ฟองสนาน จามรจันทร์
ฟองสนาน จามรจันทร์ | |
---|---|
เกิด | พ.ศ. 2496 (อายุ 72 ปี) จังหวัดชัยภูมิ ประเทศไทย |
อาชีพ | นักเขียน, นักข่าว, นักหนังสือพิมพ์, นักโหราศาสตร์ |
สัญชาติ | ไทย |
คู่สมรส | สรวงสรรค์ จามรจันทร์ |
บุตร | 1 คน |
ฟองสนาน จามรจันทร์ อดีตนักจัดรายการวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ สังกัดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จัดเป็นสื่อมวลชนฝีปากกล้าที่ถูกอำนาจรัฐคุกคาม ปัจจุบันเป็นนักจัดการวิทยุและสื่อมวลชนอิสระ รวมถึงเป็นนักโหราศาสตร์สมัครเล่นอีกด้วย
ประวัติ
[แก้]ฟองสนาน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 ที่อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ด้วยการเป็นลูกคนที่ 16 จากพี่น้องทั้งหมด 20 คน เนื่องจากพ่อซึ่งเป็นครูใหญ่และหัวหน้าคณะหมอลำ มีภรรยาถึง 3 คน ฟองสนานจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จากนั้นจึงเข้าจบการศึกษาต่อจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล จากนั้นจึงสอบเข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ว่าเรียนไปได้เพียงปีเดียว ก็ลาออกมาสอบเข้าใหม่ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[1] รุ่น 10 โดยเรียนเอกการประชาสัมพันธ์ และโทสิ่งพิมพ์ มีเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นสื่อมวลชนด้วยกันเช่น บุญเลิศ ช้างใหญ่, โอภาส เพ็งเจริญ แห่งมติชน และชลิต กิติญาณทรัพย์ แห่งประชาชาติธุรกิจ เป็นต้น
การงาน
[แก้]เริ่มทำงานครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ยุคม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบรรณาธิการ อยู่ได้ 4 ปี จึงย้ายมาอยู่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจอยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นจึงสมัครเป็นข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ โดยเริ่มงานแรกที่จังหวัดกระบี่ จับงานข่าวหลายประเภทมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น สังคม, เศรษฐกิจ อยู่นานถึง 12 ปี ก่อนที่จะมาปักหลักแน่นอนที่ข่าวการเมือง
ด้วยความเป็นนักข่าวเจนประสบการณ์ รวมระยะเวลาการทำงานด้านนี้ถึง 23 ปี กรมประชาสัมพันธ์จึงได้ให้ฟองสนาน จัดรายการชื่อ "บันทึกสถานการณ์" ออกอากาศทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ทางคลื่น FM.92.5 MHz ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 09.00 น. ในปี พ.ศ. 2537 คู่กับสุริยง หุณฑสาร โดยเป็นรายการสรุปข่าวประจำ เปิดโอกาสให้ผู้ฟังโทรสายเข้ามาแสดงความคิดเห็น กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตรงไปตรงมา ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานราชการแท้ ๆ ทำให้มีผู้ฟังจำนวนมาก
จนกระทั่ง ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 คือ ปี พ.ศ. 2545 ในรัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รายการบันทึกสถานการณ์ก็ถูกถอดออก โดยอ้างเหตุว่า ฝักใฝ่การเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่า ไม่เคยเข้าข้างฝ่ายใดหรือแทรกแซงด้านเนื้อหาจากผู้ใด แต่ก็ยอมรับการถูกถอดถอนโดยดี โดยบอกว่า เป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้ใหญ่สั่งอะไรมา ก็ต้องปฏิบัติตาม
เมื่อถูกถอดจากรายการแล้ว ฟองสนาน ยังคงรับราชการอยู่ต่อไป และได้จัดรายการโทรทัศน์ เช่น รายการ "ชีพจรการเมือง" ทางช่องยูบีซี 7 เวลา 21.00-22.00น. ทุกวันอาทิตย์ รายการวิทยุ "คุยเฟื่องเรื่องข่าว" ทาง FM. 99.5 MHz. เวลา 17.00-19.00 น. นอกจากนี้ยังเขียนคอลัมน์ประจำนิตยสารกุลสตรีชื่อ "เกร็ดการเมือง" ซึ่งโด่งดังและประสบความสำเร็จอย่างมา ซึ่งต่อมา สำนักพิมพ์ดอกหญ้า นำไปพิมพ์รวมเล่ม จัดจำหน่ายในชื่อ "เม้าท์สนั่นลั่นสภา" ในปี พ.ศ. 2545 ด้วย
นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นนักโหราศาสตร์ ที่ศึกษาโหราศาสตร์ด้วยตนเอง มักจะออกมาทำนายดวงชะตาของบ้านเมืองอยู่เสมอ ๆ [2]
ครอบครัว
[แก้]ชีวิตครอบครัว ฟองสนาน จามรจันทร์ สมรสกับ สรวงสรรค์ จามรจันทร์ มีบุตรสาว 1 คน ชื่อ พราวฟอง จามรจันทร์ ชื่อเล่น ใบตอง[1] ปัจจุบันเกษียณจากราชการก่อนกำหนด โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท. หรือ เอ็นบีที) ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู[3]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2545 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[4]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[5]
- พ.ศ. 2550 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "พลิกชีวิต 'นักข่าว' ฝีปากกล้า!! 'ฟองสนาน จามรจันทร์". เดลินิวส์. 4 January 2014. สืบค้นเมื่อ 5 January 2015.
- ↑ “เจ๊ฟอง” ฟันธง หลัง พ.ค. “ชะตาปู” เข้าสู่ภพมรณะ !!! จากแนวหน้า
- ↑ ไม่แน่จริง ไม่ข้ามน้ำชีมาหรอก หนังสืออัตชีวประวัติ ISBN 9743928748
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๔๙, ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๕๑, ๒๙ มกราคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๓ ข หน้า ๓, ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๑
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2496
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากจังหวัดชัยภูมิ
- นักหนังสือพิมพ์ชาวไทย
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- พิธีกรชาวไทย
- ผู้ประกาศข่าวช่อง 11-เอ็นบีที-สทท.
- นักจัดรายการวิทยุ
- นักโหราศาสตร์
- บุคคลจากโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล
- บุคคลจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา