ข้ามไปเนื้อหา

บุรุษปราสาทฟ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุรุษปราสาทฟ้า
ปกแข็ง ฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง
ผู้ประพันธ์ฟิลิป เค. ดิก
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ประเภทประวัติศาสตร์ประยุกต์
สำนักพิมพ์พัตนัมส์
วันที่พิมพ์ตุลาคม ค.ศ. 1962
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์ (ปกแข็งและปกอ่อน)
หน้า240 หน้า
OCLC145507009
813.54

บุรุษปราสาทฟ้า (อังกฤษ: The Man in the High Castle) เป็นนวนิยายประวัติศาสตร์ประยุกต์ เขียนโดยฟิลิป เค. ดิก นักเขียนชาวอเมริกัน เล่าถึงชีวิตประจำวันภายใต้ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จในปี ค.ศ. 1962 สิบห้าปีหลังนาซีเยอรมนีและจักรวรรดิญี่ปุ่นชนะสงครามโลกครั้งที่สอง และร่วมกันปกครองอดีตสหรัฐอเมริกา

ดิกได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้หลังอ่าน Bring the Jubilee นวนิยายของวอร์ด มัวร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมาพันธรัฐอเมริกาชนะสงครามกลางเมืองอเมริกา[1] ดิกยังกล่าวอีกว่าได้รับแนวคิดเพิ่มเติมจากหนังสือ ความรุ่งเรืองและล่มสลายของจักรวรรดิไรช์ที่สาม ประวัติศาสตร์เยอรมันภายใต้นาซี (The Rise and Fall of the Third Reich) โดยวิลเลียม แอล. ไชเรอร์, ฮิตเลอร์ ศึกษาแห่งทรราช (Hitler: A Study in Tyranny) โดยแอลัน บุลลอค และบันทึกของโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ระหว่าง ค.ศ. 1942–1943[2] บุรุษปราสาทฟ้า ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 และได้รับรางวัลฮิวโกสาขานวนิยายยอดเยี่ยมในปี ค.ศ. 1963

ในปี ค.ศ. 2015 บุรุษปราสาทฟ้า ได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์โทรทัศน์โดยแอมะซอนสตูดิโอส์ ฉบับภาษาไทยแปลโดยยรรยง เต็งอำนวย ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2018 โดยสำนักพิมพ์บทจร[3]

เนื้อหา

[แก้]

เบื้องหลัง

[แก้]
แผนที่โลกใน บุรุษปราสาทฟ้า หลังฝ่ายอักษะชนะสงคราม

บุรุษปราสาทฟ้า บอกเล่าเรื่องราวเมื่อแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐถูกลอบสังหารโดยจูเซปเป แซงการาสำเร็จในปี ค.ศ. 1933 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ดำเนินต่อไป และสหรัฐดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง[4] ด้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์นำนาซีเยอรมนีพิชิตยุโรปส่วนใหญ่และสหภาพโซเวียต พร้อมทั้งกวาดล้างชาวยิว ชาวโรมานี และชาวสลาฟ ขณะเดียวกันจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ก่อนจะร่วมกับนาซีบุกสหรัฐอเมริกาจากทางตะวันออกและตะวันตก จนในที่สุดปี ค.ศ. 1947 สหรัฐและพันธมิตรที่เหลืออยู่ยอมจำนนต่อฝ่ายอักษะ เป็นอันสิ้นสุดสงคราม[5]

