พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (มัลดีฟส์)
ޤައުމީ ދާރުލްއާސާރު | |
ก่อตั้ง | 11 พฤศจิกายน 2495 |
---|---|
ที่ตั้ง | มาเล ประเทศมัลดีฟส์ |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 4°10′30″N 73°30′32″E / 4.17500°N 73.50889°E |
ประเภท | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ |
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (มัลดีฟส์: ޤައުމީ ދާރުލްއާސާރު; qaumee dhaarulaasaaru) เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศมัลดีฟส์ก่อตั้งขึ้นเนื่องในวันชาติ เปิดทำการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495[2] โดยนายกรัฐมนตรีมัลดีฟส์ในขณะนั้น โมฮาเหม็ด อามิน ดิดี (มัลดีฟส์: މުހައްމަދު އަމީން ދީދީ އެވެ; Mohamed Amin Didi)
ภาพรวม
[แก้]จุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์และนำเสนอความเป็นชาติของชาวมัลดีฟส์ พิพิธภัณฑ์มีชุดสะสมวัตถุโบราณจำนวนมาก ตั้งแต่วัตถุจากหินไปจนถึงชิ้นส่วนโบราณวัตถุของราชวงศ์ตั้งแต่สมัยสังคมพุทธจนถึงยุคการปกครองของสุลต่านมุสลิม
ก่อนหน้านี้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บริหารงานโดยศูนย์ภาษาและประวัติศาสตร์แห่งชาติมัลดีฟส์ (มัลดีฟส์: ދިވެހި ބަހާއި ތާރީޚަށް ޚިދުމަތްކުރާ ޤައުމީ މަރުކަޒު) ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 ศูนย์ถูกยกเลิกโดยคำสั่งของประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด นาชีด (มัลดีฟส์: މުހައްމަދު ނަޝީދު) และการบริหารพิพิธภัณฑ์ถูกมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม ในส่วนของการวิจัยทางภาษาและประวัติศาสตร์ถูกส่งมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของวิทยาลัยการอุดมศึกษามัลดีฟส์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมัลดีฟส์ (มัลดีฟส์: ދިވެހިރާއްޖޭގެ ޤައުމީ ޔުނިވަރސިޓީ))[3]
อาคาร
[แก้]อาคารเก่าของพิพิธภัณฑ์ ตั้งอยู่ในสวนสุลต่านในเมืองมาเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณพระราชวังมัลดีฟส์ที่มีอายุย้อนกลับไปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 อาคารหอสูง 3 ชั้น (มัลดีฟส์: އުސްގެކޮޅު; Usgekolhu) เป็นโครงสร้างเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ของพระราชวังที่ถูกทำลายด้วยเพลิงไหม้ใน พ.ศ. 2511[4]
อาคารใหม่ของพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในสวนสุลต่านเช่นกัน อาคารหลังนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีน มีพื้นที่รวม 53,550 ตารางฟุต ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัทชานตงฉีหลู่ (จีน: 山东齐鲁建设集团有限公司)[5] เมื่อแล้วเสร็จรัฐบาลจีนได้ส่งมอบโครงการให้แก่รัฐบาลมัลดีฟส์ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 แต่พิพิธภัณฑ์ได้เปิดอย่างเป็นทางการและประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในอีกสองสัปดาห์ต่อมาในวันประกาศอิสรภาพมัลดีฟส์ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
การตกแต่งภายในของพิพิธภัณฑ์ยังคงรักษารูปแบบในสมัยที่สุลต่านปกครองประเทศ รวมถึงมีภาพสลักของพระคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยลายมือบนผนังของอาคาร
ชุดสะสม
[แก้]มีชุดสะสมของสิ่งประดิษฐ์ที่หลากหลายจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงโบราณวัตถุจากยุคก่อนอิสลาม บัลลังก์ บังสูรย์ และเครื่องตกแต่งพระที่นั่งของสุลต่าน เสื้อผ้าและรองเท้า เหรียญ เครื่องประดับ อาวุธและชุดเกราะ สิ่งทอเช่น ชุดพิธีการ ผ้าโพกศีรษะ รองเท้าลำลองและเข็มขัดที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เสื่อ งานลงรัก งานปัก และงานสร้างสรรค์อื่น ๆ
ตัวอย่างชิ้นงานที่สำคัญได้แก่
