ข้ามไปเนื้อหา

ปลาเลียหินกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปลาเลียหินแม่น้ำโขง)
ปลาเลียหินกัมพูชา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
สกุล: Ceratogarra
สปีชีส์: C.  cambodgiensis
ชื่อทวินาม
Ceratogarra cambodgiensis
(Tirant, 1883)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง[1]
  • Cirrhina cambodgiensis Tirant, 1883
  • Garra taeniata Smith, 1931
  • Garra taeniatops Fowler, 1935
  • Garra parvifilum Fowler, 1939

ปลาเลียหิน (อังกฤษ: Cambodian logsucker, Stone-lapping fish, Stonelapping minnow, False Siamese algae eater; ชื่อวิทยาศาสตร์: Ceratogarra cambodgiensis) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เป็นปลาเลียหินชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)

มีลำตัวเรียวยาวเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว อาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นที่เป็นกรวดและหิน มีหนวดที่ปลายจะงอยปากหนึ่งคู่ ลำตัวด้านหลังเป็นสีเขียว เกล็ดมีสีขาวเงินสะท้อนแสง มีแถบสีดำพาดตามตัวจากหลังช่องเหงือกถึงโคนหาง ลำตัวด้านล่างเป็นสีขาว ครีบหลังมีขอบสีดำจาง ๆ ขอบครีบหางมีแถบสีดำจาง ๆ และมีเส้นสีดำตอนกลางครีบ

มีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 11 เซนติเมตร พบตามแหล่งน้ำที่เป็นลำธารต้นน้ำและน้ำตกของลุ่มน้ำโขง หากินโดยดูดตะไคร่น้ำ, แพลงก์ตอน และแมลงน้ำเป็นอาหาร พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ลงมาถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบกระจายอยู่ในระบบแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงภาคใต้ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช[2] แต่พบมากที่สุดในลุ่มน้ำน่านในเขตอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยเฉพาะในแม่น้ำว้าและแม่น้ำมาง โดยมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า "ปลาขึ้นนา" จากพฤติกรรมที่เมื่อวางไข่ขยายพันธุ์จะอพยพกันจากลำธารลงไปวางไข่กันในทุ่งนา จึงมักถูกจับมารับประทานบ่อย ๆ ด้วยเป็นปลาขนาดเล็กจึงสามารถบริโภคได้ทั้งตัว มีราคาซื้อขายสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ปัจจุบันภาควิชาการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว [3]

นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แม้จะเป็นปลาที่มีสีสันไม่สวยงาม แต่ก็มักเลี้ยงไว้กินตะไคร่และเศษอาหารที่ปลาอื่นกินเหลือ เพื่อทำความสะอาดตู้[4] [5] รวมถึงยังนำไปในกิจการฟิชสปาหรือสปาปลาแทนที่ปลาเลียหินชนิด G. rufa ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จาก IUCN (อังกฤษ)
  2. "ปลาเลียหิน". ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อ 2 July 2016.[ลิงก์เสีย]
  3. "'มทล.น่าน'เพาะปลาภูเขาสำเร็จแห่งแรก". คมชัดลึก. 1 March 2013. สืบค้นเมื่อ 20 December 2015.
  4. สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล. สารานุกรมปลาไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทเอม ซัพพลาย, 2540. 170 หน้า. หน้า 99. ISBN 9748990028
  5. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 80. ISBN 974-00-8701-9
  6. "ตรวจสปาปลาจี้สบส.ยกร่างมาตรฐาน". คมชัดลึก. 10 March 2011. สืบค้นเมื่อ 29 December 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Garra cambodgiensis ที่วิกิสปีชีส์