คริสต์ทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นกับนาซีกลายเป็นสองมหาอำนาจที่แข่งขันกัน ดินแดนสหรัฐอเมริกาเดิมถูกแบ่งเป็นสามส่วน ญี่ปุ่นปกครองสหรัฐแปซิฟิกแห่งอเมริกา (Pacific States of America) ฝั่งตะวันตก ตรงกลางเป็นพื้นที่กันชนเรียกว่ากลุ่มมลรัฐเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain States) และนาซีปกครองฝั่งตะวันออกที่แยกเป็นสองประเทศ ด้านฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่แต่ป่วยหนักด้วยซิฟิลิส มาร์ทีน บอร์มันจึงดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งไรช์ โดยมีโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ไรน์ฮาร์ท ไฮดริช แฮร์มัน เกอริง และอาร์ทัวร์ ไซส์-อินควาร์ทวางแผนชิงอำนาจ ฝ่ายนาซีดำเนินหลายโครงการ เช่น สูบน้ำออกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อปรับเป็นที่เพาะปลูก พัฒนาระเบิดไฮโดรเจน ออกแบบจรวดความเร็วสูงเพื่อใช้เดินทาง และตั้งนิคมบนดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร[6] ฉากในเรื่องส่วนใหญ่ดำเนินในเมืองซานฟรานซิสโก ที่ซึ่งชาวจีนถูกจัดให้เป็นพลเมืองชั้นสอง และชาวผิวสีตกเป็นทาส และเมืองแคนยอนซิตี เดนเวอร์ และไชแอนน์ในกลุ่มมลรัฐเทือกเขาร็อกกี

เรื่องย่อ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1962 สิบห้าปีหลังนาซีเยอรมนีและจักรวรรดิญี่ปุ่นชนะสงครามโลกครั้งที่สอง โรเบิร์ต "บ๊อบ" ไชล์แดนเปิดร้านหัตถศิลป์อเมริกันในเมืองซานฟรานซิสโก ไชล์แดนได้รับการติดต่อจากโนบุสุเกะ ทาโกมิ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นเพื่อให้หาของกำนัลแก่เบนย์ส นักธุรกิจชาวสวีเดน สินค้าบางส่วนของไชล์แดนเป็นของทำเลียนแบบจากโรงงานวินดัม-แมตสัน โรงงานที่แฟรงก์ ฟริงก์ ทหารผ่านศึกผู้ปิดบังตนเองว่าเป็นชาวยิวเพิ่งถูกไล่ออก ต่อมาแฟรงก์ตกลงตั้งธุรกิจเครื่องประดับทำมือกับอดีตเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง อีกด้านหนึ่งจูเลียนา ฟริงก์ อดีตภรรยาของแฟรงก์ทำงานเป็นครูสอนยูโดที่เมืองแคนยอนซิตีเริ่มคบหากับโจ ซินนาเดลลา คนขับรถบรรทุกชาวอิตาลี ตลอดทั้งเรื่องตัวละครมักใช้ อี้จิง วิชาพยากรณ์ของจีนในการช่วยตัดสินใจครั้งสำคัญ และหลายตัวละครอ่านนวนิยายที่ถูกสั่งห้ามเรื่อง ตั๊กแตนนอนหมอบ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนโดยนักเขียนลึกลับนามฮอว์ธอร์น อเบนด์เซน

แฟรงก์ขู่จะเปิดโปงวินดัม-แมตสันว่าจัดหาของเลียนแบบให้ไชล์แดนเพื่อรีดเอาทรัพย์หาทุนสนับสนุนธุรกิจของตนเอง ด้านทาโกมิและเบนย์สยังหารือกันไม่ได้เนื่องจากต้องรอยาตาเบ้ บุคคลที่สามจากญี่ปุ่น ทันใดนั้นมีข่าวว่ามาร์ทีน บอร์มันเสียชีวิตหลังล้มป่วยได้ไม่นาน ส่วนไชล์แดนนำของฝากขายของแฟรงก์มาเสนอลูกค้าชาวญี่ปุ่น ผู้รับรู้ได้ถึง "พลังงาน" บางอย่างจากของชิ้นนั้น ขณะที่จูเลียนาและโจเดินทางไปเดนเวอร์ โดยโจชักชวนจูเลียนาให้ไปเยี่ยมอเบนด์เซนที่อาศัยอยู่ใน ปราสาทฟ้า ในเมืองไชแอนน์ หลังบอร์มันเสียชีวิตไม่นาน มีข่าวว่าโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ได้ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่

