ยี่จับสี่เห่า
ยี่จับสี่เห่า | |||||||||
ภาษาจีน | 二十四孝 | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ความหมายตามตัวอักษร | ยี่สิบสี่ความกตัญญู | ||||||||
|
ยี่จับสี่เห่า หรือภาษาจีนกลางเรียกว่า เอ้อร์ฉือซื่อเซี่ยว (จีน: 二十四孝) อาจแปลได้ว่า ยี่สิบสี่ยอดกตัญญู เป็นตำราเกี่ยวกับความกตัญญูในลัทธิขงจื๊อ เขียนโดยกัว จฺวีจิ้ง (郭居敬)[1] ในยุคราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1260–1368) ตำรานี้มีอิทธิพลอย่างมากในตะวันออกไกลยุคกลางและนำมาใช้ในการสอนคุณธรรมตามคติของลัทธิขงจื๊อ
สำหรับยี่จับสี่เห่าในภาคภาษาไทยนั้น มีการแปลและจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2479 โดยเป็นผลงานการแปลของ พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) และเรียบเรียงโดย เถา ศรีชลาชัย (ในการจัดพิมพ์ครั้งต่อๆ มา ระบุชื่อเป็น ปรีดา ศรีชลาลัย) จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร เพื่อแจกเป็นของชำร่วยในงานทำบุญอายุครบ 60 ปีของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร[2] ในการแปลครั้งดังกล่าว เลือกเขียนทับศัพท์ชื่อเฉพาะภาษาจีนในเรื่องทั้งหมดเป็นอักษรไทยด้วยสำเนียงแต้จิ๋ว
ผู้เขียน
[แก้]โดยทั่วไปถือว่าผู้เขียนยี่จับสี่เห่าคือกัว จฺวีจิ้ง (郭居敬)[1] แต่มีแหล่งข้อมูลอื่นที่เสนอชื่อผู้เขียนหรือผู้เรียบเรียงที่อาจเป็นไปได้อีก 2 คน ได้แก่ กัว โฉ่วเจิ้ง (郭守正)[3] และกัว จฺวีเย่ (郭居業)[4]
คำวิจารณ์
[แก้]แนวคิดการแสดงความกตัญญูมีบทบาทเด่นในวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถึงขนาดมีธรรมเนียมการไว้ทุกข์เพื่อแสดงความกตัญญ โดยผู้เป็นบุตรจะต้องละเว้นการทำงานประจำต่าง ๆ เป็นเวลาถึง 3 ปี เพื่อแสดงความอาลัยต่อบุพการีที่เสียชีวิต ในสังคมจีนนั้นมีสำนวนอยู่ว่า "เมื่อเจ้าผู้ปกครองสั่งให้ไพร่ฟ้าไปตาย ไพร่ฟ้าก็ต้องตายตามคำสั่ง บิดาปรารถนาให้บุตรไปตาย บุตรก็ต้องไปตายดุจเดียวกัน" และ "พึงแสวงหาข้าแผ่นดินผู้ภักดีจากครอบครัวที่มีบุตรกตัญญู" [5]
แม้กระนั้น บางเรื่องราวที่ปรากฏใน "ยี่จับสี่เห่า" ก็ถูกมองว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับในยุคร่วมสมัย เช่น เรื่องของก้วยกื๊อ ซึ่งเป็นตัวอย่างของความกตัญญูที่สุดขั้วมาก จากการที่เขาตัดสินใจจะฆ่าบุตรของตนเองเพื่อลดปากท้องของคนในบ้านให้สามารถมีอาหารเลี้ยงดูแม่ของตนเองได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องราวที่ตัวเอกของเรื่องทำร้ายร่างกายตนเองเพื่อให้บรรลุหน้าที่ผู้มีความกตัญญู เช่น เรื่องโง่วแม้ถอดเสื้อให้ยุงกัดเพื่อไม่ให้ยุงไปกินเลือดบุพการีของตน และเรื่องเฮ่งเสียงนอนถอดเสื้อเพื่อเจาะปล่องน้ำแข็งจับปลาไปให้แม่กิน เป็นต้น
