พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ
พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ | |
---|---|
ตูอิกาโนกูโปลูแห่งจักรวรรดิตูอีโตงา โมเฮโอโฟในตูอิโตงา | |
ครองราชย์ | 1791/92–1792/93 |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้ามูลีกีฮาอะเมอา |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้ามูมูอี |
พระสวามี | พระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ |
พระราชบุตร | พระโอรส 1 พระองค์ พระธิดา 3 พระองค์ |
พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ | |
ราชวงศ์ | ตูอิกาโนกูโปลู |
พระราชบิดา | พระเจ้าตูโปอูลาฮี |
พระราชมารดา | เจ้าหญิงฟูโอนูกู |
พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ (ตองงา: Tupoumoheofo) เป็นตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 12 แห่งจักรวรรดิตูอีโตงา และเป็นสตรีเพียงผู้เดียวที่เคยดำรงพระอิสริยยศนี้ พระองค์เป็นโมเฮโอโฟในพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮซึ่งเป็นตูอิโตงา ทว่าพระองค์มีลำดับทางสังคมที่สูงกว่าพระสวามีอันเนื่องมาจากการสืบเชื้อสายจากพระมารดา หลังจากที่ตำแหน่งตูอิกาโนกูโปลูว่างลง พระองค์ใช้สถานะของพระองค์ตั้งพระองค์เองให้เป็นผู้สืบทอด และปกครองโตงาตาปูเป็นระยะเวลาที่น้อยกว่าหนึ่งปี ซึ่งอาจเริ่มประมาณ ค.ศ. 1792 ก่อนที่จะถูกถอดถอนโดยตูกูอาโฮที่เป็นพระญาติที่ห่างไกลพระองค์หนึ่ง พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟได้เกษียณพระองค์เองจากการเมืองที่วาวาอู (ตอนเหนือของหมู่เกาะตองงา) โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตระกูลอูลูกาลาลา
ครอบครัวและอันดับทางสังคม
[แก้]ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟอาจมีอันดับทางสังคมที่สูงสุดในตองงาขณะนั้นอันเนื่องมาจากเชื้อสายทางฟากพระมารดา[1] พระมารดาของพระมารดาของพระองค์ (พระอัยยิกา) มีสถานะเป็นตามาฮา ซึ่งเป็นพระธิดาของตูอีโตงาเฟฟีเน (พระธิดาองค์ใหญ่ของตูอีโตงา) และนั่นทำให้พระองค์มีสถานะสูงสุดในตองงา[1] นอกจากนี้พระองค็์ยังมีสถานะที่สูงผ่านทางสายพระบิดาด้วยการเป็นพระธิดาในพระเจ้าตูโปอูลาฮี ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 7 นอกจากนี้พระเจ้าตูอิฮาลาฟาไต ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 9 ยังเป็นพระพี่น้องร่วมพระบิดามารดาเดียวกันอีกด้วย[2]
ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1760 พระนางอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ ตูอิโตงาพระองค์ที่ 36 ในฐานะพระมเหสีเอก (โมเฮโอโฟ) ซึงพระองค์อาจมีส่วนช่วยในการลอบปลงพระชนม์พระสวามีใน ค.ศ. 1791[3]
พระนางมีพระธิดาจำนวนมากกับพระสวามี[4] และคาดกันว่าเจ้าชายฟูอานูนูอีอาวา ซึ่งเป็นตูอิโตงาพระองค์ที่ 38 ในอนาคต เป็นพระโอรสของพระองค์ และการที่จะทำให้พระโอสมีพระอิสริยยศในอนาคตเป็นเป้าหมายหลักของพระนาง อย่างไรก็ตามลำดับวงศ์ตระกูลที่รวบรวมโดยนีล กุนสันชี้ว่าเจ้าชายฟูอานูนูอีอาวาไม่ใช่พระโอรสของพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ แต่เป็นพระโอรสของพระเจ้าเปาลาโฮกับพระชายารองอย่างโฟโกโนโฟ ดังนั้นแล้วพระนางจะมีเหตุผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะผลักดันเจ้าชายให้มีพระราชอำนาจ[4]
การสวรรคตของพระสวามี
[แก้]แม้จะมีความเห็นต่างเกี่ยวกับเวลาที่พระเจ้าเปาลาโฮถูกปลงพระชนม์ว่าอยู่ใน ค.ศ. 1784 หรืออีกทศวรรษจากนั้น[5] แต่โดยทั่วไปคาดกันว่าพระองค์น่าจะสวรรคตใน ค.ศ. 1791 หรือ 1792 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟจะอ้างสิทธิ์ในพระอิสริยยศตูอิกาโนกูโปลู[6] จากการสัมภาษณ์โดยนักเดินเรือชาวสเปนในช่วงเวลาหนึ่งปีหลังจากนั้น ได้ข้อมูลว่าพระนางทรงเป็นผู้นำในพันธมิตรผู้สืบสกุลสายตูอิกาโนกูโปลูโดย "ออกเดินทางจากตองงาด้วยเรือแคนูขนาดใหญ่ 20 ลำ จอดเทียบท่าที่ท่าเรืออันนาโมกา [โนมูกา] และฮัปไป [ฮาอะไป] พวกเขามุ่งหน้าไปวาเวา [วาวาอู] ที่ซึ่งพระเจ้าเปาลาโฮในฐานะผู้นำผู้คนของพระองค์คอยอยู่ ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอันนำไปสู่การสวรรคตของผู้นั้นด้วยน้ำมือของวูนา หลังจากที่ผู้นำทั้งสองต่างต่อสู้ปะมือกัน"[7] ดังนั้นนี่จึงเป็นการแสดงว่าพระนางเป็นพันธมิตรกับมูมูอี ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกันเอง ทั้งสองต่างเป็นพระญาติในสายตูอิกาโนกูโปลู ผลลัพธ์ของการสู้รบครั้งนี้นำไปสู่การเสื่อมทางอำนาจของตูอีโตงาและยกระดับตูอิกาโนกูโปลูให้สูงขึ้น
