ข้ามไปเนื้อหา

พระปรางค์วัดมหาธาตุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระปรางค์วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี (อำเภอคลองกระแชง) สร้างมามากกว่า 1,900 ปี มีพระปรางค์ห้ายอด ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคด ที่หน้าบันพระวิหารหลวงประดับลวดลายปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยา ใบเสมาคู่สมัยอยุธยาตอนปลาย ทำด้วยหินทรายแดง จำหลักลวดลายทั้งใบ ความสูงถึงยอดนภศูลประมาณ 55 เมตร รอบฐานยาว 120 เมตร

ประวัติ

[แก้]

วัดมหาธาตุวรวิหารมีอายุมากกว่า 1,000 ปี หลักฐานจากสมุดเพชรบุรี ระบุว่าได้พบอิฐสมัยทวาราวดี บริเวณป่าช้าวัดมหาธาตุ ฯ ด้านที่อยู่ติดกับวัดแก่นเหล็ก เป็นแผ่นอิฐยาวประมาณหนึ่งศอก ปิดทับอยู่บนหลุมฝังศพ มีซากโครงกระดูกหนึ่งโครง มีอักษรจารึกที่แผ่นอิฐนั้นมีความว่า "ข้าพเจ้าจีนแดงได้สร้างพระปรางค์ไว้ไม่สำเร็จ ขอให้ข้าพเจ้าได้สร้างพระปรางค์นี้อีกต่อไป"

การบูรณปฏิสังขรณ์

[แก้]

ในสมัยรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการบูรณะมาแล้ว 5 ครั้ง คือ

พ.ศ. 2357 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พ.ศ. 2406 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม และพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) รักษาการเจ้าเมืองเพชรบุรี ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ โปรดเกล้า ฯ ใหเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ โดยก่อให้สูงระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เสร็จองค์พระปรางค์ก็พังลงมา จึงได้ก่อขึ้นไปอีกประมาณสี่ศอก งานค้างอยู่เพียงเท่านั้น เนื่องจากเจ้าพระยา ฯ ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน

พ.ศ. 2471 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสุวรรณมุนี (ชิด) เจ้าอาวาส ได้มอบให้นายพิณ อินฟ้าแสง เป็นผู้ออกแบบ และขออนุญาตบูรณปฏิสังขรณ์ต่อทางราชการ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเป็นองค์พระปรางค์ห้ายอด แต่ยังไม่มีลวดลายตกแต่งภายนอก เพราะทุนทรัพย์หมดลง ใช้เวลาดำเนินการอยู่ 1 ปี 11 เดือน รวมเงิน 13,000 บาท ในการบูรณะครั้งนี้ได้พบตลับลายครามบรรจุพระพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นพระพุทธรูปทองและเงิน และพบพระบรมสารีริกธาตุจำนวนสององค์

พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปยังวัดมหาธาตุ ฯ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,500 บาท ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์ด้วย ได้มีผู้ร่วมบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก การบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี

พ.ศ. 2479 เป็นพระปรางค์ที่สูงใหญ่สง่างาม ประกอบด้วย ศิลปะปูนปั้นอย่างวิจิตรงดงาม รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 20,000 บาท

พ.ศ. 2535 ใช้เวลาประมาณปีเศษ โดยใช้เงินจากผู้มีจิตศรัทธา เป็นเงิน 11 ล้านบาทเศษ

ร.ศ.121 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ในจดหมายเหตุระยะทางไปมณฑลราชบุรี ได้กล่าวถึงภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวงว่า ผนังข้างบน ด้านหน้ามีมารประจญ ด้านข้างเทพชุมนุม หลังท้าวมหาชมพู ข้างล่างเรื่องมหาชาติ เห็นจะราวสมเด็จพระยอดฟ้า ไม่สู้เก่านัก ไม่สู้ดี แปลกแต่เทพชุมนุมมีวิทยาธรนั่งด้วย เห็นจะเอาอย่างวัดใหญ่ (วัดใหญ่สุวรรณาราม)

ประดิษฐาน

[แก้]

พระปรางค์ 5 ยอด (พระศรีรัตนมหาธาตุ) พระปรางค์มีรูปทรงแบบเขมร พื้นล่างของพระปรางค์เป็นศิลาแลง สร้างมาพร้อมกับวัดกำแพงแลง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองเพชรบุรี พระปรางค์นี้ได้บรรจุพระบรมสาริริกธาตุไว้ทั้ง 5 ยอด คือ ยอดใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุุ ยอดเล็กทางด้านทิศตะวันออกเป็นอุทเทสเจดีย์ ทางด้านทิศใต้เป็นธาตุเจดีย์ ทางด้านทิศตะวันตกเป็นบริโภคเจดีย์ และทางทิศเหนือบรรจุพระธรรมเจดีย์ พ.ศ. 2479 พระปรางค์ 5 ยอดนี้เคยชำรุดหักพังมาแล้ว 2 ครั้ง วัดส่วนสูงได้ 27 วาเศษ ส่วนฐานวัดโดยรอบได้ 60 วาเศษ เป็นปูชนียสถานที่ประชาชนเคารพบูชามาก

ความสำคัญ

[แก้]

วัดมหาธาตุ เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก น้ำอภิเษกจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นน้ำที่ตักจากน้ำแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณหน้า วัดท่าชัย (ปัจจุบัน ชื่อวัดท่าชัยศิริ) ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ความสำคัญของน้ำที่วัดท่าชัยศิรินี้มีมาว่า สมัยโบราณกองทัพไทยรบกับกองทัพพม่า กองทัพไทยได้ถอยมาถึงวัดใต้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า วัดชัย ทหารไทยได้ลงดื่มน้ำที่ศาลาท่าน้ำของวัดนี้ แล้วกลับขึ้นไปยึดโบสถ์วัดใต้เป็นที่มั่นต่อสู้กับกองทัพพม่าจนพม่าแตกหนีไป พ.ศ. 2462 วัดมหาธาตุได้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างพระราชวังบนเขาวัง จึงได้ย้ายการทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ไปกระทำบนเขาวัง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาทำพิธีที่วัดมหาธาตุตามเดิม ปัจจุบันได้เลิกใช้ ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว