พระเจ้าพินทุสาร
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
พระเจ้าพินทุสาร (สันสกฤต: बिन्दुसार อังกฤษ: Bindusara) เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ของราชวงศ์เมารยะ เป็นราชโอรสในพระเจ้าจันทรคุปต์ และเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช
ภูมิหลัง
[แก้]ในข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์มากนัก การรวบรวมข้อมูลโดยส่วนใหญ่จึงมาจากจดหมายเหตุในศาสนาเชนที่มีการบันทึกไว้หลังจากพระองค์สวรรคตแล้วประมาณ 100 ปี[1] และการกล่าวถึงจากข้อมูลที่มีการบันทึกในสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์และสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช[2][3] ในทางพระพุทธศาสนา มีตำราบางเล่มที่มีการกล่าวถึงพระเจ้าพินทุสาร เช่น อโศกวัฒนา มหายันศติกะ เป็นต้น[4][5][6] นอกจากนี้ ในข้อมูลบันทึกของชาวกรีกมีการกล่าวนามอื่นของพระองค์ไว้ว่า “อมิโตรเชต” (Amitrochates)[7]
พระราชประวัติ
[แก้]เนื่องจากข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์กล่าวว่าธิดาของเซลลูคัส I นิเคเตอร์ ผู้เป็นชายาองค์แรกนั้นไม่มีทายาท หากแต่เมื่ออภิเษกกับพระนางทุรฮารา พระองค์ได้ประสูติพระโอรส พระเจ้าพินทุสาร จึงเป็นราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระเจ้าจันทรคุปต์[8]
จากบันทึกทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาเชนเขียนไว้ว่า พระนามของพระองค์มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ทรงครองราชสมบัติ พราหมณาจารย์จาณักยะจะมีการผสมยาพิษเล็กน้อยในอาหารให้พระองค์เสวย เพื่อสร้างความทนทานต่อพิษต่างๆ แก่พระวรกายของพระองค์ โดยที่พระเจ้าจันทรคุปต์มิทรงทราบว่าอาหารนั้นเจือยาพิษ จึงป้อนอาหารพระราชทานพระนางทุรฮาราที่ทรงพระครรภ์อยู่ ครั้นพระนางได้รับพิษ พราหมณาจารย์จาณักยะเกรงว่าจะกระทบกับทารกในพระครรภ์ จึงสังหารพระนางและผ่าพระครรภ์ช่วยทารกผู้นั้นออกมา เป็นพระโอรส เนื่องจากได้รับพิษทำให้มีจุดแผลเป็น (พินทุ) บริเวณหน้าผาก พราหมณาจารย์จาณักยะ จึงตั้งพระนามให้พระองค์ว่า “พินทุสาร”[9][10]
เครือญาติและพระบรมวงศานุวงศ์
[แก้]จากตำราอโศกวัฒนาและมหาวรรศะ กล่าวว่า พระองค์มีทายาท 101 คน โดยปรากฏชื่อชัดเจน 3 พระองค์คือ สุศิม (Sushima) เป็นราชโอรสองค์โต ถัดมาคือ พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka) และ วิทอโศก (Vigatashoka)
ในส่วนของชายา กล่าวว่าพระองค์มีชายามากถึง 16 คน แต่ที่ปรากฏชื่อชัดเจน คือ “พระนางศุภัทรางคี” หรือ “พระนางธรรมา” ชายาองค์ที่ 2 ผู้เป็นพระราชมารดาของพระเจ้าอโศกมหาราช และ วิทอโศก เดิมเป็นบุตรีของพราหมณ์ผู้หนึ่งในนครจำปา เมื่อครั้งนางกำเนิด หมอดูทำนายดวงชะตาของนางว่า นางจะให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน โดยผู้หนึ่งจะเป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ และอีกผู้หนึ่งจะเป็นนักบวช เมื่อนางเติบโตขึ้น บิดาของนางจึงถวายนางให้เป็นนางกำนัลในพระราชวัง เพื่อรับใช้ราชธิดาและชายาองค์อื่นๆ ของพระเจ้าพินทุสาร ด้วยความงามของนางทำให้ราชธิดาต่างๆ ล้วนอิจฉา หากแต่เมื่อพระเจ้าพินทุสารทรงทราบถึงฐานะของนาง จึงอภิเษกให้นางเป็นชายาในที่สุด[11][12]
การปกครอง
