ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระญาณวชิโรดม

(วิริยังค์ สิรินฺธโร)
ชื่ออื่นหลวงพ่อวิริยังค์
ส่วนบุคคล
เกิด7 มกราคม พ.ศ. 2463 (100 ปี)
มรณภาพ22 ธันวาคม พ.ศ. 2563
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท22 ตุลาคม พ.ศ. 2478
พรรษา80
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร ประธานสงฆ์ในประเทศแคนาดา

สมเด็จพระญาณวชิโรดม นามเดิม วิริยังค์ บุญฑีย์กุล ฉายา สิรินฺธโร (7 มกราคม พ.ศ. 2463 – 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปฐมเจ้าอาวาส วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร เป็นพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

พระ

ประวัติ

[แก้]

ชาติกำเนิด

[แก้]

สมเด็จพระญาณวชิโรดม เดิมชื่อ วิริยังค์ บุญฑีย์กุล เป็นบุตรของขุนเพ็ญภาษชนารมย์ กับมั่น บุญฑีย์กุล (หรือ อุบาสิกามั่น; ถึงแก่กรรมปี พ.ศ. 2520) เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2464 (นับแบบใหม่) ณ สถานีรถไฟปากเพรียว จังหวัดสระบุรี ต่อมาย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้อง 7 คน ได้แก่

  1. กิมลั้ง ชูเวช
  2. ฑีฆายุ บุญฑีย์กุล
  3. สุชิตัง บุญฑีย์กุล
  4. สัจจัง บุญฑีย์กุล
  5. สมเด็จพระญาณวชิโรดม
  6. ไชยมนู บุญฑีย์กุล
  7. สายมณี ศรีทองสุข

ก่อนบวช

[แก้]

วันหนึ่งขณะที่ท่านอายุประมาณ 13 ปี เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งชวนให้ไปวัดเป็นเพื่อน ขณะที่รอเพื่อนไปต่อมนต์ (ท่องบทสวดมนต์) กับหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ท่านก็รออยู่ด้วยความเบื่อหน่ายเพราะไปตั้งแต่ 2 ทุ่มกลับเที่ยงคืน จะกลับบ้านเองก็ไม่ได้เพราะเส้นทางเปลี่ยวและกลัวผี ได้แต่คิดอยู่ในใจว่า "ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่มาอีกแล้ว ๆ ๆ" ไม่ช้าก็เกิดความสงบขึ้น ตัวหายไปเลยเบาไปหมด เห็นตัวเองมี 2 ร่าง ร่างหนึ่งเดินลงศาลาไปยืนอยู่ที่ลานวัด มีลมชนิดหนึ่งพัดหวิวเข้าสู่ใจ รู้สึกเย็นสบายเป็นสุขอย่างยิ่งถึงกับอุทานออกมาเองว่า "คุณของพระพุทธศาสนา มีถึงเพียงนี้เทียวหรือ" แล้วเดินกลับไปที่ร่างกลับเข้าตัว พอดีเป็นเวลาเลิกต่อมนต์ จึงเล่าให้กับพระอาจารย์กงมาฟัง พระอาจารย์ก็ว่า "เด็กนี่ เรายังไม่ได้สอนสมาธิให้เลยทำไม จึงเกิดเร็วนัก" ตั้งแต่นั้นมาก็จึงเรียนรู้เกี่ยวกับการทำสมาธิ

