ข้ามไปเนื้อหา

ผุดผาดน้อย วรวุฒิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผุดผาดน้อย วรวุฒิ
เกิดผ่อน ออมกลิ่น
25 มิถุนายน พ.ศ. 2494 (73 ปี)

ผุดผาดน้อย วรวุฒิ มีชื่อจริงว่า ผ่อน ออมกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ที่จังหวัดขอนแก่น มีชื่อเล่นว่า "หมู" เป็นบุตรคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 8 คน เริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 10 ขวบตามบรรดาพี่ชาย ในชื่อ "ผุดผาดน้อย จ.หาญผจญ" ค่ายมวยในขอนแก่น ของนายแพทย์จำลอง มุ่งการดีและนายยล หาญเผชิญ (พี่ชายคนโตใช้ชื่อมวย "ผุดผาด จ.หาญผจญ") แต่บิดา (นายผ่อง ออมกลิ่น) ไม่สนับสนุน อยากให้เรียบจบ มศ.3 ก่อน เมื่อเรียนจนจบ มศ.3 ที่ขอนแก่น ได้ฝึกเชิงมวยกับเพื่อนของพี่ชายชื่อ "ศรทอง ลูกเครื่องมือกล" และได้ตระเวนชกทั่วภาคอีสานเป็นจำนวนกว่า 60 ครั้ง โดยไม่แพ้ใครเลย ในปี พ.ศ. 2512 เมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ได้เดินทางเข้าชกมวยที่กรุงเทพจากการชักนำของเพื่อนนักมวยของพี่ชายอีกคนชื่อ "ศักดิ์มนู วรวุฒิ" จึงได้มาอยู่กับค่ายวรวุฒิ ของ หม่อมราชวงศ์พรพุฒิ วรวุฒิ นับแต่บัดนั้น ใช้ชื่อมวย "ผุดผาดน้อย วรวุฒิ" ชกครั้งที่เวทีราชดำเนินในรายการเดิมพัน ชนะน็อคด้วยการเตะก้านคอ ต่อมาในปีเดียวกันได้แชมป์ "ขวัญใจโลลิต้า" ในรุ่น 108 ปอนด์

นอกจากนี้ ในประวัติศาสตร์มวยไทยยังได้จารึกว่า ผุดผาดน้อย วรวุฒิ เป็นผู้ฝึกมวยไทยในค่ายยิมที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลากว่าสามทศวรรษ[1]

ประวัติ

[แก้]

แต่เดิม ผุดผาดน้อยเกิดอาการเบื่อหน่ายช่วงเวลากลางวันที่ไม่มีการซ้อมมวย จึงได้ไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยช่างกลสยาม รุ่นที่ 6 แผนกช่างยนต์ เมื่อจบปวช. จึงสมัครเรียนต่อที่วิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ รุ่นที่ 1 แผนกช่างยนต์เหมือนเดิม เรียนอยู่ 3 ปี แต่ไม่จบ เพราะไม่ถนัดพวกวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ช่าง

ผุดผาดน้อย รุ่งโรจน์บนสังเวียนมวยไทยระหว่างปี 2513 - 2519 ขึ้นชกประมาณ 130 ครั้ง แพ้เพียง 10 กว่าครั้ง เป็นแชมป์ 3 รุ่น คือ ฟลายเวท, จูเนียร์เฟเธอร์เวท และจูเนียร์ไลท์เวท ของสนามมวยเวทีลุมพินี และยังได้แชมป์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการชนะ "ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา" รวมทั้งแชมป์ "ยอดมวยอีสาน" ในการชิงกับ "เริงศักดิ์ พรทวี" ผุดผาดน้อยมีค่าตัวเรือนแสน ซึ่งในยุคเดียวกันนั้นมีเพียงเขา, วิชาญน้อย พรทวี, พุฒ ล้อเหล็ก และแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์

ผุดผาดน้อย เมื่อรุ่งขึ้นมาไม่นานก็แทบหาคู่ชกในรุ่นเดียวกันไม่ได้ต้องแบกน้ำหนักตลอด และได้ปราบยอดมวยไทยชื่อดังในยุคเดียวกันมาแล้วหลายคน อาทิ วิชาญน้อย พรทวี, อภิเดช ศิษย์หิรัญ, ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต, เนตร ศักดิ์ณรงค์, ฟ้าใส ทวีชัย, ไชยยุทธ สิทธิบุญเลิศ, ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์, ยอดสิงห์ ส.พญาไท, ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา เป็นต้น

