ครุฑ
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
ครุฑ | |
---|---|
ครุฑยุดนาคปูนปั้นปิดทอง ประดับรอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม | |
ชื่อในอักษรเทวนาครี | गरुड़ |
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤต | Garuḍa |
ส่วนเกี่ยวข้อง |
|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | Unnati[2] |
บิดา-มารดา | พระกัศยปมุนี กับ นางวินตา |
พี่น้อง | อรุณ |
ครุฑ (สันสกฤต: गरुड; บาลี: गरुळ; ภาษาพระเวท: गरुळ Garuḷa) เป็นสัตว์ในนิยายในศาสนาฮินดู, พุทธ และเชน[1][3][4] และปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น มหาภารตะ เล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับนาคและทะเลาะกันจนเป็นศัตรู นอกจากนี้ ยังมีปุราณะที่ชื่อว่า ครุฑปุราณะ เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับครุฑ
ตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นเจ้าแห่งนกทั้งมวล และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ปกติอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งหมายถึง "ขนวิเศษ"
ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ
ครุฑจะแบ่งได้ 5 ประเภทคือ
- ตัวเป็นคนอย่างธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่มีปีก
- ตัวเป็นคน หัวเป็นนก
- ตัวเป็นคน หัวและขาเป็นนก
- ตัวเป็นนก หัวเป็นคน
- รูปร่างเหมือนนกทั้งตัว
ครุฑเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินในประเทศอินโดนีเซีย และไทย ตราแผ่นดินอินโดนีเซียมีครุฑอยู่ตรงกลาง โดยมีชื่อเรียกว่า การูดาปันจาซีลา (ครุฑปัญจศีล)[5] กองทัพอากาศอินเดียก็ใช้ครุฑบนตราอาร์มGuards Brigade มีการตั้งชื่อหน่วยปฏิบัติการพิเศษเป็นหน่วยคอมมานโดครุฑตามสิ่งมีชีวิตนั้น และมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับนกตะกราม (Leptoptilos dubius)[6][7]
เทพปกรณัม
[แก้]เทพปกรณัมของครุฑในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่าครุฑเป็นบุตรของพระกัศยปมุนีเทพบิดร และนางวินตา พระกัศยปมุนีองค์นี้เป็นฤษีที่มีฤทธิ์เดชมากองค์หนึ่ง และเป็นผู้ให้กำเนิดเทพอีกหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ พระองค์มีชายาหลายองค์ แต่องค์ที่เกี่ยวข้องกับครุฑนั้น นอกจากนางวินตาแล้ว ยังมีอีกองค์หนึ่งคือ นางกัทรุ ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตาและเป็นมารดาของนาคทั้งปวง
ทั้งสองนางได้ขอพรให้กำเนิดบุตรจากพระกัศยปะ โดยนางกัทรุได้ขอพรว่าขอให้มีบุตรจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ให้กำเนิดนาคหนึ่งพันตัว อาศัยอยู่ในแดนบาดาล ส่วนนางวินตาขอบุตรเพียงสององค์และขอให้ลูกมีอำนาจวาสนา เมื่อนางคลอดบุตรปรากฏว่าออกมาเป็นไข่สองฟอง นางรออยู่เป็นเวลา 500 ปี ไข่ก็ยังไม่ฟัก นางทนรอไม่ไหวว่าบุตรของตนจะมีหน้าตาอย่างไร จึงทุบไข่ออกมาฟองหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเทพบุตรที่มีกายแค่ครึ่งท่อนบนชื่อ อรุณ อรุณเทพบุตรโกรธมารดาของตนที่ทำให้ตนออกจากไข่ก่อนกำหนด จึงสาปให้มารดาของตนเป็นทาสนางกัทรุ และให้บุตรคนที่สองของนางเป็นผู้ช่วยนางให้พ้นจากความเป็นทาส จากนั้นจึงขึ้นไปเป็นสารถีให้กับพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ นางวินตาจึงไม่กล้าทุบไข่ฟองที่สองออกมาดู นางรอต่อไปอีก 1000 ปี รอให้ถึงกำหนดที่บุตรคนที่สองซึ่งก็คือครุฑออกมาจากไข่เอง อนึ่ง เมื่อครุฑแรกเกิดว่ากันว่า มีร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกะพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกทีใด ขุนเขาก็จะตกใจหนีหายไปพร้อมพระพาย รัศมีที่พวยพุ่งออกจากกายมีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วสี่ทิศ ซึ่งทำให้บรรดาเทวดาทั้งหลายเดือดร้อนอย่างมาก บรรดาเทวดาจึงพากันไปขอร้อง ให้ลดขนาดลงมา
ในกาลต่อมา นางกัทรุและนางวินตาได้พนันกันถึงสีของม้าอุไฉศรพที่เกิดคราวกวนเกษียรสมุทรและเป็นสมบัติของพระอินทร์ โดยพนันว่าใครแพ้ต้องเป็นทาสอีกฝ่ายห้าร้อยปี นางวินตาทายว่าม้าสีขาวส่วนนางกัทรุทายว่าสีดำ ความจริงม้าเป็นสีขาวดังที่นางวินตาทาย แต่นางกัทรุใช้อุบายให้นาคลูกของตนแปลงเป็นขนสีดำไปแซมอยู่เต็มตัวม้า (บางตำนานว่าให้นาคพ่นพิษใส่ม้าจนเป็นสีดำ) นางวินตาไม่ทราบในอุบายเลยยอมแพ้ ต้องเป็นทาสของนางกัทรุถึงห้าร้อยปี
