ข้ามไปเนื้อหา

ชูชัย พระขรรค์ชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชูชัย พระขรรค์ชัย
เกิดชูชัย ฤทธิลือชัย
21 มีนาคม พ.ศ. 2469

ชูชัย พระขรรค์ชัย อดีตนักมวยไทยชื่อดังและอดีตนักแสดงชาวไทยที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 เจ้าของฉายา เทพบุตรสังเวียน จากการที่เป็นนักมวยที่มีหน้าตาดี ได้ชื่อว่าเป็นนักมวยที่หมัดหนักโดยเฉพาะ หมัดขวา

ประวัติ

[แก้]

ชูชัยเกิดวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดเชียงใหม่ หัดมวยครั้งแรกกับครูปูน พระขรรค์ชัย ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ขึ้นชกครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ที่เวทีราชดำเนิน ด้วยความเป็นมวยคู่ชกประกอบรายการ สามารถประเดิมการชกครั้งแรกได้ด้วยการชนะน็อกในยกที่ 3 ด้วยหมัดขวา จากนั้นก็ได้ขึ้นชกอย่างสม่ำเสมอสั่งสมประสบการณ์และความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นนักมวยที่มีชื่อเสียง

เมื่อไม่มีคู่ชกแล้ว ในปี พ.ศ. 2492 ชูชัยจึงแขวนนวมหันไปทำงานหนังสือพิมพ์สังกัดสยามรัฐ จากการชักชวนของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เจ้าของและบรรณาธิการ

ชูชัยแขวนนวมเป็นระยะเวลา 2 ปี ก็กลับมาชกมวยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2494 จากการตามตัวของโปรโมเตอร์ เนื่องจากเสียงเรียกร้องของแฟนมวย จนโปรโมเตอร์ผู้จัดเสนอเงินค่าตัวให้เป็นจำนวนถึง 17,000 บาท เพื่อให้กลับมาชกกับยอดนักมวยไทยอีกรายในยุคเดียวกันนั้น คือ สุข ปราสาทหินพิมาย เจ้าของฉายา ยักษ์สุข หรือ ยักษ์ผีโขมด

การชกกับสุข ปราสาทหินพิมาย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ที่เวทีราชดำเนิน ปรากฏว่าตั้งแต่ยกแรกจนถึงยกที่ 4 ชูชัยเป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียว ท่ามกลางความไม่พอใจของผู้ชมเพราะคิดว่าชูชัยกลัวสุข แต่พอขึ้นยก 5 อันเป็นยกสุดท้าย ชูชัยได้เร่งระดมชกเข้าที่ใบหน้าของสุข จนโอนเอนไปมา จนนั่งพิงเชือก เป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในยกนี้เอง

ซึ่งชูชัยได้กล่าวภายหลังว่า เป็นแผนการชกของตน เพราะเกรงว่าในยกต้น ๆ จะไม่อาจทนแรงบุกของสุข ซึ่งเป็นนักมวยรูปร่างใหญ่ได้ จึงเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว รอโอกาสให้สุขหมดแรงจึงโหมแรงในยกสุดท้าย จนชนะในที่สุด

จากนั้นแล้ว ชูชัยเสมือนว่าได้กลับมาอย่างสง่าในวงการมวยอีกครั้ง จึงมีการประกบคู่ให้พบกับ สุรชัย ลูกสุรินทร์ เจ้าของฉายา เสือสำอางค์ ซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าที่ชูชัยเคยเอาชนะได้แล้ว แต่พอถึงใกล้วันชก การตรวจร่างกายแพทย์สนามพบว่าชูชัยป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรง ห้ามขึ้นชก ชูชัยจึงประกาศแขวนนวมไปในขณะนั้น ซึ่งมีอายุได้เพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น

หลังจากนั้นชื่อเสียงของชูชัยก็ค่อย ๆ เงียบหายไปในวงการมวย แต่อีก 23 ปีต่อมา ชูชัยก็กลับมาสร้างความฮือฮาอีกครั้งเมื่อกลับคืนสู่สังเวียนอีกครั้ง เมื่ออายุถึง 49 ปีแล้ว โดยถูกประกบคู่ให้ชกกับ ฮิเดโอะ อาซาโน่ นักมวยคาราเต้ชาวญี่ปุ่น ชูชัยแม้จะมีอายุในวัยกลางคนแล้ว แต่สภาพร่างกายยังคงแข็งแรงดีอยู่เนื่องจากดูแลสุขภาพร่างกายมาตลอด การชกปรากฏว่า ชูชัยเป็นฝ่ายชกอาซาโน่อย่างเดียวในยก 2 ถึงกับล้มไป 3 ครั้งในยกเดียว แต่กรรมการก็ไม่จับแพ้ ขณะที่ชูชัยเองก็กำลังจะหมดแรงแล้ว ขึ้นยก 3 ชูชัยจึงเร่งชกอีกครั้ง กรรมการจึงจับอาชาโน่แพ้น็อกไป ขณะที่ชูชัยกำลังจะหมดแรงพอดี และหลังจากนั้นชูชัยก็มิได้หวนกลับมาชกมวยอีกเลย

จากประวัติเหล่านี้ ทำให้ ชูชัย พระขรรค์ชัย ได้รับการขนานนามว่า เป็นนักมวยที่มาแล้วไปพร้อมกับชัยชนะ ซึ่งแตกต่างจากนักมวยรายอื่น ๆ ส่วนใหญ่ เมื่อกลับมาชกมวยอีกครั้งในขณะที่อายุมากขึ้นจะเป็นฝ่ายแพ้อย่างยับเยิน[2]

ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ทางเวทีราชดำเนินได้จัดอันดับ 10 ยอดนักมวยเกียรติยศของเวที ก็มีชื่อของชูชัยบรรจุรวมอยู่ด้วย

หลังแขวนนวมแล้ว ชูชัยได้เปลี่ยนชื่อจริงเป็น ชูชัย ฤทธิลือชัย และย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2525 โดยเปิดร้านอาหารไทย ชีวิตครอบครัวสมรสกับภรรยาชาวไทย ซึ่งเป็นน้องสาวของภรรยา ป. อินทรปาลิต นักเขียนชื่อดัง ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 5 คน

นอกจากนี้แล้ว ระหว่างที่มีชื่อเสียงนั้น ชูชัยถือได้ว่าเป็นนักมวยที่มีหน้าตาดีประกอบกับเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จึงได้มีโอกาสแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ในปี พ.ศ. 2493 กำกับโดย มารุต และอำนวยการสร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และอีกหลายเรื่องต่อมาด้วยกัน เช่น นเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2500, อำนาจกับอำนาจ ในปี พ.ศ. 2501 เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักมวยคนแรกที่แสดงในภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ ก่อนจะมีนักมวยที่มีชื่อเสียงในรุ่นหลังแสดงแบบเดียวกันตามมา[3]

การแสดง

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สยามทาวน์ยูเอส (Volume 2 Friday, November 27, 2015). "รายงานหน้าหนึ่ง : ผัดไทยข้างถนนของทายาท "ชูชัย พระขรรค์ชัย"". ภาณุพล รักแต่งาม. siamtownus.com/. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. สมิงขาว, รายการคุณว่าใครชนะ F.M.92.25 MHz: จันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554
  3. นักมวยไทยกับภาพยนตร์ไทย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากมูลนิธิหนังไทย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]