ข้ามไปเนื้อหา

พระองค์เจ้าศรีสังข์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระองค์เจ้าศรีสังข์
พระองค์เจ้า
ประสูติราว พ.ศ. 2288[1]
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2314[2] (ราว 26 ปี)
อาณาจักรกัมพูชาธิบดี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
พระมารดาหม่อมจัน

พระองค์เจ้าศรีสังข์ (เวียดนาม: Chiêu Xỉ Xoang)[3] หรือ เสสัง (ราว พ.ศ. 2288[1]–2314)[2] เป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ กับหม่อมจัน และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เจ้าศรีสังข์ทรงหนีรอดจากการล้อมกรุงของพม่าได้ แต่ระยะต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชประสงค์ที่จะกำจัดพระองค์เจ้าศรีสังข์เพื่อความชอบธรรมต่อการตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่[4][5] สุดท้ายพระองค์เจ้าศรีสังข์สิ้นพระชนม์ลงในดินแดนกัมพูชาขณะยังลี้ราชภัย[2]

ประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]

พระองค์เจ้าศรีสังข์ เป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ ที่ประสูติแต่หม่อมจัน[6] ซึ่งประสูติก่อนที่พระชนกจะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมหาอุปราช[7] ทั้งนี้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มคนเข้ารีตและชาวยุโรปมาก จนบาทหลวงในยุคนั้นวาดฝันไว้ว่าหากพระมหาอุปราชพระองค์นี้ขึ้นเสวยราชสมบัติ คงจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และจะทรงชักนำให้คนไทยเข้ารีตตามพระองค์เป็นแน่ แต่ความหวังของบาทหลวงกลับไม่เกิดขึ้นจริง เพราะเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ทิวงคตไปเสียก่อน[1] หลังการทิวงคตของพระชนก พระมหากษัตริย์อยุธยาที่มีศักดิ์พระเจ้าอา (อาจเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์) ทรงรับพระองค์เจ้าศรีสังข์ไปชุบเลี้ยงภายในพระบรมมหาราชวัง[1]

พระองค์เจ้าศรีสังข์เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่คนเข้ารีต ดังปรากฏความใน จดหมายมองซิเออร์เคอร์ ถึงมองซิเออร์ดารากอง ระบุว่า "...เจ้าองค์นี้มีอัธยาศัยอันดี คือพระทัยกว้างขวาง ทรงพระปรีชาสามารถเฉียบแหลมเกินกว่าอายุและยิ่งกว่าคนไทยทั้งปวง ทั้งโปรดปรานพวกเข้ารีตและนับถือพวกฝรั่งเศส จึงมีพระประสงค์นักที่จะได้ไปเห็นของอันน่าพิศวง..."[1] พระองค์เจ้าศรีสังข์มีพระเชษฐภคินีต่างพระชนนีพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้ามิตร (ต่อมาได้พระนามใหม่ว่า ประทุม) เข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[8]

ในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เจ้าศรีสังข์เสด็จออกนอกกรุงได้ โดยใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่า พระองค์เจ้าศรีสังข์ทรงหลบหนีไปเมืองพิมายกับพวกกรมหมื่นเทพพิพิธ ครั้นภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกทัพไปตีเมืองพิมาย ทรงสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระองค์เจ้าศรีสังข์ทรงหนีรอดออกไปเมืองเขมร ความว่า "...กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าสีสังข์ไปอยู่พิมาย ต่อสู้รบประจันกัน จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธ บุตรชาย ๒ บุตรหญิง ๑ กับเจ้าสีสังข์ กรมหมื่นเทพพิพิธท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าสีสังข์หนีไปเมืองขอม..."[8] ขณะที่ จดหมายมองซิเออร์เคอร์ ถึงมองซิเออร์ดารากอง อันเป็นเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ได้บันทึกเรื่องราวที่ต่างออกไปว่า พระองค์เจ้าศรีสังข์และพระอนุชาพระองค์หนึ่ง สามารถหนีลอดเล็ดออกนอกกรุงได้ โดยอาศัยรอนแรมอยู่ตามป่าถึงสามเดือน เมื่อทราบข่าวว่าพม่าเลิกทัพแล้ว พระองค์เจ้าศรีสังข์จึงเสด็จเข้าไปในเมืองบางกอก (ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานคร) แล้วเสด็จออกไปถึงเมืองบางปลาสร้อย (ปัจจุบันคือจังหวัดชลบุรี) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2310 มีพระชันษา 22 ปี[1]

ลี้ราชภัย

[แก้]