ต่อมาวันหนึ่งท่านทำงานหนักเกินตัวจึงล้มป่วยเป็นอัมพาต บิดาพยายามหาหมอมารักษาแต่ก็รักษาไม่ได้ แพทย์แผนปัจจุบันบอกว่าหมดหวังในการรักษา ท่านได้แต่นอนอธิษฐานอยู่ในใจว่า "ถ้ามีผู้ใดมารักษาให้หายจากอัมพาตได้ จะอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น" ไม่นานก็ปรากฏว่ามีชีปะขาวตนหนึ่งมาถามบิดาของท่านว่า "จะรักษาลูกให้เอาไหม" บิดาก็บอกว่า "เอา" ชีปะขาวก็เดินมาหาท่านซึ่งนอนอยู่ พร้อมทั้งกระซิบถามว่าอธิษฐานดังนั้นจริงไหม ท่านก็ตอบว่าจริง จึงให้พูดให้ได้ยินดัง ๆ หน่อย ท่านก็พูดให้ฟัง ชีปะขาวก็เอาไพรมาเคี้ยว ๆ แล้วก็พ่นใส่ตัวของท่านแล้วก็จากไป เช้าตรู่วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าท่านรู้สึกว่าจะกระดิกตัวได้ ทดลองลุกขึ้นเดินก็ทำได้เป็นที่อัศจรรย์ใจ 7 โมงเช้าปรากฏว่าชีปะขาวมายืนหลับตาบิณฑบาตอยู่ที่ประตูบ้าน ท่านจึงนำอาหารจะไปใส่บาตร ชีปะขาวกลับขอให้ท่านพูดถึงคำอธิษฐานของท่านให้ฟัง เมื่อพูดแล้วจึงยอมรับบาตร แล้วบอกให้ท่านไปหาที่ใต้ต้นมะขาม วัดสว่างอารมณ์ เมื่อไปถึงชีปะขาวก็ให้พูดคำอธิษฐานให้ฟังอีก แล้วก็พาเดินไปหลังวัด คว้าเอามีดอันหนึ่งออกไปตัดหางควายมาชูให้ดู แล้วก็ต่อหางคืนไปใหม่ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมกับถามว่า "ลุงเก่งไหม" ท่านก็ตอบว่า "เก่ง" ลุงจะสอนคาถาให้ แต่ต้องท่องทุกวันเป็นเวลา 10 ปีจึงใช้ได้ ท่านก็ได้เรียนคาถานั้น แล้วก็บอกว่าพรุ่งนี้ให้เตรียมใส่บาตร วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าไม่พบตาชีปะขาวแล้ว ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่เคยพบกับตาชีปะขาวอีกเลย

บรรพชา

[แก้]

สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ขณะอายุ 16 ปี[1][2] บรรพชา ณ วัดสุทธจินดาวรวิหาร ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยพระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง นาควโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาได้ 10 วัน ก็ตามพระอาจารย์กงมาออกธุดงค์ ตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อแสวงหาที่วิเวก เมื่อพบที่สงบก็จะหยุดอยู่ทำความเพียร แม้บางครั้งอดอาหารกันอยู่หลายวัน บางครั้งเจอสัตว์ร้าย เจออันตรายหรือหนทางอันยาวไกล เช่นในบางวันเดินธุดงค์ข้ามเขาเกือบ 50 กิโลเมตร ก็ไม่ย่อท้อ โดยถือคติที่ว่ารักความเพียร รักธรรมะมากกว่าชีวิต ครั้งหนึ่งเมื่อออกจากดงพญาเย็นพบโจรกลุ่มหนึ่งมีอาวุธครบมือมาล้อมไว้ พระอาจารย์กงมาได้เทศน์สั่งสอนโจร มีอยู่ตอนหนึ่งเทศน์ว่า "พวกเธอเอ๋ย แม้พวกเธอจะมาหาทรัพย์ ตลอดถึงการผิดศีลของพวกเธอนั้นก็เพื่อเลี้ยงชีวิตนี้เท่านั้น แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่ของพวกเธอเลย มันจะสิ้นกันไม่รู้วันไหน เป็นเช่นนี้ทุกคน ถึงพวกเธอจะฆ่าไม่ฆ่าเขาก็ตาย เธอก็เหมือนกันมีความดีเท่านั้นที่ใคร ๆ ฆ่าไม่ตาย อย่างเรานี้จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่อนาทรร้อนใจ เพราะความดีเราทำมามากแล้ว" ปรากฏว่าพวกโจรวางมีดวางปืนทั้งหมดน้อมตัวลงกราบพระอาจารย์กงมาอย่างนอบน้อม หัวหน้าโจรมอบตัวเป็นศิษย์และได้บวชเป็นตาผ้าขาวถือศีล 8 เดินธุดงค์ไปด้วยกันจนกระทั่งหมดลมหายใจในขณะทำสมาธิ

