ข้ามไปเนื้อหา

บิกเบน

พิกัด: 51°30′03″N 0°07′28″W / 51.5007°N 0.1245°W / 51.5007; -0.1245
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอเอลิซาเบธ
หอเอลิซาเบธในปี พ.ศ. 2565
แผนที่
ชื่ออื่นบิกเบน
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทหอนาฬิกา
สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก
ที่ตั้งเวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน อังกฤษ
พิกัด51°30′03″N 0°07′28″W / 51.5007°N 0.1245°W / 51.5007; -0.1245
แล้วเสร็จ31 พฤษภาคม 1859; 165 ปีก่อน (1859-05-31)
ความสูง316 ฟุต (96 เมตร)
ข้อมูลทางเทคนิค
จำนวนชั้น11
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกออกัสตัส พิวจิน
เว็บไซต์
www.parliament.uk/bigben/

หอเอลิซาเบธ (อังกฤษ: Elizabeth Tower) ก่อนหน้านี้เรียกว่า หอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Great Clock of Westminster) หรือรู้จักดีในชื่อ บิกเบน (Big Ben) เป็นหอนาฬิกาประจำพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันใช้เป็นรัฐสภาอังกฤษ ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวัง เริ่มสร้างในรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 แล้วเสร็จสิ้นในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย หลังจากพระราชวังเวสต์มินสเตอร์เดิมไฟไหม้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2377 โดยมีชาลส์ แบร์รี เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ[1][2] หอนาฬิกามีความสูง 96.3 เมตร โดยที่ตัวนาฬิกาอยู่สูงจากพื้น 55 เมตร ตัวอาคารสร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victorian Gothic) ชื่อหอเอลิซาเบธตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

หลายคนเข้าใจว่าบิกเบนเป็นชื่อหอนาฬิกาประจำรัฐสภาอังกฤษ แต่แท้ที่จริงแล้ว บิกเบนเป็นชื่อเล่นของระฆังใบใหญ่ที่สุด ที่หนักถึง 13,760 กิโลกรัม ซึ่งแขวนไว้บริเวณช่องลมเหนือหน้าปัดนาฬิกา ทั้งนี้มีระฆังรวมทั้งสิ้น 5 ใบ โดย 4 ใบจะถูกตีเป็นทำนอง ส่วนบิกเบนจะถูกตีบอกชั่วโมงตามตัวเลขที่เข็มสั้นชี้บนหน้าปัดนาฬิกา ทว่าคนส่วนใหญ่กลับใช้ชื่อบิกเบนเรียกตัวหอทั้งหมด

บางทีมักเรียกหอนาฬิกานี้ว่า หอเซนต์สตีเฟน (St Stephen's Tower) หรือหอบิกเบน (Tower of Big Ben) ซึ่งที่จริงแล้วชื่อหอเซนต์สตีเฟนคือชื่อของหอในพระราชวังอีกหอหนึ่ง[3] ซึ่งใช้เป็นทางเข้าไปอภิปรายในสภา ในเวลาต่อมา รัฐสภาอังกฤษได้มีมติให้ตั้งชื่อหอนาฬิกานี้ว่า "หอเอลิซาเบธ"[4] เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ปัจจุบันภายในหอนาฬิกาไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม เว้นแต่สำหรับผู้ที่อาศัยในประเทศอังกฤษ จะต้องทำเรื่องขอเข้าชมผ่านสมาชิกรัฐสภาอังกฤษประจำท้องถิ่นของตน ถ้าเป็นเด็กต้องมีอายุเกิน 11 ปี จึงจะเข้าชมหอได้ สำหรับชาวต่างประเทศนั้นไม่อนุญาตให้ขึ้นไป [5] ทั้งนี้ผู้ชมต้องเดินบันได 334 ขั้นขึ้นไปเพราะไม่มีลิฟต์[6]

โครงสร้างอาคาร

[แก้]
หน้าปัดนาฬิกาของหอเอลิซาเบธ เข็มชั่วโมงยาว 2.7 เมตร ส่วนเข็มนาทียาว 4.3 เมตร

หอเอลิซาเบธมีความสูงทั้งหมด 96.3 เมตร โดยในช่วง 61 เมตรแรก เป็นอาคารก่อด้วยอิฐ บุด้วยหิน ส่วนที่สูงจากนั้นเป็นยอดแหลมทำด้วยเหล็กหล่อ ตัวหอตั้งอยู่บนฐานกว้าง 15 เมตร ยาว 15 เมตร หนา 3 เมตร อยู่ใต้ดินลึก 7 เมตร ตัวหอทั้งหมดหนักโดยประมาณ 8,667 ตัน หน้าปัดนาฬิกาทั้งสี่ด้านอยู่สูงจากพื้น 55 เมตร

เดิมทีหอเอลิซาเบธเอนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 220 มิลลิเมตร[7] แต่ปัจจุบันหอเอลิซาเบธเอนมากขึ้นเนื่องจากการขุดอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินใกล้ย่านเวสต์มินสเตอร์[8] โดยสังเกตได้ว่าเอียงปีหนึ่งประมาณ 0.9 มิลลิเมตร จนเห็นได้ชัดเจน[9]

หน้าปัดนาฬิกา

[แก้]

ครั้งหนึ่ง หน้าปัดนาฬิกาของหอมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันถูกทำลายสถิติโดยหอนาฬิกาอัลเลน-แบรดเลย์ (Allen-Bradley Clock Tower) ที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ทว่าผู้สร้างหอนาฬิกาอัลเลน-แบร็ดเลย์มิได้จัดให้มีการตีระฆังหรือสายลวดบอกเวลา จึงทำให้หอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ยังคงเป็น นาฬิกาสี่หน้าปัดที่มีการตีบอกเวลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลไกนาฬิกาภายในหอสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2397 แต่ตัวหอเสร็จในเวลา 4 ปีต่อมา

หน้าปัดนาฬิกาถูกออกแบบโดยออกุสตุส พิวจิน (Augustus Pugin) ตัวหน้าปัดทำด้วยโครงเหล็กกว้างและยาว 7 เมตร ประดับด้วยกระจก 576 ชิ้น เข็มสั้นมีความยาว 2.7 เมตร เข็มยาวมีความยาว 4.3 เมตร รอบ ๆ หน้าปัดประดับด้วยลายทองอย่างวิจิตร ใต้หน้าปัดสลักดุนเป็นข้อความภาษาละตินว่า DOMINE SALVAM FAC REGINAM NOSTRAM VICTORIAM PRIMAM ซึ่งแปลว่า "โอ้ พระเจ้าข้า จงประทานความปลอดภัยให้พระนางวิกตอเรียด้วยเถิด"

นาฬิกาเริ่มเดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2402 ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเยอรมันได้ทิ้งระเบิดทำลายรัฐสภาอังกฤษ และทำความเสียหายให้กับหน้าปัดด้านทิศตะวันตกเป็นอย่างมาก

ระฆัง "บิ๊กเบน"

[แก้]
"บิ๊กเบน" หรือมหาระฆัง

ระฆังที่แขวนไว้ในหอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่ามหาระฆัง (The Great Bell) โดยทำการหล่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2399 โดยจอห์น วอร์เนอร์ และบุตร (John Warner & Sons) ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสต็อกตันออนทีส์ (Stockton-on-Tees) จังหวัดเดอแรม (County Durham) ระฆังที่หล่อในวาระแรกนั้นหนัก 16.3 ตัน[10] ที่ตัวระฆังมีชื่อของเบนจามิน ฮอลล์ (Benjamin Hall) บารอนแห่งลาโนเวอร์จารึกอยู่ ทำให้บางคนคิดว่าชื่อเล่นของเขากลายมาเป็นชื่อระฆังในเวลาต่อมา[11] ถึงกระนั้น บางแห่งกล่าวว่า ชื่อระฆังนี้ตั้งจากชื่อนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวตชื่อเบนจามิน เคานต์ (Benjamin Caunt)[12] บางแห่งก็กล่าวว่าระฆังนี้ควรใช้ชื่อว่าวิกตอเรีย แต่ก็หาได้มีข้อยุติที่แน่นอนไม่ เพราะไม่ได้มีการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมสภา หรือแฮนซาร์ด (Hansard)[13]

ขณะที่หอนาฬิกายังสร้างไม่เสร็จ มหาระฆังถูกชะลอโดยเลื่อนลากด้วยม้า มาไว้ที่ลานพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ อย่างไรก็ดีครั้นถูกค้อนที่หนักเกินกว่ากำลังระฆังจะทนได้ ระฆังจึงแตกเกินกว่าจะซ่อม จึงให้หล่อใหม่ที่บริษัทระฆังไวต์แชพเพล (Whitechapel Bell Foundry) ทางตะวันออกของกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2401 [10] ระฆังใบใหม่นี้หนัก 13.76 ตัน สูง 2.2 เมตร และกว้าง 2.6 เมตร ถูกชักขึ้นแขวนในห้องระฆังบริเวณช่องลมของตัวหอ เมื่อปี พ.ศ. 2402 พร้อมด้วยระฆังเล็ก ใช้เวลาทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง จึงสำเร็จ ต่อมาในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน มหาระฆังก็ร้าว แต่ก็แก้ไขโดยการหมุนระฆังมิให้ส่วนที่ร้าวถูกตี โดยไม่ได้ซ่อมแซมมาจนถึงปัจจุบัน[14]

นอกเหนือจากมหาระฆังแล้ว ยังมีระฆังบริวารอีก 4 ใบ ทั้งหมดหล่อที่บริษัทไวต์แชพเพลเมื่อ พ.ศ. 2400 - 2401 ตัวมหาระฆังเองเมื่อถูกตีจะให้เสียงโน้ตมี ส่วนระฆังบริวารจะให้เสียงโน้ตซอลชาร์ป ฟาชาร์ป มี และที ซึ่งทุก ๆ 15 นาที ระฆังบริวารทั้งหมดจะถูกตีเป็นทำนองระฆังแบบเวสต์มินสเตอร์ (หรือเคมบริดจ์) ทำนองระฆังดังกล่าวนี้เป็นที่จับใจและนิยมใช้สำหรับนาฬิกาตั้งในบ้านหรือหอนาฬิกา เสียงของมหาระฆังถูกนำออกอากาศทุกวันผ่านทางสถานีวิทยุบีบีซีช่อง 4 ก่อนข่าวภาคค่ำ (เวลา 18 นาฬิกา) และข่าวเที่ยงคืน ตามเวลาท้องถิ่นประเทศอังกฤษ[15]

หอนาฬิกาที่ได้แรงบันดาลใจจากหอเอลิซาเบธ

[แก้]

มีการสร้างหอนาฬิกานามว่า ลิตเติ้ลเบน สูง 6 เมตร ไว้ใกล้สถานีรถไฟวิกตอเรีย กรุงลอนดอน ลักษณะคล้ายกับหอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์เกือบทุกประการ นอกจากนี้ ยังมีนาฬิกาที่สร้างภายหลัง โดยได้แรงบันดาลใจจากหอนาฬิกานี้ เช่น

  • หอนาฬิกาที่สถานีรถไฟแกร์ เดอ ลียง (Gare de Lyon) ในกรุงปารีส
  • หอสันติภาพ ที่รัฐสภาแคนาดา กรุงออตตาวา
  • หอนาฬิกาโจเซฟ เชมเบอร์เลน หรือ "โอลด์โจ" ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม

ฯลฯ

กลไกนาฬิกา

[แก้]

นาฬิกาประจำหอนั้นมีชื่อเสียงอย่างมากในด้านความเที่ยงตรง โดยกลไกนาฬิกาถูกออกแบบโดยเอ็ดมุนด์ เบ็กเกตต์ เดนิสัน และจอร์จ แอรี ต่อมาเอ็ดเวิร์ด จอห์น เดนต์ เป็นผู้สร้างกลไกนาฬิกา ถึงกระนั้นเดนต์ต้องถึงแก่กรรมก่อนที่นาฬิกาจะเสร็จ จนต้องให้เฟรเดอริก เดนต์ ผู้บุตรนอกสมรสเป็นผู้สร้างต่อจนสำเร็จ อย่างไรก็ดี กลไกของนาฬิกาถูกสร้างขึ้นก่อนตัวหอเสร็จถึง 4 ปี ทำให้เอ็ดมุนด์ เดนิสัน มีเวลาที่จะทดสอบความแม่นยำ