[แก้]พระเจ้าพินทุสารทรงครองราชย์สมบัติช่วง 297 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยแผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์นั้นคือแผ่นดินจักรวรรดิเมารยะเดิมที่พระเจ้าจันทรคุปต์รวบรวมไว้ได้[13] และมาขยายอาณาเขตเพิ่มโดยพระเจ้าโศกมหาราชเมื่อครั้งเป็นราชกุมาร โดยมีเมืองสำคัญ เช่น ตักศิลา อุชเชนี เป็นต้น[14] จากตำรามหาวรรศะ สันนิษฐานว่าพระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติรวม 28 ปี[15]
ศาสนา
[แก้]ไม่มีข้อยืนยันว่าพระองค์นับถือศาสนาใด แต่จากข้อมูลของ Sanchi สันนิษฐานว่าพระองค์มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา[16][17]
บั้นปลายพระชนม์ชีพ
[แก้]ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ยังไม่ชัดเจนมากนัก บ้างสันนิษฐานว่าพระเจ้าพินทุสารเสด็จสวรรคตช่วง 270 – 273 ปีก่อนคริสต์ศักราช[18] บ้างสันนิษฐานว่าพระองค์เสด็จสวรรคตหลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติ[19]
การกล่าวถึงในยุคร่วมสมัย
[แก้]บทบาทของ “พระเจ้าพินทุสาร” ปรากฏในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เช่น
ภาพยนตร์ อโศกมหาราช (2001) รับบทโดย เกอร์ซัน ดา จันฮา[20]
ละครโทรทัศน์ อโศกมหาราช (2015) รับบทโดย ซาเมียร์ ธรรมธิการี[21]
ละครโทรทัศน์ จันทรคุปต์ ศึกรักชิงบัลลังก์ (2016) รับบทโดย ซิด-ดาร์ธ นิกัม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Singh 2008, p. 331-332.
- ↑ Srinivasachariar 1974, p. lxxxvii.
- ↑ Srinivasachariar 1974, pp. lxxxvii-lxxxviii.
- ↑ Srinivasachariar 1974, p. lxxxviii.
- ↑ Singh 2008, p. 331.
- ↑ S. M. Haldhar (2001). Buddhism in India and Sri Lanka (c. 300 BC to C. 600 AD). Om. p. 38.
- ↑ Kosmin 2014, p. 35.
- ↑ Motilal Banarsidass (1993). "The Minister Cāṇakya, from the Pariśiṣtaparvan of Hemacandra". In Phyllis Granoff. The Clever Adulteress and Other Stories: A Treasury of Jaina Literature. Translated by Rosalind Lefeber. pp. 204–206.
- ↑ Trautmann, Thomas R. (1971). Kauṭilya and the Arthaśāstra: a statistical investigation of the authorship and evolution of the text. Brill. p. 15.
- ↑ Motilal Banarsidass (1993). "The Minister Cāṇakya, from the Pariśiṣtaparvan of Hemacandra". In Phyllis Granoff. The Clever Adulteress and Other Stories: A Treasury of Jaina Literature. Translated by Rosalind Lefeber. pp. 204–206.
- ↑ ugène Burnouf (1911). Legends of Indian Buddhism. New York: E. P. Dutton. pp. 20–29.
- ↑ Sastri 1988, p. 167.
- ↑ Singh 2008, p. 331.
- ↑ Srinivasachariar 1974, p. lxxxvii.
- ↑ Kashi Nath Upadhyaya (1997). Early Buddhism and the Bhagavadgita. Motilal Banarsidass. p. 33. ISBN 9788120808805.
- ↑ Kanai Lal Hazra (1984). Royal patronage of Buddhism in ancient India. D.K. p. 58.
- ↑ Singh 2008, p. 331.
- ↑ Singh 2008, p. 331.
- ↑ B. Lewis Rice (1889). Epigraphia Carnatica, Volume II: Inscriptions and Sravana Belgola. Bangalore: Mysore Government Central Press. p. 9.
- ↑ Sukanya Verma (24 October 2001). "Asoka". rediff.com.
- ↑ "Happy Birthday Sameer Dharamadhikari", The Times of India, 25 September 2015