ข้ามไปเนื้อหา

ภาวะไม่รู้ใบหน้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาวะไม่รู้ใบหน้า
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
MeSHD020238
ภาพเคลื่อนไหวของเขตรับรู้หน้าในรอยนูนรูปกระสวย ซึ่งเป็นเขตในสมองที่เสียหายให้ในภาวะบอดใบหน้า

ภาวะไม่รู้ใบหน้า หรือ ภาวะเสียการระลึกรู้ใบหน้า (อังกฤษ: prosopagnosia, ภาษากรีก prosopon = หน้า, agnosia = ไม่รู้) หรือ ภาวะบอดใบหน้า (อังกฤษ: face blindness) เป็นความผิดปกติของการรับรู้ใบหน้า โดยที่สมรรถภาพในการรู้จำใบหน้าเกิดความเสียหาย ในขณะที่การประมวลผลอื่นๆ ทางสายตาเช่นการแยกแยะวัตถุ และประสิทธิภาพในด้านความคิดอื่นๆเช่นการตัดสินใจ จะไม่มีปัญหาอะไร ศัพท์นี้ดั้งเดิมหมายถึงอาการที่เกิดขึ้นเนื่องกับความเสียหายในสมองอย่างรุนแรง แต่แบบที่เป็นตั้งแต่กำเนิด (คือเป็นความผิดปกติในช่วงพัฒนาการ) ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน และอาจจะเกิดขึ้นกับประชากรถึง 2.5 %[1]

เขตในสมองที่เกี่ยวข้องกับภาวะบอดใบหน้าก็คือรอยนูนรูปกระสวย (fusiform gyrus)[2] ซึ่งมีกิจเฉพาะคือการตอบสนองต่อใบหน้า เพราะความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างเช่นนี้ คนโดยมากจึงสามารถรู้จำใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าสามารถรู้จำวัตถุที่มีความซับซ้อนในระดับใกล้เคียงกัน แต่สำหรับผู้มีภาวะบอดใบหน้า สมรรถภาพในการรู้จำใบหน้าต้องอาศัยระบบประสาทที่รู้จำวัตถุ ที่มีความว่องไวต่อการรู้จำใบหน้าที่น้อยกว่า

แม้ว่าจะได้มีการพยายามเพื่อหาวิธีรักษา แต่ก็ไม่มีการรักษาใดๆ ที่ช่วยผู้มีภาวะบอดใบหน้าให้มีอาการดีขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันทุกๆ คน ผู้มีภาวะนี้มักจะต้องใช้วิธีการรู้จำใบหน้าโดยการสังเกตเป็นส่วนๆ คือสังเกตลักษณะของส่วนประกอบใบหน้าไปทีละอย่าง และอาจจะต้องใช้ตัวช่วยอย่างอื่นเช่น เสื้อผ้า ท่าเดิน สีผม รูปร่าง และเสียง และเพราะว่าใบหน้าดูเหมือนจะมีความสำคัญในระบบความจำ ผู้มีภาวะนี้อาจจะมีปัญหาในการจำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบุคคล และในการเข้าสังคม

ภาวะบอดใบหน้าบางครั้งเกิดขึ้นพร้อมกับความผิดปกติอย่างอื่น ที่เกี่ยวข้องกับเขตสมองที่อยู่ใกล้ๆ กับเขตรับรู้ใบหน้า ตัวอย่างเช่น[3]

ภาวะบอดใบหน้ามี 2 ประเภท ได้แก่ แบบที่เกิดภายหลัง และแบบที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด (คือมีความผิดปกติในช่วงพัฒนา) แบบที่เกิดภายหลัง เป็นผลของความเสียหายที่รอยต่อของสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอย (occipito-temporal junction) (ดูสมุฏฐานและเขตสมองที่เกี่ยวข้อง) ที่มักจะพบในผู้ใหญ่ แบบนี้ยังแบ่งออกเป็นแบบวิสัญชาน (apperceptive) และแบบสัมพันธ์ (associative) ส่วนผู้มีภาวะแบบที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด จะมีการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ของการรู้จำใบหน้า[4]

คำอธิบายคร่าวๆ

[แก้]

อาการที่ไม่สามารถรู้จำใบหน้าได้ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 พร้อมกับกรณีศึกษา โดยฮักลิงส์ แจ็คสัน และชอน มาร์ติน ชาร์ค็อต แต่ว่า อาการเหล่านั้นไม่มีชื่อจนกระทั่งโจคิม บอดดะเมอร์ ผู้เป็นนักประสาทวิทยาชาวเยอรมัน ได้เริ่มใช้คำว่า "ภาวะไม่รู้ใบหน้า (prosopagnosia)" เป็นครั้งแรก

