ปลาแปบ
ปลาแปบ หรือ ปลาท้องพลุ (อังกฤษ: Abramine, Sword minnow) เป็นชื่อสามัญของปลาน้ำจืดขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) ในวงศ์ย่อย Cultrinae[1] มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายกับปลาซิว แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะเด่นร่วมกัน คือ มีลำตัวแบนข้างมาก สันท้องคม ไม่มีหนวด ขนาดยาวเต็มที่ไม่เกิน 10 เซนติเมตร[2][3]
ปลาแปบ เป็นปลาประเภทกินเนื้อเป็นอาหาร โดยจะว่ายหากินบริเวณผิวน้ำ อยู่รวมตัวกันเป็นฝูง อาหารหลักได้แก่ แมลง และแมลงน้ำชนิดต่าง ๆ ในตัวที่มีขนาดใหญ่อาจจะกินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กชนิดอื่นได้อีกด้วย
เป็นปลาที่แพร่กระจายพันธุ์เฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำ, คลอง, อ่างเก็บน้ำ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถแบ่งออกเป็นสกุลต่าง ๆ ได้ดังนี้
- Laubuka Bleeker, 1860
- Oxygaster van Hasselt, 1823
- Parachela Steindachner, 1881
- Paralaubuca Bleeker, 1865
- Salmostoma Swainson, 1839 [4][5]
และรวมไปถึงสกุล[1]
- Chanodichthys
- Chela (ปลาข้าวเม่า)
- Culter
- Erythroculter
- Hemiculter
- Megalobrama
- Parabramis
- Pelecus
และอาจจะรวมหมายถึงปลาในสกุล Opsarius และMacrochirichthys หรือปลาฝักพร้า หรือปลาดาบ ซึ่งมีอยู่เพียงสกุลเดียว ที่เมื่อโตเต็มที่มีความยาวถึง 70 เซนติเมตร ถือได้ว่าเป็นปลาแปบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็ได้[6][7][8]
อย่างไรก็ดี การจัดลำดับในวงศ์ย่อยนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากปลาในวงศ์ปลาตะเพียนยังมีการตั้งเป็นวงศ์ย่อยใหม่อีกหลายวงศ์ขึ้นมา เช่น Oxygastrinae[9] โดยการอนุกรมวิธาน เริ่มแรก ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ ได้รายงานให้อยู่ในวงศ์ย่อย Abraminae เมื่อปี ค.ศ. 1945 แต่ต่อมาวอลเตอร์ เรนโบธ ได้จัดให้อยู่ในวงศ์ย่อย Alburninae (ปัจจุบันถือเป็นชื่อซ้ำซ้อน) เมื่อปี ค.ศ. 1996 เป็นต้น[10] โดยปลากลุ่มนี้มีชื่อในภาษาอีสานว่า "ปลาแตบ" และ"ปลามะแปบ" ในภาษาเหนือ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Bànàrescu, P.M. 1971: Further studies on the systematics of Cultrinae with reidentification of 44 type specimens (Pisces, Cyprinidae). Revue Roumaine de Biologie Serie de Zoologie, 16(1): 9-20.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, 2539: หน้า 548
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 31-32
- ↑ [ลิงก์เสีย] ปลาซิว จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 127-135
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, 2539: หน้า 386
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 107
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 117
- ↑ Tang, K. L. , Lumbantobing, D. N. & Mayden, R. L.; 2013: The phylogenetic placement of Oxygaster van Hasselt, 1823 (Teleostei: Cypriniformes: Cyprinidae) and its taxonomic status of the family-group name Oxygastrinae Bleeker, 1860. Copeia, 2013 (1): 13-22.
- ↑ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2547: หน้า 31-32
บรรณานุกรม
[แก้]- อัคคะทวีวัฒน์, สมโภชน์ (2547). สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. องค์การค้าของคุรุสภา. ISBN 974-00-8701-9.
- -, ราชบัณฑิตยสถาน (2539). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕. อักษรเจริญทัศน์. ISBN 974-8122-79-4.
{{cite book}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)