บางเรื่องราวก็ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและถูกมองว่าค้านกับหลักการของลัทธิขงจื๊อหลายประการ ตัวอย่างหนึ่งในกรณีนี้คือเรื่องราวของฉั่วสุนได้รับรางวัลจากโจรกบฏคิ้วแสดตอบแทนความกตัญญู เรื่องราวนี้ได้วาดภาพให้กลุ่มกบฏดังกล่าวมีภาพลักษณ์ที่ดีทั้งที่ๆ พวกเขาเหล่านั้นละเมิดหลักการของลัทธิขงจื๊อในแง่การจงรักภักดีต่อบ้านเมือง ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคือเรื่องเล่าไล่จื้อทำตัวเป็นเด็กให้พ่อแม่สำราญใจ หลู่ ซฺวิ่น นักเขียนชาวจีนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้วิจารณ์ไว้ว่าพฤติกรรมของเล่าไล่จื๊อ "เป็นการดูหมิ่นคนโบราณ และเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของชนรุ่นหลัง"[6]
รายชื่อบุคคลสำคัญในเรื่อง
[แก้]หมายเหตุ: ชื่อในวงเล็บเป็นชื่อภาษาจีนในสำเนียงแต้จิ๋ว ตามหนังสือ "ยี่จับสี่เห่า" ฉบับแปลของพระเจนจีนอักษร หรือเป็นชื่อสำเนียงอื่นที่พบในวรรณกรรณจีนเรื่องอื่นฉบับภาษาไทย
# | ชื่อเรื่อง | ตัวเอก | ยุคทางประวัติศาสตร์ | เนื้อหาโดยสังเขป |
---|---|---|---|---|
1 | ความกตัญญูสะเทือนดินฟ้า (孝感动天; 孝感動天; Xiào Gǎn Dòng Tiān) | พระเจ้าชุ่น (เต้สุ่น) 舜 |
ยุคสามราชาห้าจักรพรรดิ | ในสมัยที่พระเจ้าเต้สุ่นยังทรงพระเยาว์และอยู่ในฐานะสามัญชน แม่ของสุ่นได้สิ้นชีวิต บิดาจึงแต่งงานใหม่และมีลูกชายกับภรรยาใหม่จำนวน 1 คน แม้บิดา มารดาเลี้ยง และน้องชายจะอยุติธรรมต่อสุ่นและพยายามหาทางกลั่นแกล้งเขาให้ถึงตายหลายครั้ง แต่สุ่นก็ยังคงกตัญญูต่อบิดามารดาอย่างมั่นคงและยังคงรักน้องชายต่างมารดาไม่เปลี่ยนแปลง ความดีดังกล่าวได้บันดาลให้เหล่าเทพเจ้าปกป้องคุ้มครองเขาอยู่เสมอ และยังได้ส่งบรรดาสรรพสัตว์มาช่วยสุ่นทำไร่นาเป็นประจำอีกด้วย |
2 | ชิมยาให้แม่ (亲尝汤药; 親嘗湯藥; Qīn Cháng Tāng Yào) | หลิวเหิง (เล่าเห่ง) 劉恆 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก | เล่าเห่ง (พระเจ้าฮั่นบุ่นเต้) เป็นที่รู้จักจากความกตัญญูที่พระองค์มีต่อเป๊าะไทเฮาผู้เป็นพระราชมารดามาตั้งแต่ครั้งยังเป็นต่ายอ๋อง (อ๋องแห่งรัฐไต้) ยามใดที่พระราชมารดาของพระองค์มีพระอาการประชวร ต๋ายอ๋องจะถวายการดูแลรักษาพระราชมารดาด้วยพระองค์เองเสมอ หากมีการถวายพระโอสถ ต่ายอ๋องก็จะชิมพระโอสถก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัย |
3 | ขบที่นิ้วเจ็บที่ใจ (啮指痛心; 齧指痛心; Niè Zhǐ Tòng Xīn) | เจิงเซิน (เจ็งชาม) 曾參 |
ยุคชุนชิว | เจ็งชามเป็นลูกศิษย์ของขงจื๊อ เกิดในครอบครัวคนยากจน เป็นที่รู้จักในความเป็นคนกตัญญู ครั้งหนึ่งขณะที่เขาออกไปเก็บไม้มาทำฟืน มีแขกมาเยี่ยมที่บ้าน แม่ของเจ็งชามรู้สึกอึดอัดใจไม่รู้ว่าจะรับรองแขกอย่างไรดี จึงตัดสินใจกัดนิ้วตนเองเพื่อสื่อให้เจ็งชามรู้และรีบกลับมาที่บ้าน ฝ่ายเจ็งชามเกิดรู้สึกเจ็บในอกและคิดว่าที่บ้านต้องมีเหตุอะไรบางอย่างจึงรีบกลับมาที่บ้านทันที เมื่อมาถึงบ้านแล้วแม่ของเจ็งชามจึงชี้แจงเหตุการณ์ที่เป็นไปทุกอย่างให้ฟัง บรรดาแขกที่ได้ทราบเรื่องนี้จึงพากันสรรเสริญในความกตัญญูของเขาอย่างยิ่ง |
4 | ใส่เสื้อบางตามคำแม่ (单衣顺母; 單衣順母; Dān Yī Shùn Mǔ) | หมิ่นสุ่น (เมี่ยนจือเคียน) 閔損 |