บอดดะเมอร์ได้พรรณนาถึงกรณีศึกษา 3 กรณี รวมทั้งชายวัย 24 ปีผู้ได้รับความบาดเจ็บจากลูกกระสุนที่ศีรษะ และสูญเสียความสามารถในการรู้จำเพื่อน ครอบครัว และแม้กระทั่งใบหน้าของตนเอง แต่ว่า เขายังสามารถรู้จำและระบุบุคคลผ่านความรู้สึกอื่นเช่นเสียง สัมผัส และแบบอื่นๆ ของตัวกระตุ้นทางตา เช่นท่าเดินและอาการทางกายอย่างอื่นได้ บอดดะเมอร์ได้ให้ชื่อผลงานของเขาว่า "ภาวะไม่รู้ใบหน้า" (เยอรมัน: Die Prosop-Agnosie) ซึ่งมีรากมาจากภาษากรีกโบราณว่า πρόσωπον (prósōpon) ซึ่งหมายความว่า "ใบหน้า" และ αγνωσία (agnōsía) ซึ่งหมายความว่า "ไม่ใช่ความรู้"

กรณีภาวะบอดใบหน้าหนึ่งก็คือเรื่องของ "ดร. พี" ในหนังสือของโอลิเวอร์ แซคส์ ที่ชื่อว่า "ชายผู้สับสนภรรยาของตนว่าเป็นหมวก" ถึงแม้ว่าอาจจะถูกต้องกว่าที่จะพิจารณากรณีนี้ว่า เป็นภาวะเสียการระลึกรู้ทางการเห็น อันเป็นอาการที่ครอบคลุมกว่า. แม้ว่า ดร. พี จะไม่สามารถรู้จำภรรยาของเขาได้จากใบหน้าของเธอ แต่เขาสามารถรู้จำเธอได้จากเสียง เขาสามารถรู้จำภาพครอบครัวและเพื่อนของเขาได้ โดยอาศัยลักษณะเฉพาะที่เจาะจงมาก เช่น คางที่เหลี่ยมและฟันที่ใหญ่ของพี่ชายของเขา. เป็นความบังเอิญว่า แม้แต่ตัวผู้เขียนคือโอลิเวอร์ แซคส์ผู้เป็นนักประสาทวิทยาเอง ก็มีภาวะบอดใบหน้า ทั้งที่เขาก็ไม่เคยรู้มาเกือบทั้งชีวิต[5] (ดูคนไข้ที่เป็นที่รู้จัก)

งานวิจัยเกี่ยวกับภาวะบอดใบหน้า เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับการรับรู้ใบหน้า เพราะภาวะบอดใบหน้าไม่ใช่เป็นโรคชนิดเดียว คือ คนไข้ต่างๆ กัน อาจจะมีความบกพร่องที่ต่างประเภทกันและต่างระดับกัน จึงมีการเสนอว่า การรับรู้ใบหน้าต้องอาศัยการประมวลผลหลายขั้นตอน และความบกพร่องในขั้นต่างๆ กัน อาจจะก่อให้เกิดความแตกต่างกันของอาการที่แสดงออกของคนไข้ภาวะบอดใบหน้า[6]

หลักฐานประเภทนี้สำคัญมากในการสนับสนุนทฤษฎีว่า อาจจะมีระบบการรับรู้ใบหน้าโดยเฉพาะในสมอง นักวิจัยโดยมากเห็นด้วยว่ากระบวนการรับรู้ใบหน้านั้นเป็นไปตามองค์ประกอบรวมๆ ไม่ใช่เป็นไปตามองค์ประกอบเฉพาะ ไม่เหมือนการรับรู้วัตถุอื่นๆ โดยมาก การรับรู้โดยองค์รวมของใบหน้าจึงไม่ต้องมีเซลล์ประสาทเป็นตัวแทนชัดแจ้ง (explicit representation) ของลักษณะเฉพาะต่างๆ เป็นต้นว่า ตา จมูก และปาก แต่การรับรู้ใบหน้าเป็นการพิจารณาใบหน้าโดยองค์รวม[7]<[8][9]

เพราะว่าใบหน้าโดยรูปแบบมีระเบียบที่แน่นอน เช่น ตาต้องอยู่เหนือจมูก และจมูกต้องอยู่เหนือปาก ดังนั้น วิธีที่ใช้องค์รวมในการรู้จำบุคคลหรือใบหน้า จากกลุ่มใบหน้าที่มีโครงสร้างคล้ายๆ กัน จึงเป็นอุบายที่มีประสิทธิภาพ การประมวลผลโดยองค์รวมอย่างนี้นี่แหละ ที่มีความเสียหายในผู้มีภาวะบอดใบหน้า[7] ซึ่งเป็นผู้สามารถที่จะรู้จำลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างขององค์ประกอบของใบหน้าได้ แต่ไม่สามารถที่จะประมวลองค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อจะรู้ใบหน้าทั้งหน้าได้ เหตุผลนี้ไม่ค่อยแจ่มชัดต่อคนจำนวนมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนเชื่อว่า ใบหน้านั้นมีความพิเศษ จึงควรถูกรับรู้โดยวิธีที่แตกต่างจากการรับรู้วัตถุอย่างอื่นทั้งหมด

ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่บอกเป็นนัยว่า แม้วัตถุอื่นๆ ทางตาก็ถูกประมวลผลโดยองค์รวมๆ เช่นกัน (เช่น การรู้จำสุนัขของผู้ชำนาญในสุนัข) แต่ว่า ปรากฏการณ์ในกรณีเหล่านั้นไม่กว้างขวางเท่าและไม่สม่ำเสมอเท่า ปรากฏการณ์ในการประมวลผลเพื่อรู้ใบหน้า งานวิจัยหนึ่งที่ทำโดยไดมอนด์และแครีย์ แสดงความเป็นไปอย่างนี้ในกรรมการผู้ตัดสินของการประกวดสุนัข คือ ผู้วิจัยแสดงภาพของสุนัขให้กรรมการและให้ชนกลุ่มควบคุมดูแล้ว พลิกลับภาพเหล่านั้นแล้วก็แสดงให้ดูอีกครั้งหนึ่ง กรรมการตัดสินกลับมีปัญหามากกว่าในการรู้จำสุนัขเมื่อภาพนั้นถูกพลิกลับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ปัญหาที่เกิดขึ้นในการรู้จำรูปที่พลิกกลับนี้ เรียกว่า ปรากฏการณ์พลิกกลับ ก่อนงานวิจัยนี้ เชื่อกันว่าปรากฏการณ์พลิกกลับนี้มีอยู่ในการรู้จำใบหน้าเท่านั้น แต่งานวิจัยนี้กลับแสดงว่า ปรากฏการณ์นี้ก็ยังมีในการรู้จำที่ทำอย่างชำนาญในสิ่งอื่นๆ ด้ว[10]

มีการเสนออีกด้วยว่า ภาวะบอดใบหน้าอาจจะเป็นความบกพร่องโดยทั่วๆ ไปของการเข้าใจโครงสร้างโดยองค์รวม ที่เกิดจากองค์ประกอบของการเห็นแต่ละอย่างมารวมกัน นักจิตวิทยามาร์ทา ฟาราฮ์ เป็นคนสำคัญในแนวคิดนี้[11][12]

ประเภท

[แก้]

แบบวิสัญชาน

[แก้]

ภาวะไม่รู้ใบหน้าแบบวิสัญชาน (อังกฤษ: apperceptive prosopagnosia) เป็นคำที่ใช้พรรณนากรณีภาวะบอดใบหน้าที่เกิดขึ้นภายหลัง ที่มีผลต่อกระบวนการประมวลผลในขั้นเบื้องต้นของระบบการรับรู้ใบหน้า เขตในสมองที่สันนิษฐานกันว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในภาวะไม่รู้ใบหน้าแบบวิสัญชาน ก็คือ รอยต่อของสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอย (temporo-occipital junction) ในสมองซีกขวา[7]

คนไข้ที่มีภาวะนี้ไม่สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับใบหน้าโดยประการทั้งปวง และไม่สามารถตัดสินความเหมือนความต่าง เมื่อมองดูรูปที่มีใบหน้าต่างๆ กัน ไม่สามารถที่จะรู้จำทั้งใบหน้าที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ดี คนไข้อาจจะสามารถรู้จำบุคคลต่างๆ อาศัยเหตุอื่นๆ นอกจากใบหน้าเช่นเสื้อผ้า ทรงผม หรือเสียง[13]

แบบสัมพันธ์

[แก้]

ภาวะไม่รู้ใบหน้าแบบสัมพันธ์ (อังกฤษ: associative prosopagnosia) เป็นคำที่ใช้พรรณนากรณีภาวะบอดใบหน้าที่เกิดขึ้นภายหลัง ที่ไม่ทำลายกระบวนการประมวลผล แต่ก่อความเสียหายให้กับการเชื่อมต่อกันระหว่างกระบวนการรับรู้ใบหน้าขั้นเบื้องต้น กับข้อมูลต่างๆ ที่เรามีเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น. สมองกลีบขมับด้านหน้าในสมองซีกขวาอาจจะมีบทบาทสำคัญในภาวะนี้[7]

คนไข้ที่มีภาวะนี้อาจสามารถบอกได้ว่า รูปภาพใบหน้าต่างๆ นั้นเหมือนกันหรือต่างกัน และสามารถอนุมานวัยและเพศของใบหน้านั้น (ซึ่งบอกเป็นนัยว่า สามารถทำความเข้าใจบางอย่างในรูปใบหน้า) แต่ต่อจากนั้น อาจไม่สามารถระบุบุคคลหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้นได้ เป็นต้นว่า ชื่อ อาชีพ หรือว่าพบกันครั้งสุดท้ายเมื่อไร[7]

เหตุพัฒนาและเหตุพันธุกรรม

[แก้]

ภาวะไม่รู้ใบหน้าเหตุพัฒนา (อังกฤษ: developmental prosopagnosia, ตัวย่อ DP) เป็นความบกพร่องในการรู้จำใบหน้าที่จะมีตลอดทั้งชีวิต ปรากฏอาการตั้งแต่ในวัยเด็ก และไม่สามารถสาวเหตุไปยังความเสียหายในสมองที่เกิดขึ้นภายหลัง งานวิจัยหลายงานค้นพบความบกพร่องของสมองโดยกิจของผู้มีภาวะนี้ อาศัยการตรวจโดยใช้คลื่นไฟฟ้าสมอง และโดยใช้ fMRI มีงานวิจัยที่บอกเป็นนัยว่าพันธุกรรมเป็นเหตุของภาวะนี้

