พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการจัดงานพระบรมศพในประเทศอังกฤษ เป็นพิธีภายในเงียบ ๆ ไม่มีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีพระสงฆ์ แต่ทางราชการอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน (ที่ประทับ) ได้ถึง 4 คืน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง 1 คืนเท่านั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "เกิดวังปารุสก์" ตอนหนึ่งว่า
"ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา"
กระบวนแห่พระบรมศพ
[แก้]เมื่อได้ประดิษฐานพระบรมศพไว้ครบ 4 คืนเพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลได้เสด็จมาเฝ้ากราบถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ก็ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม มีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยังสุสานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน
คันแรกเป็นรถพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รถคันที่สองเป็นรถที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระราชภาดาคันต่อไปเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมกับพระชายา คันต่อไปเป็นรถของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และบุคคลอื่น ๆ
ขบวนแห่พระบรมศพแม้จะดูน้อย แต่เมื่อเสด็จไปถึงสุสานโกลเดอร์สกรีน ได้มีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มากทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมศพเข้าสู่ฐานที่ตั้ง และผู้ที่ตามเสด็จเข้าประทับและนั่งเก้าอี้แถวโดยลำดับแล้ว นายอาร์. ดี. เครก (R. D. Craig) ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทยและเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นถวายความเคารพทีละคน มีคนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนาได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล
พระราชดำริในการจัดการพระบรมศพ
[แก้]หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกความทรงจำไว้ตอนหนึ่งว่า
"เหมือนจะทรงทราบดีว่าพระชนม์จะไม่ยืนยาวต่อไป จึงได้ทรงสั่งไว้ว่า ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงจัดการตามพระราชดำรัสสั่งทุกประการ"
ตามหนังสือพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงบันทึกว่า คณะดนตรีได้บรรเลงเพลงสากลแบบคลาสสิก "เมนเดลโซนไวโอลินคอนแชร์โต" (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่กดปุ่มให้หีบพระบรมศพเคลื่อนที่ช้า ๆ หายเข้าไปในผนัง แล้วการถวายพระเพลิงด้วยเตาไฟฟ้าก็ได้เริ่มขึ้น
หลังจากนั้น พระบรมอัฐิได้เก็บรักษาไว้ ณ ประเทศอังกฤษ ไม่ได้อัญเชิญกลับประเทศไทยเพราะมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า ถ้ารัฐบาลขณะนั้น (เข้าใจว่าจะหมายถึงสมัย พ.ศ. 2477) ยังมีอำนาจอยู่ตราบใด ก็ไม่ให้นำพระบรมอัฐิกลับมาเมืองไทยเป็นอันขาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ 15 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงดำเนินการที่จะให้รัฐบาลอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาประเทศไทย ดังปรากฏในหนังสือถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2491 ตอนหนึ่งว่า
"......ด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพกษัตริยาธิราชในพระบรมราชวงศ์จักรีได้มีประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้วแทบทุกรัชกาล คงขาดแต่พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตในต่างประเทศ ทุกวันนี้ในงานพระราชพิธีต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิออก บัดนี้ น่าจะถึงเวลาและเป็นการสมควรแล้วที่จะดำริจัดการให้อัญเชิญพระบรมอัฐิเข้ามาประดิษฐานเสียตามพระราชประเพณีที่มีมา อันพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ 7 นั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงรักษาไว้และพระองค์ท่านเองก็ได้เสด็จประทับรอนแรมอยู่ในต่างประเทศมาแล้วเป็นเวลาช้านาน ถ้าจะจัดการอัญเชิญเสด็จกลับเข้ามาประทับเสียในประเทศนี้ และทูลขอให้อัญเชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ 7 เข้ามาด้วย ก็จะดีหาน้อยไม่...."
ในที่สุด รัฐบาลได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2491 มีความว่า
"...คณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาพิจารณาเรื่องนี้ตลอดแล้วเห็นว่า เหตุผลเกี่ยวด้วยพระราชประเพณีตามข้อปรารภของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการสำคัญประการหนึ่ง และนอกจากนี้ รัฐบาลและประชาราษฎรยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดมา พระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านได้ประกอบไว้ ได้อำนวยคุณประโยชน์แก่ประชาราษฎรและประเทศไทยเป็นอเนกประการ อาทิ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการชั่วคราว และพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรากฐานของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ฉะนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการถวายพระเกียรติ โดยขออัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง เสมอด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชวงศ์จักรี ให้ต้องตามพระราชประเพณีตามความปรารถนาของรัฐบาลและคณะประชาราษฎร
อนึ่ง เฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นสอดคล้องต้องกันกับคำปรารภของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลอัญเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยรัฐบาลจักได้ถวายพระเกียรติตามพระราชประเพณีสืบไป...."
พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมอัฐิ กลับสู่ประเทศไทย
[แก้]ดังนั้น ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันแห่งเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสู่ท่าเรือเซาท์แทมป์ตัน
ผู้สื่อข่าวพิเศษประจำลอนดอนของหนังสือข่าวภาพสยามนิกร ได้เขียนบรรยายเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ดังต่อไปนี้
"ณ บริเวณท่าเรือ นอกจากจะพบคนไทยซึ่งมาชุมนุมกันอยู่อย่างคับคั่งแล้ว ยังพบชาวต่างประเทศทั้งอังกฤษและมิใช่ อีกทั้งทหารและพลเรือนมาออชมพระบารมีสมเด็จพระบรมราชินี และพิธีส่งพระบรมอัฐิของสมเด็จพระราชสวามีกันอยู่เนืองนอง รอบ ๆ บริเวณท่าเรือจะแลเห็นตึกรามใหญ่ปรักหักพังย่อยยับปรากฏอยู่ อันเป็นผลของอิทธิพลของลุฟท์วัฟเฟอ ของฮิตเลอร์ เมื่อครั้งสงคราม มีบางหลังซึ่งได้สร้างขึ้นใหม่บ้าง แต่รอยสลายยังปรากฏอยู่ทั่วไป และเรือแพนาวาทั้งหลายไม่ว่าใหญ่ว่าย่อม บรรดาที่จอดอยู่ ณ ท่าเรือนี้จะเกร่อไปด้วยผู้คน ซึ่งยืนเท้าราวเหล็กบนดาดฟ้ากันเป็นทิว
ข้าพเจ้าไปถึงได้ไม่นาน กองพันทหารราบเบาของเมอเซท ซึ่งมารออยู่ก่อนหน้าแล้ว ก็ตั้งแถวกองเกียรติยศพร้อมด้วยแตรวงของกองพัน ตอนใกล้ทางเข้าของท่าเรือมีข้าราชการ ทหาร และพลเรือนทั้งของไทยและอังกฤษยืนชุมนุมอยู่ ต่อไปเป็นทหารกองเกียรติยศ เลยแถวทหารไปเป็นหมู่คนไทยทั้งหญิงและชาย ซึ่งยืนเรียงรายไปตามความยาวของเรือ Wilhelm Ruys ซึ่งจะพาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีและพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับบ้านเกิดเมืองมารดรของพระองค์
ครั้นเวลา 11.30 นาฬิกา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เอกอัครราชทูตไทยประจำสำนักเซนต์เยมส์ก็มาถึงพร้อมด้วยชายา และหลังจากที่ได้ทักทายข้าราชการไทยและอังกฤษ ซึ่งมายืนรอรับอยู่ใกล้ทางเข้าท่าเรือแล้ว ก็ทรงรอรับเสด็จพระบรมราชินี ณ ที่นั้น พอใกล้เที่ยงมองแต่ไกลก็เห็นธงมหาราชน้อยปลิวไสวอยู่หน้ารถพระที่นั่งคันใหญ่ ดำมะเมื่อม ซึ่งค่อย ๆ คลานเข้าประตูมา สมเด็จพระบรมราชินีทรงก้าวลงอย่างแช่มช้อย แตรวงทหารกองเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพร้อมด้วยท่านเอกอัครราชทูตและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนทั้งทหารและพลเรือนผ่านแถวทหารและหมู่ประชาชนชาวไทยไปขึ้นเรือ ซึ่งบนเสากระโดงเรือมีธงมหาราชอันเหลืองอร่ามปลิวสะบัดอยู่
สมเด็จพระบรมราชินีทรงทักทายข้าราชการ ทหาร และพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายอังกฤษและไทยอยู่ครู่หนึ่ง ต่อจากนั้น ได้เสด็จพระดำเนินตรวจทหารกองเกียรติยศ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปขึ้นเรือ ระหว่างทางได้ทรงทักทายเพื่อนร่วมชาติของพระองค์ ซึ่งได้เรียงรายกันอยู่เพียบพร้อมคับคั่งอย่างไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อนในต่างประเทศ ข้าราชการ ทหาร และพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ได้เดินตามเสด็จไปส่งถึงบนเรือ ซึ่ง ณ ห้องอาหารเล็กของเรือได้พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ข้าราชการดังกล่าวนั้นอย่างเป็นกันเอง
คนโดยสารทั้งหลายของเรือ Wilhelm Ruys ตลอดจนลูกเรือซึ่งแต่แรกชุมนุมกันอยู่บนดาดฟ้าอย่างเนืองแน่นนั้น บัดนี้ได้หายเข้าไปในลำเรือเหมือนถูกมนต์ ด้วยทุกคนทั้ง ๆ ที่คงจะได้ชมพระบารมีไปอีกหลายวันกว่าจะถึงสิงคโปร์ ต่างก็ฉกฉวยโอกาสแห่งความตื่นเต้นทึ่งใจนี้ไม่ได้ ยังให้ดาดฟ้าอ้างว้างปลอดโปร่งเหมือนเรือที่ลอยลำโดยไม่มีผู้คน
หลังจากเวลาอาหารกลางวันได้ผ่านไปแล้ว สมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จขึ้นยังห้องสมุดของเรือ ซึ่ง ณ ที่นั้น ได้ทรงต้อนรับข้าราชการที่มาทูลลาและถวายพระพรให้การเดินทางของพระองค์แจ่มใสสวัสดี เวลาเลื่อนมาถึง 13.30 นาฬิกา Wilhelm Ruys ก็ถอนสมอขึ้นและเริ่มถอยลำออกไป และนานเท่านานที่เรือกำลังถอยออกสู่ท้องน้ำใหญ่ จะเห็นพระหัตถ์โบกอยู่บนดาดฟ้าตลอดเวลา เป็นพระหัตถ์ที่น้อมรับเสียงไชโย และมือทั้งหลายนับเรือนร้อยซึ่งโบกสะบัดอยู่บนชานท่าเรือเบื้องล่างนั้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แล้ว Wilhelm Ruys สีฟ้าลำงามก็ใช้จักรเร็วขึ้นมุ่งเข็มออกสู่ท้องทะเล"
เรือวิลเฮ็มไร (Wilhelm Ruys) เป็นเรือของบริษัท Royal Rotterdam Lloyd ได้ไปถึงเกาะสิงคโปร์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 กองทหารซอลสเบอรี (Salisbury) และกองทหารแบล็ควอทช์ (Black Watch) ซึ่งเป็นกรมทหารราบจากสก็อตแลนด์ของอังกฤษตั้งแถวกองเกียรติยศรับเสด็จฯ มีธงไชยเฉลิมพล ทางรัฐบาลไทยได้เช่าเรือ "ภาณุรังษี" จากบริษัท อีสต์เอเชียติกมารับเสด็จจากสิงคโปร์ไปยังเกาะสีชัง
ถึงเกาะสีชังวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานในกล่องหินอ่อน เปลี่ยนลงบรรจุในพระโกศทองคำ เสร็จแล้วอัญเชิญลงเรือรบหลวง "แม่กลอง" แห่งราชนาวีไทย แล่นสู่กรุงเทพมหานคร เทียบท่าราชวรดิฐ แล้วอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยาน แห่เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
วันที่ 25-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และต่อมาในวันที่ 30 มิถุนายน ศกเดียวกัน ได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปบรรจุ ณ พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์