ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศความเป็นมนุษย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประกาศความเป็นมนุษย์ (ญี่ปุ่น: 人間宣言โรมาจิNingen-sengen; อังกฤษ: Humanity Declaration) เป็นพระราชหัตถเลขาซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะทรงให้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสวันขึ้นปีใหม่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 ตามคำร้องขอของผู้บัญชาการสูงสุดแห่งฝ่ายสัมพันธมิตร ถัดจากโองการห้าข้อซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงประกาศขึ้นในปี พ.ศ. 2411 ด้วยพระราชหัตถเลขานี้สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะทรงปฏิเสธแนวคิดที่ว่าพระองค์ทรงเป็นสมมติเทพ และนำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับใหม่ซึ่งตราว่า จักรพรรดิทรงเป็น "สัญลักษณ์แห่งรัฐและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชน" ในที่สุด[1]

พระราชหัตถเลขานี้ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ จึงมักเรียก "ประกาศความเป็นมนุษย์" และเรียกกันว่า "พระราชหัตถเลขาว่าด้วยการสร้างชาติญี่ปุ่นใหม่" (新日本建設に関する詔書; Imperial Rescript on the Construction of a New Japan) กับ "พระราชหัตถเลขาว่าด้วยการฟื้นฟูชาติ" (年頭、国運振興の詔書; Imperial Rescript on National Revitalization) ก็มี

ประกาศ

[แก้]

การมีพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เป็นหนึ่งในบรรดาพระราชกิจท้ายสุดที่สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะทรงบำเพ็ญในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข

ว่ากันว่า เรจินัลด์ ฮอเรซ ไบลธ์ (Reginald Horace Blyth) กับแฮโรลด์ เกาลด์ เฮนเดอร์สัน (Harold Gould Henderson) ช่วยกันร่างพระราชหัตถเลขาให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ คนทั้งสองนี้ขึ้นชื่อว่ามีบทบาทส่งเสริมให้นิกายเซนและโคลงไฮกุได้รับความนิยมแพร่หลายไปในต่างแดนมานานแล้ว[2]

ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งฝ่ายสัมพันธมิตรและโลกตะวันตกให้ความสนใจเป็นอันมากแก่วรรคต่อไปนี้เป็นต้นไปจนจบพระราชหัตถเลขา

"ความผูกพันระหว่างเรากับอาณาประชาราษฎร์ของเรานั้นตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจและความรักใคร่ปรองดองซึ่งกันและกันเสมอมา จะได้อาศัยแต่เรื่องปรัมปราและตำนานดึกดำบรรพ์ก็หาไม่ ความผูกพันเหล่านี้มิได้ปรากฏขึ้นเพราะมิจฉาทิฐิที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทวะ และที่ว่า ปวงชนชาวญี่ปุ่นนั้นประเสริฐเลิศล้ำกว่าเผ่าพันธุ์อื่นและลิขิตมาให้ครองโลก"

"朕ト爾等國民トノ間ノ紐帯ハ、終始相互ノ信頼ト敬愛トニ依リテ結バレ、單ナル神話ト傳説トニ依リテ生ゼルモノニ非ズ。天皇ヲ以テ現御神トシ、且日本國民ヲ以テ他ノ民族ニ優越セル民族ニシテ、延テ世界ヲ支配スベキ運命ヲ有ストノ架空ナル觀念ニ基クモノニモ非ズ。"

"The ties between Us and Our people have always stood upon mutual trust and affection. They do not depend upon mere legends and myths. They are not predicated on the false conception that the Emperor is divine, and that the Japanese people are superior to other races and fated to rule the world." (คำแปลภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ)

การตีความ

[แก้]

ตามความเห็นที่ได้รับความนิยมในชาติตะวันตก และได้รับการสนับสนุนจากผู้บัญชาการสูงสุดแห่งฝ่ายสัมพันธมิตรอีกทอดหนึ่งนั้น พระราชกระแสข้างต้นท้าทายข้ออ้างอันเก่าแก่นับหลายศตวรรษที่ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะและพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าของพระองค์นั้นสืบเผ่าพันธุ์มาแต่สุริยเทพี อะมะเตะระซุ และข้ออ้างนี้เองเป็นเหตุให้ต้องทรงรับต่อสาธารณชนว่าพระองค์มิใช่สมมติเทวะ อนึ่ง ในวันเดียวกับที่มีพระราชหัตถเลขานั้น พลเอก ดักลาส แมกอาเธอร์ ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกา แถลงว่า เขาปลาบปลื้มยินดีกับพระราชกระแสนี้เป็นอันมาก เพราะเขาเห็นว่า เป็นการที่พระจักรพรรดิทรงรับเป็นพระราชภาระที่จะชี้นำราษฎรของพระองค์ในการปรับปรุงประเทศญี่ปุ่นให้เป็นประชาธิปไตย[1]