เดิมที นาฬิกาที่ออกแบบไว้ใช้กลไกขาขัดเฟือง (deadbeat escapement) ซึ่งเป็นกลไกที่อาศัยขาเหล็กสองขา สลับกันไกวชนฟันเฟือง ซึ่งการชนเฟืองบ่อย ๆ นี้เองที่ทำให้ฟันเฟืองสึกหรอง่าย ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้กลไกลูกตุ้มชนตัวขัด (gravity displacement) เมื่อลูกตุ้มแกว่งชนตัวขัดหนึ่ง ตัวขัดนั้นจะปล่อยออกและทำให้เฟืองกลหมุนลงไปชั่วขณะ แต่ตัวยึดที่เฟืองกลจะไปขัดกับขาขัดอีกอัน พอลูกตุ้มเด้งกลับก็จะปล่อยขาขัดอีกอันให้เลื่อนที่ ทั้งนี้ เฟืองกลจะต่อเข้ากับลานที่ทำจากรอกคล้องตุ้มน้ำหนัก เมื่อถึงเวลาจะต้องกว้านรอกเป็นระยะ ๆ ลูกตุ้มที่ใช้ในหอนี้ มีความยาวทั้งสิ้น 4 เมตร และหนัก 300 กิโลกรัม ไกวไปกลับใช้เวลา 2 วินาที บนลูกตุ้มจะมีหลักเสียบเหรียญสตางค์ของอังกฤษเพื่อปรับตั้งเวลา หากใส่มาก ตำแหน่งศูนย์กลางมวลจะเลื่อนขึ้นเป็นผลให้ระยะเวลาการแกว่งสั้นลง (ลูกตุ้มไกวเร็วขึ้น) ในทางกลับกันถ้าเอาออก ก็จะได้ระยะเวลาการแกว่งมากขั้น (ลูกตุ้มไกวช้าลง)

กลไกที่เป็นเฟืองของนาฬิกา ประกอบด้วยเฟืองกล เฟืองระฆังบริวาร และเฟืองระฆังใหญ่ทั้งหมดวางอยู่บนโต๊ะรองรับสีเขียวแก่ ที่ขอบโต๊ะจารึกข้อความเป็นสีทองว่า "THIS CLOCK WAS MADE IN THE YEAR OF OUR LORD 1854 BY FREDERICK DENT OF THE STRAND AND THE ROYAL EXCHANGE, CLOCKMAKER TO THE QUEEN, FROM THE DESIGNS OF EDMUND BECKETT DENISON Q.C." แปลเป็นไทยได้ว่า "นาฬิกาเรือนนี้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2397 (ค.ศ. 1854) โดยเฟรเดอริก เดนต์ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โดยการออกแบบของเอ็ดมุนด์ เบ็กเกตต์ เดนิสัน"[16]

เหตุขัดข้อง

[แก้]
ภาพเจ้าหน้าที่กำลังซ่อมแซมและทำความสะอาดหน้าปัดนาฬิกา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้บริเวณรายรอบจะถูกโจมตีด้วยระเบิดจากนาซีเยอรมัน แต่นาฬิกาก็ยังเดินได้อย่างแม่นยำ ทว่าช่วงวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2505 เกิดหิมะตกหนักมากจนนาฬิกาตีบอกเวลาปีใหม่ช้าไป 10 นาที

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2519 นาฬิกาหยุดทำงานครั้งใหญ่อันเนื่องจากกลไกการตีระฆังเสียหายเพราะโลหะเสื่อมสภาพตามกาลเวลา รัฐบาลจึงได้มีการปรับปรุง และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ในปีถัดมา ซึ่งในช่วงระหว่างนั้น แทนที่สถานีวิทยุบีบีซีจะได้ออกอากาศเสียงระฆัง กลับต้องใช้สัญญาณเวลาแทน

นาฬิกาหยุดทำงานอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2547 และหยุดอีกครั้งในสามสัปดาห์ให้หลัง หนึ่งปีหลังจากนั้นก็หยุดอีกเป็นเวลา 90 นาที เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 โดยคาดว่าสาเหตุเนื่องจากอากาศในกรุงลอนดอนในขณะนั้นร้อนกว่าปกติ คือ 31.8 °C [17] อีก 5 เดือนถัดมา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2548 นาฬิกาหยุดทำงานเพื่อซ่อมบำรุง นานถึง 33 ชั่วโมง[18]

