ข้ามไปเนื้อหา

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาภิรมย์ภักดี
(บุญรอด เศรษฐบุตร)
เกิด13 ตุลาคม พ.ศ. 2415
บ้านปลายสะพานขาว วัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน)
เสียชีวิต23 มีนาคม พ.ศ. 2493 (77 ปี)
สัญชาติไทย
คู่สมรสคุณหญิงละม้าย
นางกิม
นางจิ้มลิ้ม
บิดามารดา

พระยาภิรมย์ภักดี นามเดิม บุญรอด เศรษฐบุตร เป็นบุตรของพระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) กับนางมา เศรษฐบุตร เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ที่ย่านจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ให้กำเนิดเบียร์สิงห์และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

ประวัติ

[แก้]

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ณ บ้านปลายสะพานยาว วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน) ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เรียนหนังสือกับบิดาตอนยังเด็ก พออายุ 11 ปี เรียนกับพระอาจารย์เนียม วัดเชิงเลนได้ 1 ปีเศษก็เรียนฝึกหัดวาดเขียนที่บ้านหลวงฤทธิ์ฯ และเรียนหนังสืออังกฤษกับท่านอาจารย์หมอ เอ.ยี.แมคฟาแลนด์ ที่โรงเรียนหลวงสวนอนันต์ ได้ประมาณ 2 ปี โรงเรียนก็ย้ายมาสอนที่สุนันทาลัย สามารถสอบไล่ได้ที่ 1 ในทุกวิชาของโรงเรียน และในปี พ.ศ. 2433 ได้เป็นครูสอนนักเรียนในโรงเรียนสุนันทาลัย ต่อมาก็ได้ไปเป็นครูสอนเด็กที่โรงเลี้ยงเด็กอนาถา

ในปี พ.ศ. 2435 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ทดลองให้ทำหน้าที่ตำแหน่งเลขานุการกระทรวงธรรมการ เมื่อจะลาออกแต่ครูใหญ่ไม่ให้ออก จึงตัดสินใจไม่เอาทั้ง 2 อย่าง จากนั้นทำงานเป็นเสมียนโต้ตอบจดหมายภาษาอังกฤษที่โรงเลื่อยของห้างกิมเซ่ง หลี และห้างเด็นนิมอตแอนด์ดิกซัน จนเห็นลู่ทางธุรกิจจึงมาเริ่มมาเป็นเจ้าของกิจการค้าไม้ เดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า เรือเมล์ขาว โดยตั้งเป็น บริษัทบางหลวง จำกัด แต่เนื่องจากเริ่มมีคู่แข่งมากขึ้นจากเบนเข็มทำธุรกิจอื่น พระยาภิรมย์ภักดีได้พบเอมิล ไอเซินโอเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และได้ลิ้มรสเบียร์เยอรมันจนถูกใจ จึงคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ ได้ยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทยในปี 2473[1] และก่อตั้งโรงงานผลิตเบียร์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยในปี 2476[2]

เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีนโยบายเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตเบียร์มาก่อน จึงยุติลงที่การอนุมัติโรงเบียร์แห่งแรกรัฐบาลไทยอนุมัติให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2476 โดยมีโรงงานตั้งอยู่บนเนื้อที่ 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านบางกระบือ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 6 แสนบาท ในปี พ.ศ. 2477 พระยาภิรมย์ภักดีก็ได้นำเอาเบียร์สดใส่ถังไปเปิดให้ผู้คนดื่มฟรีในงานสโมสรคณะราษฎร ปรากฏว่าเป็นที่พอใจกันยิ่งนัก ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป มีลูกค้าจับจองสินค้าออกสู่ตลาด จนได้จำหน่ายเบียร์รุ่นแรกเมื่อ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 มีตรายี่ห้อต่าง ๆ กัน ทั้งตราว่าว ตราพระปรางค์ ตรากุญแจ ตรารถไฟ ตราหมี ปรากฏว่าเบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุด ต่อมาจึงค่อยๆ หยุดผลิตยี่ห้ออื่นไป จนเหลือเพียงเบียร์สิงห์

ท่านมีความรู้ความสามารถ แต่งตำราการคิดคำนวณ หน้าไม้สำเร็จรูป แต่งตำราว่าวพนัน ได้โปรดเกล้าเป็นนายเรือตรีราชนาวีเสือป่าและกัปตันเรือเดินทะเล ได้เป็นกรรมการสโมสร และสนาม และยังบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่างเช่น ได้ถวายตัวเป็นสมาชิกเสือป่า สร้างศาลาท่าน้ำ สร้างกระโจมแตรในสวนลุมพินี สร้างโรงเรียนอนาถา เป็นต้น ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงภิรมย์ภักดี มีตำแหน่งราชการในกรมท่าซ้าย ถือศักดินา 400 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 [3] ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2456 และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภิรมย์ภักดี ถือศักดินา ๑๐๐๐ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467[4]จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากบรรดาศักดิ์[5]

พระยาภิรมย์ภักดี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2493 สิริอายุรวม 77 ปี[6]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ท่านแต่งงานกับ คุณหญิงละม้าย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2441 ต่อมาภรรยาคลอดบุตรฝาแฝด ในปี พ.ศ. 2443 แต่บุตรฝาแฝดตาย ในปีต่อมาคลอดลูกอีกคนอยู่ได้ราว 2 เดือนก็ตาย ต่อมารับบุตรของน้องชาย พระประเวศวนขันธ์ (ปลื้ม เศรษฐบุตร) มาเป็นบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า วิทย์ เศรษฐบุตร (วิทย์ ภิรมย์ภักดี)

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2455 ได้มีบุตรกับนางกิม ชื่อ ประจวบ เศรษฐบุตร (ประจวบ ภิรมย์ภักดี)

และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 ได้มีบุตรอีกคนกับนางจิ้มลิ้มชื่อ ประจง เศรษฐบุตร (จำนงค์ ภิรมย์ภักดี)

ยศ

[แก้]
  • 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 รองอำมาตย์เอก[7]
  • – อำมาตย์ตรี
  • 8 กุมภาพันธ์ 2467 – นายหมวดตรี[8]
  • 22 สิงหาคม พ.ศ. 2468 จ่า[9]
  • 11 พฤศจิกายน 2469 - อำมาตย์โท[10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กฤษณะ โสภี (6 มิถุนายน 2562). "เมื่อเจ้านายไทย "ทำธุรกิจ" ประเมินผลการลงทุนพระยาภิรมย์ภักดี ถึงเจ้าพระยายมราช". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ก่อตั้งโรงงานผลิตเบียร์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทย[ลิงก์เสีย]
  3. พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  4. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๓๓๗๑)
  5. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการกราบถวายบังคับลาออกจากบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (11 ง): 295–6. 17 กุมภาพันธ์ 2485. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2560. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ข่าวตาย[ลิงก์เสีย]
  7. พระราชทานยศ
  8. พระราชทานยศเสือป่า
  9. พระราชทานยศ
  10. พระราชทานยศ (หน้า 3084)
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๑๘, ๒ ธันวาคม ๒๔๗๑
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๐๐, ๑๑ ตุลาคม ๒๔๖๘
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๕๘, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