พิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พิธีถวายเครื่องราชสักการะ และวางพานพุ่ม และ พิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (พระบรมราชอิสริยยศในขณะนั้น) และ วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) จัดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม และ 12 สิงหาคม เป็นประจำทุกปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ได้เพิ่มวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) และในปี พ.ศ. 2558 ได้เพิ่มวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ด้วย) โดยเป็นส่วนหนึ่งในงาน 5 ธันวามหาราช, งาน 12 สิงหามหาราชินี, งานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมี มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช เป็นองค์กรหลักในการจัดงาน
ในปัจจุบัน จัดให้มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ ใน 3 วาระ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จัดขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน, 28 กรกฎาคม และ 12 สิงหาคม ของทุกปี
กำหนดการ
[แก้]ช่วงตั้งแต่ประมาณเวลา และ 14:00 น. และ 18:00 น. พสกนิกรทุกหมู่เหล่า รวมตัวกัน บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แขกผู้มีเกียรติ คณะกรรมการมูลนิธิฯ คณะกรรมการจัดงานฯ พร้อมกันที่บริเวณพิธี จากนั้น ริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะ จะเข้ารวมพล ตามจุดที่กำหนด แล้วจึงเริ่มเคลื่อนไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้
ระหว่างนั้น คณะกรรมการมูลนิธิฯ คณะกรรมการจัดงานฯ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกัน ณ บริเวณเวทีกลาง เสร็จแล้ว ประธานอนุกรรมการฝ่ายจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะฯ และเจ้าหน้าที่ จัดตั้งเทียนชัย พร้อมทั้งเตรียมบริเวณบนเวที จนกระทั่ง ริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะ มาถึงยังบริเวณมณฑลพิธี
เมื่อถึงเวลา ด้วยประมาณ 18:00 น. วงดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติไทย เพื่อให้สัญญาณเคารพธงชาติ พร้อมเชิญธงชาติลงจากยอดเสา ระหว่างนี้ ให้เวทีต่าง ๆ งดใช้เสียง จากนั้น จะได้เริ่มการถ่ายทอดสด ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พร้อมกับเริ่มพิธีอัญเชิญพานพุ่มสักการะเข้าประจำที่ เสร็จแล้ว จะได้เชิญ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้นำในการถวาย พานต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง พานพุ่มเงิน พานพุ่มทอง และพานธูปเทียนแพ ตามลำดับ ต่อมา ผู้แทนหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าถวายพานพุ่มสักการะ
ตั้งแต่ประมาณเวลา 18:45 น. และ 18:50 น. และ 18:55 น. 19:00 น. (เวลาฤกษ์ตามปกติ เป็นเวลา 19:20 น.) นายกรัฐมนตรี และคู่สมรส ผู้เป็นประธานในพิธี เดินทางมาถึง วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จบแล้ว ประธานพิธีขึ้นประจำบนแท่นเกียรติยศ จากนั้น ประธานมูลนิธิฯ กล่าวรายงานถึงความร่วมมือในการจัดงานฯ และเรียนเชิญ ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวรายงาน พร้อมกราบเรียนเชิญประธานพิธี ถวายเครื่องราชสักการะ
ต่อจากนั้น ประธานพิธีเปิดกรวยกระทงดอกไม้ ถวายเครื่องราชสักการะ ถวายคำนับ จุดเทียนชัย กล่าวถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ และกล่าวนำถวายพระพรชัยมงคล ต่อหน้าพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี 1 จบ โดยประธานพิธีเป็นผู้นำร้อง (โดยวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 บรรเลงเพลงมหาชัย ตามพระราชอิสริยยศขณะนั้น) จากนั้น ประธานพิธีเดินขึ้นประจำบนแท่นเกียรติยศ ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ มอบโคมเทียนแก่ประธานพิธี
ระหว่างนั้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แขกผู้มีเกียรติ คณะกรรมการมูลนิธิฯ คณะกรรมการจัดงานฯ ที่อยู่บนเวที รับมอบโคมเทียนจากเจ้าหน้าที่ ส่วนประชาชนที่อยู่ในมณฑลพิธี จะได้รับเทียนมงคล ที่ปลุกเสกโดยพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ และทุกคนจุดเทียนพร้อมกัน เสร็จแล้ว วงดุริยางค์บรรเลงเพลงเฉลิมพระเกียรติตามวาระต่างๆ ดังนี้
(สำหรับวันที่ 28 กรกฎาคม ในปี พ.ศ. 2555 - 2560 จะบรรเลงเพลงมาร์ชวชิราลงกรณ ส่วนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และวันที่ 3 มิถุนายน จะบรรเลงเพลงสดุดีจอมราชา, 2 เมษายน จะบรรเลงเพลงมาร์ชพระเทพของชาวไทย และวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 จะบรรเลงเพลงสดุดีพระแม่เจ้า ส่วนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จะบรรเลงเพลงสดุดีพระแม่ไทย) โดยประธานพิธีเป็นผู้นำร้อง ร่วมกับผู้เข้าร่วมพิธีและประชาชน ทั้งในบริเวณมณฑลพิธี และทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร จบแล้ว จะได้เริ่มการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ และเริ่มการแสดงมหรสพต่าง ๆ ตลอดทั้งคืน ใน ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง กทม. [1] [2]