ยุคชุนชิว | เมี่ยนจือเคียนเป็นลูกศิษย์ของขงจื๊อ เขาเสียแม่ไปตั้งแต่ยังเด็ก พ่อของเมี่ยนจือเคียนจึงแต่งงานใหม่และมีลูกชายอีก 2 คน แม่เลี้ยงของเมี่ยนจือเคียนเป็นคนลำเอียง รักแต่ลูกของตนเองและคอยกลั่นแกล้งเมี่ยนจือเคียนอยู่เสมอ แต่ตัวเมี่ยนจือเคียนมีความกตัญญู ไม่เคยโกรธเกลียดแม่เลี้ยงแต่อย่างใด วันหนึ่งในฤดูหนาว เมี่ยนจือเคียนลากรถให้พ่อเพื่อเดินทางไปทำธุระต่างถิ่น ตัวเขานั้นใส่เสื้อกันหนาวที่บุด้วยดอกเลาเพียงบางๆ จึงทนความหนาวไม่ได้จนพลาดพลั้งทำให้รถลากติดหล่ม เมี่ยนจือเคียนถูกพ่อเฆี่ยนลงโทษ แต่พ่อของเขารู้สึกผิดสังเกตเมื่อเห็นเสื้อของเมี่ยนจือเคียนขาดแล้วพบว่าข้างในบุดอกเลาไว้แทนที่จะเป็นสำลี ทำให้เขาเข้าใจได้ทันทีว่าภรรยาของตนรักลูกไม่เท่ากัน ฉะนั้นเมื่อกลับไปถึงบ้าน ผู้เป็นพ่อจึงออกปากไล่ภรรยาใหม่ผู้เป็นแม่เลี้ยงของเมี่ยนจือเคียนด้วยความโกรธ แต่เมี่ยนจือเคียนได้ขอร้องห้ามพ่อของตนไว้โดยกล่าวว่า "มารดายังอยู่ที่นี่ ลูกก็หนาวเพียงคนเดียว ถ้ามารดาไปอยู่ที่อื่น ลูกจะหนาวทั้งสามคน" ฝ่ายแม่เลี้ยงรู้สำนึกผิด จึงเลิกลำเอียงต่อเมี่ยนจือเคียนอย่างเด็ดขาดนับแต่นั้น |
5 | แบกข้าวสารให้พ่อแม่ (为亲负米; 爲親負米; Wèi Qīn Fù Mǐ) | จ้งโหยว (จื่อลู่, จือหลู) 仲由 |
ยุคชุนชิว | จื่อลู่เป็นลูกศิษย์ของขงจื๊อ เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจน ในวัยเยาว์นั้นเขามักจะเดินทางไปไกลบ้านเพื่อแบกข้าวสารซึ่งมีผู้ใจดีแบ่งให้มาให้พ่อแม่รับประทานอยู่เสมอ โดยที่ตัวเขาเองยอมลำบากกินแต่เพียงผักป่าเท่านั้น หลายปีต่อมาเมื่อเขาได้ดีมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอยู่ในรัฐเหว่ย (เมืองโอย, เมืองอวย) เวลานั้นพ่อแม่ทั้งสองของเขาได้ตายจากไปแล้ว จื่อลู่มักจะรำพึงถึงความหลังและคร่ำครวญด้วยความเสียใจอยู่เสมอว่า "แต่ก่อนตนเคยแบกข้าวสารถุงหนึ่งเดินทางไกลตั้งร้อยลี้ เพื่อนำไปให้บิดามารดาเพราะความยากจน ครั้นบัดนี้อาหารการกินบริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว แต่บิดามารดาไม่อยู่ให้ปรนนิบัติจึงน่าเสียใจนัก" |
6 | เลี้ยงพ่อแม่ด้วยนมกวาง (鹿乳奉亲; 鹿乳奉親; Lù Rǔ Fèng Qīn) | ถันจื่อ (ทั่มจื้อ) 郯子 |
ยุคชุนชิว | ทั่มจื้อเป็นเจ้าเมืองทั่มซึ่งเป็นเมืองขึ้นของรัฐหลู่ บิดามารดาของทั่มจื้อนั้นตาบอด มีหมอแนะนำว่าต้องใช้น้ำนมกวางหยอดตาจึงจะรักษาอาการนี้ได้ ทั่มจื้อจึงเอาหนังกวางห่อหุ้มตัวและหาทางเข้าใกล้แม่กวางป่าเพื่อเอาน้ำนม เขาทำเช่นนี้ทุกวัน จนวันหนึ่งมีพรานป่าเข้าใจผิดว่าเขาเป็นกวางจริงๆ และเกือบจะถูกฆ่าเสียแล้ว ทั่มจื้อจึงต้องเปิดเผยตัวและอธิบายเรื่องราวที่เป็นมาทุกอย่างให้ฟัง |
7 | แต่งชุดเด็กให้พ่อแม่สบายใจ (戏彩娱亲; 戲彩娛親; Xì Cǎi Yú Qīn) | เหลาไหลจื่อ (เล่าไล่จื๊อ) 老萊子 |
ยุคชุนชิว | เล่าไล่จื๊อเป็นเซียนที่อาศัยอยู่ในรัฐฉู่ มีชื่อเสียงจากความกตัญญูต่อบิดามารดาผู้มีอายุยืน ครั้งหนึ่งพ่อแม่ได้เห็นเล่าไล่จื๊อหกล้มจากการหาบน้ำ ก็นึกเสียใจว่าตนจะได้ทำศพลูกชายแทนที่จะได้ให้ลูกชายทำศพแก่พวกตน เพราะเวลานั้นต่างฝ่ายต่างก็สูงอายุแล้ว เล่าไล่จื๊อเมื่อรู้ดังนั้นจึงแกล้งแต่งตัวสีสันสดใส เล่นของเล่นต่างๆ ทำตัวเป็นเด็กให้พ่อแม่รู้สึกเป็นสุขจนคลายกังวลใจเรื่องดังกล่าวอยู่เสมอ |
