ฟรีดริช รัทเซิล
ฟรีดริช รัทเซิล | |
---|---|
เกิด | 30 สิงหาคม ค.ศ. 1844 คาลส์รูเออ บาเดิน |
เสียชีวิต | 9 สิงหาคม ค.ศ. 1904 (59 ปี) อัมเมอร์ลันท์ นีเดอร์ซัคเซิน |
สัญชาติ | เยอรมัน |
การศึกษา | มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค มหาวิทยาลัยเยนา มหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | ภูมิศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณนา |
สถาบันที่ทำงาน | มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช |
มีอิทธิพลต่อ | เอลเลน เชอร์ชิลล์ เซมเพิล |
ได้รับอิทธิพลจาก | ชาลส์ ดาร์วิน แอ็นสท์ เฮ็คเคิล |
ฟรีดริช รัทเซิล (เยอรมัน: Friedrich Ratzel; 30 สิงหาคม ค.ศ. 1844 – 9 สิงหาคม ค.ศ. 1904) เป็นนักภูมิศาสตร์และนักชาติพันธุ์วรรณนาชาวเยอรมัน มีผลงานที่โดดเด่นในเรื่องของแนวคิดเลเบินส์เราม์ (Lebensraum) หรือ "พื้นที่อยู่อาศัย"[1] ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบอบนาซีในเวลาต่อมา
ช่วงชีวิต
[แก้]บิดาของรัทเซิลเป็นผู้ดูแลและจัดการพิพิธภัณฑ์ของแกรนด์ดยุคแห่งบาเดิน เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายในเมืองคาลส์รูเออเป็นเวลาหกปีก่อนจะเข้าฝึกงานเป็นผู้ผสมยาเมื่ออายุ 15 ปี ใน ค.ศ. 1863 เขาเดินทางไปยังเมืองรัพเพิร์สวีลริมทะเลสาบซือริช สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อศึกษาวิชาคลาสสิก และเป็นผู้ผสมยาที่เมืองเมอส์ในเขตรัวร์ระหว่าง ค.ศ. 1868–1866 ก่อนจะเข้าศึกษาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนมัธยมปลายในเมืองคาลส์รูเออและสมัครเป็นนักศึกษาสาขาสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค มหาวิทยาลัยเยนา และมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์ ตามลำดับ จนจบการศึกษาใน ค.ศ. 1868 เขาได้ศึกษาสัตววิทยาใน ค.ศ. 1869 และตีพิมพ์ผลงานเรื่อง ธรรมชาติและพัฒนาการของโลกอินทรีย์ (Sein und Werden der organischen Welt) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของดาร์วิน
หลังจากจบการศึกษา รัทเซิลเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการเป็นนักสัตววิทยาเป็นนักภูมิศาสตร์ เขาเริ่มออกเดินทางไปรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เคยเข้าร่วมสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียใน ค.ศ. 1870 และได้รับบาดเจ็บสองครั้งในระหว่างสงคราม บันทึกจากประสบการณ์ที่พบเห็นในระหว่างการเดินทางในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนำไปสู่การทำงานเป็นนักข่าวภาคสนามให้กับ วารสารโคโลญ (Kölnische Zeitung) ส่งผลให้รัทเซิลได้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นและยาวนานขึ้น การเดินทางที่มีความสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนต่ออาชีพการงานของรัทเซิล คือ เมื่อเขาได้เดินทางไปยังอเมริกาเหนือ คิวบา และเม็กซิโกในช่วง ค.ศ. 1874–1875 เขาได้ศึกษาถึงอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์เยอรมันในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันตกกลาง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในอเมริกาเหนือ และได้ผลิตงานเขียนใน ค.ศ. 1876 เรื่อง ประวัติย่อของเมืองและวัฒนธรรมในอเมริกาเหนือ (Städte-und Kulturbilder aus Nordamerika) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสาขาภูมิศาสตร์วัฒนธรรม รัทเซิลยังได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น นิวยอร์ก บอสตัน ฟิลาเดลเฟีย วอชิงตัน ริชมอนด์ ชาร์ลสตัน นิวออร์ลีนส์ ซานฟรานซิสโก
