ข้ามไปเนื้อหา

พระราชพิธีพัชราภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในงานพระราชพิธีพัชราภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2440

พระราชพิธีพัชราภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (อังกฤษ: Diamond Jubilee of Queen Victoria) จัดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2440 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียครองสิริราชสมบัติครบปีที่ 60

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2439 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงดำรงพระชนมายุล้ำพระชนมายุของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระอัยกา ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ สก็อตแลนด์ และสหราชอาณาจักร พระองค์มีพระประสงค์ให้เลื่อนการเฉลิมฉลองของสาธารณชนแบบพิเศษต่าง ๆ ออกไปถึงปี พ.ศ. 2440 พร้อมกับพระราชพิธีพัชราภิเษกของพระองค์ โจเซฟ แชมเบอร์เลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคม ได้เสนอให้จัดพระราชพิธีพัชราภิเษกเป็นการเฉลิมฉลองทั่วจักรวรรดิอังกฤษ

พระราชพิธี

[แก้]

นายกรัฐมนตรีของอาณานิคมที่ปกครองตนเองต่าง ๆ พร้อมกับครอบครัวได้รับเชิญให้มาร่วมในงานฉลอง ในขบวนเสด็จที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงเข้าร่วมประกอบด้วยกองทหารจากอาณานิคมและดินแดนในปกครองอังกฤษแต่ละแห่ง พร้อมกับทารที่ส่งมาจากเจ้าครองรัฐหรือหัวหน้าดินแดนของอินเดีย (ซึ่งขึ้นกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จักรพรรดินีแห่งอินเดีย) การเฉลิมฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษกก็ได้เป็นโอกาสที่แสดงถึงความรักอันท่วมท้นอย่างมากต่อสมเด็จพระราชินีนาถในวัย 70 พรรษาเศษ ซึ่งในขณะนั้นได้ประทับอยู่บนรถเข็น การเฉลิมฉลองต่าง ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับการอารักขาอย่างเข้มงวดมาก ซึ่งก็มาจากแผนการลอบปลงพระชนม์จากพวกชาตินิยมไอริชในครั้งพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อ 10 ปีก่อน

ตลอดทั่วทั้งจักรวรรดิอังกฤษ การเฉลิมฉลองก็ยังดำเนินไปแม้ว่าจะไม่มีองค์พระประมุขมาปรากฏพระองค์จริงให้เห็น พร้อมกับขบวนพาเหรดและงานเลี้ยงฉลองต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามเมืองใหญ่หลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และดินแดนในปกครองต่าง ๆ ของประเทศอังกฤษ ในประเทศแคนาดาถนนหนทางประดับประดาอย่างสวยงามและเซอร์ วิลเฟรด ลอริเยร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เดินทางไปหลาย ๆ แห่งของประเทศเพื่อร่วมงานเฉลิมฉลอง นอกจากนี้ยังได้มีการออกแสตมป์งานพระราชพิธีพัชราภิเษกที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสององค์อยู่ด้านหน้าเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2440

จากหนังสือพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเรื่องพระราชินีนาถวิกตอเรีย ได้กล่าวไว้ว่าในปีเดียวกับที่พระราชินีนาถวิกตอเรียทรงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปีที่พระราชินีนาถทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองใหญ่และพระราชทานนามพระราชพิธีว่า Diamond Jubilee หรือ พัชราภิเษก

พระราชินีนาถทรงรู้สึกพระองค์ว่าพระชรามากแล้ว ด้วยมีพระชันษามากถึง 78 ปี จึงมิได้โปรดให้จัดงานมโหฬารเท่ากับพระราชพิธีฉลองเมื่อครองราชย์ครบ 50 ปี ที่เรียกว่า Golden Jubilee หรือ กาญจนาภิเษก ใน พ.ศ. 2430 ครั้งนี้พระราชินีไม่ได้เชิญเสด็จพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดมาในงานพระราชพิธีเลย แม้แต่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ผู้เป็นพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ก็มิได้เสด็จมา

ในกระบวนแห่พยุหยาตราครั้งนี้ พระราชินีนาถเสด็จไปในรถพระที่นั่งทองสำหรับพระราชพิธี เทียมด้วยม้าสีขาว 8 ม้า มีเจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระราชสุณิสาประทับตรงกันข้าม ในขณะที่จักรพรรดินีเฟรเดอริคแห่งเยอรมนี พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ประทับรถคันที่ 2 ในกระบวน เทียมด้วยม้าสีดำขลับ 4 ม้า แล้วก็มีรถเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นตามเสด็จอีกเป็นกระบวนยาว พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระญาติวงศ์ฝ่ายหน้าทรงม้าตามเสด็จไปในกระบวนทั้งสิ้น

เมื่อกระบวนแห่ไปถึงมหาวิหารเซนต์พอล พระราชินีนาถก็เสด็จลงจากรถพระที่นั่งเสด็จเข้าไปในโบสถ์เพื่อให้อาร์คบิชอปแห่งแคนเตอร์บรีกระทำพิธีทางศาสนาถวายโดยย่อ ทั้งนี้เพราะไม่สามารถจะประทับอยู่นานดังแต่ก่อนได้

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • ว.ณ.ประมวลมารค, พระราชินีนาถวิกตอเรีย, กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548​