8 | ขายตัวทำศพพ่อ (卖身葬父; 賣身葬父; Mài Shēn Zàng Fù) | ตงหย่ง (ตังอ๎ย้ง) 董永 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | ตงหย่งเสียแม่ไปตั้งแต่ยังเด็ก อาศัยอยู่กับพ่อตลอดมาจนกระทั่งผู้เป็นพ่อเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีเงินทำพิธีศพ ตงหย่งจึงขายตัวเป็นทาสกับเศรษฐีคนหนึ่งเพื่อเอาเงินมาจัดงานศพให้พ่อ วันหนึ่งเขาได้พบหญิงพเนจรคนหนึ่งระหว่างกลับจากไปทำงาน นางขอให้ตงหย่งรับนางเป็นภรรยา ทั้งสองจึงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา หญิงปริศนาผู้นั้นได้ช่วยเขาทอผ้าไหม 300 ม้วนตามคำสั่งของนายจ้างเสร็จภายในเดือนเดียว ตงหย่งจึงเป็นอิสระจากสัญญาขายตัวและได้รับค่าจ้างตามสมควร ระหว่างทางกลับบ้านนั้น หญิงสาวได้เปิดเผยว่าตนเป็นธิดาของเง็กเซียนฮ่องเต้ ได้รับภารกิจจากสวรรค์ให้มาช่วยปลดปล่อยตงหย่งให้เป็นไท เมื่อบรรลุภารกิจแล้ว นางจึงจำต้องกลับคืนสู่เมืองสวรรค์ตามเดิม |
9 | ฝังลูกเพื่อเลี้ยงแม่ (为母埋儿; 爲母埋兒; Wèi Mǔ Mái Ér) | กวอจี้ (ก้วยกื๊อ) 郭巨 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | ก้วยกื๊อเลี้ยงดูแม่ผู้ชรา เขามีภรรยาและบุตร 1 คน ครอบครัวของเขานั้นยากจนมาก กระทั่งเมื่ออาหารในบ้านมีไม่เพียงพอแก่ปากท้องของทั้ง 4 ชีวิตภายในบ้าน เขาจึงปรึกษากับภรรยาเพื่อหาทางออก และจำต้องตัดสินใจด้วยความเจ็บปวดว่า จะต้องฝังบุตรทั้งเป็นเสียเพื่อลดจำนวนปากท้องในบ้าน เพราะลูกนั้นทั้งสองคนยังมีโอกาสมีใหม่ได้ แต่แม่นั้นไม่อาจหาใครมาทดแทนได้อีกแล้ว ขณะที่ทั้งสองผัวเมียช่วยกันขุดหลุมเพื่อจะฝังลูกนั้น พวกเขาได้ขุดพบทองคำจำนวนหนึ่ง พร้อมหนังสือเขียนด้วยชาดเป็นใจความว่า "ทองทั้งนี้เทพดาให้เเก่ก้วยกื๊อ ขุนนางจะแย่งเอามิได้ แม้ราษฎรทั้งปวงก็ไม่มีสิทธิ์" ก้วยกื๊อจึงเลิกขุดหลุมนั้น แล้วเอาทองคำไปขายเลี้ยงชีวิตจุนเจือครอบครัวให้เป็นสุขสืบไป |
10 | น้ำพุปลาผุด (涌泉跃鲤; 湧泉躍鯉; Yǒng Quán Yuè Lǐ) | เจียงซือ (เกียงซี) 姜詩 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | เกียงซีและภรรยาชื่อนางพั่งสีเป็นคนที่กตัญญูต่อมารดา บ้านของพวกเขาอยู่ไกลจากแม่น้ำ แต่เพราะแม่ของเกียงซีของรับประทานปลาสดจากแม่น้ำและดื่มน้ำที่ตักจากแม่น้ำ สองผัวเมียจึงรับหน้าที่ไปตักน้ำและจับปลาที่แม่น้ำอยู่เสมอ วันหนึ่งนางพั่งสีกลับจากหาบน้ำและหาปลาช้าเพราะเกิดพายุจัดระหว่างทางกลับบ้าน เกียงซีนึกโกรธภรรยาเพราะคิดว่าการที่นางพั่งสีกลับบ้านช้าและปล่อยให้แม่ของเขารอนานนั้นเพราะนางมัวเถลไถลไปที่อื่น จึงขับนางพั่งสีออกจากบ้านไป นางพั่งสีจึงไปอาศัยกับเพื่อนบ้าน ยังคงไปตักน้ำจากแม่น้ำและฝากวานเพื่อนบ้านให้นำน้ำดังกล่าวส่งให้แม่สามีอยู่เสมอ ครั้นต่อมาแม่ของเกียงซีรู้ความจริง จึงบอกให้ลูกชายไปรับลูกสะใภ้กลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิม ในวันที่นางพั่งสีกลับมาอยู่กับแม่สามีนั้น เกิดมีบ่อน้ำพุผุดขึ้นที่หลังบ้าน น้ำนั้นมีรสชาติเหมือนน้ำในแม่น้ำทุกอย่าง ซ้ำยังมีปลาตะเพียนมาอยู่ที่บ่อน้ำนั้นวันละ 2 ตัวเป็นประจำทุกวัน ทั้งสองผัวเมียจึงไม่จำเป็นต้องไปตักน้ำและจับปลาถึงริมฝั่งแม่น้ำเพื่อเลี้ยงดูแม่ของตนอีกต่อไป |
