ปะลีน
ปะลีน (พม่า: ပလ္လင်, "บัลลังก์") ตามที่วงการปราชญ์พม่าแต่โบราณรับรู้กันมีอยู่หกประเภท ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสถาบันกษัตริย์พม่า ปรากฏเด่นชัดในสถาปัตยกรรมพม่าและในการเขียนรูปลักษณ์ทางพุทธของพม่า ปัจจุบันยังปรากฏในตราสัญลักษณ์กระทรวงการศาสนาและวัฒนธรรมพม่า
ประเภท
[แก้]วงการปราชญ์พม่าแต่โบราณจำแนกบัลลังก์เป็นหกประเภท ดังนี้
- อปราชิตบัลลังก์ (အပရာဇိတပလ္လင် อะปะราซิตะปะลีน; บาลี: อปราชิตปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของพระพุทธเจ้า
- กมลาสนบัลลังก์ (ကမလာသနပလ္လင် กะมะลาตะนะปะลีน; บาลี: กมลาสนปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของพระพรหม
- ทิพพาสนบัลลังก์ (ဒိဗ္ဗာသနပလ္လင် เดะบาตะนะปะลีน; บาลี: ทิพฺพาสนปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของนะ
- ราชบัลลังก์ (ရာဇပလ္လင် ยาซะบะลีน; บาลี: ราชปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของกษัตริย์
- ธรรมาสนบัลลังก์ (ဓမ္မာသနပလ္လင် ดะมาตะนะปะลีน; บาลี: ธมฺมาสนปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ (ธรรมาสน์) ของพระภิกษุ
- อัฏกรณบัลลังก์ (အဋ္ဋကရဏပလ္လင် อะตะกะระนะปะลีน; บาลี: อฏฏกรณปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของตุลาการ
ราชบัลลังก์
[แก้]ก่อนยุคอาณานิคม ราชบัลลังก์เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสี ตามธรรมเนียมแล้วราชสำนักพม่ามีราชบัลลังก์แปดประเภทตั้งอยู่ในท้องพระโรงเก้าแห่ง ทำให้เกิดภาษิตว่า "แปดบัลลังก์ เก้าท้องพระโรง" (ပလ္လင်ရှစ်ခန်း ရွှေနန်းကိုးဆောင်)[1]
ช่างไม้ในราชสำนักซึ่งสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเป็นผู้แกะสลักราชบัลลังก์จากไม้[2] ราชบัลลังก์แต่ละประเภทใช้ไม้ ลวดลาย และรูปแบบที่แตกต่างกันไป[3] โหรจะเลือกฤกษ์งามยามดีสำหรับเริ่มงาน และจะมีราชพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อป่าวประกาศการก่อสร้าง[2] เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว จะเคลือบด้วยยางไม้ และตกแต่งด้วยทองคำเปลวกับกระเบื้องแก้ว[2] ก่อนจะกระจายไปตั้งไว้ ณ โถงต่าง ๆ ในพระราชวัง[3]
ราชบัลลังก์ทั้งแปดประเภท ได้แก่
ที่ | ชื่อ | ลวดลายหลัก | ประเภทไม้ | ที่ตั้ง |
---|---|---|---|---|
1 | สีหาสนบัลลังก์ (พม่า: သီဟာသနပလ္လင် ตีฮาตะนะปะลีน; บาลี: สีหาสนปลฺลงฺก) | ชีนเต่ (สิงห์) | ซ้อ | ท้องพระโรงออกขุนนาง |
2 | ภมราสนบัลลังก์ (พม่า: ဘမယာသနပလ္လင် บะมะยาตะนะปะลีน; บาลี: ภมราสนปลฺลงฺก) | ผึ้ง | อบเชย | หอแก้ว |
3 | ปทุมาสนบัลลังก์ (พม่า: ပဒုမ္မာသနပလ္လင် ปะโดนมาตะนะปะลีน; บาลี: ปทุมาสนปลฺลงฺก) | ดอกบัว | ขนุน | ท้องพระโรงออกขุนนางฝั่งตะวันตก |
4 | หงสาสนบัลลังก์ (พม่า: ဟံသာသနပလ္လင် ฮานตาตะนะปะลีน; บาลี: หงฺสาสนปลฺลงฺก) | หงส์ | ตะเคียน | ตำหนักชัยฝ่ายบูรพา |
5 | คชาสนบัลลังก์ (พม่า: ဂဇာသနပလ္လင် กะซาตะนะปะลีน; บาลี: คชาสนปลฺลงฺก) | ช้าง | จำปา | ศาลาบแยได (องคมนตรี) |
6 | สังขาสนบัลลังก์ (พม่า: သင်္ခါသနပလ္လင် ทินคาตะนะปะลีน; บาลี: สงฺขาสนปลฺลงฺก) | หอยสังข์ | มะม่วง | หอราชกกุธภัณฑ์ |
7 | มิคาสนบัลลังก์ (พม่า: မိဂါသနပလ္လင် มิกาตะนะปะลีน; บาลี: มิคาสนปลฺลงฺก) | กวาง | มะเดื่อชุมพร | โถงเรือนเฝ้าประตูฝ่ายใต้ |
8 | มยุราสนบัลลังก์ (พม่า: မယုရာသနပလ္လင် มะยุราตะนะปะลีน; บาลี: มยุราสนปลฺลงฺก) | นกยูง | ทองกวาว | โถงเรือนเฝ้าประตูฝ่ายเหนือ |
ราชบัลลังก์ที่สำคัญที่สุด คือ สีหาสนบัลลังก์ ซึ่งมีแบบจำลองอยู่ในรัฐสภา[2]
นอกจากนี้ ราชบัลลังก์ยังจัดกลุ่มตามความสูงได้ดังนี้
- มหาบัลลังก์ (မဟာပလ္လင် มะฮาปะลีน) - 24 ฟุต (7.3 เมตร)
- มัชฌิมบัลลังก์ (မဇ္စျိမပလ္လင် มะซิมะปะลีน) - 12 ฟุต (3.7 เมตร)
- จุลบัลลังก์ (စူဠပလ္လင် ซูละปะลีน) - 6 ฟุต (1.8 เมตร)
การใช้งานในพุทธศาสนา
[แก้]ปะลีนใช้ตั้งรูปสองมิติและสามมิติของพระพุทธเจ้า เรียกกันหลายอย่าง เช่น ก่อปะลีน (ဂေါ့ပလ္လင်), พะย่าปะลีน (ဘုရားပလ္လင်) หรือ ซะมะคาน (စမ္မခဏ်) ซึ่งมาจากคำว่า สมฺมขณฺฑ ในภาษาบาลี
ปะลีนยังเป็นลักษณะเด่นของศาลพุทธประจำครัวเรือนหลายแห่งในพม่า
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ယဉ်ကျေးမှု ထုံးဓလေ့ဟောင်း တို့နိုင်ငံသားတို့မမေ့ကောင်း". Myanmar News Agency.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Thant, Yi Yi (December 1960). "The Thrones of the Burmese Kings" (PDF). Journal of Burma Research Society. 43: 97–123.
- ↑ 3.0 3.1 Tha, Maung (2016-11-15). "ပလ္လင်ရှစ်ခန်း၊ ရွှေနန်းကိုးဆောင်". Ministry of Information.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปะลีน