พระมณีรัตนา
พระมณีรัตนา | |
---|---|
พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา | |
ก่อนหน้า | พระวิสุทธิกษัตรีย์ |
พระราชสวามี | สมเด็จพระนเรศวรมหาราช[1] |
พระราชบุตร | อย่างน้อยหนึ่งพระองค์[2] |
ราชวงศ์ | สุโขทัย (อภิเษกสมรส) |
พระมณีรัตนา เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งอาณาจักรอยุธยา เริ่มรับราชการฝ่ายในตั้งแต่พระราชสวามีบรมราชาภิเษก และให้ประสูติกาลพระราชบุตรอย่างน้อยหนึ่งพระองค์
พระประวัติ
[แก้]พระมณีรัตนาเริ่มเข้ารับราชการฝ่ายในตั้งแต่พระราชสวามีทำ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังปรากฏในคำให้การขุนหลวงหาวัดความว่า "ส่วนพระนเรศร์นั้นก็เข้าไปกรุงศรีอยุธยา ก็เสด็จขึ้นสู่พระราชฐาน อันอัครมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวง จึงทำการปราบดาภิเษก แล้วเชื้อเชิญขึ้นในเสวยราชสมบัติจึงถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้ว ทั้งเครื่องราชาธูปโภคทั้งปวงอันครบครันแล้วจึงถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัฏสมญา แล้วฝ่ายกรมในจึงถวายพระมเหสีพระนามชื่อนั้นพระมณีรัตนา แล้วถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น..."[1]
ในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์และอาณาจักรอื่น ๆ (History of the Philippines and Other Kingdom) อันเป็นจดหมายเหตุของสเปน เขียนโดยบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนรา (Marcelo de Ribadeneira) ซึ่งบันทึกตามคำบอกเล่าของบาทหลวงคณะฟรันซิสกันที่เคยอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2125-2139 เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงกระบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคของพระมหากษัตริย์ พระมเหสี และพระราชโอรส ความว่า "...ครั้งหนึ่งบาทหลวงฟรันซิสกันได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินประทับในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งประดับประดาไปด้วยพระปฏิมากร เพื่อจะเสด็จไปยังพระอารามแห่งหนึ่ง...[เรือ] แต่ละลำบรรทุกผู้คนมามากมายที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบประเภทต่าง ๆ...แล้วจากนั้นเป็น [เรือของ] พระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรา ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน สมเด็จพระอัครมเหสีประทับอยู่ลำพังพระองค์..."[2]
จากเนื้อความแสดงว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมณีรัตนาคงมีพระราชบุตรไม่ต่ำกว่าสองพระองค์[2]
พระนามของพระมณีรัตนาถูกตั้งเป็นชื่อสระน้ำแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยนเรศวร[3]
ส่วนชื่อ "มณีจันทร์" มาจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้แปลจดหมายเหตุวันวลิต เดิมผู้เขียนได้บันทึกพระนามของมเหสีม่ายพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดยสะกดตามอักขรวิธีดัตช์ว่า "Tjau Croa Mahaditjan" แต่ผู้แปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้บันทึกเป็น "Zian Croa Mady Tjan"[4] และมีความเป็นไปได้ว่าพระมเหสีพระองค์นี้กับพระมณีรัตนาเป็นคนละคนกัน
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง), ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 331-332
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 330-332
- ↑ "สนองนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ตั้งชื่อสระน้ำธรรมชาติ เป็นพระนามของวีรกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์แห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช". มหาวิทยาลัยนเรศวร. 21 มิถุนายน 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 315
- บรรณานุกรม
- กิตติ วัฒนะมหาตม์. ตำนานนางกษัตริย์. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553. 458 หน้า. ISBN 978-974-341-666-8
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9