มัลลี คงประภัศร์
มัลลี คงประภัศร์ | |
---|---|
เกิด | 20 มกราคม พ.ศ. 2426 ปุย ช้างแก้ว จังหวัดธนบุรี |
เสียชีวิต | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (88 ปี) |
คู่สมรส | สม คงประภัสร์ |
อาชีพ | ข้าราชการ ครูสอนนาฏศิลป์ไทย |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2436–2505 |
สังกัด | กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม |
มัลลี คงประภัศร์ หรือ ครูหมัน เป็นศิลปินด้านนาฏศิลป์, โขน และละครรำ เป็นที่รู้จักจากความสามารถในแสดงโขนและละครได้ทุกบทบาทแม้แต่ในบทบาทของผู้ชาย[1]
ประวัติ
[แก้]ครูหมันเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2426 นามเดิมว่า "ปุย" เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายกุก และนางนวม ช้างแก้ว อาศัยอยู่บริเวณบ้านริมปากคลองวัดประยุรวงศาวาส จังหวัดธนบุรี คุณครูมัลลี มีพี่น้อง 5 คน คือ
- นางเนย ช้างแก้ว
- นางเพิ่ม ปูรณานนาค
- นางปุย (คุณครูมัลลี หรือ หมั่น) คงประภัศร์
- นายชื่น ช้างแก้ว
- สิบเอกวิง ช้างแก้ว
- นายวรรณ ช้างแก้ว
เมื่อเด็กหญิงปุยอายุได้ประมาณ 8 ปี นายกุกผู้บิดาได้เสียชีวิตลงทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายภายในครอบครัวเนื่องจากบ้านที่พักอาศัยอยู่เป็นของญาติทางฝ่ายบิดา นางนวมผู้มารดาจึงได้ไปสมัครเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพนักงานประจำห้องเครื่องเสวยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ ต้นราชสกุลสุริยง พระอนุชาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และได้พาธิดาคนเล็กคือเด็กหญิงปุยไปอยู่ด้วย
ฝึกหัดละคร
[แก้]ขณะที่เด็กหญิงปุยเข้าไปอยู่ในวังหลวงกับมารดานั้นได้มีโอกาสเข้าชมละครรำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์(หม่อมเจ้าขาว)ที่เข้าไปแสดงเป็นประจําในวังหลวง เพราะละครคณะเจ้าขาวเป็นคณะที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ครูหมันมีความสนใจในการแสดงจึงแอบหนีมารดาติดตามคณะละครไป ได้รับการฝึกสอนจาก"หม่อมแม่เป้า" ครูละครคนสำคัญของวังเจ้าขาว (ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) เมื่อมารดาทราบมาขอรับตัวกลับ ท่านปฏิเสธและอ้อนวอนจนมารดายอมแพ้และได้เข้าเรียนละครรำอย่างจริงจังโดยได้รับการฝึกหัดอย่างดียิ่งจากหม่อมแม่เป้าแล้วปรากฏว่าเด็กหญิงปุยสามารถการรับถ่ายทอดวิชาละครได้อย่างน่าแปลกใจผิดความคาดหมายของทุกๆคนเพราะไม่ว่าจะเป็นการรำท่าอะไร เพลงไหน ยากลำบากเพียงใด เด็กหญิงปุย เป็นต้องทำให้ได้และทำได้หมดมิได้ผิดเพี้ยนไปจากท่าที่ครูสอนให้แม้แต่นิดเดียว นอกจากนั้นแล้วยังสามารถจดจำได้อย่างรวดเร็วถูกต้องแม่นยำ จนในที่สุดสามารถออกโรงแสดงได้ เมื่ออายุประมาณ 10 ปีเท่านั้น
เด็กหญิงปุยได้มีโอกาสไปแสดงในงานต่างๆ มากมาย แม้การแสดงหน้าพระที่นั่งก็ยังเคยได้มีโอกาสแสดงถวายหลายครั้งหลายหน ครั้งหนึ่งเด็กหญิงปุ๋ยได้รับการมอบหมายให้แสดงเป็นตัว “สมันน้อย” ในละครเรื่อง “ดาหลัง” ซึ่ง ละครคณะเจ้าขาวจะต้องนำเข้าไปแสดงในวังหลวง ภายหลังจากที่ได้รับการฝึกและซักซ้อมดีแล้วปรากฏว่าการแสดงเป็นตัวสมันน้อยของเด็กหญิงปุย เป็นที่พึ่งพอพระราชหฤทัยและพระทัยของเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์จนทรงจำได้และเรียกเด็กหญิงปุยด้วยความเอ็นดูว่า "ไอ้หมัน" จนติดพระโอษฐ์เป็นเหตุให้ใครต่อใครพากันเรียกกันต่อๆมาว่า “หมัน” จนเคยชินติดปากกระทั่งในที่สุดชื่อปุยก็จางหายไปจากวงการละครเจ้าขาวเกิดมี “หมัน” ขึ้นมาแทนและเจ้าตัวเองก็พอใจในชื่อใหม่นี้เพราะถือเป็นมงคลนามได้ใช้มาจนกระทั่งถึงแก่กรรม
