น: 種子島; โรมาจิ: Tanegashima จังหวัดคะโงะชิมะในปัจจุบัน) ซึ่งชาวโปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับไดเมียวต่างๆบนเกาะคีวชู และเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวญี่ปุ่นเรียกชาวตะวันตกผู้มาใหม่ว่า "นัมบัน" (ญี่ปุ่น: 南蛮; โรมาจิ: Nanban) แปลว่า อนารยชนจากทิศใต้ ชาวโปรตุเกสได้นำวิทยาการสงครามปืนไฟและปืนคาบศิลามาให้แก่ชาวญี่ปุ่นได้รู้จัก ซึ่งส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อการทำสงครามกลางเมืองระหว่างแคว้นของญี่ปุ่น แล้วภายหลังญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาปืนไฟขึ้นมาใช้งานเอง
จุดจบของรัฐบาลโชกุน
[แก้]ในค.ศ. 1549 มิโยะชิ โชเก (ญี่ปุ่น: 三好 長慶; โรมาจิ: Miyoshi Chōkei) และมะซึนะกะ ฮิซะฮิเดะ (ญี่ปุ่น: 松永 久秀; โรมาจิ: Matsunaga Hisahide) ยกทัพเข้ายึดนครเกียวโตจากคังเรฮะรุโมะโตะ เป็นการสิ้นสุดอำนาจของตระกูลโฮะโซะกะวะเหนือรัฐบาลโชกุนที่เป็นมากว่าเจ็ดสิบปี ทั้งมิโยะชิ โชเก และมะซึนะกะ ฮิซะฮิเดะ ขึ้นมามีอำนาจเหนือรัฐบาลโชกุนจนนำไปสู่ความขัดแย้งกับโชกุนโยะชิเตะรุ ในค.ศ. 1565 มะซึนะกะ ฮิซะฮิเดะ ส่งกำลังคนไปทำการลอบสังหารโชกุนโยะชิเตะรุถึงแก่อสัญกรรม อะชิกะงะ โยะชิอะกิ (ญี่ปุ่น: 足利 義昭; โรมาจิ: Ashikaga Yoshiaki) ผู้เป็นน้องชายของโชกุนโยะชิเตะรุ จึงเดินทางหลบหนีเพื่อไปขอความช่วยเหลือจาก โอะดะ โนะบุนะงะ (ญี่ปุ่น: 織田 信長; โรมาจิ: Oda Nobunaga) เพื่อทำการแก้แค้นให้แก่พี่ชาย โอะดะ โนะบุนะกะ ยกทัพเข้ายึดเมืองเกียวโตในค.ศ. 1568 และตั้งอะชิกะงะ โยะชิอะกิ ขึ้นเป็นโชกุนหุ่นเชิด แต่ทว่าต่อมาโชกุนโยะชิอะกิเกิดความขัดแย้งกับโอะดะ โนะบุนะงะ ในเรื่องการแบ่งสรรอำนาจ โอะดะ โนะบุนะงะ จึงทำการปลดโชกุนโยะชิอะกิออกจากตำแหน่งในค.ศ. 1573 โดยที่ไม่ได้ตั้งโชกุนคนใหม่ขึ้นมาอีก เป็นการสิ้นสุดรัฐบาลโชกุนของตระกูลอะชิกะงะซึ่งดำรงอยู่มาเป็นเวลาประมาณ 250 ปี และเข้าสู่ยุคอะซุชิโมะโมะยะมะ
ศาสนา
[แก้]พระพุทธศาสนานิกายมหายาน
[แก้]พุทธศาสนาในยุคมูโรมาจิมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาจากยุคคะมะกุระ โดยเฉพาะนิกายในกลุ่ม"พุทธศาสนาใหม่" ได้แก่นิกายเซ็นและนิกายแดนบริสุทธิ์รุ่งเรืองในยุคมูโรมาจิ ในยุคมูโรมาจิพุทธศาสนานิกายเซ็น (Zen Buddhism) ซึ่งเผยแพร่จากประเทศจีนเข้ามาสู่ญี่ปุ่นช่วงปลายสมัยคะมะกุระขึ้นมามีอำนาจเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนฯ รัฐบาลโชกุนมูโรมาจิมีอำนาจในการจัดการการปกครองคณะสงฆ์นิกายเซ็นในญี่ปุ่น หลักการและคำสอนของนิกายเซ็นเน้นเรื่องการวิปัสสนาและการฝึกจิตฝึกตน ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตนักรบของชนขั้นซะมุไร หลักปฏิบัติของนิกายเซ็นประกอบด้วย ซะเซ็ง (ญี่ปุ่น: 座禅; โรมาจิ: Zazen การนั่งสมาธิ) โคอัง (ญี่ปุ่น: 公案; โรมาจิ: Kōan การปุจฉาวิสัชนา) และซะมุ (ญี่ปุ่น: 作務; โรมาจิ: Samu การฝึกตน) ในสมัยมูโรมาจิ นิกายเซ็นในญี่ปุ่นมีสองสำนักด้วยกันได้แก่
- สำนักริงไซ (ญี่ปุ่น: 臨済; โรมาจิ: Rinzai) มาจากสำนัก หลินจี่ ของจีน
- สำนักโซโต (ญี่ปุ่น: 曹洞; โรมาจิ: Sōtō) มาจากสำนัก เฉาต่ง ของจีน