เบนย์สและทาโกมิพบกับยาตาเบ้หรือนายพลเทเดกิ ต่อมามีการเปิดเผยว่าเบนย์สคือนามแฝงของรูดอล์ฟ เวเกนเนอร์ นาซีผู้แปรพักตร์ที่กำลังถูกซิชเชอร์ไฮทซ์ดีนสท์ (SD) ตามล่า เวเกนเนอร์เตือนนายพลเทเดกิว่านาซีมีแผนโจมตีหมู่เกาะญี่ปุ่นด้วยระเบิดปรมาณู ขณะหารือกันอยู่เจ้าหน้าที่ SD สองนายบุกเข้ามาแต่ถูกทาโกมิใช้ปืนโบราณยิงตายทั้งคู่ ด้านแฟรงก์ถูกคนแจ้งข่าวว่าเป็นชาวยิวและถูกจับกุม ขณะที่จูเลียนาอนุมานได้ว่าโจมีแผนจะฆ่าอเบนด์เซน ซึ่งต่อมาโจยอมรับว่าตนเป็นมือสังหารของนาซี จูเลียนาสบโอกาสทำร้ายโจจนตาย และรีบขับรถไปเตือนอเบนด์เซน

เวเกนเนอร์กลับไปที่เยอรมนีและพบว่าไรน์ฮาร์ท ไฮดริชที่ต่อต้านแผนโจมตีญี่ปุ่นมีแผนจะล้มเกิบเบิลส์ ขณะที่ทาโกมิซึ่งยังตระหนกนำปืนที่ใช้ยิงเจ้าหน้าที่ SD ไปขายคืนให้ไชล์แดน แต่เขากลับซื้อเครื่องประดับชิ้นหนึ่งกลับมา หลังจากนั้นทาโกมิรับรู้ถึงพลังงานจากเครื่องประดับชิ้นนั้นจนมองเห็น "ประวัติศาสตร์อีกด้าน" ของซานฟรานซิสโก และภายหลังบังคับกงสุลเยอรมันให้ปล่อยตัวแฟรงก์โดยที่ไม่รู้ว่าแฟรงก์เป็นผู้ทำเครื่องประดับชิ้นนี้ ด้านจูเลียนาเดินทางไปที่ ปราสาทฟ้า ของอเบนด์เซน และพบว่าเขาย้ายมาอยู่บ้านชั้นเดียวธรรมดา หลังหลบเลี่ยงหลายคำถามที่จูเลียนาถาม อเบนด์เซนเปิดเผยว่าเขาใช้ อี้จิง ในการชี้แนะตอนเขียน ตั๊กแตนนอนหมอบ ในตอนจบของเรื่องจูเลียนาและอเบนด์เซนทำการเสี่ยงทายด้วย อี้จิง และพบว่าแท้จริงแล้วเยอรมนีและญี่ปุ่นแพ้สงคราม

อ้างอิง

[แก้]
  1. Bolton, Naomi (September 9, 2019). "Alternate War History Novels Like The Man In The High Castle". ManyBooks. สืบค้นเมื่อ January 8, 2021.
  2. บุรุษปราสาทฟ้า, ฟิลิป เค. ดิก เขียน ยรรยง เต็งอำนวย แปล, หน้า 9, พ.ศ. 2561, สำนักพิมพ์บทจร กรุงเทพฯ
  3. "บุรุษปราสาทฟ้า: ประวัติศาสตร์และปรัชญาในโลกคู่ขนาน". The Momentum. December 1, 2018. สืบค้นเมื่อ January 8, 2021.
  4. Bady, Aaron (January 17, 2017). "Philip K. Dick's Vision for Resisting Fascism in America". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ January 8, 2021.
  5. Gray, John (March 17, 2016). "John Gray on Philip K Dick: lost in the multiverse of history". New Statesman. สืบค้นเมื่อ January 8, 2021.
  6. "The Man in the High Castle". Project Gutenberg Self-Publishing. สืบค้นเมื่อ January 8, 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]