11 | เก็บผลหม่อนเลี้ยงแม่ (拾椹供亲; 拾椹供親; Shí Shèn Gòng Qīn) | ไช่ซุ่น (ฉั่วสุน) 蔡順 |
ราชวงศ์ซิน / ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | ฉั่วสุนอาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพังสองแม่ลูกเนื่องจากบิดาสิ้นชีวิตไปตั้งแต่เขายังเล็ก ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดการจลาจลภายใต้การปกครองของอองมัง ราคาข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ สูงขึ้นมาก จนทั้งสองแม่ลูกต้องเก็บผลหม่อนป่ามาบริโภค วันหนึ่งฉั่วสุนได้เจอกับกองโจรกบฏคิ้วแสด พวกโจรนึกสงสัยว่าทำไมเขาจึงแยกผลหม่อนสีแดงกับผลหม่อนสีดำไว้ในกะทอคนละใบ ฉั่วสุนจึงตอบว่า ผลหม่อนสีดำรสหวานแยกเก็บไว้ให้แม่ ผลหม่อนสีแดงรสเปรี้ยวนั้นเขาเก็บไว้กินเอง พวกโจรคิ้วแสดนึกเห็นใจฉั่วสุน จึงยอมปล่อยตัวเขาไป พร้อมกับแบ่งข้าวสารและเนื้อขาวัวข้างหนึ่งให้ฉั่วสุนด้วย |
12 | จำหลักรูปพ่อแม่แทนตัว (刻木事亲; 刻木事親; Kè Mù Shì Qīn) | ติงหลัน (เต็งหลัง) 丁蘭 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | เต็งหลังกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เยาว์วัย เขาจึงสลักรูปเหมือนพ่อแม่ขึ้นแทนตัวด้วยความระลึกถึง และปฏิบัติบูชาเสมือนว่าบุพการีทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งภรรยาของเต็งหลังนึกสงสัยจึงลองเอาเข็มจิ้มที่รูปจำหลักดังกล่าว คาดไม่ถึงว่ารูปสลักนั้นจะมีเลือดไหลและหลั่งน้ำตา เมื่อเต็งหลังซักไซ้ความจริงจากภรรยาแล้ว เขาจึงไล่ภรรยาออกจากบ้านไปด้วยความโกรธ (อีกฉบับหนึ่งเล่าว่ารูปสลักเหล่านั้นหลั่งน้ำตาเพราะมีเพื่อนบ้านมายืมของจากภรรยาเต็งหลังแล้วไม่ได้ดั่งประสงค์ จึงเอาไม้ตีไปที่รูปสลักดังกล่าว เต็งหลังเมื่อรู้เรื่องแล้วก็เคืองแค้นตามไปจะทำร้ายเพื่อนบ้านคนนั้นให้ตาย เกิดเป็นคดีความขึ้นศาลประจำเมือง เจ้าเมืองได้ตัดสินความให้เพื่อนบ้านคนดังกล่าวขอขมารูปแทนตัวพ่อแม่ของเต็งหลัง จึงเป็นอันยุติเรื่องลงได้) |
13 | ลักส้มไปฝากแม่ (怀橘遗亲; 懷桔遺親; Huái Jú Yí Qīn) | ลู่จี (เล็กเจ๊ะ, ลกเจ๊ก) 陸績 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | ลกเจ๊กเป็นข้าราชการของง่อก๊ก เมื่อครั้งลกเจ๊กอายุ 6 ขวบได้ติดตามพ่อซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในขณะนั้นไปเยี่ยมคำนับอ้วนสุด ผู้ว่าราชการเมืองจิ่วเจียง ณ จวนผู้ว่าราชการซึ่งจัดงานเลี้ยงมโหฬารในครั้งนั้น ลกเจ๊กได้ซุกส้มสองผลไว้ในแขนเสื้อเพื่อนำไปฝากแม่ แต่เมื่อได้เวลากลับบ้าน ขณะคำนับอำลาอ้วนสุด ผลส้มที่ซุกซ่อนไว้หล่นลงพื้น อ้วนสุดเห็นจึงพูดสัพยอกว่า "ลกเจ๊กเอ๋ย เจ้ามาเป็นแขกผู้เยาว์ ไฉนจึงแอบซุกส้มของเจ้าบ้าน ไม่กลัวคนเขาจะหัวเราะเยาะว่าลักส้มหรือ" ลกเจ๊กก็คุกเข่าคำนับแล้วว่ามารดาตนชอบรับประทานส้มนัก ตนจึงตั้งใจเอาไปฝาก เมื่อมารดาได้รับประทาน ก็นับว่าท่านเจ้าบ้านได้เลี้ยงแขกเพิ่มอีกคนหนึ่งแล้ว อ้วนสุดได้ฟังก็ชมเชยว่า เด็กอายุเพียงเท่านี้ยังรู้จักกตัญญูต่อมารดา หายากยิ่งนัก แล้วสั่งให้บริวารเอาส้มกระเช้าหนึ่งเดินตามไปส่งถึงบ้าน |