- รูปแกะสลักเศียรของพระพุทธเจ้าจากหินปะการัง ผลงานจากคริสต์ศตวรรษที่ 11 จากเกาะท็อดดู (มัลดีฟส์: ތޮއްޑޫ) เขตอะลิฟ อะลิฟ อะทอลล์
- แผ่นไม้แกะสลักจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 จากมัสยิดฮูกูรู มิสกีย์ (มัลดีฟส์: ހުކުރު މިސްކިތް)
- ส่วนปลายที่ประดับตกแต่ง (kolhumathi) ของผ้าโสร่ง (มัลดีฟส์: ފޭލި; feyli)[6] ซึ่งเป็นภูษาทรงของสุลต่านอัล-กาซี มูฮัมหมัด ทาคูร์ อัล-อาซัม (มัลดีฟส์: އަލްޣާޒީ މުޙައްމަދު ތަކުރުފާނު އަލްއަޢުޡަމް) เป็นตัวอย่างที่ดีของฝีมืออันประณีตโดยช่างทอชาวมัลดีฟส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16
การทำลายสิ่งประดิษฐ์ก่อนสมัยอิสลาม
[แก้]พระพุทธรูปแกะสลักถูกทำลายระหว่างการโจมตีของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 อาลี วาฮีด ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ก่อนอิสลามเกือบทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์ที่มีอายุย้อนกลับไปก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 12 ได้ถูกทำลายไปแล้ว: "บางชิ้นสามารถประกอบกลับเข้าด้วยกันได้ แต่ส่วนใหญ่ ทำจากหินทราย ปะการัง และหินปูน แตกทำลายจนกลายเป็นผง” เขากล่าวว่าพิพิธภัณฑ์ "ไม่เหลืออะไรให้แสดง" เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก่อนอิสลามของประเทศนี้[7][8]
ในบรรดาสิ่งของที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ รูปแกะสลักหินปะการังหกหน้า, พระพุทธรูปสูง 18 นิ้ว (46 เซนติเมตร) ตลอดจนรูปแกะสลักจากหินปูนและปะการังต่าง ๆ[9]
เวลาเปิดทำการ
[แก้]10.15 น. – 15.30 น. วันอาทิตย์ – วันพฤหัสบดี (ปิดวันศุกร์และเสาร์)[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Xavier Romero-Frias (1999). The Maldive Islanders, A Study of the Popular Culture of an Ancient Ocean Kingdom (3rd rev. ed.). Barcelona: Nova Ethnographia Indica. ISBN 84-7254-801-5. OCLC 55148127.
- ↑ "Maldives Tourist Attractions - National Museum Maldives". Tourism-Srilanka.com.
- ↑ "President abolishes National Centre for Linguistic and Historical Research". Miadu. 28 เมษายน 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2014.
- ↑ އިމާދު ލަތީފު (30 มิถุนายน 2022). "ދިވެހި ތާރީޚު: ހާޖީ އިމާދުއްދީނާއި އުސްގެކޮޅު" [Dhvehi History: Haji Imaddeen and the Tower]. One Online. (ในภาษามัลดีฟส์).
- ↑ "China-aid Maldives National Museum -- Story 14 on 50 Years of China-Maldives Diplomatic Ties". Embassy of the People's Republic of China in the Republic of Maldives (ภาษาอังกฤษ). 22 สิงหาคม 2022.
- ↑ Mohamed Luveiz, บ.ก. (2007). HANDYCRAFT in Maldives (PDF). Male, Maldives: Ministry of Economic Development and Trade. pp. 10–12.
- ↑ "Maldives mob smashes Buddhist statues in national museum". Al Arabiya. AFP. 8 กุมภาพันธ์ 2012.
- ↑ Amal Jayasinghe (12 กุมภาพันธ์ 2012). "Trouble in paradise: Maldives and Islamic extremism". Yahoo News Singapore. AFP.
- ↑ Bajaj, Vikas (13 กุมภาพันธ์ 2012). "Vandalism at Maldives Museum Stirs Fears of Extremism". The New York Times.
- ↑ "National Museum reopens with modern facilities". PSM News. ޕަބްލިކް ސަރވިސް މީޑިއާ [Public Service Media]. 31 สิงหาคม 2023.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (มัลดีฟส์)
- "Maldives National Museum collection", Maldives Culture, กันยายน 2010, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 เมษายน 2018, สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2023
- "National Museum Male,Maldives,Asia", Lonely Planet