หลังกลับจากอเมริกาใน ค.ศ. 1875 รัทเซิลได้เป็นผู้บรรยายวิชาภูมิศาสตร์ที่โรงเรียนเทคนิคในมิวนิก ใน ค.ศ. 1876 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ใน ค.ศ. 1880 ระหว่างที่อยู่ในมิวนิก รัทเซิลผลิตหนังสือหลายเล่มและเป็นที่ยอมรับในอาชีพในฐานะนักวิชาการ ใน ค.ศ. 1886 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ทางภูมิศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยไลพ์ซิช การบรรยายของเขาได้รับความสนใจและมีอิทธิพลต่อเอลเลน เชอร์ชิลล์ เซมเพิล นักภูมิศาสตร์ชาวอเมริกัน
รัทเซิลเป็นผู้วางรากฐานวิชาภูมิศาสตร์มนุษย์โดยเขียนหนังสือ มานุษยภูมิศาสตร์ (Anthropogeographie) สองเล่มใน ค.ศ. 1882 และ ค.ศ. 1891 ซึ่งได้รับการตีความผิดจากนักศึกษาของเขาจำนวนมาก และมีผลต่อแนวคิดนิยัตินิยมทางสิ่งแวดล้อม เขาตีพิมพ์หนังสือ ภูมิศาสตร์การเมือง (Politische Geographie) ใน ค.ศ. 1897 ซึ่งแสดงแนวคิดของรัทเซิลเกี่ยวกับแนวคิดเลเบินส์เราม์ และกลุ่มดาร์วินนิยมเชิงสังคม หนังสือเล่มที่สามของเขา ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ[2] (The History of Mankind) ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1896 และได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 1,100 เล่มของหนังสือที่ใช้พิมพ์หินด้วยโครโมลิโทกราฟีที่สมบูรณ์และโดดเด่น
รัทเซิลเป็นนักวิชาการที่มีความสนใจในสาขาทางวิชาการที่หลากหลาย เขายังคงทำงานอยู่ที่ไลพ์ซิชจนเสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1904 ที่เมืองอัมเมอร์ลันท์ ประเทศเยอรมนี
งานเขียน
[แก้]รัทเซิลได้รับอิทธิพลจากนักคิดต่าง ๆ เช่น ดาร์วิน และนักสัตววิทยา แอ็นสท์ ไฮน์ริช เฮ็คเคิล สะท้อนอยู่ในงานเขียนหลายฉบับ ในงานเขียนต่าง ๆ บทความเรื่อง เลเบินส์เราม์ ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1901 มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวภูมิศาสตร์เกี่ยวกับความแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ในเยอรมนี ซึ่งเป็นรากฐานของภูมิรัฐศาสตร์หรือ เกโอโพลีทีค (Geopolitik) ในภาษาเยอรมัน
งานเขียนของรัทเซิลอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงของการเติบโตของอุตสาหกรรมในเยอรมนีภายหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียและพยายามสร้างตลาดเพื่อนำเยอรมนีเข้าสู่การแข่งขันกับอังกฤษ งานเขียนของเขาถูกใช้ในการอ้างเหตุผลสำหรับการขยายตัวของจักรวรรดินิยม โดยได้รับอิทธิพลจากแอลเฟรด เทเยอร์ มาแฮน นักภูมิยุทธศาสตร์ชาวอเมริกัน รัทเซิลเขียนถึงปณิธานของเยอรมนีในการพัฒนากองทัพเรือและเห็นพ้องกับมาแฮนว่าอำนาจทางทะเลเป็นอำนาจที่สร้างความยั่งยืนเนื่องจากกำไรจากการค้าต้องจ่ายให้กับเหล่าพาณิชย์นาวีไม่เหมือนกับอำนาจทางบก