14 | ลงแรงหาเลี้ยงแม่ (行佣供母; 行傭供母; Xíng Yōng Gòng Mǔ) | เจียงเก๋อ (กังเก๊ก) 江革 |
ราชวงศ์ฮั่น | กังเก๊กพาแม่อพยพจากเมืองหลินจือไปยังเมืองเซี่ยพี เพื่อหนีภัยโจรที่ออกอาละวาดปล้นราษฎรในเวลานั้น เมื่อพวกโจรจับตัวทั้งสองแม่ลูกได้ครั้งใด กังเก๊กจะร้องไห้วิงวอนขอให้พวกโจรปล่อยพวกตน และพวกโจรก็ใจอ่อนยอมปล่อยตัวทั้งสองคนไปทุกครั้ง เมื่อรอดภัยจากกลุ่มโจรและสามารถตังหลักปักฐานแล้ว กังเก๊กก็ออกทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูแม่ของตนให้อยู่เป็นสุขตามอัตภาพจนถึงอายุขัย |
15 | พัดวีหมอนอุ่นที่นอน (扇枕温衾; 扇枕溫衾; Shàn Zhěn Wēn Qīn) | หวงเซียง (อึ่งเฮียง) 黃香 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก | อึ่งเฮียงอาศัยอยู่กับพ่อเพียงสองคน เพราะเสียแม่ไปเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 9 ขวบ เขาปรนนิบัติรับใช้บิดาของตนในเวลาก่อนนอนด้วยการพัดวีหมอนของพ่อให้เย็นในฤดูร้อน และเอาผ้าห่มห่มตัวเองให้ผ้านั้นอุ่นก่อนจะปูให้พ่อนอนในฤดูหนาว เพื่อให้พ่อได้นอนหลับสบายทุกคืนอยู่เสมอ |
16 | ปลอบขวัญหลุมศพแม่ยามฟ้าร้อง (闻雷泣墓; 聞雷泣墓; Wén Léi Qì Mù) | หวางโผว (เฮ่งเพา) 王裒 |
ยุคสามก๊ก | เฮ่งเพาเป็นชาววุยก๊ก แม่ของเฮ่งเพาเป็นคนกลัวเสียงฟ้าร้องตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เฮ่งเพาเป็นผู้คอยปลอบโยนนางอยู่เสมอ แม้เมื่อนางสิ้นชีวิตไปแล้ว หากมีฟ้าร้องครั้งใด เฮ่งเพาก็จะไปที่หลุมศพเพื่อปลอบแม่ให้คลายความกลัวทุกครั้ง |
17 | พลีตนให้ยุงกินเลือด (恣蚊饱血; 恣蚊飽血; Zī Wén Báo Xuě) | อู๋เมิ่ง (โง่วแม้) 吳猛 |
ราชวงศ์จิ้น | โง่วแม้เป็นเซียนในลัทธิเต๋า ในวัยเยาว์เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจนมากถึงขนาดไม่มีเงินไปซื้อมุ้งกันยุงเวลานอน ทุกคืนในช่วงฤดูร้อน เขาจึงถอดเสื้อนั่งอยู่ใกล้ ๆ เตียงนอนของบุพการีเพื่อล่อให้ยุงกินเลือดตนเอง โดยหวังว่ายุงจะไม่ไปกัดบุพการีในเวลานอน |
18 | เจาะน้ำแข็งหาปลา (卧冰求鲤; 臥冰求鯉; Wò Bīng Qiú Lǐ) | หวางเสียง (เฮ่งเสียง) 王祥 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก / ยุคสามก๊ก | เฮ่งเสียงเป็นข้าราชการยุคราชวงศ์จิ้น เกิดในตระกูลข้าราชการของวุยก๊ก ในวัยเยาว์เขาอาศัยอยู่กับพ่อและแม่เลี้ยงเพราะแม่แท้ ๆ ตายตั้งแต่เฮ่งเสียงยังเด็ก แม่เลี้ยงของเฮ่งเสียงนั้นริษยาและมักพูดจาไม่ดีกับเขาตลอด จึงพลอยทำให้พ่อของเขาชิงชังตัวเฮ่งเสียงไปด้วย แต่เฮ่งเสียงยังคงปรนนิบัติรับใช้ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงด้วยความเคารพรักและกตัญญูอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อพ่อของเฮ่งเสียงตายลง แม่เลี้ยงนั้นก็หายชิงชัง