พระพรหมวชิรคุณ (ไพบูลย์ สุมงฺคโล)
พระพรหมวชิรคุณ (ไพบูลย์ สุมงฺคโล) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 3 สิงหาคม พ.ศ. 2477 อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง สยาม (89 ปี) |
มรณภาพ | 26 กันยายน พ.ศ. 2566 โรงพยาบาลกรุงเทพ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | นักธรรมเอก |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม เชียงราย |
อุปสมบท | พ.ศ. 2507 |
พรรษา | 59 |
ตำแหน่ง | พระราชาคณะเจ้าคณะรอง |
พระพรหมวชิรคุณ (ไพบูลย์ สุมงฺคโล) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองของฝ่ายธรรมยุต ผู้เป็นพระวิปัสสนาจารย์ปฏิบัติกรรมฐานที่นับถือของพุทธศาสนิกชนชาวไทย[1]
โดยเป็นเจ้าอาวาสและผู้สร้างวัดที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยหลายแห่ง อาทิ วัดอนาลโยทิพยาราม[2] วัดรัตนวนาราม[3] จังหวัดพะเยา และวัดพุทธบาทสุทธาวาส[4] จังหวัดลำปาง
ประวัติ
[แก้]พระพรหมวชิรคุณมีนามเดิมว่า ไพบูลย์ สิทธิ เป็นบุตรของคำ สิทธิ คหบดีชาวลำปาง ผู้เป็นบิดา และกองแก้ว สิทธิ ผู้เป็นมารดา โดยเกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เมื่อปฐมวัยศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จนจบการศึกษา[5]
เมื่ออายุ 29 ปี ได้อุปสมบทที่วัดป่าสำราญนิวาส จังหวัดลำปาง โดยมีพระครูธรรมาภิวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังอุปสมบทได้ออกจาริกธุดงค์ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ภายใต้การอบรมจากหลวงปู่หลวง กตปุญโญ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงราย
เมื่อปี พ.ศ. 2513 ได้จาริกธุดงค์ร่วมกับพระญาณวิศิษฏ์ (ทอง จนฺทสิริ) ชาวบ้านได้มาทำบุญฟังเทศน์ เกิดความศรัทธานิมนต์ให้บูรณะวัดร้างแห่งหนึ่ง ชื่อว่า วัดรัตนวนาราม ที่ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านจากฝั่งกว๊านพะเยาได้นิมนต์สร้างสถานที่สัปปายะบนดอยบุษราคัม ชื่อว่า วัดอนาลโยทิพยาราม ที่ตำบลต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2553 เป็นประธานการจัดสร้างวัดพุทธบาทสุทธาวาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพระบรมราชสมภพ 200 ปี แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อว่า วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ ที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาสมณศักดิ์เป็น พระพรหมวชิรคุณ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง สถิตวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป
เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 พระพรหมวชิรคุณมรณภาพที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 89 ปี[6]
สมณศักดิ์
[แก้]- 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระปัญญาพิศาลเถร[7]
- 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชสังวรญาณ พิศาลพัฒนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
- 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิสุทธิญาณ ภาวนาวิธานปรีชา ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
- 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระธรรมวิสุทธิญาณ ภาวนาวิธานปรีชา ญาณธรรมปคุณ ไพบูลศาสนกิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
- 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรคุณ วิบุลประชาพัฒนาการ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เดลินิวส์. ศิษย์น้อมกราบถวายความอาลัย “หลวงปู่ไพบูลย์” ละสังขารสงบ สิริอายุ 89 ปี. 2566.
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ. ชม 'วัดอนาลโยทิพยาราม' วัดงามบนดอยบุษราคัม เมืองพะเยา. 2560.
- ↑ สังฆาธิการ.คอม. วัดรัตนวนาราม. ม.ป.ป.
- ↑ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. วัดพุทธบาทสุทธาวาส เก็บถาวร 2023-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ม.ป.ป.
- ↑ ไทยเถรวาท. หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล. 2561.
- ↑ ผู้จัดการ. รำลึก “หลวงปู่ไพบูลย์” เยือน “วัดอนาลโย” แดนธรรมะบนดอยบุษราคัม จ.พะเยา. 2566.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2532.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2547.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2551.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2562.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์. 2564.