ในบรรดาสองสำนัก นิกายเซ็นสำนักริงไซได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลโชกุนฯมากที่สุด พระสงฆ์ในนิกายริงไซมีบทบาทและอำนาจในการเมือง ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ตืดต่อสื่อกลางระหว่างรัฐบาลโชกุนและราชสำนักจีนราชวงศ์หมิง เป็นผู้แปลภาษาและเป็นผู้นำคณะทูต ในสมัยของโชกุนโยชิมิตสึมีการนำรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์นิกายเซ็นซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยคามากูระขึ้น เรียกว่า ระบบปัญจบรรพต หรือ โกะซัง (ญี่ปุ่น: 五山; โรมาจิ: Gozan) ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยจัดแบ่งวัดนิกายเซ็นออกเป็นระดับต่างๆ โดยที่มีวัดห้าแห่งในเมืองคะมะกุระเป็นวัดระดับสูง ต่ำกว่าวัดระดับสูงหรือโกะซังลงมาคือวัดระดับกลางเรียกว่า จิเซ็ตซึ (ญี่ปุ่น: 十刹; โรมาจิ: Jissetsu) และต่ำกว่าวัดระดับกลางลงมาเรียกว่าวัดระดับล่าง เรียกว่า โชะซัง (ญี่ปุ่น: 諸山; โรมาจิ: Shozan) ซึ่งรัฐบาลโชกุนอาชิกางะได้นำพุทธศาสนานิกายเซ็นเข้ามาสู่นครหลวงเกียวโตและนำระบบปัญจบรรพตจากเมืองคามากูระมาด้วย โดยคณะสงฆ์นิกายเซ็นในเมืองเกียวโตถูกปกครองแบบลำดับชั้นโดยมีวัดใหญ่ห้าแห่งในเมืองเกียวโตมีอำนาจสูงสุด เฉกเช่นเดียวกับที่เมืองคามากูระรัฐบาลโชกุนรื้อฟื้นระบบการปกครองสงฆ์ที่เมืองคามากูระขึ้นมาใหม่
นิกายเซ็นสำนักโซโตแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโชกุนแต่ก็มีผู้นับถือจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นซะมุไรระดับล่างและชนชั้นสามัญชนชาวนาทั่วไป อย่างไรก็ตามพุทธศาสนานิกายแดนบริสุทธิ์อมิตพุทธ หรือ โจโด (ญี่ปุ่น: 浄土; โรมาจิ: Jōdo Pure Land Buddhism) เป็นความเชื่อหลักที่สำคัญของชนชั้นล่าง เนื่องจากนิกายแดนบริสุทธิ์มีหลักการว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงแดนบริสุทธิ์ได้ด้วยการสวดเน็มบุซึ (ญี่ปุ่น: 念佛; โรมาจิ: Nembutsu) หรืออมิตพุทธ อย่างเท่าเทียมกัน พระภิกษุเร็นเนียว (ญี่ปุ่น: 蓮如; โรมาจิ: Rennyō) ก่อตั้งนิกายแดนบริสุทธิ์อันแท้จริง หรือ โจโด ชิงชู (ญี่ปุ่น: 浄土真宗; โรมาจิ: Jōdo Shinshū) ซึ่งมีชนชั้นล่างชาวบ้านหันมานับถือจำนวนมาก จนนำไปสู่การกำเนิดของลิทธิอิกโก และการกบฎอิกโกอิกกิในที่สุด
สำหรับพุทธศาสนานิกายดั้งเดิมอื่นๆของญี่ปุ่นเช่น เท็งได และ ชิงงอน ยังคงดำรงอยู่ต่อมาแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับพุทธศาสนานิกายใหม่ๆดังที่ได้กล่าวในข้างต้น
ศาสนาคริสต์
[แก้]นักบุญฟรานซิส ซาเวียร์ ได้พบกับชายชาวญี่ปุ่นชื่อว่า อังจิโร่ (Anjirō) ที่เมืองมะละกาของโปรตุเกสในค.ศ. 1547 สองปีต่อมาค.ศ. 1549 นักบุญฟรานซิสซาเวียร์ได้นำคณะมิชชันนารีเยซูอิตมาถึงประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำการเผยแผ่ศาสนาคริสต์เป็นครั้งแรกพร้อมกับอังจิโร่ คณะมิชชันนารีเยซูอิตประสบปัญหาทางด้านภาษาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ในระยะแรกคณะมิชชั้นนารีใช้คำว่า "ไดนิชิ" (ญี่ปุ่น: 大日; โรมาจิ: Dainichi) เป็นคำที่ใช้แทนพระเจ้าเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของคนญี่ปุ่น ซึ่งไปพ้องความหมายกับพระไวโรจนพุทธะในพุทธศาสนานิกายมหายาน ทำให้คณะสงฆ์ในญี่ปุ่นเข้าใจว่าคณะเยซูอิตนับถือพระพุทธศาสนา ในเวลาต่อมาคณะเยซูอิตเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ไดนิชิ จึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า "เดอุส" (Deus) แทนพระเจ้า ทำให้คณะสงฆ์ญี่ปุ่นตระหนักว่าคณะเยซูอิตกำลังเผยแพร่ศาสนาที่แตกต่าง นักบุญฟรานซิสซาเวียร์พำนักที่เมืองคะโงะชิมะและยะมะงุชิ หลังจากอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นได้หนึ่งปีนักบุญฟรานซิสซาเวียร์จึงเดินทางกลับอินเดีย จากนั้นคณะเยซูอิตยังคงปฏิบัติงานต่อในญี่ปุ่น โดยมีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์โดยเฉพาะในเกาะคีวชูและภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยชาวญี่ปุ่นทุกระดับตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงไดเมียวเจ้าครองแคว้น รัฐบาลโชกุนฯอนุญาตให้มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในค.ศ. 1559 แต่ทว่าราชสำนักเกียวโตจักรพรรดิโองิมะชิมีพระราชโองการห้ามการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในค.ศ. 1565 อย่างไรก็ตามคำสั่งเหล่านี้ไม่สามารถส่งเสริมหรือห้ามปรามกิจกรรมของมิชชันนารีได้เนื่องจากทั้งสองสถาบันไม่มีอำนาจในทางการเมืองในทางพฤตินัย
เหตุการณ์ที่สำคัญ
[แก้]เหตุการณ์สำคัญในยุคโระมะชิ เรียงตามปี ค.ศ.
- 1333 จักรพรรดิกลับมามีอำนาจในการปกครองประเทศ
- 1335 ทะกะอุจิ และ โยชิซาดะ ต่างก็หวังครองเคียวโตะ เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์ทางเหนือกับทางใต้
- 1338 ทากาอุจิ อาชิกางะ ได้รับตำแหน่งโชกุน และก่อตั้งรัฐบาลมุโรมะชิ
- 1392 ฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ตกลงปรองดองกันได้
- 1397 โยชิมิสึ อาชิกางะ โชกุนรุ่นที่ 3 สร้างตำหนักทอง ที่คิตายามะ ในเคียวโตะ เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมคิตายามะเจริญรุ่งเรือง
- 1401 โยชิมิสึ อาชิกางะ ส่งทูตญี่ปุ่นไปยังราชวงศ์หมิงของจีนเป็นครั้งแรก
- 1431 ระยะนี้มักจะเกิดการปะทะกันระหว่างพวกไดเมียว (หัวหน้ากลุ่มนักรบในเขตท้องถิ่น) ด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง
- 1457 โดกัน โอตะ สร้างปราสาทเอโดะที่มุซาชิ
- 1467 สงครามโอนิน เป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคสงครามกลางเมืองอันยาวนาน ระหว่างบรรดาไดเมียวที่แตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม ภายใต้การนำของตระกูลโฮโสกาวะ กับตระกูลยามานะ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการปกครองระบบโชกุนทั้งหมด ชนชั้นนักรบมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ
- 1477 การต่อสู้ในเคียวโตะได้สงบลง แต่สงครามกลับขยายตัวไปยังส่วนภูมิภาคแทน
- 1482 โยชิมาสะ อะชิกะงะ สร้างตำหนักเงิน ที่ฮิงาชิยามะ ในเคียวโตะ เป็นช่วงที่วัฒนธรรมฮิงาชิยามะเจริญรุ่งเรือง
- 1543 พ่อค้าชาวโปรตุเกสขึ้นฝั่งที่ทาเนงาชิมะ และนำปืน ยาสูบ และของแปลกๆใหม่ๆหลายชนิด เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่น
- 1549 เซนต์ฟรานซิส ซาเวียร์ นำศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ที่คาโงชิมะ
- 1568 โนบุนางะ โอดะ ซึ่งเป็นตระกูไดเมียว ที่มีอำนาจขึ้นมาในสมัยสงครามท้องถิ่น และต้องการรวมประเทศเป็น ก็ได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดเคียวโตะ โดยได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดิ โดยมีอีก 2 บุคคลที่เป็นผู้นำสำคัญในการรวมประเทศ คือ โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ และ โทะกุงะวะ อิเอะยะซุ ทำให้อารยธรรมมูโรมาจิเริ่มเสื่อมสลายไป