กลับมารักใคร่เฮ่งเสียงแทนเพราะเขายังคงดูแลนางอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ครั้งหนึ่งในฤดูหนาวแม่เลี้ยงเกิดป่วยไข้ นางชอบกินปลาสด หากไม่ได้กินปลาจะกินข้าวไม่ลง แต่วันนั้นชาวประมงจับปลาไม่ได้ ไม่มีปลาขายในตลาด เฮ่งเสียงจึงออกไปจับปลาในแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง โดยถอดเสื้อออกนอนแนบกับพื้นน้ำแข็ง ใช้ไออุ่นจากร่างกายตนเองละลายผิวน้ำแข็งให้บางลงจนสามารถเจาะปล่องน้ำแข็งจับปลาได้ |
19 | สู้เสือเพื่อช่วยพ่อ (扼虎救亲; 扼虎救親; È Hǔ Jìu Qīn) | หยางเซียง (เอี้ยเฮียง) 楊香 |
ราชวงศ์จิ้น | ขณะที่นางเอี้ยเฮียงอายุได้ 14 ปี ครั้งหนึ่งนางได้ติดตามพ่อไปหาของป่า มีเสือตนหนึ่งกระโจนเข้ามาทำร้ายพ่อของนาง นางเอี้ยเฮียงได้พยายามสู้เสือด้วยมือเปล่าจนกระทั่งเสือยอมปล่อยพ่อของนางและหลบหนีไป |
20 | หลั่งน้ำตาหน่อไม้จึงผุด (哭竹生笋; 哭竹生筍; Kū Zhú Shēng Sǔn) | เมิ่งจง (เม่งจง, เบ้งจ๋อง) 孟宗 |
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก / ยุคสามก๊ก | เบ้งจ๋องเป็นข้าราชการของง่อก๊ก เขากำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก อาศัยอยู่ด้วยกันกับแม่ ครั้งหนึ่งแม่ของเบ้งจ๋องป่วย หมอตรวจโรคแล้วแนะนำว่าต้องให้แม่รับประทานน้ำแกงที่ต้มจากหน่อไม้ จึงจะคลายจากโรคได้ เวลานั้นเป็นหน้าหนาว นอกฤดูกาลเกิดหน่อไม้ เบ้งจ๋องเข้าป่าไผ่หาหน่อไม้เท่าไรก็ไม่พบ จึงได้แต่นั่งทรุดลงร้องไห้ที่กอไผ่ด้วยความสิ้นหวัง ทันใดนั้นเขาก็ได้ยินเสียงอันดัง และเมื่อหันไปดูก็พบว่ามีหน่อไม้จำนวนหนึ่งผุดขึ้นมา เบ้งจ๋องจึงรีบเก็บหน่อไม้เหล่านั้นด้วยความดีใจแล้วเอาไปต้มน้ำแกง ให้แม่รับประทานน้ำแกงนั้นจนคลายจากโรคได้ |
21 | ชิมอุจจาระตรวจโรค (尝粪忧心; 嘗糞憂心; Cháng Fèn Yōu Xīn) | อวี่เฉียนโหลว (ยูงิมหลู) 庾黔婁 |
ราชวงศ์ฉีใต้ | ยูงิมหลูรับราชการเป็นนายอำเภอชังเหล็ง วันหนึ่งขณะทำหน้าที่ชำระคดีความ เกิดความสะเทือนใจจนตัวสั่นเหงื่อไหลโซมกาย เขารู้สึกว่าจะต้องเกิดเหตุบางอย่างเกี่ยวกับบิดา จึงทำหนังสือลาออกจากราชการแล้วรีบเดินทางกลับไปบ้านเดิมซึ่งอยู่ต่างเมือง เมื่อกลับถึงบ้านจึงได้ทราบว่าบิดาของตนป่วย หมอที่ตรวจโรคชี้แจงว่าอาการป่วยนั้นหนักมาก หากจะวินิจฉัยว่าจะรักษาให้หายได้หรือไม่แล้ว จำเป็นต้องชิมอุจจาระของผู้ป่วย ถ้ารสอุจจาระเค็มก็ยังพอจะรักษาได้ หากอุจจาระรสหวานคือหมดหนทางรักษา ยูงิมหลูได้ฟังดังนั้นก็ไม่มีความรังเกียจ เอาอุจจาระของบิดามาชิมดูมีรสหวานก็วิตกยิ่งนัก แต่นิ่งเสียไม่บอกเล่าให้ผู้ใดทราบเรื่องด้วยเกรงว่าลูกหลานทั้งปวงจะเสียใจ ต่อมาบิดาของยูงิมหลูมีอาการทรุดลงจนถึงแก่กรรม เขาจึงทำพิธีฝังศพให้บิดาและไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมเป็นเวลา 3 ปี ก่อนกลับเข้ารับราชการต่อไป |
22 | ให้นมแม่สามี (乳姑不怠; Rǔ Gū Bù Dài) | ถังฟูเหริน (ทั่งฮูหยิน) 唐夫人 |
