ปลาช่อนงูเห่า
ปลาช่อนงูเห่า | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Anabantiformes |
วงศ์: | Channidae |
สกุล: | Channa |
สปีชีส์: | C. aurolineatus |
ชื่อทวินาม | |
Channa aurolineatus (Day, 1870) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาช่อนงูเห่า หรือ ปลาช่อนดอกจันทน์ (อังกฤษ: Great snakehead) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) ไม่จัดว่าเป็นปลาเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปลาหายาก พบไม่บ่อยนักในธรรมชาติ มีลักษณะลำตัวค่อนข้างกลมยาว หัวมีขนาดเล็กกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ สีลำตัวจะเปลี่ยนไปตามวัยและสภาพแวดล้อม ปกติพื้นลำตัวจะเป็นสีคล้ำเช่น น้ำตาลแกมเขียว หรือสีดำ เมื่อยังเป็นลูกปลาจะมีแถบสีส้มคาดตามความยาวจากหัวจรดโคนหาง โดยบริเวณโคนหางจะมีจุดสีดำล้อมรอบด้วยวงสีส้มสด แลดูคล้ายเครื่องหมายดอกจันทน์ เมื่อปลาเริ่มโตขึ้นจะมีแถบดำราว 5-6 แถบคาดขวางลำตัวส่วนที่อยู่ค่อนไปทางท้าย ใต้ท้องสีจาง ลำตัวด้านท้าย ครีบหลัง หาง และครีบท้องจะมีจุดสีตะกั่วเหลือบแวววาวกระจายอยู่ทั่ว
ปลาช่อนชนิดนี้ มีขนาดโตเต็มที่ราว 40-90 เซนติเมตร แต่ก็มีบางรายงานพบว่ายาวได้ถึง 183 เซนติเมตร น้ำหนักถึง 30 กิโลกรัม มีรูปร่างเรียวยาวกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ ประกอบกับส่วนหัวที่เล็ก ทำให้แลดูคล้ายงูเห่า จึงเป็นที่มาของชื่อ "ปลาช่อนงูเห่า" เมื่อชาวบ้านจับปลาชนิดนี้ได้ บางคนไม่กล้ากินเนื่องจากเชื่อว่าเป็นปลาช่อนผสมงูเห่า มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่าทั่วไป แต่ความเป็นจริงแล้ว ปลาช่อนงูเห่าไม่ได้มีพิษแต่อย่างใด [1]
มีการกระจายพันธุ์ในไทย, พม่า, กัมพูชา, มาเลเซีย โดยพฤติกรรมมักอยู่อาศัยตามแม่น้ำชายฝั่งที่มีพืชน้ำและพรรณไม้ขึ้นชายฝั่งมีเงาร่ม อาหารได้แก่ ปลา, กุ้ง, สัตว์น้ำขนาดเล็กและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก เช่น กบ, เขียด รวมถึงแมลงชนิดต่าง ๆ ด้วย
อุปนิสัยเป็นปลาที่ค่อนข้างดุร้ายก้าวร้าว โดยมักจะกบดานตัวนิ่ง ๆ กับพื้นท้องน้ำหรือไม่ก็ลอยตัวอยู่ปริมน้ำ เมื่อพบอาหารจะพุ่งฉกด้วยความเร็วและดุดัน
ปลาช่อนงูเห่า นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีขายในตลาดปลาสวยงามเป็นบางครั้ง
มีชื่อเรียกในภาษาถิ่นต่าง ๆ เช่น "หลิมหางกวั๊ก" ที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน "ก๊วน" ในภาษาเหนือและภาษาอีสาน "ล่อน", "กะล่อน" หรือ "อ้ายล่อน" ในภาษาใต้ เป็นต้น
อนึ่ง ปลาช่อนงูเห่า ยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแน่นอน โดยมากจะใช้ชื่อว่า Channa marulius อันเป็นชื่อเดียวกับปลาช่อนงูเห่าอินเดีย แต่ในทัศนะของนักมีนวิทยาที่ทำการศึกษาเรื่องปลาช่อน เห็นว่า ควรใช้ Channa aurolineatus (Day, 1870) หรือ Channa aff. aurolineatus [2]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวช. สารานุกรมปลาไทย. กรุงเทพฯ : เอม ซัพพลาย, 2540. 170 หน้า. หน้า 119. ISBN 9789748990026
- ↑ หน้า 112-113, CHANNA CRAZY คนคลั่งช่อน, "Wild Ambition" โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์ และชัยพัทธ์ งามบุษบงโสภิน. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 42: ธันวาคม 2013