การเปลี่ยนแปลงและโอกาสพิเศษ
[แก้]ในบางปี อาจมีเพิ่มพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพิเศษ หรือมีการปรับเปลี่ยนลำดับพิธี ดังต่อไปนี้
รัชกาลที่ 9
[แก้]ช่วงปี พ.ศ. 2520 - 2531 การบรรเลงเพลงจะบรรเลงเพลงสดุดีมหาราชาก่อน จบแล้วจึงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
พ.ศ. 2534 มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 3 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ในวันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2534
พ.ศ. 2539 มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539
พ.ศ. 2542 มีการบรรเลงเพลง 3 เพลงในพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี, เพลงสดุดีมหาราชา และ เพลงภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา
พ.ศ. 2549 มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในวันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549
พ.ศ. 2550 มีการบรรเลงเพลง 3 เพลงในพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี, เพลงสดุดีมหาราชา และ เพลงพ่อแห่งแผ่นดิน
พ.ศ. 2553 ในวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553 มีการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในส่วนกลาง 2 แห่ง คือตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี และท้องสนามหลวง โดยมีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี และวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553 มีการเปลี่ยนสถานที่จัดงานส่วนกลางจากท้องสนามหลวงเป็นบริเวณหน้าศาลฎีกา เนื่องจากท้องสนามหลวงอยู่ในช่วงการปรับปรุงภูมิทัศน์
พ.ศ. 2554 ในวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554 มีการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ในส่วนกลาง 2 แห่ง คือบริเวณหน้าศาลฎีกา โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี และท้องสนามหลวง โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี
พ.ศ. 2555 มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 และมีการเพิ่มเป็นพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ประจำปี จนถึง พ.ศ. 2558
พ.ศ. 2558 มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ในวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558
รัชกาลที่ 10
[แก้]มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 ในวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 โดยจัดขึ้น ณ ลานพระราชวังดุสิต เนื่องจากท้องสนามหลวงอยู่ในระหว่างการสร้างพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 มีพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องสนามหลวงเป็นครั้งแรกในรัชกาล ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โดยไม่มีการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ เมื่อประธานในพิธีเดินทางมาถึง และไม่มีการกล่าวรายงานความร่วมมือในการจัดงาน รวมถึงไม่มีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ
พ.ศ. 2562 มีการเพิ่มพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ประจำปี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 มีการแสดงโดรนแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ แทนการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ
พ.ศ. 2563 มีการงดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องจากอยู่ในระหว่างการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย ต่อมาสถานการณ์คลี่คลายลงจึงได้มีการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยไม่มีริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะ และมีการแสดงโดรนแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ แทนการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ
พ.ศ. 2564 มีการงดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องจากอยู่ในระหว่างการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย
พ.ศ. 2565 มีการจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลอีกครั้ง ไม่มีริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะ ไม่มีวงดุริยางค์บรรเลงเพลง และมีการแสดงโดรนแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ แทนการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ
พ.ศ. 2566 ไม่มีริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะ ไม่มีวงดุริยางค์บรรเลงเพลง ไม่มีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ และการแสดงโดรนแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "กำหนดการ งาน ๕ ธันวามหาราช ประจำวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-30. สืบค้นเมื่อ 2007-12-12.
- ↑ "กำหนดการ งาน ๑๒ สิงหามหาราชินี ประจำวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2550". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-09. สืบค้นเมื่อ 2007-12-12.