ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนาพุทธในประเทศบังกลาเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โสมปุระมหาวิหารเป็นสถาบันพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศบังกลาเทศ
พุทธธาตุเจดีย์ วัดที่Bandarban

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับ 3 และมีเพียงประมาณร้อยละ 0.63 ของประชากรบังกลาเทศทั้งหมด[1][2] กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมายังภูมิภาคเบงกอลตะวันออกเพื่อเผยแพร่หลักคำสอน และทำให้คนท้องถิ่นหันมาเข้ารีตเป็นชาวพุทธได้สำเร็จ โดยเฉพาะในภาคจิตตะกอง และภายหลังจักรวรรดิปาละเผยแผ่และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาทั่วดินแดนเบงกอล[3] ประชากรประมาณ 1 ล้านในบังกลาเทศนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[4] โดยประชากรพุทธมากกว่าร้อยละ 65 อาศัยอยู่ในภูมิภาคพื้นที่เนินเขาจิตตากอง โดยเป็นศาสนาหลักของชาวยะไข่, จักมา, Marma, Tanchangya, จุมมาอื่น และ Barua ส่วนร้อยละ 35 เป็นชาวพุทธเชื้อสายเบงกอล ชุมชนพุทธตั้งอยู่ในใจกลางเมืองของบังกลาเทศ โดยเฉพาะในจิตตะกองและธากา

ประวัติ

[แก้]

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่เมืองจิตตะกอง ของบังกลาเทศ สันนิษฐานว่ามาในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นช่วงที่พุทธศาสนาแพร่หลายจนถึงทางตอนใต้ของประเทศพม่าด้วย สมณทูตสมัยนั้นเดินทางจากมคธโดยเรือ และพักที่เมืองจิตตะกอง ทำให้พุทธศาสนาเถรวาท เจริญรุ่งเรืองจนถึงพุทธศตวรรษที่ 12 แม้ลัทธิอื่นก็มีนับถือกันแล้ว ดังพระถังซัมจั๋งได้จาริกผ่านมาแล้วบันทึกไว้ว่า "แคว้นสมตฏะ อยู่ติดมหาสมุทร...ชาวเมืองนับถือพระพุทธศาสนาและลัทธินอกจากนี้ มีพระสงฆ์กว่า 2,000 รูป ศึกษาธรรมฝ่ายเถรวาท พำนักอยู่อารามกว่า 30 แห่ง กลุ่มไม่นับถือพุทธปะปนกัน แต่นิครันถ์มีจำนวนมากกว่า"

บัณฑิตวิหาร

[แก้]

นักปราชญ์ทั้งหลายสันนิษฐานว่า ระหว่างรัฐตรีปุระซึ่งอยู่ทางเหนือ และเมืองอาระกันซึ่งอยู่ทางใต้ มีแคว้นชื่อรัมมเทศ และมีเมืองหลวงชื่อ ศรีจัฏฏละ ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ 14 คือ บัณฑิตวิหารคณาจารย์ในรัมมเทศก็ได้อาศัยสถานที่แห่งนี้ศึกษาเล่าเรียน ดังปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์ว่าบัณฑิตวิหารนอกจากจะเป็นศูนย์การค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นสังฆิการาม หรือวัด ในพระพุทธศาสนาที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งพระสงฆ์จากต่างชาติเข้ามาอาศัยศึกษาในบัณฑิตวิหาร หลังจากมหาวิทยาลัยนาลันทาถูกทำลายแล้ว สถาบันแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 300 ปี ในกลางพุทธศตวรรษที่ 15 มีบุตรพราหมณ์เมืองจิตตะกองเป็นอาจารย์ใหญ่ของสถาบันนี้ คือ สิทธะปัญญาภัททะ (ติโลปะ) เป็นพระมหายานแบบตันตระ มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้า และเวทมนตร์ต่างๆ ท่านได้แต่งคัมภีร์ไว้ศึกษาในสถาบันนี้จำนวนมาก เช่น ศรีสรัชสำพาราธิษฐาน จัตตุโรปเทศ ปาสันนทีป อาจินตามหามุทรานาม มหามุทโรปเทส โทหโกษ และสฬธัมโมปเทส เป็นต้น

ต่อมาศิษย์ของท่านชื่อว่า สิทธะนาฬาปาทะ (นโรปะ) ได้แปลคัมภีร์ "สฬสธัมโมปเทส" เป็นภาษาบาลี และก็มีลูกศิษย์ของท่านชื่อว่า รัตนเถระ และคณาจารย์จากสถาบันนี้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบตด้วย คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงของสถาบันแห่งนี้ คือ สิทธะนโรปะ สิทธะหลุยปาทะ สิทธะอานังควัชระ สิทธะตาฆนะ สิทธะสาวรีปาทะ สิทธะอาวธูตปาทะ สิทธะนานาโพธะ สิทธะญาณวัชระ สิทธะพุทธญาณปาทะ สิทธะอโมฆนาถะ และสิทธะธรรมสิริเมไตร เป็นต้น ซึ่งบางรูปก็เป็นชาวจิตตะกอง

