ปลาซิวแก้ว
ปลาซิวแก้ว | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Clupeiformes |
วงศ์: | Clupeidae |
สกุล: | Clupeichthys |
สปีชีส์: | C. aesarnensis |
ชื่อทวินาม | |
Clupeichthys aesarnensis Wongratana, 1983 |
ปลาซิวแก้ว (อังกฤษ: Thai river sprat; ชื่อวิทยาศาสตร์: Clupeichthys aesarnensis) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae)
เป็นปลาขนาดเล็ก รูปร่างเพรียวยาว ตัวใส ที่ริมฝีปากมีขากรรไกรเป็นแผ่นแบน และมีเขี้ยวแหลมโค้งขนาดเล็กมาก เกล็ดบางมากและหลุดร่วงได้ง่าย ครีบก้นมี 2 ตอน ตอนท้ายเห็นเป็นติ่งเล็ก ๆ แยกออกมา ลำตัวใสสีอมเหลืองอ่อนมีแถบสีเงินคาดกลางลำตัว หัวมีสีคล้ำเล็กน้อยออกสีเขียวอ่อน มีขนาดลำตัวประมาณ 4 เซนติเมตร ใหญ่สุดพบประมาณ 6 เซนติเมตร
พบเฉพาะในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบมากที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์, เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่มากบริเวณผิวน้ำและกลางน้ำในแหล่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่
กินอาหารโดยได้แก่ แมลง โดยการกระโดดงับขึ้นเหนือน้ำ และแพลงก์ตอนสัตว์ มีวิธีจับด้วยการยกยอและใช้ไฟล่อในเวลากลางคืน นิยมใช้บริโภคและเป็นปลาเศรษฐกิจในท้องถิ่นภาคอีสาน โดยนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำน้ำปลา, ปลาแห้ง, ปลาเจ่า เป็นต้น และได้ถูกส่งไปปล่อยในอ่างเก็บน้ำของมาเลเซียและอินโดนีเซียจนกลายเป็นปลาเศรษฐกิจของทื่นั่นด้วย
ปลาซิวแก้ว มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า ปลาแก้ว, ปลาแตบแก้ว หรือ ปลาแปบควาย เป็นต้น[1][2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 116 หน้า. หน้า 35. ISBN 974-475-655-5 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
- ↑ Clupeichthys aesarnensis Thai river sprat[ลิงก์เสีย] (ไทย)