ภายหลังเมื่อครุฑได้ทราบสาเหตุที่มารดาต้องตกเป็นทาสและได้ทราบเงื่อนไขจากพวกนาคว่า ต้องไปเอาน้ำอมฤตให้นาคเสียก่อนจึงจะให้นางวินตาเป็นไท ครุฑจึงบินไปสวรรค์ไปเอาน้ำอมฤตซึ่งอยู่กับพระจันทร์ แล้วคว้าพระจันทร์มาซ่อนไว้ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา และเกิดต่อสู้กันขึ้น ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ โดยเมื่อพระอินทร์ใช้วัชระโจมตีครุฑนั้น ครุฑไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่ครุฑก็จำได้ว่าวัชระเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้แก่พระอินทร์ จึงสลัดขนของตนให้หล่นลงไปเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้ป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ ด้านพระวิษณุหรือพระนารายณ์ก็ได้ออกมาขวางครุฑไว้และสู้รบครุฑด้วยเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระวิษณุให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า
เมื่อครุฑได้หม้อน้ำอมฤตนั้น พระอินทร์ได้ตามมาขอคืน ครุฑก็บอกว่าตนต้องรักษาสัตย์ที่จะนำไปให้นาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง ครุฑจึงเอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา (และว่าได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา 2-3 หยด ด้วยเหตุนี้ หญ้าคาจึงถือเป็นสิ่งมงคลในทางศาสนาพราหมณ์) ส่วนนาคเมื่อเห็นน้ำอมฤตก็ยินดี จึงยอมปล่อยนางวินตาแม่ครุฑให้เป็นอิสระ ขณะพากันไปสรงน้ำชำระกายเพื่อจะมากินน้ำอมฤตนั่นเอง พระอินทร์ก็นำหม้อน้ำอมฤตกลับไป ทำให้นาคไม่ได้กิน พวกนาคจึงเลียที่ใบหญ้าคาด้วยเชื่อว่าอาจมีหยดน้ำอมฤตหลงเหลืออยู่ ทำให้ใบหญ้าคาบาดกลางลิ้นเป็นทางยาว (เรื่องนี้กลายเป็นที่มาว่าทำไมงูจึงมีลิ้นเป็นสองแฉกสืบมาจนทุกวันนี้) แต่นั้นครุฑกับนาคจึงเป็นศัตรูกันมาโดยตลอด และครุฑนั้นก็จะจับนาคกินเป็นอาหารเสมอ
ครุฑมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา โอรสชื่อ สัมปาติหรือสัมพาที และชฏายุหรือสดายุ ตามวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่าครุฑมีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ 150 โยชน์ เวลากระพือปีกสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ เกิดมืดมนและทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นไปได้ ที่อยู่ของครุฑเรียกว่า สุบรรณพิภพเป็นวิมานอยู่บนต้นสิมพลีหรือต้นงิ้ว อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ
การใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์
[แก้]ด้วยฤทธิ์ของครุฑ จึงได้มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ (หรือ พระครุฑพ่าห์) หมายถึง ครุฑซึ่งเป็นพาหนะ เป็นรูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น
จากการที่ไทย ใช้ตราครุฑเป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า ธงมหาราช เป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น
สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ 3 ลำคือเรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 แทนเรือพระที่นั่งเดิม
นอกเหนือจากการที่ตราครุฑปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้ แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูป เป็นต้นแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน
ปัจจุบัน ต้องยื่นคำขอพระราชทานตราต่อสำนักพระราชวัง เพื่อพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวังเรียกคืนเนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทานตาย หรือเลิกประกอบกิจการหรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ
ประเทศอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ใช้ครุฑ (Garuda) เป็นตราประจำแผ่นดิน โดยครุฑของอินโดนีเซียนั้นเป็นนกอินทรีทั้งตัว นอกจากนี้สายการบินประจำชาติของอินโดนีเซียยังใช้ชื่อว่าการูดาอินโดนีเซียและใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน
ชื่อของครุฑ
[แก้]ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น
- กาศยปิ (บุตรแห่งพระกัศยปมุนี)
- เวนไตย (บุตรแห่งนางวินตา)
- สุบรรณ (ผู้มีปีกอันงาม)
- ครุตมาน (เจ้าแห่งนก)
- สิตามัน (ผู้มีหน้าสีขาว)
- รักตปักษ์ (ผู้มีปีกสีแดง)
- เศวตโรหิต (ผู้มีสีขาวและแดง)
- สุวรรณกาย (ผู้มีกายสีทอง)
- คคเนศวร (เจ้าแห่งอากาศ)
- ขเคศวร (ผู้เป็นใหญ่แห่งนก)
- นาคนาศนะ (ศัตรูแห่งนาค)
- สุเรนทรชิต (ผู้ชนะพระอินทร์)
ครุฑราชการ
[แก้]ครุฑที่ใช้ในส่วนราชการมีความแตกต่างกันออกไป ครุฑที่เท้าตั้งเฉียงจะใช้ในราชการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ส่วนการใช้ในหน่วยงานอื่นจะใช้เป็นครุฑเท้างุ้ม
ในบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ที่มุขหน้าปีกซ้าย-ขวา ประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นครุฑในแบบศิลปะร่วมสมัย ขนาดสูงเป็น 2 เท่าของคนจริง ผลงานของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รูปปั้นครุฑทั้ง 2 นี้ จัดว่าเป็นรูปปั้นครุฑที่ได้เชื่อว่างดงามที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2486 ด้วยมีสรีระร่างกายที่บึกบึนกำยำ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ อีกทั้งในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่อาคารสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ถูกระเบิดทำลายเสียหาย แต่อาคารไปรษณีย์กลางแห่งนี้กลับไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ จนทำให้มีความเชื่อกันว่า เป็นเพราะครุฑทั้ง 2 ตนนี้บินไปปัดระเบิดไว้[8][9]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
[แก้]มีการอ้างอิงถึงครุฑไว้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยเช่น ภาพยนตร์ไทยเรื่อง "ปักษาวายุ" ใน พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นภาพยนตร์แอ๊คชั่นไซไฟ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับครุฑซึ่งเป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และจับไดโนเสาร์กินจนสูญพันธุ์ และยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ออกอาละวาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
หรือในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง เซนต์เซย่า หนึ่งในขุนพลผู้พิพากษาแห่งยมโลกที่ชื่อ "การูด้า ไออาคอส" ก็สวมชุดเซอร์พลีสที่เป็นรูปครุฑด้วยเช่นกัน
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ครุฑยุดนาค ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
-
ครุฑตราแผ่นดินของไทย
-
ครุฑ (Khangarid) ตราประจำกรุงอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย
-
รูปสลักครุฑจับนาค ศิลปะจาม สมัยพุทธศตวรรษที่ 18
-
รูปสลักครุฑแบกที่เมือง Thap Mam ประเทศเวียดนาม ศิลปะจาม สมัยพุทธศตวรรษที่ 17
-
รูปหล่อครุฑโลหะสำริด สมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 ศิลปะขอม พิพิธภัณฑ์จอห์นยัง มหาวิทยาลัยฮาวายแอทมานัว (University of Hawaii at Manoa)
-
ครุฑ รูปสลักไม้ระบายสี ศิลปะบาหลี เมืองอุบุด เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
-
ครุฑยืน ประติมากรรมหินแกะสลัก วัดเจนนาเกสวะ เมืองเบลัวร์ รัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย
-
เทวรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ หรือ ทรงครุฑ หน้าโรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัล ถนนเพลินจิต
-
โขนเรือ (หัวเรือ) นารายณ์ทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งซึ่งเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ หรือ ทรงครุฑ
-
ครุฑ ถูกใช้ประดับที่พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Robert E. Buswell Jr.; Donald S. Lopez Jr. (2013). The Princeton Dictionary of Buddhism. Princeton University Press. pp. 314–315. ISBN 978-1-4008-4805-8.
- ↑ Daniélou, Alain (December 1991). Gods of India: The Classic Work on Hindu Polytheism from the Princeton Bollingen Series (ภาษาอังกฤษ). Inner Traditions / Bear & Co. p. 161. ISBN 978-0-89281-354-4.
- ↑ Roshen Dalal (2010). Hinduism: An Alphabetical Guide. Penguin Books. p. 145. ISBN 978-0-14-341421-6.
- ↑ Helmuth von Glasenapp (1999). Jainism: An Indian Religion of Salvation. Motilal Banarsidass. p. 532. ISBN 978-81-208-1376-2.
- ↑ "National Symbols". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 August 2013. สืบค้นเมื่อ 17 March 2010.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Garuda's population now 500 in Bhagalpur, Bihar". Zee News. 21 June 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 July 2015.
- ↑ "Stork nests spread". The Telegraph. 16 May 2020.
- ↑ "ครุฑถอดแบบงานบรมครูอ.ศิลป์ พีระศรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-31. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.
- ↑ "70 ปี "ไปรษณีย์กลาง" ความคลาสสิกคู่บางรัก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-13. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18.