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เวลา 14:00 น. (เวลามาตรฐานประเทศไทย) ตะขอแขวนระฆังเล็กใบหนึ่งสึกหรอจนต้องซ่อมแซมเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และเมื่อเวลา 15:00 น. (มาตรฐานประเทศไทย) ของวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2550 หอนาฬิกาหยุดการตีมหาระฆังเพื่อบอกชั่วโมงเป็นการชั่วคราว (ประมาณ 6 สัปดาห์) เนื่องจากกลไกในระฆังสึกหรอตามกาลเวลาเป็นอย่างมาก โดยบางชิ้นส่วนยังไม่ได้เปลี่ยนเลยตั้งแต่ที่สร้างหอ อนึ่ง นาฬิกาในหอยังคงทำงานต่อไปโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนแทนเครื่องกลของเดิม แผนการดังกล่าวเป็นการเตรียมการฉลองครบรอบ 150 ปี ของหอนาฬิกาพระราชวังเวสต์มินสเตอร์และมหาระฆัง[19]

ต่อมา ครั้นนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรถึงแก่อสัญกรรม เจ้าหน้าที่จึงได้จัดให้งดลั่นระฆังบนหอเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556 เพื่อเป็นการไว้อาลัยและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพิธี[20]

ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 พบว่า นาฬิกาเดินเร็วไป 7 วินาที ทำให้ต้องถอนเหรียญออกจากนาฬิกาจนนาฬิกาเดินรวน[21] สองปีให้หลัง วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560 หอเอลิซาเบธงดการลั่นระฆังเกือบตลอดเวลา ยกเว้นเทศกาลสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่บำรุงรักษากลไกนาฬิกา ตลอดจนถอดเข็มและหน้าปัดไปซ่อม คงเหลือแต่หน้าปัดหนึ่งหน้าที่แสดงเวลาผ่านทางมอเตอร์ไฟฟ้าตลอดเวลา[22][23][24]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Big Ben—Frequently asked questions". UK Parliament. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-06. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
  2. "1289-1834: Big Ben and Elizabeth Tower". UK Parliament. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 May 2013. สืบค้นเมื่อ 9 July 2014.
  3. UK Parliament: St Stephen's Tower
  4. "Questions to the Prime Minister". House of Commons Hansard Debates for 12 Sept 2012. Hansard. สืบค้นเมื่อ 13 September 2012.
  5. UK Parliament: Climb the Clock Tower (Big Ben)
  6. "Bong! Big Ben rings in its 150th anniversary". NBC News. Associated Press. 29 May 2009. สืบค้นเมื่อ 1 June 2009.
  7. "A tale of two towers: Big Ben and Pisa" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-26. สืบค้นเมื่อ 2007-07-21.
  8. Mair, Robert; David Harris (August 2001). "Innovative engineering to control Big Ben's tilt". Ingenia. Royal Academy of Engineering. 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-30. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  9. TIME Magazine Vol. 178, No. 16| 2011
  10. 10.0 10.1 "The Story of Big Ben". Whitechapel Bell Foundry. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-11. สืบค้นเมื่อ 19 October 2008.
  11. "Big Ben of Westminster". The Times. London (22505): 5. 22 October 1859. It is proposed to call our king of bells 'Big Ben' in honour of Sir Benjamin Hall, the President of the Board of Works, during whose tenure of office it was cast
  12. "The Great Bell – Big Ben". Living Heritage. London: UK Parliament. 13 November 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-15. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
  13. "Big Ben – How did Big Ben get its Name?". Icons of England. Icons.org.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-24. สืบค้นเมื่อ 30 September 2010.
  14. History of the Clock Tower (Big Ben)
  15. ดู BBC Radio 4 แล้วค้น Midnight News หรือ Six O'Clock News
  16. Big Ben: The Clock Movement
  17. BBC News-Big Ben chimes stoppage mystery
  18. BBC News-In pictures: Big Ben's big turn off
  19. Big Ben silenced for repair work
  20. Watt, Nicholas (15 April 2013). "Margaret Thatcher funeral: Big Ben to be silenced as mark of respect". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 17 May 2013.
  21. Phipps, Claire (25 August 2015). "Clockwatchers ticked off as Big Ben's chimes run seven seconds fast". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 30 August 2015.
  22. "Big Ben's bongs to fall silent until 2021 for repairs". BBC.com. London. 14 August 2017. สืบค้นเมื่อ 14 August 2017.
  23. "MPs are gathering outside Big Ben to watch it bong for the final time". 21 August 2017.
  24. "Big Ben WILL still bong for New Year's Eve and Remembrance Day".

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิดีโอ

[แก้]