ในกาลต่อมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่ามีเชื้อพระวงศ์กรุงเก่าอยู่ที่เมืองบางปลาสร้อย ก็ทรงหาวิธีการกำจัดผู้มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์กรุงสยาม โดยได้จัดเรือให้ออกไปจับพระองค์เจ้าศรีสังข์มาไว้ที่เมืองจันทบุรีที่พระองค์ประทับอยู่ คนเข้ารีตที่ทราบเรื่องดังกล่าวจึงหาทางช่วยเหลือพระองค์เจ้าศรีสังข์ ซึ่งส่วนพระองค์นั้นมีพระประสงค์ที่จะเสด็จไปประทับยังทวีปยุโรป คนเข้ารีตผู้นั้นได้จัดหาเรือลำเล็กล่องจากเมืองบางปลาสร้อยฝ่าภยันตรายจากเหล่าโจรสลัดญวนและมลายูที่ชุกชุมแถบชายฝั่งอ่าวไทยไปจนถึงเมืองฮอนดัต หวังใจจะเข้าไปลี้ภัยในเมืองพุทไธมาศ (คือราชรัฐห่าเตียน คนละเมืองกับเมืองบันทายมาศ) แต่เมื่อไปถึงแล้ว มองซิเออร์อาโตด์กลับแนะให้คนเข้ารีตผู้นั้นพาพระองค์เจ้าศรีสังข์ไปไว้ที่เมืองเขมรแทน เพราะท่านไม่ไว้ใจม่อ ซื่อหลิน ผู้เป็นเจ้าเมืองพุทไธมาศนัก[1] ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ความว่า "๏ ในปีกุญ 1129 แลจุลศักราช 1129 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุทธยา ๆ แตกเสียกรุงแก่พม่า ๆ จับได้พระราชวงษานุวงษ์กระษัตริย์ไทยแลกวาดต้อนครอบครัวนำจากเมืองไทยไปเมืองพม่าเปนอันมาก เจ้าเสสังออกรบแพ้พม่า หนีจากกรุงศรีอยุทธยามาพึ่งพระบารมี พระบรมบพิตรณกรุงกัมพูชาธิบดี ๚"[9] ขณะที่ บันทึกตระกูลหมัก ระบุว่าพระองค์เจ้าศรีสังข์เคยเสด็จลี้ภัยในเมืองพุทไธมาศมาก่อน[3]

ในเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศสระบุว่า พระองค์เจ้าศรีสังข์ประทับที่เมือง "พราหมณ์ไบลชม" (Prambleichom) โดยได้รับการต้อนรับจากบาทหลวงเป็นอย่างดี และเมื่อพระนารายน์ราชารามาธิบดี กษัตริย์เขมร ทรงทราบเรื่องที่มีเจ้าไทยลี้ภัยในดินแดนของตน ก็ได้รับสั่งสอบถามข้อมูลกับพระองค์เจ้าศรีสังข์อยู่หลายเที่ยว กระทั่งกษัตริย์เขมรเสด็จออกรับพระองค์เจ้าศรีสังข์และถวายพระเกียรติยศให้เต็มที่[1] มีการรับรองพระองค์เจ้าศรีสังข์อย่างเอิกเกริก[10] ทั้งยังสร้างวังซึ่งทำจากไม้ไผ่ขึ้นถวาย พระองค์เจ้าศรีสังข์ประทับในวังนี้โดยไม่สู้จะเต็มพระทัยนัก และทรงปริวิตกว่าอาจออกจากเมืองเขมรไม่ได้เป็นแน่[1] พระนารายน์ราชารามาธิบดีเองก็แสวงหาประโยชน์จากพระองค์เจ้าศรีสังข์ที่เป็น "เจ้าจากกรุงเก่า" เพราะหากพระองค์เจ้าศรีสังข์สามารถกลับมาเสวยราชย์กรุงศรีอยุธยาได้อย่างที่รัฐบาลจีนต้องการ ทางกัมพูชาเองก็พลอยได้ประโยชน์ไปด้วย[5] ฝ่ายเมืองพุทไธมาศที่ได้รับพระราชทานปืนใหญ่หล่ออย่างยุโรปสองกระบอกจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[10] ก็คิดหาทางบีบให้ฝ่ายบาทหลวงและทางกัมพูชาส่งตัวพระองค์เจ้าศรีสังข์ไปยังเมืองพุทไธมาศแลกกับการปล่อยตัวบาทหลวงที่ถูกทางการของพุทไธมาศกุมขังอยู่[1] มองซิเออร์อาโตด์ผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับพระองค์เจ้าศรีสังข์ แต่ใจก็อยากช่วยบาทหลวงให้พ้นจากการถูกจองจำด้วย จึงเสนอสัญญาสี่ข้อกับพุทไธมาศ คือ ก่อนที่จะไปยังเมืองเขมรต้องปล่อยตัวบาทหลวงที่ถูกคุมขังเสียก่อน, หากพระองค์เจ้าศรีสังข์เสด็จไปพุทไธมาศแล้วจะต้องไม่ควบคุมกักขังพระองค์, ในการที่จะไปเมืองเขมรนี้มิใช่ไปในฐานะราชทูต เพียงแต่จะไปกราบทูลกับเจ้าศรีสังข์อย่างเดียวเท่านั้น และพระองค์เจ้าศรีสังข์จะเสด็จมาหรือไม่ขึ้นอยู่กับพระองค์เอง[11] อย่างไรก็ตามพระองค์เจ้าศรีสังข์ทรงทราบเจตนาของม่อ ซื่อหลิน เป็นอย่างดี จึงรับสั่งว่า "การที่พระยาตากได้ส่งของดี ๆ มาให้เจ้าเมืองคันเคานั้นก็เท่ากับจะซื้อศีรษะของข้าพเจ้าเท่านั้น" พระองค์เจ้าศรีสังข์ไม่ยอมเสด็จไปเมืองพุทไธมาศอย่างที่ม่อ ซื่อหลินปรารถนา[11] ซึ่งเอกสารบางแห่งระบุว่า ม่อ ซื่อหลิน วางแผนที่จะจับกุมสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วตั้งเจ้าจากราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นครองราชสมบัติแทน[12]

ถึงกระนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยังมีพระราชประสงค์ที่จะกำจัดพระองค์เจ้าศรีสังข์ดังเดิม ปรากฏใน จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรี คราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมร พ.ศ. 2314 เนื้อหาระบุว่า "...มาบัดนี้จะส่งเจ้าองค์รามขึ้นไปราชาภิเษก ณ กรุงกัมพูชาธิบดี…ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย แลข้าหลวงชาวกรุงฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น..."[4][5] จากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีเมืองพุทไธมาศแตกพ่าย และยกทัพขึ้นไปตีเมืองเขมรต่อ พระองค์เจ้าศรีสังข์จึงเสด็จลี้ภัยออกจากเมืองเขมร ปรากฏใน จดหมายรายวันทัพสมัยธนบุรี ระบุว่า "…พระองค์รามราชาบอกหนังสือมาถึง ฯลฯ ณ ศาลา ๆ เอาหนังสือบอกกราบทูลพระฯ ใจความว่า พระองค์อุทัย, เจ้าเสสัง, หนีไปแคว้นเมืองญวน ๆ ไม่ให้เข้าไปจึงยกทัพกลับมา พระองค์รามราชาให้ทหารไปเกลี้ยกล่อม พบกองทัพพระองค์อุทัย ได้รบกัน กองทัพพระองค์อุทัยแตก…"[4][5]

สิ้นพระชนม์

[แก้]

สองเดือนต่อมาหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพกลับกรุงธนบุรี พระองค์เจ้าศรีสังข์สิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. 2314 ในแดนของกัมพูชา ดังปรากฏใน ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ความว่า "๏ ลุถึงเดือน 3 ในปีเถาะ 1133 นี้ เจ้าเสสังซึ่งเปนเจ้าไทยที่หนีจากกรุงศรีอยุทธยาครั้งเมื่อพม่ามาตีเมือง มาอยู่เมืองเขมรนั้นได้สิ้นพระชนม์ลง ๚"[2]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 "เจ้าไทย พระดำริของเจ้าไทย จะร้องไปยังประเทศฝรั่งเศส จดหมายมองซิเออร์เคอร์ ถึงมองซิเออร์ดารากอง". ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23, หน้า 67–71
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 139
  3. 3.0 3.1 2310 กรุงธนบุรีผงาด, หน้า 159
  4. 4.0 4.1 4.2 ปรามินทร์ เครือทอง (15 เมษายน 2566). "ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก "ตามล่า" รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "ชะตากรรม "เจ้าศรีสังข์" พระราชนัดดา "พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ" ลี้ภัยการเมืองสู่เขมร". ศิลปวัฒนธรรม. 4 พฤศจิกายน 2566. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 627
  7. "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 551
  8. 8.0 8.1 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 59–60
  9. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 134
  10. 10.0 10.1 "จดหมายมองซิเออร์อาโตด์ ถึงผู้อำนวยการคณะการต่างประเทศ". ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23, หน้า 71–76
  11. 11.0 11.1 "ข้อสัญญาของมองซิเออร์อาโตด์". ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23, หน้า 76–80
  12. 2310 กรุงธนบุรีผงาด, หน้า 161
  13. "คำให้การชาวกรุงเก่า". พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 623, 627

บรรณานุกรม

[แก้]
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 336 หน้า. ISBN 978-616-514-668-5
  • สุเจน กรรพฤทธิ์. 2310 กรุงธนบุรีผงาด. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2561. 296 หน้า. ISBN 978-616-465-002-2
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • ประชุมพงศาวดาร เล่ม 23. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2511. 348 หน้า.