ไฟต์ที่แฟนมวยรุ่นเก่าไม่มีวันลืมคือการชกกับ ขุนค้อนเพชรฆาต "หัวไทร สิงห์เมืองนคร" ในยก 4 ผุดผาดน้อยโดนหมัดของหัวไทรลงไปให้กรรมการนับแปด 2 ครั้งติด ๆ กัน ขณะกำลังซวนเซลงไปนอนอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการแพ้น็อคทันที เขาได้สวมหัวใจสิงห์บวกด้วยศอกซ้ายจนคู่ต่อสู้ลงไปกอง ผุดผาดน้อยพลิกกลับมาชนะน็อคอย่างเหลือเชื่อ ผู้ชมในสนามมวยเวทีลุมพินีลุกขึ้นตะโกน "ไอ้หมูใจเพชร" พร้อม ๆ กัน

ผุดผาดน้อยเป็นนักมวยเชิงดี ชกสวย มีลูกเตะเป็นอาวุธหลัก คือ แข้งซ้าย จนได้รับฉายาว่า "ไอ้หมูแข้งทอง" จากสื่อมวลชน มียอดมวยร่วมยุคเพียงคนเดียวที่ไม่ได้ชกกัน คือ "พุฒ ล้อเหล็ก" เพราะเป็นเพื่อนสนิท ฝึกซ้อมอยู่ด้วยกัน และเป็นมวยในสังกัดของ "ครูเฒ่า" ชนะ ทรัพย์แก้ว เหมือนกัน

ผุดผาดน้อย ประกาศแขวนนวมแบบสายฟ้าแลบเมื่อมีอายุเพียง 25 ปี หลังจากนั้นได้เดินทางไปทำงานกับคนไทยในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ราว 2 ปี กลับมาเมืองไทยเมื่อบิดาเสียชีวิต และลงท้ายเหมือนยอดมวยหลาย ๆ คนคือการกลับมาชกอีกครั้ง แม้ทำได้สวยงาม เอาชนะ "วังไพร โรจนสงคราม" ในการกลับมาครั้งแรก แต่ที่เหลืออีก 4 ครั้ง แพ้รวด เนื่องจากการร้างลาเวที ร่างกายไม่ฟิตเหมือนเดิม บวกกับชีวิตส่วนตัวที่มีเพื่อนฝูงจำนวนมากและเริ่มดื่มหนักขึ้น

ผลงาน

[แก้]
  • 2517
  • ชนะคะแนน พันธ์ศักดิ์ เกียรติเจริญชัย ลุมพินี
  • ชนะคะแนน วิชาญน้อย พรทวี ลุมพินี
  • ชนะ เค.โอ. 4 หัวไทร สิทธิบุญเลิศ ลุมพินี
  • แพ้คะแนน ยอดสิงห์ ศ.พญาไท ลุมพินี (แบกน้ำหนัก 9 ปอนด์)
  • แพ้คะแนน ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา ลุมพินี
  • ชนะคะแนน บรรดิษฐ์ สิงห์ปราการ ลุมพินี
  • ชนะคะแนน สมศักดิ์ ส.เทวสุนทร ลุมพินี
  • 2518
  • ชนะคะแนน เริงศักดิ์ พรทวี ลุมพินี
  • ชนะคะแนน เฉลิมพล ส.ท่าอิฐ ลุมพินี
  • แพ้คะแนน ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา ลุมพินี
  • ชนะคะแนน ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต ลุมพินี
  • ชนะคะแนน เนตร ศักดิ์ณรงค์ ลุมพินี
  • ชนะคะแนน อภิเดช ศิษย์หิรัญ ลุมพินี
  • ชนะคะแนน ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา ราชดำเนิน
  • 2519
  • แพ้คะแนน วิชิต ลูกบางปลาสร้อย หัวหมาก
  • แพ้คะแนน เนตร ศักดิ์ณรงค์ ราชดำเนิน
  • ชนะคะแนน วิชาญน้อย พรทวี ราชดำเนิน
  • เสมอ จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย ลุมพินี
  • แพ้คะแนน จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย ลุมพินี
  • แพ้คะแนน วังวน ลูกมาตุลี ลุมพินี
  • 2521
  • ชนะคะแนน วังไพร โรจนสงคราม ลุมพินี
  • แพ้คะแนน ฟุจิวะระ มวยญี่ปุ่น ลุมพินี
  • แพ้คะแนน หนองคาย ส.ประภัสสร ลุมพินี
  • 2522
  • แพ้คะแนน ขาวผ่อง สิทธิชูชัย ลุมพินี
  • แพ้คะแนน พายัพ เปรมชัย ลุมพินี

แขวนนวม

[แก้]

หลังแขวนนวมชื่อของผุดผาดน้อย วรวุฒิ ได้รับการบรรจุในหอเกียรติยศของเวทีมวยราชดำเนิน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2527