คำว่า ภาวะไม่รู้ใบหน้าเหตุพันธุกรรม (อังกฤษ: hereditary prosopagnosia ตัวย่อ HPA) จะถูกใช้ถ้าภาวะบอดใบหน้าเกิดขึ้นกับสมาชิกครอบครัวมากกว่าหนึ่ง เพื่อเน้นความเป็นไปได้ที่พันธุกรรมจะมีส่วนเป็นเหตุในภาวะนี้ ในงานวิจัยหนึ่ง เพื่อที่จะตรวจสอบความเป็นไปทางพันธุกรรม นักศึกษาจำนวน 689 คนที่ถูกเลือกโดยสุ่มให้ตอบคำถามสำรวจ งานสำรวจนั้นระบุนักศึกษาผู้มีภาวะไม่รู้ใบหน้าเหตุพัฒนา 17 คน ต่อจากนั้น สมาชิกครอบครัวของนักศึกษาเหล่านั้น ก็ถูกสัมภาษณ์เพื่อสำรวจอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันกับอาการของภาวะบอดใบหน้า และครอบครัวทั้งหมดใน 14 ครอบครัวเหล่านั้น ก็มีสมาชิกอย่างน้อยอีกคนหนึ่งที่มีอาการของภาวะบอดใบหน้า[14]

ในงานวิจัยปี ค.ศ. 2005 นำโดยเค็นเนอร์เน็คท์ สนับสนุนประเภทของภาวะบอดใบหน้าที่กล่าวถึงนี้ คือ งานวิจัยนี้แสดงหลักฐานทางวิทยาการระบาด (epidemiology) ว่า ภาวะบอดใบหน้าแต่กำเนิดเป็นโรคการรับรู้ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และมักจะสืบกันไปภายในครอบครัว การวิเคราะห์การสืบเชื้อสายในงานวิจัยก็ยังแสดงด้วยว่า รูปแบบการสืบต่อของภาวะไม่รู้ใบหน้าเหตุพันธุกรรม (HPA) เป็นไปตามรูปแบบของพันธุกรรมโดยออโตโซมเด่น (autosomal dominant inheritance) วิธีการสืบต่อทางพันธุกรรมอย่างนี้อธิบายว่า ทำไม HPA จึงเกิดขึ้นบ่อยๆ ในบางครอบครัว[15]

มีความผิดปกติช่วงพัฒนาหลายอย่าง ที่สัมพันธ์กับโอกาสที่สูงขึ้น ที่บุคคลหนึ่งจะมีปัญหาในการรับรู้ใบหน้า ซึ่งบุคคลนั้นอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว กลไกความเป็นไปของความบกพร่องในการรับรู้เหล่านี้ยังไม่ปรากฏ รายการโรคที่มีองค์ประกอบเป็นภาวะบอดใบหน้ารวมทั้งความผิดปกติในการเรียนที่ไม่เกี่ยวกับคำพูด[16] โรคอัลไซเมอร์ โรคกลุ่มออทิซึมสเปกตรัม[17] อย่างไรก็ตาม โรคเหล่านี้ซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้น อาจจะดีกว่าถ้าเราไม่ตั้งสมมุติฐานตามอำเภอใจ[18]

สมมติฐานและเขตสมองที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

ภาวะบอดใบหน้าอาจจะมีเหตุมาจากรอยโรคในส่วนต่างๆ ของสมองกลีบท้ายทอยด้านล่าง (คือเขตรู้หน้าในสมองกลีบท้ายทอย) รอยนูนรูปกระสวย (เขตรับรู้หน้าในรอยนูนรูปกระสวย) และสมองกลีบขมับด้านหน้า[7] การสร้างภาพสมองด้วยโพซิตรอนอีมิสชันโทโมกราฟีและ fMRI แสดงว่า ในผู้ที่ไม่มีภาวะไม่รู้หน้า เขตเหล่านี้จะเริ่มทำงานโดยตอบสนองต่อใบหน้าโดยเฉพาะ[3] เขตต่างๆ ในสมองกลีบท้ายทอยด้านล่าง โดยหลักมีบทบาทในการประมวลผลขั้นต้นๆ ของระบบการรู้หน้า และเขตต่างๆ ในสมองกลีบขมับด้านหน้าประสานข้อมูลเกี่ยวกับใบหน้า เสียง และชื่อของบุคคลที่คุ้นเคย[7]

ภาวะบอดใบหน้าที่เกิดขึ้นภายหลัง สามารถเกิดขึ้นได้เพราะความเสียหายทางประสาท ที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับโรคหลอดเลือดสมองหลายๆ อย่าง รวมทั้งเนื้อตายเพราะหลอดเลือดในสมองด้านหลัง (posterior cerebral artery infarct) และการตกเลือดในด้านล่างด้านใน (infero-medial) ของรอยต่อสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอย (temporo-occipital junction) เหตุเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นทั้งสองซีกสมอง หรือเพียงสมองซีกเดียวก็ได้ แต่ถ้าเกิดที่ซีกสมองเดียว ก็มักจะเกิดขึ้นในซีกขวาเกือบทุกกรณี[3] ภาวะบอดใบหน้าที่เกิดขึ้นภายหลัง สามารถเกิดขึ้นได้เพราะความเสียหายทางประสาท ที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับโรคหลอดเลือดสมองหลายๆ อย่าง รวมทั้งเนื้อตายเพราะหลอดเลือดในสมองด้านหลัง (posterior cerebral artery infarct) และการตกเลือดในด้านล่างด้านใน (infero-medial) ของรอยต่อสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอย (temporo-occipital junction) เหตุเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นทั้งสองซีกสมอง หรือเพียงสมองซีกเดียวก็ได้ แต่ถ้าเกิดที่ซีกสมองเดียว ก็มักจะเกิดขึ้นในซีกขวาเกือบทุกกรณี[3]