การขึ้นเป็นตูอิกาโนกูโปลู
[แก้]ช่วงประมาณ ค.ศ. 1791 พระเจ้ามูลีกีฮาอะเมอา ตูอิกาโนกูโปลูที่ 11 สละตำแหน่งอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้ตำแหน่งไม่นาน[8] มีการคาดเดาสาเหตุอยู่หลายประการ เช่น พระองค์สูญเสียอิทธิพล[9] หรือพระองค์เข้ารับตำแหน่งใหม่ หรือมูมูอีและตูกูอาโฮบีบบังคับพระองค์ หรือมาจากพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งกาโนกูโปลูพระองค์ถัดไปจะมาจากการเลือกอย่างเป็นทางการโดยฮาอะงาตา[10] ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์บรรพบุรุษของสายกาโนกูโปลูในฮีฮีโฟ โตงาตาปู ทว่าการตัดสินใจที่แท้จริงมาจากพระนางเนื่องจากสถานะทางสังคมที่สูง
มูมูอีซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนที่เข้มแข็งคนหนึ่งของโตงาตาปูได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งตูอิกาโนกูโปลู เขามีบรรพบุรุษร่วมกันกับพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟผ่านทางพระเจ้ามาอะฟูโออูตูอิโตงา ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 6 แต่มาจากตระกูลรอง[11] ตูกูอาโฮผู้ซึ่งมีความทะเยอทะยานทางการเมือง (โอรสของมูมูอี) และดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเออัว สนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของบิดาของตนอย่างเข้มแข็ง โดยคาดหวังว่าจะเป็นการประกันอำนาจไว้ในตระกูลของตน[12]
ทว่าพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟกลับทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดด้วยการประกาศพระนามพระองค์เองเป็นกาโนกูโปลู "พระองค์เสด็จสู่ฮีฮีโฟ สวมเสื่อตาโอวาลาที่เอว และนั่งใต้ต้นโกกา ซึ่งสถานที่ที่ใช้ในการสถาปนาตูอิกาโนกูโปลู จากนั้นพระองค์กลับมาและประกาศว่าเป็นตูอิกาโนกูโปลู"[13]
นักประวัติศาสตร์ยังมีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง มิชชันนารีชาวยุโรปในตองงาช่วงแรกให้ภาพพระองค์ว่า "บ่อนทำลาย" "ทรราชย์" "น่ารังเกียจถึงที่สุด"[14] และมีนักมานุษยวิทยากล่าวว่าพระองค์ "ไม่ชอบธรรม"[15] อย่างไรก็ตามนักวิชาการในระยะหลังชี้ว่าพฤติกรรมของพระองค์ไม่ได้ถึงกับผิดจากแบบอย่างในประวัติศาสตร์และสอดคล้องกับตำแหน่งและสถานะแต่เดิมของพระองค์[16] พระนางได้รับการสนับสนุนโดยทันทีจากหัวหน้าชุมชนจำนวนมาก[17]
สงครามกับตูกูอาโฮ
[แก้]ตูกูอาโฮโกรธที่พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟขึ้นเป็นตูอิกาโนกูโปลูแทนที่จะมอบตำแหน่งให้กับมูมูอีบิดาชองตน ตูกูอาโฮประนามและยึดที่ดินบางส่วนของพระนาง[18] พระนางปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจ และเตือนสติตูกูอาโฮว่าสถานะของพระองค์นั้นสูงกว่า[19] พระนางข่มขู่ที่จะเอาชีวิตหากเขายังไม่เชื่อฟัง ใน ค.ศ. 1793 ตูกูอาโฮนำกำลังเขาบุกรุกโตงาตาปูและเอาชนะพระนางได้ อย่างไรก็ตามหัวหน้าชุมชนในโตงาตาปูต่างรับประกันความปลอดภัยให้กับพระนางเพราะ "พระนางเป็นพระธิดาของตามาฮา"[20] และอนุญาตให้พระนางลี้ภัยไปที่วาวาอู
ต่อมาพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟได้นำกองทัพเข้าโจมตีโตงาตาปู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ "ในครั้งนี้พระองค์ถูกไล่ตามถึงฮาอะไป ที่กองทัพของพระนางต่างติดอยู่บนเกาะฮาอะโนและถูกสังหาร กระดูกเหล่านั้นยังคงมองเห็นได้เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ"[21] ในฐานะผู้ชนะ ตูกูอาโฮแต่งตั้งให้บิดาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นตูอิกาโนกูโปลู[22]