อุปสมบท

[แก้]

สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) อุปสมบทเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะอายุ 20 ปี อุปสมบท ณ วัดทรายงาม บ้านหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี โดยพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาทองสุข สุจิตโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงพ่อได้เดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์กงมาไปในที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 8 ปี วันหนึ่ง พระอาจารย์กงมาพาท่านเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทบุรีไปจังหวัดสกลนคร เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อวิริยังค์ได้รับเลือกให้เป็นอุปัฎฐากอยู่ในพรรษา 4 ปี นอกพรรษา 5 ปี รวมเป็น 9 ปี ได้เดินธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์มั่น เรียนธรรมะอันลึกซึ้ง ได้จดคำสอนของหลวงปู่มั่นบางตอนไว้ (ปกติท่านห้ามผู้ใดจดเด็ดขาด เมื่ออ่านให้ท่านฟังภายหลังท่าน กลับรับรองว่าใช้ได้) ต่อมาท่านได้เผยแพร่คำสอนนี้แก่สาธารณชน ในหนังสือที่ชื่อว่า "มุตโตทัย"

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง

การศึกษา

[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2477 ขณะอายุ 13 ปี ได้บวชเป็นชีปะขาว เนื่องจากการบวชศึกษาตั้งแต่อายุยังน้อย จบชั้นประถมปีที่ 4 หลังจากนั้นบรรพชาแล้วศึกษาจบนักธรรมชั้นตรี นอกจากนั้นเป็นเวลาปฏิบัติกรรมฐาน เดินธุดงค์ตลอดระยะเวลาบรรพชาและอุปสมบท

มรณภาพ

[แก้]

เมื่อวันศุกร์ ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สมเด็จพระญาณวชิโรดม ได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร คณะแพทย์ผู้ดูแลรักษาได้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิดร่วมกับการทำกายภาพบำบัด อาการเริ่มดีขึ้นสลับกับคงที่ตามลำดับมา จนกระทั่งวันเสาร์ ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ได้มีอาการทรุดลงและได้มรณภาพด้วยอาการสงบด้วยโรคชรา ในวันอังคาร ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 07.32 น. สิริอายุได้ 99 ปี 11 เดือน 15 วัน 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานโกศมณฑปแทนโกศไม้สิบสอง เพื่อประกอบเกียรติยศ ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังอาคารบุญญาวาส วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พระราชทานน้ำหลวงสรงศพสมเด็จพระญาณวชิโรดม วิริยังค์ สิรินธโร หลังจากที่ทรงพระราชทานน้ำหลวงสรงศพเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานสุกรรมศพ(มัดตราสังข์)ลงสู่หีบ จากนั้นเชิญไปประดิษฐานหลังโกศพระราชทาน

ในการนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) เสด็จมาประทานน้ำสรงศพและทรงปลงธรรมสังเวชในการนี้ด้วย

การบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานศพ

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7วัน 50 วัน 100 วัน พระราชทานศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นผู้แทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน และทรงรับการบำเพ็ญกุศลครบรอบ 1 ปี การถึงแก่มรณภาพของสมเด็จพระญาณวชิโรดม ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ด้วย

อนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ เชิญดอกไม้สดมาบูชาเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่วันที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯมรณภาพ จนถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุ พระราชทานเพลิงศพ

การพระราชทานเพลิงศพ

กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2565

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ในการออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ

วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศล ออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ

และในเวลา 17:30น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ. เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โดยทรงทอดผ้าไตรถวายแด่ สมเด็จพระราชาคณะและพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 10 รูป พระสงฆ์บังสุกุล ทรงหลั่งทักษิโณทก จากนั้นเสด็จพระดำเนินขึ้นเมรุ ทรงหยิบกระทงข้าวตอกดอกไม้จากเจ้าพนักงานพระราชพิธี วางหน้าโกศศพ และทรงหยิบธูปเทียนดอกไม้จันทน์ ทรงจุดไฟที่ตำรวจวังชูถวาย พระราชทานเพลิงศพ ทรงคม จากนั้นทรงวางดอกไม้จันทน์พระราชทาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากนั้นเสด็จลงจากเมรุ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นายกรัฐมนตรีและคณะผู้ดำเนินงาน การศพเจ้าประคุณสมเด็จฯ เฝ้าถวายของที่ระลึกและทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ถึงเวลาสมควร เสด็จพระราชดำเนินกลับ ในการนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) เสด็จไปในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ด้วย

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2565

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าไตรและภัตตาหารสามหาบในการเก็บอัฐิธาตุเจ้าประคุณสมเด็จฯ

โดยมีการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานเพลิงศพ ผ่านทาง สถานวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เพจ วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร และ เพจ สถาบันพลังจิตตานุภาพ

โดยในพิธีมีพระสงฆ์ ศิษยานุศิษย์และประชาชน เข้าร่วมพิธี ณ.วัดเทพศิรินทราวาส นับหมื่นคน และได้มีกำหนดให้จัดพิธีวางดอกไม้จันทน์ ณ. วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร รวมถึง สถานบันพลังจิตตานุภาพตามสาขาต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพร้อมเพรียงกัน

ช่อไม้จันทน์

สำหรับในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระญาณวชิโรดม(วิริยังค์ สิรินธฺโร)นั้น ได้มีการจัดทำ ช่อไม้จันทน์ขึ้นโดยทำจาก แผ่นไม้จันทน์ฉลุลาย ใช้เทคนิคการซ้อนลายไม้ประกอบเป็นช่อ โดยกึ่งกลางช่อเป็นรูปดอกบัว พื้นหลังเป็นลายกระหนกเปลวเป็นรัศมี เหนือยอดดอกบัวเป็นสัญลักษณ์อุณาโลม จัดทำถวายจำนวน 9 ช่อ ออกแบบและจัดทำ โดย ครูช่างจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ (ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2564)

สมณศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2562 โปรดสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฎ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระพรหมมงคลญาณ ปูชนียฐานประยุต วิสุทธิญาณโสภณ โกศลวิเทศศาสนดิลก สาธกวิปัสสนาธุราทร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]

นับเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏฝ่ายวิปัสสนาธุระ รูปแรกของฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และรูปที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

  • พ.ศ. 2563 โปรดสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระญาณวชิโรดม พุทธาคมวิศิษฐ์ จิตตานุภาพพัฒนดิลก สาธกธรรมวิจิตร วิเทศศาสนกิจไพศาล วิปัสสนาญาณธุราทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[9]

ผลงาน

[แก้]
  1. สร้างวัด 15 แห่งในประเทศไทย
  2. สร้างวัดไทยในประเทศแคนาดา 6 แห่ง
  3. สร้างวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง
  4. สร้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่จังหวัดนครราชสีมา
  5. สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (โครงการประทีปเด็กไทย) กว่า 5000 แห่งทั่วประเทศ
  6. สร้างโรงพยาบาลจอมทอง
  7. สร้างที่ว่าการอำเภอจอมทอง
  8. สถาบันประถมศึกษาจอมทอง
  9. สร้างพระมหาเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร
  10. สร้างพระหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร
  11. สร้างสถาบันพลังจิตตานุภาพในประเทศไทยและประเทศแคนาดาและอเมริกาเเละประเทศอื่นๆ
  12. สร้างสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์
  13. สร้างโรงเรียนวัดธรรมมงคล (หลวงพ่อวิริยังค์ อุปถัมภ์) กรุงเทพมหานคร
  14. สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร
  15. สร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ศูนย์ให้การศึกษาวัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร
  16. สร้างโรงเรียนอนุบาลธรรมศาลา กรุงเทพมหานคร
  17. สร้างศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพ วัดธรรมมงคล
  18. สร้างศูนย์สมาธิวิริยานุภาพ วัดธรรมมงคล
  19. สร้างพิพิธภัณฑ์เจดีย์หลวงปู่มั่น วัดป่าภูริทัตตถิราวาสบ้านหนองผือนาใน
  20. สร้างพระเกตุแก้วจุฬามณีมหาเจดีย์ วัดศรีรัตนธรรมาราม

ผลงานการสร้างวัดในประเทศไทย

[แก้]
  1. วัดที่ 1 ปี พ.ศ. 2486 สร้างวัดบ้านห้วยแคน ตำบลหนองเหียน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ขณะอายุได้ 24 ปี
  2. วัดที่ 2 ปี พ.ศ. 2487 สร้างวัดวิริยพลาราม บ้านเต่างอย อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
  3. วัดที่ 3 ปี พ.ศ. 2489-2491 สร้างวัดมณีคีรีวงค์ (กงษีไร่) จังหวัดจันทบุรี
  4. วัดที่ 4 ปี พ.ศ. 2492-2495 สร้างวัดดำรงธรรมมาราม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นที่ธุดงค์วิปัสสนากัมมัฏฐาน
  5. วัดที่ 5 ปี พ.ศ. 2493 สร้างวัดสถาพรพัฒนา (วัดหนองชิ่ม) ตำบลหนองชิ่ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งบำเพ็ญสมณธรรมอย่างสงบร่มเย็น
  6. วัดที่ 6 ปี พ.ศ. 2506 สร้างวัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นวัดแรกที่อยู่ในกรุงเทพนี้เนื้อที่ทั้งหมด 32 ไร่ มีกุฏิบำเพ็ญสมาธิภาวนา 9 หลัง ศาลาการเปรียญ ศาลาเมรุฌาปนกิจสถาน อุโบสถ และที่สำคัญที่สุดคือ พระมหาเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีความสวยสดงดงามตามศิลปไทยวิจิตระการตาหาชมได้ยาก ใช้งบประมาณรวมหนึ่งร้อยล้านบาท มีพระภิกษุสงฆ์พำนักอยู่กว่า 500 รูป และมีโรงเรียนอนุบาล อบรมสอนหนังสือให้แก่นักเรียนกว่า 500 คน
  7. วัดที่ 7 ปี พ.ศ. 2511 สร้างวัดหนองกร่าง วิทยาลัยสงฆ์กำแพงแสน ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีกุฏิ 80 หลัง ศาลาการเปรียญ มีอาคารเรียน 3 หลัง อุโบสถ 2 ชั้น มีพระภิกษุสงฆ์-สามเณรศึกษาอยู่ปัจจุบัน 200 รูป
  8. วัดที่ 8 ปี พ.ศ. 2512 สร้างวัดผ่องพลอยวิริยาราม สุขุมวิท 105 (ลาซาล) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งหมดรวม 10 ไร่ มีกุฏิบำเพ็ญสมาธิภาวนา 60 หลัง ศาลาการเปรียญ อุโบสถ หอระฆัง และอื่น ๆ
  9. วัดที่ 9 ปี พ.ศ. 2512 สร้างวัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร มีกุฏิ 40 หลัง ศาลาปฏิบัติธรรมโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม อุโบสถ มีพระสงฆ์ 400 รูป
  10. วัดที่ 10 ปี พ.ศ. 2513 สร้างวัดอมาตยาราม (เขาอีโต้) จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 60 ไร่ มีศาลาการเปรียญ กุฏิที่พัก อุโบสถ ฯลฯ
  11. วัดที่ 11 ปี พ.ศ. 2513 วัดเทพเจติยาจารย์ น้ำตกแม่กลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
  12. วัดที่ 12 ปี พ.ศ. 2516 สร้างวัดแก้วพิทักษ์เจริญธรรม สุขุมวิท 103 (อุดมสุข) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร มีศาลาการเปรียญ กุฏิที่พัก โรงครัว บ่อน้ำ อุโบสถ
  13. วัดที่ 13 ปี พ.ศ. 2514 สร้างวัดชูจิตรธรรมมาราม วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย) มีเนื้อที่ทั้งหมด 108 ไร่ มีพระภิกษุ-สามเณรศึกษาอยู่ 500 รูป(หาส่วนอ้างอิง)
  14. วัดที่ 14 ปี พ.ศ. 2555 สร้างวัดศรีรัตนธรรมมาราม อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่ทั้งหมด 95ไร่
  15. วัดที่ 15 ปี พ.ศ. 2560 สร้างวัดป่าเลิศธรรมนิมิต ถนนลำลูกกา คลอง 11 จังหวัดปทุมธานี

