มรดกโบราณคดีแห่งหุบเขาเล็งกง
มรดกทางโบราณคดีแห่งหุบเขาเล็งกง * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
ถนนที่มุ่งไปสู่หุบเขาเล็งกง | |
พิกัด | 5°4′4.47″N 100°58′20.38″E / 5.0679083°N 100.9723278°E |
ประเทศ | มาเลเซีย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (iii), (iv) |
อ้างอิง | 1396 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2555 (คณะกรรมการสมัยที่ 36) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
มรดกทางโบราณคดีแห่งหุบเขาเล็งกง (มลายู: Warisan Arkeologi Lembah Lenggong) คือแหล่งค้นพบมนุษย์โบราณอายุราว 31,000 ปี รวมถึงหลักฐานการดำรงชีวิตของผู้คนตั้งแต่ช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในรัฐเประทางตอนเหนือของมาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดี 2 กลุ่มที่ครอบคลุมลำดับวัฒนธรรมที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่อยู่ในสถานที่เดียว การขุดค้นในถ้ำและพื้นที่เปิดโล่งได้ปรากฏซากแหล่งผลิตเครื่องมือหิน โดยมีขวานหินอายุ 1.83 ล้านปี เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบนอกทวีปแอฟริกา แหล่งอื่น ๆ มีอายุถึงยุคหินเก่าและยุคหินใหม่ มนุษย์เประ (Perak Man) ซึ่งเป็นโครงกระดูก พร้อมด้วยเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ อาวุธ และเครื่องมือหินที่ได้รับการค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งและมีอายุประมาณ 10,000 ปี เป็นหนึ่งในโครงกระดูกมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดในช่วงเวลานี้ที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[1]
มรดกทางโบราณคดีแห่งหุบเขาเล็งกงซึ่งขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก รวมแหล่งโบราณคดีทั้ง 4 แห่ง มีดังต่อไปนี้
- บูกิตบูนุฮ์ (Bukit Bunuh) และ โกตาตัมปัน (Kota Tampan) เป็นแหล่งโบราณคดีที่ให้ข้อมูลทางโบราณคดีและทางธรณีวิทยาที่สำคัญเป็นอย่างมาก
- บูกิตจาวา (Bukit Jawa) เป็นแหล่งขุดค้นโบราณคดีแบบเปิดโล่ง
- บูกิตเกอปาลากาจะฮ์ (Bukit Kepala Gajah) เป็นแหล่งโบราณคดีอยู่ในเพิงผาหินในเทือกเขาหินปูน เผยให้เห็นหลักฐานของการอยู่อาศัยของมนุษย์ประมาณ 11,000–6,000 ปีที่ผ่านมา หลักฐานส่วนใหญ่ประกอบด้วยเครื่องมือหินดังกล่าวเป็นเครื่องมือและซากสัตว์
- บูกิตกัวฮารีเมา (Bukit Gua Harimau) เป็นแหล่งโบราณคดี สุสานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาหินปูน มีการขุดพบซากศพโบราณในถ้ำ 11–12 ซาก สันนิษฐานว่ามีการใช้ถ้ำแห่งนี้เป็นสุสานช่วงระหว่างปลายยุคหินใหม่กับยุคโลหะตอนต้น
แหล่งโบราณคดีที่พบในพื้นที่ซึ่งมีขอบเขตสัมพันธ์กัน 4 แห่งนี้ ทำให้สามารถคาดคะเนการก่อตัวขึ้นของประชากรขนาดใหญ่ กึ่งเร่ร่อนกึ่งตั้งหลักปักฐาน กับวัฒนธรรมในยุคหินเก่า ยุคหินใหม่ และยุคโลหะที่ยังเหลือให้เห็นอยู่[2]
แหล่งมรดกโลก
[แก้]มรดกทางโบราณคดีแห่งหุบเขาเล็งกงได้รับลงทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 32 เมื่อ พ.ศ. 2555 ที่นครเกแบ็ก ประเทศแคนาดา ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 ข้อ[3] ดังนี้
- (iii) เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
- (iv) เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ “มาเลเซีย” ดินแดนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม museumsiam.org
- ↑ มรดกโลกในมาเลเซีย aseannotes.blogspot.com/
- ↑ Archaeological Heritage of the Lenggong Valley unesco.org