งานวิจัยเร็วๆ นี้ยืนยันว่า ความเสียหายต่อสมองซีกขวา ที่เขตรอยต่อของสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอยที่กล่าวถึงนั้น เพียงพอที่จะก่อให้เกิดภาวะบอดใบหน้า คือ การสร้างภาพด้วย MRI ในคนไข้ภาวะบอดใบหน้า แสดงรอยโรคที่จำกัดอยู่ในสมองข้างขวา ในขณะที่การสร้างภาพด้วย fMRI แสดงว่าสมองซีกซ้ายทำงานเป็นปกติ[3]

รอยโรคที่รอยต่อของสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอย (temporo-occipital junction) ซีกซ้ายข้างเดียว ก่อให้เกิดภาวะไม่รู้วัตถุ แต่ไม่มีผลต่อกระบวนการรู้จำใบหน้า แต่ว่า เพราะว่ามีบางกรณีที่ถูกบันทึกว่า ความเสียหายต่อสมองข้างซ้ายซีกเดียวก่อให้เกิดภาวะบอดใบหน้า จึงมีการเสนอว่า ความบกพร่องของการรู้จำใบหน้า ที่เกิดจากความเสียหายในสมองซีกซ้ายข้างเดียว เป็นเพราะมีความผิดปกติ ที่เข้าไปห้ามกระบวนการค้นคืนความจำเกี่ยวกับข้อมูลของบุคคล ที่ปรากฏอยู่ในสายตานั้น[7]

สมุฏฐานอย่างอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยของภาวะบอดใบหน้ารวมทั้ง คาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ การตัดสมองกลีบขมับทั้งกลีบ สมองอักเสบ เนื้องอก สมองกลีบขมับขวาฝ่อ ความบาดเจ็บ (trauma) โรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์[3]

การรู้จำใบหน้าโดยไม่รู้ตัว

[แก้]

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะบอดใบหน้าอย่างหนึ่งก็คือ ภาวะนี้บอกเป็นนัยว่า มีระบบรู้จำใบหน้าทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว การทดลองแสดงว่า เมื่อให้ดูใบหน้าที่คุ้นเคยรวมกับใบหน้าที่ไม่คุ้นเคย ผู้มีภาวะบอดใบหน้าอาจจะไม่สามารถระบุบุคคลในภาพเหล่านั้น หรือแม้เพียงแค่บอกความคุ้นเคยของบุคคลนั้น (ว่า คนนี้คุ้นๆ หรือว่า คนนี้ไม่คุ้น) แต่ว่า เมื่อมีการวัดการตอบสนองโดยความรู้สึก (โดยปกติด้วยการวัดการนำไฟของผิวหนัง[19]) ก็มักจะมีการตอบสนองทางความรู้สึกต่อบุคคลที่คุ้นเคย ถึงแม้ว่า จะไม่มีการรู้จำบุคคลนั้น[20]

ผลงานวิจัยนี้บอกเป็นนัยว่า ความรู้สึกมีบทบาทสำคัญในการรู้จำใบหน้า และเรื่องนี้อาจจะไม่น่าประหลาดใจ เพราะว่า การมีชีวิตรอดขั้นพื้นฐาน (โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย) อาศัยความสามารถในการระบุแยกแยะบุคคลที่อยู่รอบๆ ตัว (ว่ามิตรหรือศัตรู)

มีทฤษฎีว่าอาการหลงผิดคะกราส์ อาจจะเป็นภาวะตรงข้ามกันกับภาวะบอดใบหน้า ในอาการหลงผิดนี้ คนไข้แจ้งว่า สามารถรู้จำบุคคลจากใบหน้าได้ แต่ว่า คนไข้ไม่มีการตอบสนองโดยความรู้สึก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเชื่อโดยหลงผิดว่า ญาติหรือคู่สมรสของคนไข้ ถูกแทนตัวโดยตัวปลอม

ในเด็ก

[แก้]

ภาวะไม่รู้ใบหน้าเหตุพัฒนานั้น ยากที่เด็กจะเข้าใจและรับมือจัดการได้ ผู้ใหญ่ที่มีภาวะไม่รู้ใบหน้าเหตุพัฒนาจำนวนมากแจ้งว่า ไม่เคยรู้ว่าตนมีความบกพร่องในการรับรู้ใบหน้าเป็นระยะเวลานาน และไม่รู้ว่า คนอื่นๆ สามารถแยกแยะบุคคลต่างๆ ได้ โดยอาศัยเพียงความแตกต่างของใบหน้าอย่างเดียวเท่านั้น[21]

ภาวะบอดใบหน้าในเด็กอาจจะถูกมองข้ามไป คือ เด็กนั้นอาจจะปรากฏว่าขี้อาย หรืออาจจะปรากฏว่าแปลก เพราะไม่สามารถรู้จำใบหน้าได้ เด็กอาจจะประสบปัญหาในการคบเพื่อน เพราะว่าไม่สามารถรู้จำเพื่อนร่วมชั้นได้ และมักจะคบกับเด็กๆ ผู้ที่มีลักษณะรูปร่างที่เด่นชัดมาก (คือมีลักษณะรูปร่างไม่เหมือนคนอื่น)

เด็กที่มีภาวะบอดใบหน้าอาจจะมีปัญหาในการติดตามเรื่องราวในทีวีโชว์หรือในหนัง และอาจจะมีปัญหาในการรู้จำตัวละครต่างๆ เด็กเหล่านี้มักจะถูกดึงดูดโดยตัวการ์ตูน เพราะตัวการ์ตูนใส่เสื้อผ้าเหมือนๆ กันเสมอ และมีลักษณะรู้ร่างที่เด่นชัด ง่ายที่จะรู้จำได้ เด็กเหล่านี้อาจจะมีปัญหาในการแยกแยะสมาชิกในครอบครัว หรือในการรู้จำบุคคลต่างๆ ภายนอกสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย (เช่น ไม่สามารถรู้จำคุณครูในร้านสรรพสินค้าได้ )[22]

ยิ่งไปกว่านั้น เด็กที่มีภาวะบอดใบหน้าอาจจะมีปัญหาในระบบโรงเรียนของรัฐ เพราะว่า ผู้ทำงานในโรงเรียนไม่มีความชำนาญในโรคนี้ และบางครั้งอาจจะไม่รู้จักโรคนี้เลยด้วยซ้ำ[23]

การประเมินโรคทางประสาทจิตวิทยา

[แก้]

มีวิธีการประเมินโรคทางประสาทจิตวิทยา ที่สามารถวินิจฉัยภาวะบอดใบหน้าอย่างชัดเจน

การตรวจสอบโดยใช้ใบหน้าของคนมีชื่อเสียง

[แก้]

การตรวจสอบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ การตรวจสอบโดยใช้ใบหน้าของคนมีชื่อเสียง แต่ว่า การตรวจสอบนี้ยากที่จะทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน

การตรวจสอบการรู้จำใบหน้าแบบเบ็นตัน

[แก้]

การตรวจสอบการรู้จำใบหน้าแบบเบ็นตัน (อังกฤษ: Benton Facial Recognition Test ตัวย่อ BFRT) เป็นวิธีอีกอย่างหนึ่งที่นักประสาทจิตวิทยาใช้เพื่อประเมินทักษะในการรู้จำใบหน้า ใบหน้าเป้าหมายหนึ่งถูกแสดงให้กับผู้สอบ เหนือใบหน้าตรวจสอบอีก 6 ใบหน้า แล้วให้ผู้สอบระบุว่า ใบหน้าตรวจสอบไหนเหมือนกับใบหน้าเป้าหมาย รูปภาพเหล่านั้นถูกตัดออกเพื่อไม่ให้เห็นผมหรือเสื้อผ้า เพราะว่า ผู้มีภาวะบอดใบหน้าเป็นจำนวนมากใช้ผมและเสื้อผ้าเป็นตัวช่วยเพื่อจะรู้จำบุคคล ใบหน้าของทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชายถูกแสดงในระหว่างการตรวจสอบ

ในรูปตรวจสอบ 6 รูปแรก มีรูปตรวจสอบรูปเดียวเท่านั้นที่เหมือนกับใบหน้าเป้าหมาย แต่ในรูปตรวจสอบ 7 รูปต่อไป รูปตรวจสอบ 3 รูปเหมือนกับใบหน้าเป้าหมายและบุคคลในแต่ละรูปอยู่ในอากัปกิริยาที่ต่างกัน แต่ว่า ความเชื่อถือได้ของการตรวจสอบชนิดนี้ ถูกท้าทายโดยงานวิจัยของดูเชนและนากายามาที่แสดงว่า คะแนนเฉลี่ยของผู้ที่แจ้งว่าตนมีภาวะบอดใบหน้า 11 คน ปรากฏว่าอยู่ในระดับปกติ[24]

อย่างไรก็ดี การทดสอบนี้อาจจะมีประโยชน์ ในการระบุชี้คนไข้ที่มีภาวะไม่รู้หน้าแบบวิสัญชาน เพราะว่านี่เป็นการทดสอบโดยจับคู่รูปที่เหมือน. คนไข้แบบวิสัญชานจะไม่สามารถรู้จำทั้งใบหน้าที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคย และจะไม่สามารถผ่านการสอบได้ แต่ข้อทดสอบนี้ไม่มีประโยชน์ในการวินิจฉัยคนไข้ที่มีภาวะไม่รู้หน้าแบบสัมพันธ์

การตรวจสอบการจำใบหน้าแบบเคมบริดจ์

[แก้]