ผลงานสำคัญของรัทเซิลคือ เกโอโพลีทีค เป็นการขยายความคิดทางชีวภาพของภูมิศาสตร์ซึ่งไม่คำนึงถึงแนวคิดเกี่ยวกับชายแดน รัฐมีลักษณะเป็นอินทรีย์และเติบโตขึ้นโดยมีชายแดนเป็นตัวแทนเพียงตัวแปรเพื่อหยุดการขยายเพียงชั่วคราวเท่านั้น การขยายอาณาเขตของรัฐเป็นสิ่งสะท้อนถึงสุขภาวะของชาติ
แนวคิดของรัทเซิลเกี่ยวกับ พื้นที่ (Raum) ซึ่งมีการเติบโตตามแนวคิดรัฐอินทรีย์ของเขา แนวคิดเรื่องแรกของเขาเกี่ยวกับ เลเบินส์เราม์ ไม่ใช่การการเมืองหรือเศรษฐกิจแต่เป็นการขยายของจิตวิญญาณและความเป็นชาตินิยมของกลุ่มเชื้อชาติ แรงจูงใจของพื้นที่ (Raum-motiv) เป็นพลังขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์และเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนมี วัฒนธรรม (Kultur) ที่แข็งแกร่งในการขยายตัวตามธรรมชาติ พื้นที่สำหรับรัทเซิลเป็นแนวคิดที่คลุมเครือในทางทฤษฎีอย่างมาก พื้นที่ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ชาวเยอรมันอาศัยอยู่และรัฐที่อ่อนแอต้องสนับสนุนเศรษฐกิจของชาวเยอรมัน และวัฒนธรรมเยอรมันต้องกระจายสู่วัฒนธรรมอื่น ๆ อย่างไรก็ตามจะสังเกตได้ว่าแนวคิดของรัทเซิลเกี่ยวกับ พื้นที่ ไม่ได้แสดงความต้องการรุกรานอย่างเปิดเผย แต่เขาออกแบบทฤษฎีอย่างง่ายซึ่งแสดงถึงการขยายตัวตามธรรมชาติของรัฐที่แข็งแกร่งในการควบคุมอาณาเขตของรัฐที่อ่อนแอกว่า
หนังสือของรัทเซิลเป็นที่ยอมรับทั่วโลกคือ มานุษยภูมิศาสตร์ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ระหว่าง ค.ศ. 1872–1899 จุดมุ่งเน้นหลักของงานชิ้นนี้คือผลกระทบของลักษณะทางกายภาพและสถานที่ที่แตกต่างกันต่อรูปแบบและชีวิตของผู้คน
ตัวอย่างงานเขียน
[แก้]งานเขียนที่น่าสนใจอื่น ๆ ของรัทเซิล ดังนี้
- วันแห่งการตระเวนของนักศึกษาแห่งสภาพธรรมชาติ (Wandertage eines Naturforschers, 1873–1874)
- ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของยุโรป (Vorgeschichte des europäischen Menschen, 1875)
- สหรัฐแห่งอเมริกาเหนือ (Die Vereinigten Staaten von Nordamerika, 1878–1880)
- โลกในการบรรยาย 24 ครั้ง (Die Erde, in 24 Vorträgen, 1902)
- สารนิเทศของคน (Völkerkunde, 1895)
- โลกและชีวิต (Die Erde und das Leben, 1902)
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Friedrich Ratzel". Encyclop?dia Britannica. 2003-10-24. สืบค้นเมื่อ 2016-12-25.[ลิงก์เสีย]
- ↑ The History of Mankind เก็บถาวร 2009-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Professor Friedrich Ratzel, MacMillan and Co., Ltd., published 1896
ข้อมูลอื่น
[แก้]- Gilman, D. C.; Peck, H. T.; Colby, F. M., บ.ก. (1905). . New International Encyclopedia (1st ed.). New York: Dodd, Mead.
ดูเพิ่ม
[แก้]- Dorpalen, Andreas. The World of General Haushofer. Farrar & Rinehart, Inc., New York: 1984.
- Martin, Geoffrey J. and Preston E. James. All Possible Worlds. New York, John Wiley and Sons, Inc: 1993.
- Mattern, Johannes. Geopolitik: Doctrine of National Self-Sufficiency and Empire. The Johns Hopkins Press, Baltimore: 1942.
- Wanklyn, Harriet. Friedrich Ratzel, a Biographical Memoir and Bibliography. Cambridge, Cambridge University Press: 1961.