จากนั้นเป็นต้นมา พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟดำรงพระชนม์ชีพในวาวาอูภายใต้การคุ้มครองของตระกูลอูลูกาลาลา ซึ่งปฏิปักษ์กับตูกูอาโฮและมูมูอี ซึ่งในเวลาต่อมาฟีเนา อูลูกาลาลาที่ 2 และตูโปอูนีอัวผู้เป็ญาติได้ร่วมกันสังหารตูกูอาโฮใน ค.ศ. 1799[23] วิลเลียม มารีเนอร์ กะลาสีชาวอังกฤษที่อยู่กับฟีเนา อูลูกาลาลาระหว่าง ค.ศ. 1806–10 ได้เขียนว่าการสังหารในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการรบเร้าของพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟเพื่อล้างแค้นจากความพ่ายแพ้ก่อนหน้า
สิ่งสืบเนื่องและแหล่งข้อมูล
[แก้]หลักฐานชั้นต้นส่วนมากเกี่ยวกับพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟมาจากชาวยุโรปที่มักมีการบันทึก คำอธิบาย เส้นเวลาที่ขัดแย้งกัน รวมไปถึงอคติ การขาดความสอดคล้องต่าง ๆ ทำให้เรื่องของพระนางเป็นที่ถกเถียงกัน ผู้ที่เขียนบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายคนต่างก็เป็นแขกของศัตรูพระนาง ซึ่งท้ายที่สุดได้อำนาจและชนะพระนางในที่สุด ซึ่งผู้สืบสกุลของบุคคลเหล่านั้นคือราชวงศ์ปัจจุบันของตองงา แหล่งข้อมูลเหล่านี้มีแนวโน้มให้เห็นภาพพระนางในทางลบในฐานะผู้ชิงอำนาจที่เลวมาก พระนางยังถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเพื่อให้เจ้าชายฟูอานูนูอีวาวา (คาดว่าน่าจะเป็นพระโอรสของพระองค์) ขึ้นเป็นตูอิโตงา อย่างไรก็ตามงานวิชาการใหม่อธิบายว่าพฤติกรรมของพระนางไม่ได้ถึงกับผิดจากแบบอย่างในประวัติศาสตร์และสอดคล้องกับลำดับทางสังคมของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีบางหลักฐานที่ชี้ว่าเจ้าชายฟูอานูนูอีวาวาไม่ใช่พระโอรสที่แท้จริงของพระองค์
นักวิชาการต่างเห็นด้วยว่าในช่วงใกล้คริสต์ศตวรรษที่ 18 ระเบียบเดิมในการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างตูอิโตงา ตูอิฮาอะตากาลาอัวและตูอิกาโนกูโปลูถูกยกเลิก และราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลู (ที่ควบคุมโดยราชสกุลตูโปอู) มีความสำคัญเหนือกว่าราชวงศ์อื่น การกระทำของพระนางและผู้สืบต่อในภายหลังสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นความพยายามในการรวบรวมอำนาจในช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายนี้
อ้างอิง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 van der Grijp, p.538
- ↑ van der Grijp, p.539
- ↑ Claessen, pp. 510-511
- ↑ 4.0 4.1 Herda, p.202
- ↑ Claessen, p.510
- ↑ Claessen p.510
- ↑ Hedra, p.206
- ↑ Hedra, p.203
- ↑ Hedra, p.203
- ↑ van der Grijp, p.153
- ↑ Hedra, p.204
- ↑ Hedra, p.205
- ↑ Hedra, p.204
- ↑ Hedra, p.195
- ↑ van der Grijp, p.542
- ↑ van der Grijp, p.542
- ↑ Hedra, p.204
- ↑ Claessen, p.511
- ↑ van der Grijp, p.541
- ↑ van der Grijp
- ↑ Hedra, p.151
- ↑ I. C. Campbell, p.151
- ↑ van der Grijp, p.535
บรรณานุกรม
[แก้]- van der Grijp, Paul (2004). "Strategic Murders. Social Drama in Tonga's Chiefly System (Western Polynesia)". Anthropos. 99 (2): 535–550. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
- Claessen, H. J. M. (1968). "A Survey of the History of Tonga: Some New Views". Bijdragen Tot De Taal-, Land- En Volkenkunde. 124 (4): 505–520. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
- Herda, Phyllis (1987). "Gender, Rank and Power in 18th Century Tonga: The Case of Tupoumoheofo". The Journal of Pacific History. 22 (4): 195–208. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
- Campbell, I. C. (1989). "The Demise of the Tu'i Kanokupolu Tonga 1799-1827". The Journal of Pacific History. 24 (2): 150–163. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
ก่อนหน้า | พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้ามูลีกีฮาอะเมอา | ![]() |
![]() ตูอิกาโนกูโปลูแห่งจักรวรรดิตูอีโตงา (1791/92–1792/93) |
![]() |
พระเจ้ามูมูอี |