การสร้างวัดในต่างประเทศ

  1. พ.ศ. 2535 วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 1 เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา
  2. พ.ศ. 2536 วัดญาณวิริยาเทมเปิ้ล 2 เมืองโทรอนโต รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
  3. พ.ศ. 2538 วัดราชธรรมวิริยาราม 1 เมืองออตตาวา รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
  4. พ.ศ. 2540 วัดราชธรรมวิริยาราม 2 น้ำตกไนแอการา รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
  5. พ.ศ. 2541 วัดราชธรรมวิริยาราม 3 เมืองเอ็ดมันตัน รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา
  6. พ.ศ. 2542 วัดราชธรรมวิริยาราม 4 เมืองแคลกะรี รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา

ด้านการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์

  1. เป็นเจ้าอาวาสวัดทรายงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2509
  2. เป็นเจ้าคณะตำบล ตำบลขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2506
  3. เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร สุขุมวิท 101 กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2563
  4. เป็นประธานกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2563
  5. เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนธรรมาราม อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2563
  6. เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าเลิศธรรมนิมิต คลอง 11 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2563
  7. เป็นพระอุปัชฌาย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 - พ.ศ. 2563

ผลงานการประพันธ์

[แก้]
  1. มุตโตทัย บันทึกคำสอนของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
  2. ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ
  3. ชีวิตต้องสู้
  4. คุณค่าของชีวิต
  5. พระพุทธรูปหยกเขียว
  6. 5 ฉลอง
  7. หลักสูตรครูสมาธิ 3 เล่ม เล่ม 1,2,3
  8. หลักสูตรครูสมาธิ – ชั้นสูง
  9. หลักสูตรญาณสาสมาธิ
  10. หลักสูตรอุตตมสาสมาธิ
  11. ใต้สามัญสำนึก
  12. วัฒนสาสมาธิ

ปริญญากิตติมศักดิ์

[แก้]
  1. พ.ศ. 2538 ปริญญาพัฒนบริหารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ด้านบริหารการพัฒนา จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
  2. พ.ศ. 2545 ปริญญาครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา จาก สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
  3. พ.ศ. 2545 ปริญญาศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการศึกษานอกระบบ จาก มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  4. พ.ศ. 2550 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง
  5. พ.ศ. 2553 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย
  6. พ.ศ. 2554 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการเพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  7. พ.ศ. 2555 ปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  8. พ.ศ. 2556 ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  9. พ.ศ. 2557 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  10. พ.ศ. 2559 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  11. พ.ศ. 2559 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  12. พ.ศ. 2560 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
  13. พ.ศ. 2560 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  14. พ.ศ. 2562 ปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จาก มหาวิทยาลัยพะเยา
  15. พ.ศ. 2562 ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
  16. พ.ศ. 2564 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

ศิษย์ยานุศิษย์ (สำคัญ)