การทดสอบการจำใบหน้าแบบเคมบริดจ์ (อังกฤษ: Cambridge Face Memory Test ตัวย่อ CFMT) เป็นการตรวจสอบแบบใหม่ที่พัฒนาโดยดูเชนและนากายามา เพื่อการวินิจฉัยผู้มีภาวะบอดใบหน้าที่ดีกว่า ระบบการทดสอบตอนแรกแสดงแก่ผู้สอบรูป 3 รูปของแต่ละใบหน้าเป้าหมาย 6 ใบหน้า ต่อจากนั้น แสดงรูป 3 รูปเป็นชุดๆ แต่ละชุดมีใบหน้าเป้าหมาย 1 รูป และมีรูปที่ไม่ใช่เป้าหมายอีก 2 รูป

ดูเชนและนากายามาแสดงว่า CFMT แม่นยำกว่า และมีประสิทธิภาพกว่าการทดสอบอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วในการวินิจฉัยคนไข้ภาวะบอดใบหน้า งานวิจัยของนักวิจัยทั้งสองแสดงว่า คนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะบอดใบหน้าที่ 75% โดย CFMT แต่ได้รับการวินิจฉัยเพียงแค่ 25% โดย BFRT แต่ว่า โดยที่เหมือนกับ BFRT คนไข้ต้องจับคู่ใบหน้าที่ไม่คุ้นเคย เพราะว่า ใบหน้าเหล่านั้นถูกแสดงในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้นในตอนต้นของการทดสอบ ในปัจจุบัน การทดสอบนี้ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย และจะต้องมีการทดลองเพิ่มขึ้นอีกก่อนที่จะได้รับพิจารณาว่า เชื่อถือได้[24]

คนไข้ที่เป็นที่รู้จัก

[แก้]

ดู

[แก้]