กระนั้น เพราะเหตุที่พระราชหัตถเลขานี้ใช้ราชาศัพท์อย่างโบราณและศัพท์แสงต่าง ๆ เสียมาก ความหมายที่แท้จริงของเนื้อความจึงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างยิ่ง โดยเฉพาะข้อความ "มิจฉาทิฐิที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทวะ" นั้น มีการใช้ศัพท์พิเศษว่า "อะกิสึมิกะมิ" (現御神; "สมมติเทพ") แทนที่จะใช้คำทั่วไปว่า "อะระฮิโตะงะมิ" (現人神; "สมมติเทวะ") ถ้อยคำ "อะกิสึมิกะมิ" นี้มักปรากฏในพจนานุกรมภาษาอังกฤษว่า หมายถึง "ความเป็นเทวะ" (divinity) แต่ชาวตะวันหลายคนซึ่งเป็นนักวิจารณ์ เช่น จอห์น ดับเบิลยู. โดเวอร์ (John W. Dower) กับเฮอร์เบิร์ต พี. บิกซ์ (Herbert P. Bix) โต้แย้งว่า ที่จริงต้องแปลว่า "เทพยดาซึ่งปรากฏองค์แจ้งชัด" หรือแปลง่าย ๆ ว่า "องค์อวตารของเทพ" มากกว่า เพราะฉะนั้น แม้พระจักรพรรดิจะมิใช่ "อะกิสึมิกะมิ" แล้ว แต่ก็อาจทรงเป็น "อะระฮิโตะงะมิ" อยู่ต่อไปก็ได้

สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะนั้น ทรงเคยยืนยันแนวคิดที่ให้ถือว่าพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นทรงสืบเชื้อสายเทวะตลอดมา ในเดือนธันวาคม 2488 พระองค์ตรัสแก่มิชิโอะ คิโนะชิตะ (Michio Kinoshita) รองสมุหพระราชวังว่า "จะบอกว่าเรื่องคนญี่ปุ่นเป็นเผ่าพันธุ์เทพยดานั้นเป็นความหลงผิดอย่างไรก็ได้ แต่จะเที่ยวกล่าวว่าเรื่องจักรพรรดิสืบเชื้อสายสวรรค์เป็นเรื่องเหลวไหลนั้น เห็นจะต้องห้ามเด็ดขาด"[3]

ส่วนบรรดาผู้วิพากษ์วิจารณ์การตีความของฝ่ายตะวันตก ซึ่งรวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะด้วยนั้น[4] อภิปรายว่า การปฏิเสธความเป็นสมมติเทวะไม่ใช่ประเด็นของพระราชหัตถเลขา ฝ่ายนี้เห็นว่า เนื่องจากพระราชหัตถเลขาเกริ่นเอาเนื้อความจากโองการห้าข้อของพระเจ้าเมจิมาทุกถ้อยคำ พระราชหัตถเลขาจึงเป็นเครื่องแสดงว่า พระราชประสงค์ที่แท้จริงของสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ คือ การให้โลกได้รับรู้ว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยเมจิแล้ว มิใช่เพิ่งมาเป็นเมื่อถูกตะวันตกยึดครองแผ่นดินแต่ประการใด สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะได้ทรงขยายความข้อนี้เมื่อทรงให้สัมภาษณ์ ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2520 ว่า พระองค์มีพระราชหฤทัยปรารถนาจะให้ปวงชนชาวญี่ปุ่นไม่ลืมเลือนความทระนงในชาติตน การตีความทำนองนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากข้อเท็จจริงที่ว่า พระราชหัตถเลขาได้รับการเผยแพร่พร้อมอรรถกถาของนายกรัฐมนตรีคิจูโร ชิเดะฮะระ ซึ่งพรรณนาแต่เรื่องประชาธิปไตยที่มีมาตั้งแต่สมัยเมจิเพียงประการเดียว โดยมิได้เอื้อนเอ่ยถึงการบอกสละความเป็นสมมติเทวะของพระมหากษัตริย์เลย[4]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Emperor, Imperial Rescript Denying His Divinity (Professing His Humanity)". National Diet Library. 2004. สืบค้นเมื่อ 6 January 2013.
  2. Dower, p. 310.
  3. Wetzler, Peter (1998). Hirohito and War. Honolulu: University of Hawai'i Press. p. 3. ISBN 978-0-8248-1925-5.
  4. 4.0 4.1 Dower, John (1999). Embracing Defeat. New York: W.W. Norton & Co. p. 314–317. ISBN 978-0-393-32027-5.

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]