ปลาหมอฟรอนโตซ่า (สกุล)
ปลาหมอฟรอนโตซ่า | |
---|---|
ปลาหมอฟรอนโตซ่า (C. frontosa) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Cichlidae |
วงศ์ย่อย: | Pseudocrenilabrinae |
เผ่า: | Cyphotilapiini |
สกุล: | Cyphotilapia Regan, 1920 |
ชนิดต้นแบบ | |
Paratilapia frontosa Boulenger, 1906 | |
ชนิด | |
|
ปลาหมอฟรอนโตซ่า (อังกฤษ: Frontosa cichilds, Humphead cichlids) เป็นสกุลของปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) สกุลหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyphotilapia
เป็นปลาหมอสีที่พบอาศัยอยู่ในทะเลสาบแทนกันยีกาในทวีปแอฟริกาเท่านั้น โดยกระจายพันธุ์ไปทั่วทะเลสาบ ในความลึกตั้งแต่ 10-50 เมตร ซึ่งตามแนวความลึกนั้นจะมีภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน
เป็นปลาที่มีขนาดโตเต็มที่ได้ราว 14 นิ้ว มีอายุยืนยาวถึง 25 ปี ลำตัวมีแถบสีดำ 6 แถบ หรือ 7 แถบ (ในบางสายพันธุ์) ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแหล่งอาศัย บ้างก็เป็นขีดเส้นตัดตรงพาดจากหน้าผากผ่านมาที่แก้ม บ้างก็มีลักษณะเป็นหน้ากากสามเหลี่ยมครอบบริเวณดวงตา บ้างก็เป็นปื้นสีดำเหมือนเคราของมนุษย์ เป็นต้น
เป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูง ล่าปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร รวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตามพื้นน้ำด้วย มีพฤติกรรมเมื่อว่ายน้ำจะกางครีบ ทำตัวอยู่นิ่ง ๆ ในแนวหินในระดับความลึกตั้งแต่ 10 เมตรลงไป โดยมักไม่ค่อยเคลื่อนไหวเพื่อเป็นการออมการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งในบางครั้งทำให้สามารถอดอาหารได้เป็นเดือน แต่เมื่อเวลากินหรือล่าเหยื่อนั้นจะว่องไวมาก มีตัวผู้ตัวใหญ่สุดเป็นจ่าฝูง ซึ่งในฝูงจะประกอบด้วยปลาตัวเมีย และปลาตัวผู้ที่เล็กกว่าตัวอื่น ปลาที่เป็นจ่าฝูงมักจะขับสีตัวเองให้เป็นสีเข้มเหมือนสีดำเพื่อเป็นการข่มปลาตัวอื่น
เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 4 ปี โดยปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายต้อนปลาตัวเมียมายังรังที่สร้างไว้เพื่อวางไข่ พร้อมกับขับไล่ปลาตัวอื่น ไม่ให้เข้าใกล้ เมื่อตัวเมียวางไข่จะอมไข่ไว้ในปาก ปลาตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อ เพื่อให้ตัวเมียเก็บน้ำเชื้อเข้าปากเพื่อปฏิสนธิ และหลังจากนั้นปลาตัวเมียจะไม่กินอาหารเลย เป็นระยะเวลาราว 21 วัน ซึ่งปลาจะฟักเป็นตัว จึงคายลูกปลาออกมา
ได้รับความนิยมอย่างมากในแง่ของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยแบ่งเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นหลักในการอนุกรมวิธาน โดยเรียกชื่อกันตามลักษณะภายนอกของปลาและถิ่นที่อยู่อาศัยตามพื้นที่ต่าง ๆ ของทะเลสาบ
แต่โดยหลักของการอนุกรมวิธานแล้ว จะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ[1]
- Cyphotilapia frontosa (Boulenger, 1906)
- Cyphotilapia gibberosa Takahashi & Nakaya, 2003
ซึ่งได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามทั้งคู่ และใช้เป็นปลาในการบริโภคของชนพื้นเมืองมาอย่างยาวนาน ซึ่งเนื้อมีความขาวใสเหมือนปลาทะเล[2]
อ้างอิง
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cyphotilapia ที่วิกิสปีชีส์