จิตตะกองขึ้นกับอาระกัน

[แก้]

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า กษัตริย์แคว้นนี้เคยนับถือพุทธศาสนามาก่อน แล้วจึงหันไปนับถือศาสนาอิสลามในหลังยุคเสนวงศ์ มีกษัตริย์ฮินดูนามว่า มาธุเสนะ ทรงให้อิสระแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา จนถึงยุคของพระเจ้าจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นชาวพุทธ ได้ปกครองจิตตะกองในปี พ.ศ. 1772 และมีกษัตริย์พุทธอีกหลายพระองค์ ต่อมาปี พ.ศ. 1822 กษัตริย์ตรีปุระ พระนามว่า รัตนผา ได้ยึดครองจิตตะกอง ทำให้กษัตริย์องค์สุดท้ายต้องไปพำนักอยู่ในเทวคามภูเขาลูกหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่าเทวังปหารในจิตตะกอง และในพุทธศตวรรษที่ 10 กษัตริย์แคว้นอารากัน พระนามว่าไชยจันทร์ ได้ยึดเมืองจิตตะกองมีพระราชวังอยู่ที่จักรศาลาพระองค์ได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยวัดหลายแห่ง เช่น เทวัง จักรศาลา และรามู เป็นต้น

ยุคเสื่อม

[แก้]

พุทธศาสนามหายานแบบตันตระ[5] ได้แพร่หลายไปทั่วอาระกัน ที่เมืองหลวงมีฮัน ชาวเมืองสักการบูชาเคารพพระรูปเทวีมคเธรสวี ซึ่งเป็นรูปเคารพ และยังแพร่หลายไปถึงพม่าด้วยในปี พ.ศ. 2181 กษัตริย์อาระกันขัดแย้งกับเมืองจิตตะกอง ทำให้กษัตริย์มกุฏราย ยอมขึ้นกับราชวงศ์โมกุล ส่วนทางใต้ของแม่น้ำกัณณฟูลี และรามู ยังตกเป็นของอาระกัน จากนั้นก็ตกเป็นของโมกุลหมด ถือว่าอิสลามได้ครองอำนาจเหนือกษัตริย์พุทธเต็มรูปแบบในชมพูทวีป แต่ก็มีชาวพุทธเล็กน้อยในจิตตะกอง แม้มหายานตันตระก็มีอยู่ไม่มาก บัณฑิตวิหารก็ถูกทำลายสิ้น ชาวพุทธก็หลบหนีไปอย่ตามเมืองต่างๆ เมื่อไม่ที่พึ่งทางใจก็หันไปนับถืออิสลามไปมากก็มาก ชาวพุทธส่วนมากหันไปนับถือลัทธิไวศณพ ชาวพุทธที่เป็นปุโรหิตก็นับถือได้ง่าย เพราะบูชาพระแม่กาลี พระพิฆเนศ ฯลฯ อยู่แล้ว

ปัจจุบัน

[แก้]
พุทธสถานมหาสธานคร (Mahasthangarh), เมืองโบกรา

พระพุทธศาสนาในจิตตะกองได้รับการฟื้นฟูจากคณะสงฆ์เถรวาท นำโดยพระสังฆราชเมืองยะไข่ ในปี พ.ศ. 2408-2421 พระองค์ได้วางรากฐานแบบเถรวาทในจิตตะกอง โดยจัดพิธีอุปสมบทภิกษุแล้วให้ศึกษาอบรมพระธรรมวินัย ตลอดอายุกาลของพระองค์ แม้สมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อมาก็ได้สืบสานนโยบายต่อไป จนมีบรรพชาอุปสมบทมากขึ้นตามลำดับ ต่อมา พ.ศ. 2473 ในสมัยพระสังฆราชอาจริยะญาณลังการมหาเถระ สถิต ณ มหามุนีปาหารตอลี เมืองจิตตะกอง ท่านทัสสนาจาริยะบัณฑิตธรรมธารมหาเถระ ก็ได้จัดตั้ง "สังฆราชภิกขุมหาสภา"ขึ้น ปัจจุบันเรียกว่า "บังกลาเทศสังฆภิกขุมหาสภา" โดยมีพระสงฆ์จากปากีสถาน อินเดีย และบังกลาเทศ จนปัจจุบันนี้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 8 โดยปัจจุบันนี้ชาวพุทธในบังกลาเทศส่วนใหญ่เป็นแบบเถรวาท[6]

เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555 สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานข่าวว่ามีชาวมุสลิมบังกลาเทศราว 25,000 คน ก่อจลาจล เผาวัดพุทธ 5 แห่ง และบ้านเรือนร่วม 100 หลังคาเรือนในเมืองรามู ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 กันยายน โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้ผู้ใช้เฟซบุ้กชาวพุทธบังกลาเทศคนหนึ่งนาม อัตตาม พารัว ที่โพสต์รูปภาพตนขณะเหยียบคัมภีร์อัลกุรอาน[7]