ต่อมาเมื่ออายุประมาณ 22 ปี ได้เกิดรักใคร่ชอบพอกับนายส้ม คงประภัศร์ ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนที่กรมพระคลังข้างที่และเป็นนักดนตรี (ทหารแตรมหาดเล็ก) จึงได้กราบทูลลาออกมาแต่งงานอยู่กินกับนายส้ม โดยยึดถืออาชีพทางรับจ้างแสดงละครทั่วไปตลอดมาตามแต่ผู้ใดจะว่าจ้างให้ไปแสดงที่ไหน มีบุตรธิดา 2 คน ได้แก่
- นางถนอม(คงประภัศร์) ยวงศรี
- นายอรุณ คงประภัสร์
รับราชการ
[แก้]ประมาณ พ.ศ. 2477 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกรมมหรสพถูกยุบทางราชการได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นมาแทนและในขณะที่หลวงวิจิตรวาทการดำรงตำแหน่งอธิบดีฯ อยู่นั้นทางรัฐบาลได้ดำริจะจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้นจึงได้พยายามจัดหารวบรวมผู้มีความสามารถทางด้านละคร โขน และดนตรีมาเป็นครู ปรากฏว่าในรุ่นแรกนี้ทางราชการได้จัดหามาได้แล้ว ๒ ท่าน คือ
- คุณครูลมูล ยมะคุปต์
- หม่อมครูต่วน ภัทรนาวิก
หม่อมครูต่วนและครูละม่อม วงทองเหลือ อาจารย์ใหญ่ประจำโรงเรียนาฏดุริยางคศาสตร์(วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในปัจจุบัน) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ชักชวนครูหมันเข้ารับราชการเป็นครู โดยหลวงวิจิตรวาทการรับเข้าเป็นราชการศิลปินชั้นสามครูนาฏศิลป์ ผลงานสำคัญของท่านคือได้ร่วมกันกับครูลมุล ยมะคุปต์ ประดิษฐ์ท่ารำ "แม่บทใหญ่" รวมถึงเดินทางไปเชื่อมสันถวไมตรีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศพม่า ท่านได้รับการยกย่องในความสามารถของท่านที่สามารถแสดงบทบาทในละครได้ทุกบทบาท และในการแสดงโขน ท่านสามารถขึ้นแสดงแทนในบทบาทชายได้
ครูหมันรับราชการเป็นครูสอนนาฏศิลป กรมศิลปากร จนกระทั่งอายุ 80 ปีเศษ ท่านจึงถูกเลิกว่าจ้างเพราะท่านเริ่มมีอาการ “หลง” หลังจากนั้นท่านก็อยู่กับบ้านเฉยๆ ภายหลังเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2514 ท่านเกิดอาการหน้ามืด ล้มฟุบลงบรรดาบุตรหลานและเหลนต่างก็พากันปฐมพยาบาลอย่างเต็มที่และได้เชิญแพทย์มาทำการรักษาพยาบาลภายหลังจากการตรวจโดยละเอียดแล้วแพทย์ได้แนะนำว่าหัวใจสูบฉีดโลหิตได้น้อยทำให้โลหิตไม่สามารถขึ้นไปหล่อเลี้ยงสมองได้เต็มที่ควรให้นอนราบเพื่อโลหิตจะได้หมุนเวียนได้ง่ายบุตรหลานจึงได้นำท่านนอนบนเตียงและให้การรักษาพยาบาลตลอดมาจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ด้วยวัย 88 ปี[2] ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://sobphrae1.files.wordpress.com/2014/10/e0b899e0b8b2e0b88fe0b8a8e0b8b4e0b8a5e0b89be0b98c-e0b89b-6.pdf&ved=2ahUKEwjN76juq_rfAhUKRY8KHXnZDMcQFjABegQIABAB&usg=AOvVaw2oHwcgliQHk0VULiGdM2v7
- ↑ http://oknation.nationtv.tv/blog/kusumatittee/2013/02/26/entry-1
- ↑ http://webcatplus.nii.ac.jp/webcatplus/details/book/12373616.html