ในปี 2523 ได้มีเจ้าของยิมในฝรั่งเศส เดินทางมาติดต่อให้ไปสอนมวยไทยที่กรุงปารีส ผุดผาดน้อยตอบตกลงโดยไม่ลังเล และกลายเป็นครูมวยไทยคนแรกในยุโรป เมื่อฝรั่งนายจ้างจะขึ้นป้าย THAI BOXING หน้ายิม เขาค้านและยืนยันให้ใช้ชื่อ MUAY THAI ยิมนี้จึงมีชื่อ "FRANCE MUAY THAI" และกีฬาประจำชาติไทยนี้ก็ได้รับการเรียกขาน "มวยไทย" โดยฝรั่งนับแต่นั้น ไม่นานต่อมามีค่ายมวยไทยผุดขึ้นเต็มฝรั่งเศส และขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ผุดผาดน้อยเป็นครูมวยไทยในฝรั่งเศสอยู่ 23 ปี ก่อนเดินทางไปเป็นครูมวยไทยสมัครเล่นให้ทีมชาติสวีเดน 3 ปี ทีมชาติฟิลิปปินส์อีก 2 ปี และกลับมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ต้นปี 2553

เมื่อปี 2539 ได้เปลี่ยนชื่อ "ผ่อน ออมกลิ่น" เป็น "ผุดผาดน้อย ออมกลิ่น" มีบุตรสาวกับอดีตภรรยาชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรีย 1 คน ชื่อ "น้อยหน่า" อนุตรา ออมกลิ่น เกิดเมื่อปี 2524 น้อยหน่าแต่งงานกับหนุ่มเยอรมัน มีหลานสาวให้คุณตาไปเมื่อปลายเดือนมกราคม 2554 และในโอกาสที่เขาจะมีอายุครบ 60 ปีในเดือนมิถุนายน ปี 2554 ก็ได้ออกพ็อกเก็ตบุ๊กชีวประวัติ ชื่อ "ไวน์ชีวิต 60 ปี ผุดผาดน้อย วรวุฒิ" เรียบเรียงโดย วิฑูรย์ รักปลอดภัย อดีตนักข่าวที่พบเจอกันขณะลงเรือลากจากสวีเดนมายังประเทศไทยเมื่อปี 2550 เพื่อลากเรือดำน้ำสงครามเย็นของอดีตสหภาพโซเวียต ซื้อโดยพิพิธภัณฑ์ยานพาหนะ "เจษฎาเทคนิคมิวเซี่ยม"

เมื่อปี 2528 มิสเตอร์แตงโม ได้ทำเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่งในโอกาสครบรอบ 300 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - ฝรั่งเศส มีเนื้อหายกย่องผุดผาดน้อย ชื่อเพลง หมูแข้งทอง มีสไตล์การร้องเร็วแบบแร็พ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเพลงแร็พเพลงแรกของไทย

ผลงาน

[แก้]

ละครโทรทัศน์

[แก้]
ปี พ.ศ. เรื่อง ออกอากาศ รับบทเป็น หมายเหตุ
2564 แด่คุณพ่อด้วยแข้งขวา Thairath TV กรรมการผู้ตัดสินในรายการมวยไทย แชมป์เปี้ยนชิพ มวยไทย สเตเดี้ยม รับเชิญ

ละครชุด

[แก้]
ปี พ.ศ. เรื่อง ออกอากาศ บทบาท หมายเหตุ
25 ช่อง

ซิทคอม

[แก้]
ปี พ.ศ. เรื่อง ออกอากาศ บทบาท หมายเหตุ
25 ช่อง

ภาพยนตร์

[แก้]
ภาพยนตร์
พ.ศ. เรื่อง รับบทเป็น หมายเหตุ
พ.ศ. 25

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
  • พ.ศ. 2557 - รางวัลฮอลล์ออฟเฟม (มวย) สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 8 [2][3][4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Global-Thai Backbone. กองบรรณาธิการ. THE COMPANY. ปีที่ 14 ฉบับที่ 166. กันยายน 2554. เลิฟแอนด์ลิฟเพรส. หน้า 80
  2. สยามกีฬาอวอร์ดส์จัดยิ่งใหญ่ มิ้ว,เมย์ ซิวนักกีฬาสมัครเล่น : SMMOnline.net[ลิงก์เสีย]
  3. "จิระพงศ์-รัชนกซิวนักกีฬายอดเยี่ยมสยามกีฬาฯ - Sport - Manager Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-06.
  4. 'จิระพงศ์-รัชนก' ซิวนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยม - ข่าวไทยรัฐออนไลน์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]