ราชวงศ์ถัง | นางทั่งฮูหยินเป็นย่าของเชื้อสายของเจ้าประเทศราชคนหนึ่งชื่อทั่งชุยล่ำซัว (崔山南) ในเวลานั้นนางเชียงซุนฮูหยินย่าทวดของทั่งชุยล่ำซัวเฒ่าแก่จนไม่มีฟัน หมอแนะนำว่าให้กินนมคนดีกว่าให้กินอาหารต่าง ๆ ขณะนั้นนางทั่งฮูหยินมีลูกน้อยยังกินนมอยู่ ลูกน้อยคนนั้นคือปู่ของทั่งชุยล่ำซัว นางทั่งฮูหยินให้นางเชียงซุนฮูหยินผู้เป็นแม่สานีกินนมจากอกของตนทุกวันเป็นเวลาหลายปี จนเมื่อนางเชียงซุนฮูหยินใกล้จะเสียชีวิต นางจึงสั่งเสียลูกหลานทุกคนในตระกูลไว้ว่า "บัดนี้ข้าจะตายแล้ว หากใครยังคิดถึงข้าอยู่ วันหน้าต่อไปจงปรนนิบัตินางทั่งฮูหยินอย่างน้อยให้เท่าที่เขาปรนนิบัติข้านี้เถิด" ซึ่งทุกคนในตระกูลได้ปฏิบัติตามคำสั่งเสียดังกล่าวทุกประการ |
23 | ลาราชการตามหาแม่ (弃官寻母; 棄官尋母; Qì Guān Xún Mǔ) | จูโซ่วชาง (จูซิ่วเชียง) 朱壽昌 |
ราชวงศ์ซ่ง | เมื่อครั้งที่จูซิ่วเชียงอายุได้ 7 ขวบ แม่ของเขาซึ่งมีฐานะเป็นภรรยาน้อยของบิดาได้ถูกภรรยาหลวงไล่ออกจากบ้าน ต่อมาเมื่อจูซิ่วเชียงเจริญวัยก็สอบได้เป็นบัณฑิตและได้รับราชการเป็นเจ้าเมืองแห่งหนึ่ง เวลาผ่านไปจูซิ่วเชียงคิดถึงแม่มาก และอยากจะพบกับนางอีกสักครั้งแม้ทั้งสองฝ่ายจะจากกันมานานกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม เมื่อทราบร่องรอยที่อยู่ของผู้ให้กำเนิดแล้ว เขาจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ และออกเดินทางตามหาแม่ที่เมืองต่างๆ อย่างไม่ลดละเป็นเวลาหนึ่งปีกว่า จึงได้พบกับแม่ ซึ่ง ณ เวลานั้นนางอายุล่วงเข้า 70 ปีปลายแล้ว พร้อมกับน้องชายต่างบิดาอีกสองคน เขาจึงรับทั้งแม่และน้องชายให้มาอยู่ร่วมตระกูลเดียวกันและได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง |
24 | เทถังอุจจาระของแม่ (涤亲溺器; 滌親溺器; Dí Qīn Nì Qì) | หวงถิงเจียน (อึ้งเท่งเกียน) 黃庭堅 |
ราชวงศ์ซ่งเหนือ | อึ้งเท่งเกียนเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้มีความกตัญญูต่อผู้บังเกิดเกล้ายิ่ง ทุกวันเขาจะเทล้างถังอุจจาระของมารดาด้วยตนเอง ไม่ยอมใช้บ่าวไพร่ให้ทำงานนี้ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของบุตรที่พึงปฏิบัติ ไม่ควรไปให้คนอื่นทำแทน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 (郭居敬尤溪人。性至孝,事親,左右承順,得其歡心。嘗摭虞舜而下二十四人孝行之概序而詩之,名二十四孝詩,以訓童蒙。) Wang, Qi (王圻). Xu Wenxian Tongkao (續文獻通考) vol. 71.
- ↑ ยี่จับสี่เห่า. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2479.
- ↑ (坊間所刻《二十四孝》,不知所始。後讀《永樂大典》,乃是郭守敬之弟守正集。) Han, Taihua (韓泰華). Wushi Weifu Zhai Suibi (無事為福齋隨筆) vol. 2.
- ↑ (至元朝郭居業始將伊古以來孝行卓著者集24人,名二十四孝,以昭後世。) Pan, Shoulian (潘守廉). Ershisi Xiaotu Shuo Bing Shi (二十四孝圖說並詩) preface.
- ↑ (夫國以簡賢為務,賢以孝行為首。孔子曰:‘事親孝故忠可移於君,是以求忠臣必於孝子之門。’) Fan, Ye. Book of the Later Han vol. 26.
- ↑ (正如將‘肉麻當作有趣’一般,以不情為倫紀,污衊了古人,教壞了後人。老萊子即是一例,道學先生以為他白璧無瑕時,他卻已在孩子的心中死掉了。) Lu, Xun. Chao Hua Xi Shi (朝花夕拾).
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ยี่จับสี่เห่า ที่เว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ
- English translation of The Twenty-four Filial Exemplars