ซึ่งบริเวณเมืองรามูดังกล่าวเป็นพื้นที่ตรึงเครียดเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับรัฐยะไข่ของพม่าซึ่งมีการประท้วงมาก่อนหน้านี้ ทั้งยังเป็นช่วงเดียวกับที่ชาวบังกลาเทศมุสลิมได้ประท้วงภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง "เดอะอินโนเซนส์ออฟมุสลิมส์" ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้[7]

ภาพรวมประชากร

[แก้]
ประชากรพุทธในอดีต
ปีประชากร±%
1951 294,437—    
1961 355,634+20.8%
1974 428,871+20.6%
1981 522,722+21.9%
1991 637,893+22.0%
2001 862,063+35.1%
2011 898,634+4.2%
2022 1,007,467+12.1%
ที่มา: หน่วยงานสำรวจสำมะโนประชากร รัฐบาลบังกลาเทศ[8][9]

ศาสนาพุทธในประเทศบังกลาเทศแบ่งตามช่วงทศวรรษ[8][10]

ปี ร้อยละ เพิ่มขึ้น
1951 0.7% -
1961 0.7% -0%
1974 0.6% -0.1%
1981 0.6% -0%
1991 0.6% -0%
2001 0.7% +0.1%
2011 0.6% -0.1%
2022 0.63% +0.03%
ประชากรพุทธทั่วบังกลาเทศ[11]
ภาค ร้อยละ (%) ประชากรพุทธ () ประชากรทั้งหมด
บอรีชัล 0.18% 14,348 8,173,818
จิตตะกอง 7.08% 1,719,759 24,290,384
ธากา 0.39% 152,274 39,044,716
ขุลนา 0.68% 99,995 14,705,229
ราชชาฮี 0.36% 58,877 16,354,723
รังปุระ 0.34% 47,080 13,847,150
สิเลฏ 0.02% 1,621 8,107,766
มัยมันสิงห์ 0.62% 27,999 11,370,102

นิกายปัจจุบัน

[แก้]

คณะสงฆ์จิตตะกอง ในบังกลาเทศมี 2 นิกาย ได้แก่

  • มาเถ หรือมหาเถรนิกาย หรือมหาสตภีรนิกาย นิกายมาเถ ถือว่าเป็นนิกายเก่าแก่ มีพระภิกษุ 40-50 รูป อยู่ที่ ตำบลราวซาน (রাউজান) ตำบลรางคุนิยา (রাঙ্গুনিয়া) ตำบลโบวาลขลี বোয়ালখালী) และตำบลปาจาไลช (পাঁচলাইশ)
  • สังฆราชนิกาย หรือนิกายสังฆราช นิกายสังฆราช เกิดหลังนิกายมาเถ 100 ปีเศษ มีสมเด็จพระสังฆราชสารเมธมหาเถระ เป็นผู้ให้กำเนิด มีพระสงฆ์อยู่ทั่วประเทศ การปฏิบัติของนิกายนี้เคร่งครัดตามแบบเถรวาท ส่วนพิธีการทางศาสนาจะแตกต่างกับนิกายแรก ในสมัยสมเด็จพระสงฆราชองค์ที่ 7 ได้พยายามตกลงกับผู้ใหญ่ของนิกายมาเถ ลงนามในที่ประชุม เพื่อรวมเป็นนิกายเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จ เพราะแต่ละนิกายต่างมีทิฏฐิของตนอยู่มากจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Census 2022: Bangladesh population now 165 million". 27 July 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2022. สืบค้นเมื่อ 29 July 2022.
  2. "Bangladesh : AT A GLANCE". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2011. สืบค้นเมื่อ 27 February 2015.
  3. "Bangladesh Buddhists Live in the Shadows of Rohingya Fear - IDN-InDepthNews | Analysis That Matters". www.indepthnews.net. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-17. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.
  4. "Census 2022: Bangladesh population now 165 million". 27 July 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2022. สืบค้นเมื่อ 29 July 2022.
  5. Banerjee, S. C. Tantra in Bengal: A Study in Its Origin, Development and Influence. Manohar. ISBN 8185425639.
  6. "BANGLADESH: COUNTRY PROFILE". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-06. สืบค้นเมื่อ 2009-07-17.
  7. 7.0 7.1 "สลด!เผา 'วัดพุทธ' บังกลาเทศวอด" (Press release). คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 "Bangladesh- Population census 1991: Religious Composition 1901-1991". Bangladeshgov.org. 2 August 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 August 2016. สืบค้นเมื่อ 13 May 2021.
  9. "Census 2022: Bangladesh population now 165 million". 27 July 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2022. สืบค้นเมื่อ 29 July 2022.
  10. "Census 2022: Bangladesh population now 165 million". 27 July 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2022. สืบค้นเมื่อ 29 July 2022.
  11. "Mymensingh District - Banglapedia". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-02. สืบค้นเมื่อ 2021-04-25.