หมายเหตุและอ้างอิง

[แก้]
  1. Grüter T, Grüter M, Carbon CC (2008). "Neural and genetic foundations of face recognition and prosopagnosia". J Neuropsychol. 2 (1): 79–97. doi:10.1348/174866407X231001. PMID 19334306.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. CNN, Shahreen Abedin (2007-02-06). "Face blindness not just skin deep". CNN.com. สืบค้นเมื่อ 2023-10-04.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Mayer, Eugene; Rossion, Bruno (2007-01-18). "Prosopagnosia". The Behavioral and Cognitive Neurology of Stroke (PDF). Cambridge University Press. p. 315–334. doi:10.1017/cbo9780511544880.017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-07-01.
  4. Behrmann, Marlene; Avidan, Galia (2005). "Congenital prosopagnosia: face-blind from birth". Trends in Cognitive Sciences. Elsevier BV. 9 (4): 180–187. doi:10.1016/j.tics.2005.02.011. ISSN 1364-6613.
  5. Katz, Neil (2010-08-26). "Prosopagnosia: Oliver Sacks' Battle with "Face Blindness"". CBSnews.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-31. สืบค้นเมื่อ 2010-02-03.
  6. Young, Andrew W.; Newcombe, F.; de Hann, E.H.F.; Small, M.; Hay, D.C. (1998-06-11). "Dissociable deficits after brain injury". Face and Mind. Oxford University Press. p. 181–208. doi:10.1093/acprof:oso/9780198524205.003.0006.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 Gainotti G, Marra C (2011). "Differential contribution of right and left temporo-occipital and anterior temporal lesions to face recognition disorders". Front Hum Neurosci. 5: 55. doi:10.3389/fnhum.2011.00055. PMC 3108284. PMID 21687793.
  8. Richler, Jennifer J.; Cheung, Olivia S.; Gauthier, Isabel (2011-03-10). "Holistic Processing Predicts Face Recognition". Psychological Science. SAGE Publications. 22 (4): 464–471. doi:10.1177/0956797611401753. ISSN 0956-7976.
  9. Richler, Jennifer J.; Wong, Yetta K.; Gauthier, Isabel (2011). "Perceptual Expertise as a Shift From Strategic Interference to Automatic Holistic Processing". Current Directions in Psychological Science. SAGE Publications. 20 (2): 129–134. doi:10.1177/0963721411402472. ISSN 0963-7214.
  10. Diamond, Rhea; Carey, Susan (1986). "Why faces are and are not special: An effect of expertise". Journal of Experimental Psychology: General. American Psychological Association (APA). 115 (2): 107–117. doi:10.1037/0096-3445.115.2.107. ISSN 1939-2222.
  11. Farah, Martha J.; Wilson, Kevin D.; Drain, Maxwell; Tanaka, James N. (1998). "What is "special" about face perception?". Psychological Review. American Psychological Association (APA). 105 (3): 482–498. doi:10.1037/0033-295x.105.3.482. ISSN 1939-1471.
  12. Farah, Martha J. (2004-04-09). Visual Agnosia, second edition. Cambridge (Mass.): MIT Press. ISBN 0-262-56203-0.
  13. Barton, Jason J S; Cherkasova, Mariya V; Press, Daniel Z; Intriligator, James M; O'Connor, Margaret (2004). "Perceptual Functions in Prosopagnosia". Perception. SAGE Publications. 33 (8): 939–956. doi:10.1068/p5243. ISSN 0301-0066.
  14. Grueter M, Grueter T, Bell V, Horst J, Laskowski W, Sperling K, Halligan PW, Ellis HD, Kennerknecht I (August 2007). "Hereditary prosopagnosia: the first case series" (PDF). Cortex. 43 (6): 734–49. doi:10.1016/s0010-9452(08)70502-1. PMID 17710825.
  15. Kennerknecht, Ingo; Grueter, Thomas; Welling, Brigitte; Wentzek, Sebastian; Horst, Jürgen; Edwards, Steve; Grueter, Martina (2006). "First report of prevalence of non-syndromic hereditary prosopagnosia (HPA)" (PDF). American Journal of Medical Genetics Part A. Wiley. 140A (15): 1617–1622. doi:10.1002/ajmg.a.31343. ISSN 1552-4825.
  16. ความผิดปกติในการเรียนที่ไม่เกี่ยวกับคำพูด (nonverbal learning disorder) เป็นโรคที่มีอาการคือความไม่ลงรอยกันระหว่างทักษะระดับสูงในการพูด และทักษะในระดับที่ต่ำกว่าในเรื่องการเคลื่อนไหว ความฉลาดในปริภูมิ และการเข้ากันได้กับผู้อื่น ในการสอบระดับเชาน์ปัญญา
  17. โรคกลุ่มออทิซึมสเปกตรัม (autism spectrum) เป็นคำเรียกโรคต่างๆ ที่เป็นความผิดปกติทางการพัฒนาที่แผ่ไปทั่ว (pervasive developmental disorder) ถูกนิยามไว้ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM) ว่ารวมกลุ่มอาการต่างๆ คือ ออทิซึม กลุ่มอาการแอสเปอร์เจอร์ ความผิดปกติทางการพัฒนาที่แผ่ไปทั่วอื่นๆ กลุ่มอาการเฮ็ลเลอร์ และกลุ่มอาการเร็ตต์
  18. Russell, Richard; Chatterjee, Garga; Nakayama, Ken (2012). "Developmental prosopagnosia and super-recognition: No special role for surface reflectance processing". Neuropsychologia. Elsevier BV. 50 (2): 334–340. doi:10.1016/j.neuropsychologia.2011.12.004. ISSN 0028-3932.
  19. การนำไฟของผิวหนัง (skin conductance) เป็นวิธีการวัดการนำไฟของผิวหนัง ซึ่งเปลี่ยนไปตามความชื้นของผิว วิธีนี้ได้รับความสนใจเพราะว่าต่อมเหงื่อนั้นถูกควบคุมด้วยระบบประสาทซิมพาเทติก ที่ตอบสนองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องสมัครใจ ดังนั้น การนำไฟของผิวหนังจึงถูกใช้เป็นตัวแสดงความตื่นตัวทางจิตใจหรือทางกายภาพ
  20. Bauer RM (1984). "Autonomic recognition of names and faces in prosopagnosia: a neuropsychological application of the Guilty Knowledge Test". Neuropsychologia. 22 (4): 457–69. doi:10.1016/0028-3932(84)90040-X. PMID 6483172.
  21. Nancy L. Mindick (2010). Understanding Facial Recognition Difficulties in Children: Prosopagnosia Management Strategies for Parents and Professionals (JKP Essentials). Jessica Kingsley Pub. ISBN 1-84905-802-4. OCLC 610833680.
  22. Schmalzl, Laura; Palermo, Romina; Green, Melissa; Brunsdon, Ruth; Coltheart, Max (2008). "Training of familiar face recognition and visual scan paths for faces in a child with congenital prosopagnosia". Cognitive Neuropsychology. Informa UK Limited. 25 (5): 704–729. doi:10.1080/02643290802299350. ISSN 0264-3294.
  23. Wilson, C. Ellie; Palermo, Romina; Schmalzl, Laura; Brock, Jon (2010). "Specificity of impaired facial identity recognition in children with suspected developmental prosopagnosia". Cognitive Neuropsychology. Informa UK Limited. 27 (1): 30–45. doi:10.1080/02643294.2010.490207. ISSN 0264-3294.
  24. 24.0 24.1 Duchaine B, Nakayama K (2006). "The Cambridge Face Memory Test: results for neurologically intact individuals and an investigation of its validity using inverted face stimuli and prosopagnosic participants". Neuropsychologia. 44 (4): 576–85. doi:10.1016/j.neuropsychologia.2005.07.001. PMID 16169565.
  25. 25.0 25.1 Grüter T, Grüter M (2007). "Prosopagnosia in biographies and autobiographies". Perception. 36 (2): 299–301. doi:10.1068/p5716. PMID 17402670.
  26. Farmelo, G. The Strangest Man. Faber & Faber, London 2009.
  27. "Jane Goodall Interview - page 5 / 9 - Academy of Achievement". Achievement.org. 2009-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-03. สืบค้นเมื่อ 2010-02-20.
  28. Goodall J, Berman P (2000). Reason for Hope. London: Thorsons. pp. XIII–XIV. ISBN 0-7225-4042-6.
  29. Oliver Sacks (August 30, 2010). "Face-Blind: Why are some of us terrible at recognizing faces?". The New Yorker. p. 36.
  30. "A life so hard". 23 May 2013.

แหล่งอ้างอิงอื่นๆ

[แก้]

ลิงก์อ้างอิงอื่นๆ

[แก้]