[แก้]
  1. พระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนฺทราโภ) วัดราชผาติการามวรวิหาร
  2. พระเทพมงคลวชิรมุนี วิ. (หา สุภโร) วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว)
  3. พระเทพวัชราภรณ์ (เฉลิม วีรธมฺโม) วัดประชาบำรุง
  4. พระเทพเมธาภรณ์ (ประสงค์ วราสโย) วัดสิริกาญจนาราม
  5. พระเทพสุเมธี (ทวี อภิปสนฺโน) วัดเกตการาม พระอารามหลวง
  6. พระราชญาณโกศล วิ.(เหรียญ ธนลาโภ) วัดป่าธรรมชาติ สหรัฐอเมริกา
  7. พระราชธรรมโมลี (ดัชน์ ขนฺติธมฺโม) วัดแก้วพิทักษ์เจริญธรรม
  8. พระราชปัญญาวชิโรดม (สุพล ขนฺติพโล) วัดเทพเจติยาจารย์
  9. พระราชวัชรสุทธิวงศ์ วิ.(อารยวังโส) วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย
  10. พระราชวชิราลังการ วิ. (คำปอน สุทฺธิญาโณ) วัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร
  11. พระญาณวัชรมงคล สป.วิ.(ถนอมศิลป์ ญาณสาคโร) วัดผ่องพลอยวิริยาราม
  12. พระโพธินันทมุนี วิ. (พนมศักดิ์ พุทฺธญาโณ) วัดป่าธรรมชาติบุญญาวาส
  13. พระวิบูลธรรมาภรณ์ (ชาย ชาคโร) วัดสุปัฏนารามวรวิหารราม
  14. พระวิริยวัชรญาณ วิ. (บุรมณ์ เตชธมฺโม) วัดธรรมมงคล
  15. พระวิบูลธรรมวิเทศ (บุญเลี้ยง ปุญฺญรกฺขิโต) วัดธรรมมงคล
  16. พระวชิรวรคุณ (เสริมพร ธมฺมวโร) วัดศรีรัตนธรรมาราม
  17. พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา (หลอด ปโมทิโต) วัดสิริกมลาวาส
  18. พระครูปภัสสราธิคุณ (ชัย ปภสฺสโร) วัดผ่องพลอยวิริยาราม
  19. พระครูสิทธิปภากร (สะอาด ฐิโตภาโส) วัดป่าดอนหายโศก
  20. พระครูสุนทรธรรมมงคล (อำไพ จิรธมฺโม) วัดธรรมมงคล
  21. พระครูสรพจน์พิลาส (พรหมมา ธมฺมวโร) วัดธรรมมงคล
  22. พระครูโสภณวินัยวัฒน์ (เวิน คุเณสโก) วัดบูรพาโคกเครือ
  23. พระครูประจักษ์วรญาณ (สมบัติ อินฺทวํโส) วัดป่าท่าทราย
  24. พระครูจิตตสิริคุณ (นิคม ฐิตจิตฺโต) วัดอมาตยาราม
  25. พระครูธรรมานุจารี (ทองพูน ธมฺมปฏิทินโน) วัดเขาเต่า
  26. พระครูเขมาวุฒิกร (อำนวย เขมปญฺโญ) วัดศรีภูเวียง
  27. พระครูปลัดวิสุทธิวรวัฒน์ (ศักดา จิตฺตหฏฺโฐ) วัดเสน่หา
  28. พระครูวิทิตธรรมสาร (พรชัย พลปญฺโญ) วัดสิริกมลาวาส
  29. พระครูธรรมวิวัฒนคุณ (เจริญ จตฺตสลฺโล) วัดอรัญญวิเวก
  30. พระครูเกษมกิตติสาร (กิตติวัฒน์ กิตฺติสาโร) วัดจันทร์เขมาราม
  31. พระครูปุญญาภิวัฒน์ (บุญส่ง สิริธมฺโม) วัดธรรมมงคล
  32. พระครูธรรมธรจันทร์ กุสลจิตโต วัดธรรมมงคล
  33. พระครูใบฎีกาสานิตย์ อภิสาโร วัดธรรมมงคล
  34. พระครูญาณเพชรัตน์ (เทวินทร์ ปิยทสฺสี) วัดยาง
  35. พระครูวิเศษศาสนกิจ (สงบ ปริสนฺโต) วัดอาร์คันซอส์พุทธาราม สหรัฐอเมริกา
  36. พระครูวิมลศีลวิเทศ (อ่อน มุทุจิตฺโต) วัดป่าธรรมชาติ สหรัฐอเมริกา
  37. พระครูสีลพลานุยุต (ส่งศักดิ์ ขนฺติโก) วัดป่าสีลาราม
  38. พระครูธีรธรรมสาร (สามารถ ธมฺมสาโร) วัดป่าหลวง
