ข้ามไปเนื้อหา

ฟริทซ์ ไครส์เลอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไครส์เลอร์ใน ค.ศ. 1930

ฟรีดริช "ฟริทซ์" ไครส์เลอร์ (เยอรมัน: Friedrich "Fritz" Kreisler; 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1875 – 29 มกราคม ค.ศ. 1962) เป็นนักไวโอลิน นักแต่งเพลงและอุปรากรชาวออสเตรียเชื้อสายยิว-เยอรมัน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่สหรัฐและเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน[1] มีผลงานแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงเช่น Liebesfreud, Liebesleid, Schön Rosmarin

ไครส์เลอร์เป็นนักไวโอลินที่ได้รับการชื่นชมอย่างสูงจากทั้งผู้ฟังและนักไวโอลินด้วยกันเอง น้ำเสียงไวโอลินที่เขาเล่น อบอุ่นนุ่มนวล เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขายังเป็นคนแรกที่ใช้เทคนิคการสั่นนิ้วบนไวโอลินอย่างต่อเนื่อง (continuous vibrato) เป็นแบบอย่างให้นักไวโอลินรุ่นหลังเอาแบบอย่าง

ไครส์เลอร์เกิดที่กรุงเวียนนา บิดามีเชื้อสายยิว ในขณะที่มารดาเป็นชาวเยอรมัน เริ่มหัดเล่นไวโอลินตั้งแต่อายุ 4 ปี และศึกษาดนตรีที่ Vienna Conservatory และที่ปารีส เป็นลูกศิษย์ของคีตกวีคนสำคัญเช่น ลีโอ ดีลีบีส, ชูลส์ มัสแน, เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ เขามีชื่อเสียงจากการออกตระเวนแสดงสด โดยนำผลงานดนตรีที่เขาแต่งขึ้นเองมาแสดง โดยอ้างว่าเป็นผลงานของคีตกวีที่มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เขาเพิ่งค้นพบจากห้องสมุดหรือโบสต์ตามสถานที่ที่เขาออกตระเวนแสดง เช่น อันโตนีโอ วีวัลดี (ค.ศ. 1678–1741), แกตาโน ปุกกานี (ค.ศ. 1731–1798), ฟรองซัวร์ คูเปอริน (ค.ศ. 1668–1733) โดยให้เหตุผลว่า หากระบุในการแสดงว่าเป็นเพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง ผู้ชมก็จะไม่ให้ความสนใจ[2]

ผลงานที่มีชื่อเสียงของไครส์เลอร์ คือเพลงวอลซ์ Liebesfreud, Liebesleid และ Schön Rosmarin นั้น เขานำออกแสดงครั้งแรกในในปี ค.ศ. 1910 โดยระบุว่าเป็นงาน "3 Viennese Folk Dances" ของโจเซฟ แลนเนอร์ (ค.ศ. 1801–1843) ชาวออสเตรีย แต่ในการแสดงครั้งหนึ่งที่เบอร์ลิน เขานำสามเพลงนี้ (ที่ระบุว่าเป็นของโจเซฟ แลนเนอร์) มาแสดงเป็นชุดพร้อมกับ Caprice Viennois ที่ระบุชื่อว่าเขาเป็นผู้แต่งเอง การแสดงครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ Berliner Tageblatt ว่า ไครส์เลอร์กล้าดีอย่างไร ที่นำผลงานของตัวเองมาจัดแสดงเทียบเคียงกับผลงานของโจเซฟ แลนเนอร์ ผู้ล่วงลับ ไครส์เลอร์ตอบโต้ว่าจริง ๆ แล้วงานสี่ชิ้นนั้นเขาเป็นผู้แต่งเอง [ต้องการอ้างอิง][3]

ผลงานของไครส์เลอร์ทั้งหมดยังเป็นที่เข้าใจว่าเป็นผลงานของคีตกวีสำคัญ จนกระทั่งเขาอายุ 60 ปี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 นักวิจารณ์ดนตรีของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ ชื่อโอลิน ดาวน์ส ได้ส่งโทรเลขอวยพรวันเกิด โดยแกล้งถามว่าผลงานเพลงที่อ้างว่าเป็นผลงานเก่านั้น เขาเป็นคนแต่งเองหรือไม่ ไครส์เลอร์ตอบกลับว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นผู้แต่งผลงานทั้งหมดด้วยตัวเอง[4] ทำให้เกิดเป็นข่าวครึกโครม เหตุการณ์อื้อฉาวนี้มีทั้งผู้โจมตี ในขณะที่บางส่วนก็ยอมรับ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-22. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
  2. "Legendary Violinists". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-29. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
  3. ข้อความจากคำบรรยายในชีทมิวสิกเพลง Liebesfreud และ Liebesleid
  4. The musician Fritz Kreisler claimed that works he had written himself were actually “lost classics” written by famous composers

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]