  39. พระครูวิสุทธิสารธรรม (คำปน ดิสาโร) วัดป่าถ้ำตาดา
  40. พระครูธรรมธรสมพล ปญฺญาพโล วัดป่าประชาสามัคคี
  41. พระครูสุนทรโพธิคุณ (สุนทร ญาณวโร) วัดป่าภูเขากวาง
  42. พระครูโกมลธรรมคุณ (โกมล กลฺยาโณ) วัดป่านิคมพัฒนาราม
  43. พระครูวิเวกธรรมรัต (อารัญ เขมกาโร) วัดป่าศิลาวิเวก
  44. พระครูวิบูลธรรมวรากร (อุดร ธมฺมวโร) วัดป่าดอนจิก
  45. พระอาจารย์อุเทน ธมฺมทินโน วัดดำรงธรรมาราม
  46. พระมหาอภิชัย อภิชโย สำนักสงฆ์เขาป่าปอ
  47. พระอธิการวิทยา ปญฺญาวุฑโฒ วัดป่าโคกอ้ายญี่
  48. พระครูธรรมธรวรรณฉันท์ ปญฺญาวุฑโฒ วัดป่าธรรมรังสี
  49. พระปลัดสุนิตย์ สุจิตฺโต วัดป่าบ้านบะแต้
  50. พระครูปลัดภาณุวัฒน์ วฑฺฒนธมฺโม วัดบางโฉลงใน
  51. พระครูวินัยธรก้องนภา สุเมธโก วัดป่าร้อยปีหลวงพ่อวิริยังค์
  52. พระครูวินัยธรณฤทธิ์ ฐิตินฺธโร วัดป่าธรรมพนมวัณย์
  53. พระครูสมุห์ไพโรจน์ โอภาโส วัดป่าสมเด็จพระญาณวชิโรดม
  54. พระอาจารย์ทองตะวัน สุชาโต วัดบอสตันพุทธวนาราม
  55. พระอาจารย์คณิต อธิปุญฺโญ วัดบอสตันพุทธวนาราม
  56. พระอาจารย์อนันต์ กมฺมทีปโก วัดป่าสิรินฺธโรอนุสรณ์
  57. พระอาจารย์วิทัน โกวิโท วัดป่าวิริยะมงคลธรรมสถาน
  58. พระอาจารย์ศุภมงคล สีลเสฏฺโฐ วัดป่าจิตตานุภาวัน
  59. พระอาจารย์ชลภิชา พลญาโณ วัดปาเมตตาฌาณ
  60. พระอาจารย์ปัญญา ภทฺทปญฺโญ วัดป่าแก้ววิริยะมงคล
  61. พระปลัดพีระพงศ์ พฑฺฒนิโก วัดป่าเลิศธรรมนิมิต
  62. พระใบฎีกาทำนุ จิตฺตวโร วัดป่าเลิศธรรมนิมิต
  63. พระอาจารย์ธงชัย ธมฺมวิริโย วัดป่าเวฬุพัชร
  64. พระมหาเอกมงคล ปภาโส วัดธรรมมงคล

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสืออัตชีวประวัติ พระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร), 2552, หน้า 61
  2. "สมเด็จพระญาณวชิโรดม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-07. สืบค้นเมื่อ 2021-08-07.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 72, ตอนที่ 95 ง, 13 ธันวาคม 2498, หน้า 3013
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 84, ตอนที่ 128 ง ฉบับพิเศษ , 30 ธันวาคม 2510, หน้า 4
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ , เล่ม 109, ตอนที่ 101 ฉบับพิเศษ, วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535, หน้าที่ 5-6
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 119, ตอนที่ 23 ข , 11 ธันวาคม 2545, หน้า 3
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 128, ตอนที่ 12 ข , 29 กรกฎาคม 2554, หน้า 1
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ , เล่ม 136, ตอนที่ 40 ข, 28 กรกฎาคม 2562
  9. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสถาปนาสมศักดิ์ เล่ม 137 ตอนที่ 31 ข, 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]